posttoday

'คลองด่าน' ค่าโง่ราคาแพง โจทย์ใหญ่-ใครจะรับผิดชอบ

13 พฤษภาคม 2559

หลังจากปปง. มีคำสั่งให้รัฐ “ระงับ” การจ่ายเงินชดเชยอีก 2 งวด รวมกว่า 4,700 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าซึ่งเป็นบริษัทเอกชนผู้ดำเนินโครงการ “บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน”

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

หลังจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งให้รัฐ “ระงับ” การจ่ายเงินชดเชยอีก 2 งวด รวมกว่า 4,700 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนผู้ดำเนินโครงการ “บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เกิดคำถามตามมาว่าสังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากมหากาพย์เรื่องนี้

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเวทีเสวนาหัวข้อ ร่วมหาทางออกกรณีค่าโง่คลองด่าน-หยุดความเสียหายของชาติ โดย รสนา โตสิตระกูล อดีต สว.กทม. ได้ตั้งคำถามว่า เงินจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท ที่รัฐจ่ายให้เอกชนไปแล้วในงวดแรกนั้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“เรื่องคดีคลองด่านนี้เป็นการร่วมการทุจริตทั้งโครงการ ซึ่งปัญหานี้เกิดมาจากหน่วยงานของรัฐจงใจ หรือไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ จึงไม่สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ถ้ายังไม่สามารถทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนได้ ในอนาคตประเทศอาจจะต้องเสียค่าโง่เช่นนี้อีกเยอะ ซึ่งดิฉันมองว่าหน่วยงานรัฐสมัยนี้ควรนำประเด็นปัญหาการทุจริตที่ผ่านมามาศึกษาเพื่อหาทางแก้ไขเรื่องพวกนี้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการคอร์รัปชั่น” รสนา ระบุ 

ขณะที่ ณกฤช เศวตนันทน์ อดีตที่ปรึกษากฎหมาย และทนายความในคดีอาญาของกรมควบคุมมลพิษชี้ให้เห็นถึงมูลเหตุของปัญหาว่า ในปี 2546 ซึ่งขณะนั้นมี ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ นั่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกำกับดูแลกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้มอบหมายให้เข้ามาดูแลทางคดี จนพบความผิดปกติ ประพัฒน์จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโครงการบ่อบำบัดน้ำคลองด่าน 3 ชุด

ทั้งนี้ กรรมการพุ่งประเด็นไปที่การฉ้อโกงเงิน ที่ดิน และเตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษกับบริษัทกิจการร่วมค้า NVPSKG ในเรื่องฉ้อโกงสัญญา และในปีเดียวกันก็ได้ตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขึ้นมาสอบเรื่องนี้อีกหน่วยงาน

“จนถึงสิ้นปี 2546 คพ.จึงได้ทำเรื่องขอทางคณะรัฐมนตรีให้บริษัททนายของตนเองเข้ามาดำเนินการ ต่อมาได้เริ่มฟ้องกิจการร่วมค้าฯ ทั้งประเด็นการทุจริตฉ้อโกงที่ดินมูลค่ากว่า 1,900 ล้านบาท และเรื่องสัญญาดำเนินการสูงถึง 2.3 หมื่นล้านบาท เพราะเวลานั้นทาง คพ.ได้จ่ายค่าก่อสร้างโครงการให้แก่บริษัทเกือบทั้งหมดแล้ว แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ตัวบุคคลรับผิดชอบก็เปลี่ยนตาม ทำให้การดำเนินคดีไม่มีความคืบหน้า และผลเสียก็ส่งผลต่อรูปคดีจนถึงปัจจุบัน

“ถึงแม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาให้บริษัทร่วมค้าฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด แต่เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่มีความต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดปัญหา ผมเตือนว่าเรื่องนี้ควรรีบดำเนินการ เนื่องจากคดีนี้มีอายุความ 20 ปี และจะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. 2560 นี้” ณกฤช ระบุ

เช่นเดียวกับ นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ก็เห็นว่า คดีคลองด่านถือเป็นกรณีศึกษา เพราะมีผู้ที่เกี่ยวข้องมาก ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ และสถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ ซึ่งไม่มีความรอบคอบในการตรวจสอบโครงการ หน่วยงานเหล่านี้จึงควรมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน 

สำหรับขั้นตอนการดำเนินคดีในชั้นศาลที่ผ่านมา ได้ผ่านการพิจารณาหลายศาล จนทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นมหากาพย์ทางกฎหมาย ซึ่งเรื่องกฎหมายควรจะต้องมีการปฏิรูป เพราะที่ผ่านมาขั้นตอนทางกฎหมายมีความยืดยาวและกว้างเกินไป

“คดีคลองด่านมีการดำเนินการทางกฎหมายมาแล้วกว่า 20 ปี ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ การก่อสร้างที่ลงทุนไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคม และผู้เกี่ยวข้องต้องคิดว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ส่วนกระบวนการทางกฎหมายของไทยควรนำเรื่องนี้มาศึกษาด้วย มิฉะนั้นผู้ที่เดือดร้อนก็มีเฉพาะข้าราชการประจำ และประชาชนเช่นเดิม”นวลน้อย ระบุ

สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ เห็นด้วยกับนวลน้อยว่า ภาคสังคมควรจะต้องเรียนรู้ว่าจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร และอย่านำสติปัญญาของสังคมฝากไว้กับใครเพียงไม่กี่คน แต่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคม เพราะเรื่องเหล่านี้มีความสลับซับซ้อน มีความสับสน เชื่อมโยงกัน ดังนั้นจึงต้องทำให้สังคมเกิดความเข้าใจ

“เรื่องนี้ไม่ใช่บทเรียนของปัจจุบัน แต่เป็นบทเรียนของอนาคตที่สำคัญมาก ดังนั้นเรื่องนี้ทุกคนต้องมองว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร” สุริชัย กล่าว

ด้าน ดาวัลย์ จันทรหัสดี ผู้แทนกลุ่มเรารักคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่เกาะติดคดีคลองด่านมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ สะท้อนว่า ขอวิงวอนต่อศาลให้ผลของคดีออกมาเร็วๆ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นความหวังของคนไทยส่วนหนึ่ง อยากให้สังคมให้ความสนใจการทุจริตในโครงการคลองด่านและนำไปเป็นบทเรียนสำหรับการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก