posttoday

จิ้งจอกสยามติดปีก เจ้าสัววิชัยแสนล้าน

19 มิถุนายน 2559

ด้วยองค์ประกอบที่พร้อมทั้งวงสังคม คอนเนกชั่น และกุมธุรกิจระดับหลายแสนล้าน เจ้าสัววิชัยวันนี้จึงเหมือนจิ้งจอกสยามติดปีก

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

ถือเป็นครึ่งปีทองของเจ้าสัวแสนล้าน “วิชัย ศรีวัฒนประภา (รักศรีอักษร)” เจ้าพ่อ คิง เพาเวอร์ ซึ่งล่าสุดสร้างชื่อให้ดังยิ่งขึ้น ด้วยการซื้อกิจการไทยแอร์เอเชีย 2 หมื่นล้านบาท หลังจากไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ซื้อมา สร้างประวัติศาสตร์ครั้งแรกตั้งแต่ตั้งสโมสรมากว่าร้อยปี ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ทำให้มูลค่าทีม 40 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นสิบเท่าตัว เป็น 400 ล้านปอนด์ หรือ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับธุรกิจหลัก ร้านปลอดภาษีที่ปีนี้จะทำรายได้กว่า 8.5 หมื่นล้านบาท และปีหน้าตั้งเป้าทะลุกว่า 1 แสนล้านบาท

จากความเคลื่อนไหวที่หวือหวาอย่างมากดังกล่าว ส่งผลให้สปอตไลต์ส่องไปที่วิชัยว่า จากธุรกิจหลักร้านค้าปลอดภาษีหรือดิวตี้ฟรี ทำไมถึงสามารถต่อยอดสร้างสายสัมพันธ์ได้ลึกล้ำเกินคาด ตั้งแต่ราชวงศ์อังกฤษผ่านกีฬาโปโล มาถึงเมืองไทยที่โยงใยโครงข่ายกับหลากหลายสถาบัน ทุกสี ทุกกลุ่มการเมือง เช่น การเปิดโรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ให้เป็นศูนย์ต้านรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็สามารถหวานชื่นกับสีเขียวแกนนำก่อรัฐประหาร ส่วนสีกากีก็สนิทถึงขั้นดันให้อดีต ผบ.ตร.ขึ้นเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ล้างกลุ่มอำนาจเก่า ไล่ไปถึงสีเหลืองที่แนบแน่นกับเจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร ซึ่งร่ายมนต์เสกยันต์ มีส่วนให้ทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลล่าสุด รวมไปถึงบางธุรกิจที่สีอึมครึม

บนสายสัมพันธ์ที่ผูกโยงยิ่งกว่าเกมหมากรุกดังกล่าว เนื้อแท้แล้ววิชัยเป็นใครมาจากไหน วิชัยเกิดเมื่อเดือน เม.ย. 2501 เป็นบุตรของวิวัฒน์ รักศรีอักษร (ชื่อเดิม : ซื้อหลี่เม้ง) กับประภาศร รักศรีอักษร จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาวูดลอว์น สหรัฐอเมริกา ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ททอร์ป สหรัฐอเมริกา ชีวิตครอบครัว สมรสกับเอมอร รักศรีอักษร มีบุตรทั้งหมด 4 คน (เป็นชาย 2 หญิง 2) วรมาศ ศรีวัฒนประภา อภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา อรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา และอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นรองประธานสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ และมีส่วนช่วยบริหารให้ทีมฟุตบอลได้แชมป์

วิชัยใกล้ชิดกับราชวงศ์อังกฤษผ่านความชื่นชอบกีฬาโปโล ปี 2548 วิชัยกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ เจ้าชายวิลเลียมแห่งเวลส์ และ อัลดองโฟ แคมเปียโซ มือหนึ่งโปโลชาวอาร์เจนตินา จัดทีมออกแข่งในรายการจักรวรรดิคัพ ระหว่างทีมประเทศไทยกับทีมดูไบ ที่ริชมอนด์ ลอนดอน

