posttoday

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

26 พฤษภาคม 2559

เมื่อวิธีการตัดแต่งต้นไม้ในเมืองอย่างผิดวิธี กลายเป็นทัศนอุจาด

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เมื่อต้นไม้ใหญ่เขียวขจีตามท้องถนนเมืองกรุงถูกตัดแต่งอย่างผิดวิธี ส่งผลทำให้กิ่งก้านสาขาที่เคยสวยงาม ให้ร่มเงา กลายเป็นแห้งโกร๋น ลำต้นเต็มไปด้วยบาดแผล รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์จนต้องเบือนหน้าหนี

นาทีนี้คนเมืองพากันตั้งคำถามถึงผู้รับผิดชอบว่า วิธีการตัดแต่งต้นไม้ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่

ปลุกกระแส...เปลี่ยนปัญหาเป็นสินทรัพย์

ความสวยงามร่มรื่นของต้นไม้ในต่างประเทศ กลายเป็นแรงผลักดันให้ อุ๊-ช่อผกา วิริยานนท์ จับมือกับพรรคพวกก่อตั้ง “เครือข่ายต้นไม้ในเมือง” ขึ้น

“เราไปเห็นภาพการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่อย่างสวยงามจากเมืองนอก แล้วเกิดไอเดียว่า เฮ้ย...เมืองไทยต้องตัดแบบนี้สิ เลยเอามาเขียนลงในเฟซบุ๊ก เชื่อไหม มีคนสนใจและแชร์ต่อกันเยอะมากเป็นล้านวิว คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องผลักดันให้เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย รุ่งขึ้นชวนพรรคพวกมานั่งคุยกัน ไม่น่าเชื่อถึงวันนี้มีคนเข้าร่วมเครือข่ายมากกว่า 3 หมื่นคน ทั้งภาคเอกชน ประชาชน และมหาวิทยาลัย รวมแล้วกว่า 60 แห่ง เป้าหมายคือ รวมพลังขับเคลื่อนให้เกิดการปฎิรูปวิธีการบริหารจัดการต้นไม้ในเมือง ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่รวมถึงหัวเมืองทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศด้วย”

ช่อผกา เล่าว่า สิงคโปร์ ถือเป็นประเทศต้นแบบในการจัดการต้นไม้ในเมืองที่มีวิสัยทัศน์ จนสามารถใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนให้ทั้งคนในและนอกประเทศอยู่ในเมืองได้อย่างร่มเย็น

“หลายสิบปีก่อนสิงคโปร์ร้อนมาก แต่สมัยนี้ร่มเย็น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่อลังการ เพราะรัฐบาลมีหน่วยเฉพาะดูแล ใช้เทคโนโลยีในการจัดการ มีรันนิ่งนัมเบอร์ต้นไม้ มีหมอต้นไม้ที่เรียกว่ารุกขกร คือคนที่มีความรู้ทางด้านการดูแลต้นไม้เป็นผู้ทำหน้าที่ตัดแต่ง ประเทศพัฒนาแล้วในโลกทำอย่างนี้กันทั้งนั้น เพราะเขามองว่า ต้นไม้คืนสินทรัพย์ของเมืองที่ต้องพยายามทำให้งอกเงย เชื่อเถอะว่า เมื่อเราดูแลมันดี ต้นไม้จะกตัญญูตอบแทนคนทั้งเมืองอย่างมหาศาล”

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

ประธานเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ยกตัวอย่างความมหัศจรรย์ของต้นไม้ ที่สามารถสร้างรายได้ทั้งทางตรงและอ้อมให้กับประเทศได้

“ด้านการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่นใช้ซากุระดึงดูดเงินคนทั้งโลก รักษาอย่างดีจนกลายเป็นโมเดลให้อีกหลายประเทศทำตาม  ด้านสภาพอากาศ ทุกวันนี้คนเมืองทรมานมากในอุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกปี ทั้งจากอากาศและความอบอ้าวจากซีเมนต์ การมีต้นไม้ในเมืองจำนวนมาก สามารถลดอุณหภูมิในป่าคอนกรีตได้  ด้านอสังหาริมทรัพย์ งานวิจัยชี้ชัดว่า โครงการใดมีต้นไม้ใหญ่ ที่นั่นจะปิดการขายได้รวดเร็วกว่า เพราะคนเมืองกำลังโหยหาความร่มรื่นและพื้นที่สีเขียวมาก หรือแม้แต่ทางการแพทย์ ต้นไม้ยังช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้ด้วย องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคซึมเศร้าและผู้ป่วยจิตเวชกำลังจะกลายเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยอันดับสองของโลกและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย แต่รู้หรือเปล่า การนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ ทำให้สมองของมนุษย์อยู่ในคลื่นอัลฟ่า (Alpha wave) ซึ่งเป็นสภาวะของคนที่มีจิตใจสงบเยือกเย็น มีสมาธิ ลดความสับสนวุ่นวายในสมองลง พร้อมที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดกระบวนการเรียนรู้สูงสุด

ถ้าคิดในเชิงสังคม คุณยังเห็นว่าไม่พอ ลองคิดในมุมเศรษฐศาสตร์ก็ได้ว่าประโยชน์ของมันนั้นสร้างเม็ดเงินและลดค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาลขนาดไหน มันเป็นเรื่องน่าโมโห ที่เอาใครก็ไม่รู้มาตัดหัว สังหารต้นไม้เป็นว่าเล่น ถ้ารู้ประโยชน์อย่างนี้แล้ว เราควรยอมรับไหมล่ะ”

ช่อผกา เห็นว่า การบูรณาการในหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนคือสิ่งสำคัญต่อการปฎิรูปการบริหารจัดการเพื่อทำให้คนกับต้นไม้รักและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การสังหารโหดหรือตัดแต่งไม่ถูกต้องต้องหมดไปเสียที

“ขอเชิญให้ทุกคนร่วมกันถ่ายภาพต้นไม้ที่มีปัญหาและโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ตั้งอยู่ที่ไหน พร้อมกับ แฮชแท็ก #สายตรวจต้นไม้ เราจะทำการรวบรวมข้อมูลส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ให้ผู้มีอำนาจรับรู้ อยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำ อย่าแค่บ่น มาร่วมกันชี้ปัญหาให้ผู้บริหารเห็น เมื่อเป็นกระแสอย่างกว้างขวางก็จะได้รับการแก้ไข”

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

ผู้บริหารต้องเชื่อก่อนว่าต้นไม้สำคัญ 

ปัญหาเรื่องต้นไม้ ที่ผ่านมาปฎิเสธไม่ได้ว่า ผู้บริหารระดับสูงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายและทิศทางการทำงานแก่ผู้ปฎิบัติระดับล่าง

ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน ผู้ชำนาญการด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง บอกชัดถ้อยชัดคำถึงหนทางไปสู่ความร่มรื่นในเมืองอย่างแท้จริง ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้มีอำนาจ หน่วยงานรับผิดชอบ ในการดูแลรักษาต้นไม้เสียก่อน  

“ไม่ใช่ประกาศแค่ว่าเมืองจะเป็นสีเขียว แต่ต้องเชื่อจริงๆก่อนว่าต้นไม้มีความสำคัญ เป็นหน้าเป็นตา เป็นบุคลิกภาพของเมือง คำถามคือคุณเชื่อจริงๆไหม ถ้าเชื่อจริงก็ผลักดัน แต่ที่ผ่านมา ผมคิดว่าท่านไม่เชื่อจริง และเลือกลงทุนเรื่องต้นไม้แบบผิดๆ เกาะกลางถนนตัดเป็นเรือสุพรรณหงส์ เป็นพญานาค เทวดา ยาวหลายกิโลเมตร เสียงบประมาณ ดูแลตัดแต่งทุกๆ 15 วัน แต่กลับไม่ได้สร้างความร่มรื่น ทำเท่าไหร่ก็ยิ่งร้อน นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เราใส่ใจผิดที่ผิดทาง ละเลยเรื่องที่มีน้ำหนักสูงสุดอย่างการจัดการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ดูแลง่ายเพียงปีละครั้ง” 

วิทยากรและที่ปรึกษาดูแลด้านต้นไม้ใหญ่ให้กับบริษัทเอกชนหลายแห่งรายนี้ แนะนำแนวทางบริหารจัดการต้นไม้ของประเทศสิงคโปร์ให้ฟังว่า เลือกวางต้นไม้ชนิดเดียวกันตลอดแนวท้องถนนบางแห่ง เช่น ต้นประดู่ ก็ใช้ต้นเดียวยาวไปตลอดแนวถนนลาดพร้าว นอกจากจะบริหารจัดการง่ายแล้ว ยังเป็นการบ่งบอกพื้นที่ไปในตัวด้วย 

“ขับรถไม่ต้องสนใจว่าอยู่ซอยไหน ดูต้นไม้เอา ถ้าต้นไม้เปลี่ยน เฮ้ย มันไกลจากซอยนั้นแล้วเว้ย  การสั่งงานตัดแต่งก็ง่าย ผมเป็นหัวหน้าคนงาน พาลูกน้องไปตัด ผมตัดหัวแถวให้ดูต้นเดียว แล้วบอกที่เหลือ เอ็งตัดให้เหมือนกันนะ เพราะมันพันธุ์เดียวกัน จบ แต่บ้านเรา เดี๋ยวก็ประดู่ นนทรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ โอ้โห ไปเรื่อยเลยกว่าจะตัดจบ” 

ข้อสำคัญคือ การวางเป้าหมายอย่างชัดเจน จริงจัง รวมถึงลงทุนกับเครื่องไม้เครื่องมืออย่างถูกต้อง ถือเป็นแนวทางปฎิบัติที่ควรเดินไป

“ต้องเลือกเป้าชก  ชกมันตรงนั้น ชกจนเอาชนะให้ได้ ที่ผ่านมาบ้านเราสะเปะสะปะไปหมด นึกจะปลูกก็ปลูก จะตัดก็ตัด ใช้เครื่องมือไม่ถูกต้อง อยากให้เมืองร่มรื่นต้องให้ความสำคัญกับคนดูแล ต้องมีตำแหน่งรุกขกร สร้างคนขึ้นมา อย่าฉาบฉวย ใช้เวลาหน่อยแต่คุ้มค่าเชื่อผม ที่สำคัญกว่านั้นคือ ทำอย่างไรให้คนที่ปีนขึ้นไปตัด รู้สึกภาคภูมิใจ ประณีตในหน้าที่ ต้องหาแรงจูงใจให้เขา นี่คืองานสำคัญ” 

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญต้นไม้รายนี้บอกว่า แรงกดดันในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมืองไม่ควรตกอยู่ที่กทม.หรือการไฟฟ้าเท่านั้น กรมป่าไม้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวนศาสตร์ก็ควรเข้ามาดูแลทำงานรวมกันอย่างจริงจังด้วย

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

ตัดแต่งผิดรูปแบบ...ต้นเหตุต้นไม้ป่วย

เรื่องน่าตกใจวันนี้ก็คือ ต้นไม้ส่วนใหญ่ในเมืองหลวง ล้วนต้องเผชิญกับความผิดปกติ ป่วยไข้ ไม่สมบูรณ์ สาเหตุสำคัญมาจากการตัดแต่งผิดวิธีของฝ่ายกำกับดูแล ทำให้ปัญหายิ่งทับซ้อนมากขึ้นไปอีก 

“ถ้าไปดูต้นมะขามท้องสนามหลวง ถนนราชดำเนิน จะเห็นว่า ผลจากการตัดไม่ถูกต้องในอดีต ทำให้ต้นไม้วันนี้ผุเป็นโพรง มีอาการป่วย ใบออกน้อย ไม่ให้ร่มเงาอย่างที่ควรจะเป็น นี่คือความสูญเสียจากความไม่รู้และไม่ดูแล ท้องถนนทั่วกรุงเทพฯ ต้นไม้ป่วยแทบทั้งหมด” 

ครูต้นแนะนำว่า วิธีการตัดแต่งที่ถูกต้อง อย่างแรกต้องตอบให้ชัดก่อนว่า กิ่งที่เป็นปัญหาคือ กิ่งประเภทใด กิ่งตั้งหรือว่ากิ่งนอน ถ้าความสูงของต้นไม้ สร้างปัญหาก็ให้เลือกตัดกิ่งตั้งออก ถ้าความกว้างของเรือนยอดสร้างปัญหา ให้เลือกตัดกิ่งนอนก่อน ห้ามตัดทุกกิ่งอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะนอกจากไม่สวยงามแล้ว ยังสร้างปัญหาระยะยาวในอนาคตด้วย ส่งผลให้ต้นไม้สร้างเนื้อเยื่อออกมาประสานรอยแผลได้ช้าลงหรือในบางครั้งไม่สามารถปิดรอยแผลที่เกิดขึ้นได้เลย เป็นสาเหตุสำคัญให้เนื้อไม้ผุ อ่อนแอหรือทำให้ปลวกสามารถเข้าไปทำลายเนื้อไม้ได้ในเวลาต่อมา 