ด้านสายสัมพันธ์ในเมืองไทย เห็นเป็นรูปเป็นร่างในยุคกลุ่มซอยราชครู โดยได้รับบริหารร้านดิวตี้ฟรีในเมือง ที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ชื่อขณะนั้น ต่อจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. จากนั้นก็มีสายสัมพันธ์เกือบทุกฝ่าย ที่มีการพูดถึงกันมากก็ช่วงที่เปิดโรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ให้เป็นศูนย์ต้านการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขณะที่ความสัมพันธ์กับผู้นำรัฐประหารปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน วิชัยก็สามารถเข้าหารือได้อย่างสนิท รวมทั้งการได้สัมปทานร้านดิวตี้ฟรีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกันก็หวานชื่นกับสุเทพ เทือกสุบรรณ เนวิน ชิดชอบ มาจนถึงปัจจุบันยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ก็รักชอบกันดีกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

สำหรับสายสัมพันธ์ทางราชการ สะท้อนผ่านการจัดงานฉลองวาระที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ครบรอบ 25 ปี นอกจากพรรคการเมืองระดับแกนนำจะเข้าร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้าแล้ว ในส่วนของราชการ ระดับหัวหน้าในบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. มากันไม่ขาด ข้าราชการกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งสอดรับกันพอดีกับแนวทางธุรกิจของกลุ่ม

วิชัยเคยเล่าว่า ธุรกิจยุคแรกๆ ของครอบครัวเกี่ยวข้องกับการพิมพ์ตัวอักษร ดังนั้นจึงใช้นามสกุลรักศรีอักษร หลังจากนั้นก็ขยายไปสู่ธุรกิจการค้าถึงขณะนี้แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ 1.ธุรกิจร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรี ซึ่งมีในสนามบิน 5 แห่ง คือ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพฯ หรือดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ร้านค้าปลอดอากรกลางเมือง 4 แห่ง ที่คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ซอยรางน้ำ ที่ภูเก็ต พัทยา และศรีวารี คอมเพล็กซ์ บางนา-ตราด กม.18 และมีแผนจะขายดิวตี้ฟรีออนไลน์ โดยกลุ่มนี้คาดจะมีรายได้ปี 2559 รวมกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท และปี 2560 จะมีรายได้ทะลุแสนล้านบาท หรือเติบโต 15-20%

มีการมองกันว่าธุรกิจดิวตี้ฟรี ซึ่งอยู่นอกตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหน บางส่วนให้มองเปรียบเทียบกับร้านเจ้เล้ง ซึ่งเป็นเพียงแค่ไม่กี่แผนกของคิง เพาเวอร์ ว่าขนาดเจ้เล้งที่รายได้หลักมาจากกลุ่มเครื่องสำอาง และขนม ยังมีกำไรจนสามารถใช้เงินสดสร้างคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ที่สาขาดอนเมืองโดยไม่ต้องกู้ แล้วกำไรของคิง เพาเวอร์ จากรายได้แสนล้านจะมากขนาดไหน นอกจากนี้จากที่เมื่อก่อนสายการบินจะบรรทุกแค่กลุ่มผู้โดยสารกำลังซื้อระดับบนมาซื้อสินค้าที่ดิวตี้ฟรี แต่ขณะนี้ผลจากสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์โตมาก จึงช่วยนำผู้โดยสารระดับกลางเข้ามาจอดที่สนามบิน เพื่ออุดหนุนสินค้าดิวตี้ฟรีอีก จึงเชื่อว่าการขยายกลุ่มผู้ซื้อดังกล่าวจะยิ่งทำให้รายได้และกำไรจากนี้พุ่งรวดเร็วมาก

จิ้งจอกสยามติดปีก เจ้าสัววิชัยแสนล้าน

หันมองขาธุรกิจหลักที่ 2.สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ หลังจากได้แชมป์พรีเมียร์ลีก เงินลงทุน 40 ล้านปอนด์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่า เป็น 400 ล้านปอนด์ หรือ 2 หมื่นล้านบาท แหล่งข่าวจากวงการกีฬาเปิดเผยว่า ช่วงที่วิชัยตัดสินใจซื้อทีมเลสเตอร์ เพราะ 1.ราคาค่อนข้างถูก เนื่องจากเลสเตอร์ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก และ 2.พื้นที่ด้านหน้าสนามแข่งขันทีมเลสเตอร์มีมากพอที่จะลงทุนสร้างเป็นศูนย์การค้า เพื่อขายสินค้าหรืออาหารจากเอเชีย เนื่องจากเมืองเลสเตอร์เป็นเมืองที่คนอังกฤษเชื้อสายอินเดีย และบังกลาเทศอาศัยอยู่มาก น่าจะเพิ่มมูลค่าในการลงทุนได้