สำหรับการตัดต้นไม้ในแนวสายไฟฟ้าที่ถูกต้อง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ตัดกิ่งเล็กออกเหลือกิ่งใหญ่ไว้ และ ตัดกิ่งใหญ่ออกเหลือกิ่งเล็กไว้ Directional Pruning  (ลักษณะทอนยอด)

1.การตัดกิ่งที่มีขนาดเล็กออกจากลำต้นหรือกิ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า ให้สังเกตวงแหวนที่โคนกิ่ง ซึ่งเรียกว่า คอกิ่ง (Branch Collar) และตัดให้ชิดคอกิ่ง ระมัดระวังไม่ให้คอกิ่งเสียหาย ตัดแบบนี้ต้นไม้สมานแผลเร็ว

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

2.ตัดกิ่งใหญ่ออกเหลือกิ่งเล็กไว้ Directional Pruning ตัดเพื่อเบี่ยงทิศทางของลำต้น

ถ้าจะตัดกิ่ง / ลำต้น ที่มีขนาดโตกว่าออก สังเกตเส้นสันเปลือกที่เรียกว่า Branch Bark Ridge และปฎิบัติดังนี้

1.สังเกตแนว Branch Bark Ridge

2.กะแนวเส้นตั้งฉากกับกิ่ง ลำต้นหลัก นั้นๆ ด้วยสายตา

3.แนวตัด อยู่กึ่งกลาง ระหว่างเส้นทั้งสอง

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

 

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

“การตัดหยุดความสูงแบบไม่ไตร่ตรอง เมื่อเวลาผ่านไป ต้นไม้จะแตกกระโด่งออกใหม่ กลายเป็นปัญหาตามมาอีก ตัดแบบนี้ ปีหน้างานคุณก็งานเยอะขึ้น เยอะขึ้น เรื่อยๆ”

อย่างไรก็ตามแม้จะรับทราบทฤษฎี แต่ต้นไม้แต่ละต้นก็จำเป็นต้องเรียนรู้ในรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการวางเลื่อยในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งต้องฝึกฝนเรียนรู้เพื่อช่วยให้เปลือกใหม่ที่งอกขั้นมาประสานแผลได้อย่างสมดุล  

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์

 

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์ ตัวอย่างผลจากการทอนยอดหรือ การตัดเพื่อเบี่ยงทิศทางของลำต้น Directional Pruning

ส่วนคำถามที่หลายคนสงสัยว่าจำเป็นแค่ไหนกันที่ กทม.ต้องตัดต้นไม้ในฤดูร้อน ทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องการร่มเงา ครูต้อ อธิบายว่า ตามหลักวิชาการและวัฏจักรการเจริญเติบโตของต้นไม้ ฤดูหนาวต่างหากที่เหมาะสมที่สุดในการตัดแต่ง 

“ช่วงหน้าฝนต้นไม้จะเติบและรับสารอาหารอย่างเต็มที่ พอเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวเขาจะดึงสารอาหารที่สามารถเคลื่อนย้ายได้มาเก็บไว้ในลำต้น เพื่อเตรียมทิ้งใบ เราต้องกำหนดโครงสร้าง ปรับทิศทางการเจริญเติบโตในช่วงหน้าหนาว เหมือนพ่อแม่กำหนดทิศทางการเติบโตให้ลูก ไม่โตไปอย่างสะเปะสะปะ  ฉันอยากให้นายแตกกิ่งใบเติบโตไปทางนี้นะ ทางไหนไม่ต้องการ ตัดทิ้งเลย ปรับทิศรอไว้ พอถึงช่วงฤดูร้อน ต้นไม้ก็จะแตกกิ่งก้าน ให้ร่มเงาพอดี ถ้าไปตัดหน้าร้อนต้นไม้มันแตกยอดไปแล้ว กำหนดทิศทางลำบาก”

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์ สนามหลวง

ความปลอดภัยต้องมาก่อน ...คำชี้แจงจากกทม.และการไฟฟ้า

เเม้ที่ผ่านมา กทม.และการไฟฟ้าจะมีความเข้าใจในเรื่องต้นไม้ใหญ่ดีขึ้น เเต่ในการปฎิบัติงานจริง ยังพบเห็นปัญหาได้บ่อยครั้ง

สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. บอกว่า ปัจจุบันมีต้นไม้ใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ ประมาณ 3,178,000 ต้น สำนักสิ่งแวดล้อมมีภาระกิจหลักในการดูแลตัดแต่งต้นไม้ริมถนนกว่า 1.5 แสนต้น โดยการไฟฟ้านครหลวงจะเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต่อเมื่อต้นไม้ไปกีดขวางสายไฟฟ้าจนเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายแก่ประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่ของ กทม.ควบคุมดูแล 

“เจ้าหน้าที่ของ กทม.ส่วนใหญ่ผ่านการอบรมหลักสูตรการตัดต้นไม้มาแล้ว แต่ยอมรับว่าในขั้นตอนปฎิบัติและประสานงานอาจมีปัญหาบ้าง อีกทั้ง กทม.ยังมีภาระหน้าที่ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีต่อจากนี้ต้องเข้มงวดเรื่องการตัดต้นไม้ให้มากขึ้น เพราะประชาชนร้องเรียนเข้ามาถึงความห่วงใย เหมือนว่า กทม.ไม่รักต้นไม้ ทำลายความร่มรื่นและความงาม แต่จริงๆ แล้ว ถ้าไม่จำเป็น กทม.ไม่ตัดต้นไม้ เพราะสวนทางกับแผนเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียว” สุวรรณา กล่าว

ชาญ ปัทมะวิภาค ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง บอกว่า ทางออกของเรื่องนี้คือความสมดุลระหว่างความปลอดภัยและความสวยงามในแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาการไฟฟ้าถือเอาความปลอดภัยเป็นหลัก และให้ความสำคัญกับการป้องกัน

“เราทำงานในเชิงป้องกัน บางครั้งพบว่า กิ่งไม้มีความเสี่ยงที่จะเข้าไปแหย่ขั้วหม้อแปลง ช่วงเวลาฝนตกอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัย หรือบางครั้งที่หลายคนเห็นว่าต้นไม้พาดพิงหรืออยู่ใกล้กับเสาไฟฟ้าได้อย่างสวยงาม แต่จริงๆ แล้ว การที่กิ่งโยกไปโยกมานั้นมันกำลังเสียดสีกับสายไฟ ชนวนจะค่อยๆ ชำรุด และไฟอาจจะรั่วจนเกิดอันตรายกับผู้คนบริเวณนั้นโดยไม่มีรู้ตัวได้ วันนี้ระบบไฟฟ้าเสียหายเพียง 5 นาที บ้านเมืองปั่นป่วน ชาวบ้านก่นด่า หงุดหงิดและโจมตีทางการไฟฟ้าแล้ว ฉะนั้น หน้าที่ป้องกัน เลยกลายเป็นโจทย์ที่เราต้องทำเต็มที่ จนอาจล่วงเกินความสวยงามไปบ้าง”  

ผอ.สื่อสารองค์กร กฟน. บอกว่า ในอดีตนั้นเคยมีแนวคิดปลูกต้นไม้พุ่มเตี้ยในกทม. เพื่อไม่ให้กระทบกับเสาไฟฟ้า แต่ก็ดันเกิดปัญหาปิดบังหน้าร้านค้าของชาวบ้านจนเกิดการต่อต้านขึ้น นี่คือปัญหาสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามอนาคตเชื่อว่าปัญหาระหว่างความสวยงามและความปลอดภัยจะลดลง เนื่องจากปัจจุบันการไฟฟ้าได้ทยอยนำสายไฟลงดินแล้วในหลายพื้นที่แล้ว

“ไม่มีใครปฎิเสธความร่มรื่นสวยงาม แต่ผมว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเช่นกัน ต้องคุยกันให้ลงตัว ทางออกคืออะไร ถึงเวลาแชร์กัน เพราะทุกคนต่างมีเหตุมีผล มันเป็นมหากาพย์ที่ต้องหาจุดร่วมว่าอยู่ตรงไหน”

ถึงเวลาหรือยังที่จะทวงคืนความร่มเย็น นำธรรมชาติและความร่มรื่นกลับมาให้ชาวเมือง แทนที่จะปล่อยให้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางตึกคอนกรีต

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์ รัฐแมริแลนด์ (Maryland) รัฐทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา

 

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์ ถนนเพชรบุรี กทม.

 

"ตัดต้นไม้ในเมืองผิดวิธี" พอกันทีกับความอัปลักษณ์ เซี่ยงไฮ้ จีน

ภาพจาก ศ. กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ Decha Boonkham , ครูต้อ-ธราดล ทันด่วน , เครือข่ายต้นไม้ในเมือง