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค. 2553 “เจ้าสัวดิวตี้ฟรี” ได้ตัดสินใจลงทุนซื้อ “สุนัขจิ้งจอก” เลสเตอร์ ซิตี้ สโมสรฟุตบอลเล็กๆ ในอังกฤษ ด้วยสนนราคา 40 ล้านปอนด์ (ราว 2,000 ล้านบาท) ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของสโมสรที่มีอายุยาวนาน 132 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1884)

เลสเตอร์ผงาดคว้าแชมป์ “เดอะแชมเปี้ยนชิพ” ฤดูกาล 2013-2014 จนสามารถกลับมาเล่นในลีกสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ฤดูกาล 2014-2015 ต้องดิ้นรนหนีตกชั้น ก่อนจะช็อกโลกด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ชิพ 2015-2016 ทำให้มีมูลค่าของสโมสรราว 300 ล้านปอนด์ (15,318 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่าตัว แบ่งออกเป็นรายรับ เช่น สปอนเซอร์ถึง 104 ล้านปอนด์ (ราว 5,310 ล้านบาท) ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้พรีเมียร์ลีก 72 ล้านปอนด์ (ราว 3,676 ล้านบาท) ถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ไปยัง 200 กว่าประเทศทั่วโลกอีก 99 ล้านปอนด์ (ราว 5,550 ล้านบาท) เงินรางวัลในฐานะแชมป์ 90 ล้านปอนด์ (4,595 ล้านบาท) โดยรวมแล้วปีนี้ เลสเตอร์น่าจะมีรายได้รวมกว่า 150 ล้านปอนด์ (ราว 7,659 ล้านบาท) ด้วยผลสำเร็จดังกล่าว บรรดานักเตะจิ้งจอกสยามจึงยกให้เจ้าสัวเป็นบอสหรือเจ้านาย

บริษัท รีปูคอม บริษัทด้านการวิจัยการตลาดกีฬาโลก เปิดเผยว่า เลสเตอร์จะมีรายได้จากค่าส่วนแบ่งต่างๆ ที่จะได้รับในช่วงฤดูกาลหน้า (2016-2017) เพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็นเงินรางวัลจากพรีเมียร์ลีก และรายได้จากการลงเล่นในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 32 ล้านปอนด์ (ราว 1,633 ล้านบาท) รายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมเกมในแต่ละนัด และเงินเพิ่มอีกเกมละ 3.5 ล้านปอนด์ (ราว 175 ล้านบาท) และรายได้จากการขายของที่ระลึก นอกจากมูลค่าเพิ่มของค่าตัวนักเตะในทีมน่าจะรวมเป็น 82 ล้านปอนด์ (ราว 4,100 ล้านบาท)

ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่ 3.โรงแรม ตัวหลักยังคงเป็นโรงแรมพูลแมน ที่ซอยรางน้ำ และ 4.ธุรกิจใหม่ที่เพิ่งซื้อมา สายการบินไทยแอร์เอเชีย ด้วยเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท ในหุ้น 39% ของครอบครัวแบเลเว็ลด์ และเตรียมไว้อีก 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรับซื้ออีก 60% ของผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยกลุ่มสายการบินปีที่ผ่านมามีรายได้เกือบ 3 หมื่นล้านบาท

ด้วยองค์ประกอบที่พร้อมทั้งวงสังคม ความสัมพันธ์หรือคอนเนกชั่น และกุมธุรกิจระดับหลายแสนล้าน เจ้าสัววิชัยวันนี้จึงเหมือนจิ้งจอกสยามติดปีก

จิ้งจอกสยามติดปีก เจ้าสัววิชัยแสนล้าน

ขุมทรัพย์ "ดิวตี้ฟรี" ขุมพลัง "คิง เพาเวอร์"

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 24 ปีก่อน “กลุ่มคิง เพาเวอร์” และ วิชัย ศรีวัฒนประภา (รักศรีอักษร) เป็นชื่อที่สังคมทั่วไปแทบไม่มีใครรู้จัก แต่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ผูกขาดสัมปทานในบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ตั้งแต่ยังใช้ชื่อ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2536

ในช่วงปี 2536 กลุ่มคิง เพาเวอร์ เริ่มต้นด้วยการได้รับสัมปทานขายสินค้าและของที่ระลึก ที่สนามบินกรุงเทพ (สนามบินดอนเมือง) สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ จากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ในนาม “บริษัท เจ.ที.เอ็ม. กรุ๊ป” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท คิง พาวเวอร์ แท็กซ์ฟรี” โดยอายุสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 2540 และต่อมาธุรกิจด้านการขายสินค้าและของที่ระลึกของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับการต่ออายุสัมปทานอีก 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกระหว่างปี 2541-2546 และครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2546-2549 หรือจนกว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดให้บริการ

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญน่าจะอยู่ในช่วงปี 2540 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับสัมปทานให้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ที่สนามบินดอนเมือง สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ จาก ทอท. ในนาม “บริษัท เจ.ที.เอ็ม.ดิวตี้ฟรี” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี โดยสัมปทานร้านค้าปลอดอากรครั้งนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2544 และต่อมาได้รับการต่ออายุสัมปทานอีกครั้งในปี 2545-2549 หรือจนกว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดให้บริการ พร้อมทั้งได้รับอนุญาตจาก ทอท.ให้ดำเนินการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรของผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง

ส่งผลให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ผูกขาดการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในสนามบินของ ทอท. 4 แห่ง เพียงเจ้าเดียว และหลังจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ใช้นโยบายสนามบินเดียว คือ ปิดสนามบินดอนเมือง และเปิดใช้งานสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2548 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้รับสัมปทานผูกขาดร้านค้าปลอดอากรเพียงรายเดียว ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต และ สนามบินหาดใหญ่ เป็นเวลา 10 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2548-31 ธ.ค. 2558 ซึ่งสัญญาดังกล่าวลงนามกันเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2547

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง 2 ครั้ง คือ ในคราวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปิดสนามบินเมื่อปี 2549 และเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองในปี 2552-2553 ทอท.ได้มีมาตรการเยียวผลกระทบให้ผู้ประกอบการในสนามบิน ทอท. โดยขยายอายุสัญญาให้ครั้งละ 2 ปี รวมเป็น 4 ปี ส่งผลให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้สิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีที่สนามบินสุวรรณภมิและสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง ไปจนถึงวันที่ 27 ก.ย. 2563

ขณะที่ในปี 2548 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ในนาม “คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ” ชนะการประมูล “พื้นที่เชิงพาณิชย์” ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เหนือคู่แข่ง 4 เจ้า ที่เข้าร่วมแข่งประมูล คือ กลุ่มบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล กลุ่มบริษัท มาสเตอร์ มายนด์ กลุ่มบริษัท เอื้อวัฒนสกุล และกลุ่มบริษัท อิมพีเรียล พลาซ่า และสามารถคว้าสัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์มาได้ 10 ปี หรือตั้งแต่เดือน มี.ค. 2548-2558 และได้สิทธิประโยชน์จากการเยียวยาผลกระทบจากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองไปจนถึงปี 2563 และถือเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในการเปิดร้านขายสินค้าปลอดอากรกลางกรุงเทพฯ ที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ เป็นเจ้าของ

เพราะทีโออาร์ใน 2.1.1 ระบุ “ผู้รับอนุญาตจะได้รับสิทธิให้ดำเนินการพัฒนาตลอดจน ‘บริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์’ สำหรับร้านค้าย่อย หรือบริการต่างๆ ภายในอาคารผู้โดยสาร (Passenger Terminal Complex) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ขอบเขตของโครงการไม่รวมถึงการดำเนินงานต่อไปนี้ 1) ร้านค้าปลอดอากร 2) การบริหารกิจกรรมการโฆษณา และ 3) กิจกรรมการให้บริการด้านการขนส่งให้กับผู้โดยสารของท่าอากาศยาน เช่น รถแท็กซี่ รถบัส รถลีมูซีน เป็นต้น”

จึงเท่ากับว่า นอกจากกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะได้รับสิทธิในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิแทบจะทุกตารางเมตรในขณะนั้นแล้ว กลุ่มคิง เพาเวอร์ ยังใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิเป็นจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากรจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Pick Up Counter) คือ เมื่อมีการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษีในเมือง จะต้องส่งมอบสินค้า ณ จุดที่กรมศุลกากรกำหนด ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ซึ่งก็คือ พื้นที่ใดๆ ในสนามบินสุวรรณภูมินั่นเอง

ดังนั้น ในเมื่อกลุ่มคิง เพาเวอร์ ได้สิทธิร้านค้าปลอดอากร และสิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดในสนามบินสุวรรณภูมิ จึงเรียกได้ว่า กลุ่มคิง เพาเวอร์ แทบจะผูกขาดการขายสินค้าปลอดอากรทั้งในสนามบินและในกรุงเทพฯ แต่เพียงเจ้าเดียวไปจนถึงปี 2563

แม้ว่าต่อมารัฐบาลจะประมูลสิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอากร กิจกรรมการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Pick Up Counter) และสิทธิในการบริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมือง หลังรัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายเปิดใช้สนามบินดอนเมืองอีกครั้งในปี 2555 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ชนะการประมูลได้สิทธิจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และกิจกรรมให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick Up Counter) ซึ่งต่อมาได้รวมเป็นสัญญาเดียวกัน โดยมีอายุสัญญา 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2555-30 ก.ย. 2565 ส่วนกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป จับมือกับ Shilla (เกาหลี) ชนะการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ และ ทอท.ห้ามไม่ให้ใช้มีการนำพื้นที่เชิงพาณิชย์ทำจุด Pick Up Counter

ส่งผลให้ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และร้านค้าปลอดภาษีในกรุงเทพฯ ของกลุ่มคิง เพาเวอร์ มีความมั่นคงต่อไปอย่างน้อย 4 ปี และนานพอที่จะสั่งสมทุนเพื่อที่จะนำไปสู่การชนะการประมูลร้านค้าปลอดภาษี สิทธิบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินทั้งสองแห่งต่อไปอีกยาวนาน

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ใช่ว่าหนทางของกลุ่มคิง เพาเวอร์ จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหลายต่อหลายครากลุ่มคิง เพาเวอร์ เจอมรสุมลูกใหญ่ๆ มาหลายลูก แต่ที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 กลุ่มคิง เพาเวอร์ ตกเป็นเป้าใหญ่ เมื่อ ทอท.ประกาศจะเลิกสัญญาร้านค้าปลอดภาษีกับกลุ่มคิง เพาเวอร์ ในปี 2550 เนื่องจากอ้างว่าสัญญาร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินภูเก็ต สนามบินหาดใหญ่ เป็นโมฆะ เพราะมูลค่าโครงการเกิน 1,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนกรณีนักการเมืองเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ จนได้สัญญาดังกล่าวมา

ต่อมาในเดือน ก.พ. 2551 ศาลแพ่งฯ มีคำพิพากษาให้กลุ่มคิง เพาเวอร์ ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรไปกว่าจะสิ้นสุดสัญญา ขณะที่ในปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติฉิวเฉียด 5 ต่อ 4 ว่า การได้มาซึ่งสัญญาร้านค้าปลอดอากรของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน จึงมีมติให้ยกคำร้องในที่สุด แม้ว่าต่อมาในเดือน ก.พ. 2559 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าตรวจสอบ และพบความผิดปกติในเรื่องการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ท่าอากาศยานซึ่งเป็นสัญญาที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ มีกับบริษัท ทอท.ก็ตาม

นับจากวันที่กลุ่มคิง เพาเวอร์ เริ่มต้นธุรกิจที่ผูกติดกับสัมปทานของหน่วยงานรัฐในธุรกิจร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี วันนี้กลุ่มคิง เพาเวอร์ มีรายได้ 6.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 มากกว่าค่าตอบแทนที่กลุ่มจ่ายเป็นค่าสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรี (ไม่รวมส่วนแบ่ง) 10 ปี (ปี 2548-2558) ที่มีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และในปี 2559 กลุ่มคิง เพาเวอร์ คาดว่าจะมีรายได้ 8.5 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งยังไม่นับรายได้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) คาดว่าปีนี้จะมีรายได้เติบโต 10-15% จากปีที่แล้วที่ีมีรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีเป็นขุมพลังหลักของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ที่ใช้ต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

จิ้งจอกสยามติดปีก เจ้าสัววิชัยแสนล้าน

"แอร์เอเชีย" ต่อยอด สกัดร้านปลอดอากรรายใหม่

หลายคนตั้งคำถามว่า กว่าจะมีวันนี้เส้นทางเศรษฐีอย่างวิชัยร่ำรวยมาจากอะไร ก่อนจะมาจับธุรกิจดิวตี้ฟรี คิง เพาเวอร์ หรือไม่ คำตอบคือ ร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี นับเป็นบ่อเงินบ่อทองสำคัญที่นำไปสู่การต่อยอดในการลงทุนด้านอื่นๆ

ความมั่งคั่งจากการเล่นหุ้นแบบซื้อมาขายไป ทำกำไรจากบิ๊กล็อตในหลายกรณี ก็เป็นอีกหนึ่งในเกมการเงินของวิชัย ซึ่งได้เห็นชัดๆ มาแล้วในกรณีซื้อหุ้นอาร์เอส โดยให้เหตุผลว่ามองเห็นโอกาสของธุรกิจบันเทิง แต่ภายในเวลา 2 เดือน ก็ขายทิ้งทำกำไร จนเมื่อถึงกรณีล่าสุด ไทยแอร์เอเชีย เจ้าพ่อคิง เพาเวอร์ ก็ให้เหตุผลว่า ซื้อเพราะไทยแอร์เอเชียสามารถต่อยอดธุรกิจได้ โดยเฉพาะการขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวจีน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วิชัยจะถูกถามอย่างหนัก อย่างการซื้อไทยแอร์เอเชียครั้งนี้จะคล้ายกับกรณีอาร์เอสหรือไม่ แล้วก็ได้รับการยืนยันว่า การลงทุนในไทยแอร์เอเชียเป็นการลงทุนระยะยาวให้ครอบครัวแน่นอน

เมื่อเป็นเช่นนั้น หลายคนจึงตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเป็นธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยแอร์เอเชีย โดยก่อนจะวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ ต้องย้อนกลับมาดูฐานธุรกิจหลักอย่างธุรกิจดิวตี้ฟรีภายใต้แบรนด์ “คิง เพาเวอร์” โดยหากกล่าวว่า คิง เพาเวอร์ มีฐานที่มั่นคงในธุรกิจนี้ ก็ต้องยอมรับว่ามั่นคง ด้วยสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่มีกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ทำให้ได้สัมปทานทำร้านดิวตี้ฟรีใน 5 สนามบิน ได้แก่ 1.สุวรรณภูมิ (อีก 4 ปีหมดสัญญา) 2.ดอนเมือง 3.เชียงใหม่ 4.ภูเก็ต และ 5.หาดใหญ่

แต่ในอนาคตก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นกัน ด้วยกระแสกดดันจากภาคเอกชนและหน่วยงานอิสระที่ตรวจสอบคอร์รัปชั่น อาจทำให้ท้ายที่สุด มีการเปิดจุดรับจ่ายสินค้าปลอดอากรสาธารณะ (Pick-up Counter) ได้จริงในหลายสนามบินนานาชาติ ที่ผู้ให้บริการธุรกิจดิวตี้ฟรีทุกรายใช้บริการได้อิสระ ก็มีแนวโน้มว่าจะมีผู้ประกอบการ ดิวตี้ฟรีกลางเมือง (นอกสนามบิน) เกิดมากขึ้น ให้ลูกค้าซื้อสินค้าที่ร้านดิวตี้ฟรีกลางเมือง แล้วก็ไปรับสินค้าที่จุดพิคอัพ เคาน์เตอร์สาธารณะ ก็อาจทำให้คิง เพาเวอร์ มีโอกาสถูกชิงส่วน
แบ่งตลาดมากขึ้น

แน่นอนว่าการที่คิง เพาเวอร์ ทำธุรกิจนี้มานาน และกำลังจะมียอดขายแตะ 1 แสนล้านบาทในปีหน้า การถูกกินส่วนแบ่งตลาดไปบ้าง อาจไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วง แต่ด้วยผู้สนใจเข้าสู่ธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองก็เป็นยักษ์ใหญ่แห่งค้าปลีกที่ “บิ๊ก” และมีโครงข่ายโยงใยไม่น้อยไปกว่าคิง เพาเวอร์เลย และอาจจะมีความพร้อมในด้านทำเลที่ตั้งของสาขาที่เข้าถึงได้สะดวกมากกว่าด้วย

นั่นจึงเป็นหนึ่งในข้อสังเกตของคนในแวดวงธุรกิจว่า อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้วิชัยต้องขยับไปหาธุรกิจสายการบิน เรียกว่าไปรับคนซื้อจากหน้าประตูบ้าน ดึงมาซื้อสินค้าปลอดอากรที่คิง เพาเวอร์ ซึ่งหากคิดภายใต้โจทย์ที่ว่า คิง เพาเวอร์ ยังคงทำธุรกิจดิวตี้ฟรีเพียงรายเดียวในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกสนามบิน การมีธุรกิจสายการบินไว้ในครอบครองก็มีแต่ได้กับได้ สายการบินขนคนมาได้มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีกับคิง เพาเวอร์ ทุกแห่งทั่วประเทศไทย

ขณะที่หากคิดจากโจทย์ที่ว่า คิง เพาเวอร์ ไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวในธุรกิจค้าปลีกปลอดอากรอีกต่อไป และธุรกิจนี้มีการแข่งขันอย่างเสรีทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต การมีสายการบินเป็นของตัวเองก็ยิ่งเป็นผลดีในแง่เชิงการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างไทยแอร์เอเชีย กับ คิง เพาเวอร์ ได้เต็มที่ เช่น การให้สิทธิประโยชน์แบบพิเศษกับคนที่บินไทยแอร์เอเชียในการช็อป คิง เพาเวอร์ เพื่อดึงให้ลูกค้าเลือกช็อปในคิง เพาเวอร์ มากกว่าเลือกไปช็อปร้านค้าปลอดอากรของเจ้าอื่น

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีน หากวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของผู้ประกอบการค้าปลีกย่านแหล่งท่องเที่ยวของไทยทุกรายในเวลานี้ ไม่ว่าจะร้านค้าระดับกลางไปจนถึงร้านค้าระดับไฮเอนด์ ล้วนจับกลุ่มลูกค้าจีนเป็นหลัก เช่นเดียวกับที่คิง เพาเวอร์ ก็ให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มนี้มาก จึงเตรียมเร่งสร้างคิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ เฟส 2 ให้เสร็จก่อนต้นปีหน้า เพื่อจะปิดปรับปรุงคิง เพาเวอร์ ดาวน์ทาวน์ คอมเพล็กซ์ (รางน้ำ) ให้เป็นโฉมใหม่ และเมื่อทั้งสองแห่งแล้วเสร็จ ก็จะแยกการทำตลาดชัดเจน โดยตั้งเป้าให้สาขาศรีวารี รับกลุ่มลูกค้าที่เป็นกรุ๊ปทัวร์จีนเป็นหลัก ส่วนสาขารางน้ำรองรับกลุ่มลูกค้าท่องเที่ยวเองทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้าท่องเที่ยวไทยมีประมาณ 10 ล้านคน ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 12-13 ล้านคน วิชัย ระบุว่า ชาวจีนกลุ่มนี้เข้ามาใช้บริการคิง เพาเวอร์ ทุกสาขา รวมแล้วมากถึง 6-7 ล้านคน เขาตั้งเป้าที่จะเพิ่มเป็น 80% ของชาวจีนทั้งหมดที่เข้ามาในไทย จากการใช้ไทยแอร์เอเชียเป็นตัวเชื่อมหลัก ซึ่งหากมีผู้เล่นดิวตี้ฟรีรายใหม่ๆ เกิดขึ้น ฟันธงได้เลยว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนกว่า 10 ล้านคนดังกล่าว จะกลายเป็นทะเลเดือดแน่นอน

จึงไม่แปลกเลย ถ้านอกจากไทยแอร์เอเชียจะต่อยอดทางธุรกิจให้กับคิง เพาเวอร์แล้ว จะยังเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่คิง เพาเวอร์หวังจะใช้ในการสกัดดาวรุ่งผู้เล่นดิวตี้ฟรีรายใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต