posttoday

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม"

08 พฤษภาคม 2559

18 ปีการต่อสู้อันยืดเยื้อของชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

เรื่อง...วรรณโชค ไชยสะอาด ภาพ...ชนัสถ์ กตัญญู

ท่ามกลางเเสงเเดดเจิดจ้า อุณหภูมิร้อนระอุถึง 40 องศา ชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ยังคงดำเนินไปอย่างปกติ แม้ยังพอมีรอยยิ้มบนใบหน้า แต่มันก็เป็นรอยยิ้มแห่งความจำยอม
 
ภาวะจำยอมที่ว่ามาจากความกล้ำกลืนฝืนทนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วย ผ่านมา 18 ปีเต็ม พวกเขายังไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยในระดับที่ควรจะเป็น สถานการณ์วันนี้ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ย้อนรอยคดีคลิตี้ 18ปีแห่งการต่อสู้อันยืดเยื้อ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 ข่าวการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ปรากฎต่อสาธารณชน หลังชาวบ้านต่างล้มป่วย มีอาการผิดปกติ และจบชีวิตลงอย่างเป็นปริศนา ชาวบ้านหลายคนบอกตรงกันว่า สาเหตุมาจากโรงแต่งแร่ตะกั่วบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ปล่อยน้ำเสียลงห้วย ทำให้น้ำขุ่นเทา ปลาตายจำนวนมาก ดื่มแล้วรู้สึกไม่สบาย คันคอ มึนหัว ถึงขนาดมีแพทย์ออกใบรับรองยืนยันว่าชาวบ้านหลายรายป่วยเป็นโรคพิษสารตะกั่ว เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณะสุขที่ลงพื้นที่ตรวจหาสารตะกั่วก่อนพบว่า ชาวบ้านมีระดับสารตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตราฐาน
 
ปี 2547 การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านเริ่มต้นขึ้น เมื่อพี่น้องกะเหรี่ยง 22 ราย ตัดสินใจฟ้องร้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ต่อศาลปกครอง ฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่และฟื้นฟูลำห้วยล่าช้า พวกเขาเสียเวลาในการต่อสู้คดียาวนานถึง 10 ปี กระทั่ง 10 ม.ค. 2556 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าชดเชย 3.8 ล้านบาท รวมทั้งให้กำหนดแผนฟื้นฟูลำห้วยใน 90 วัน อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้การฟื้นฟูยังไม่คืบหน้า ชาวบ้านยังไม่ได้รับการชดเชย ยังคงต้องใช้น้ำในลำห้วยที่ปนเปื้อนสารพิษ
 
ต่อมา ชาวบ้าน 151 คน ที่ได้รับพิษจากสารตะกั่วอันเป็นผลโดยตรงจากการปล่อยน้ำเสียและตะกอนหางแร่ของโรงแต่งแร่ ยื่นฟ้องบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ฯ ฐานปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยเรื้อรังและไม่สามารถใช้สอยลำห้วยได้ดังเดิม โดยศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งเป็นเงิน 36,050,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันฟ้อง ให้กับชาวบ้านคลิตี้ล่างจำนวน 151 คน คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
 
ส่วนอีกคดีคือ คดีแพ่งที่ชาวบ้าน 8 คนซึ่งมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ว่าร่างกายได้รับการปนเปื้อนจากสารตะกั่ว ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ตะกั่วคอนเซน เตรทส์ฯ  ล่าสุดศาลฎีกาเลื่อนอ่านคำพิพากษาไปวันที่ 21 มิ.ย.นี้

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม"

สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา เผยว่า จวบจนถึงวันนี้ กรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ยิ่งกว่านั้นหากพิจารณาแผนการฟื้นฟูของคพ.จะพบว่าไม่เหมาะสม โดยเฉพาะจุดฝังกลบตะกอนดินปนเปื้อนตะกั่วที่กำหนดไว้อยู่บนที่สูงเหนือพื้นที่และไม่ไกลจากหมู่บ้าน หากฝนตก ทิศทางการไหลของน้ำจะพาสารพิษเหล่านั้นลงสู่ลำห้วยเช่นเดิม หรือกรณีฝายหินที่คพ.ทำไว้ 2 จุด ในลำห้วยก็ไม่สามารถลดมลพิษได้ นอกจากนี้คำกล่าวที่บอกว่า ปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองนั่นยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่
 
“ไม่ว่าต้นเหตุจะเกิดจากกิจการเหมืองตะกั่วหรือเกิดจากธรรมชาติ คพ.มีหน้าที่ต้องกำจัดให้หมด ซึ่งหากพบว่าเอกชนเป็นต้นเหตุก่อมลพิษ คพ.ก็ค่อยไปฟ้องร้องเรียกค่าดำเนินการได้ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 ที่ให้อำนาจหน่วยงานรัฐในการเรียกค่าเสียหายจากการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อมลพิษ”
 
สุรพงษ์ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 18 ปี ตั้งแต่ชาวบ้านยื่นฟ้องจนถึงมีคำพิพากษาศาลฎีกา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด แม้ว่าโจทก์ทั้ง 8 รายจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ชาวบ้านอีกหลายรายกลับเสียชีวิตไปแล้ว ความยุติธรรมที่ล่าช้ากลายเป็นความอยุติธรรม และปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือการบังคับคดี เนื่องจากบริษัทตะกั่วฯ ปิดกิจการไปแล้ว และประธานกรรมการฯ ก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงต้องหาแนวทางการดำเนินการต่อไป
 
"ถึงแม้การบังคับคดีจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่จะเกิดขึ้นถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นคดีแรกที่ฟ้องตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ต่อสู้กันถึง 3 ศาล และศาลได้วางแนวทางให้ผู้ก่อมลพิษต้องแสดงความรับผิดชอบ"
 
ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า นอกจากจุดเริ่มต้นอย่างการหาทางออกที่จริงใจร่วมกันแล้ว ตัวแปรสำคัญอีกอย่างคือการดำเนินการ ซึ่งสุรพงษ์บอกว่า ถ้ารวบรวมเงินค่าใช้จ่ายในการศึกษาอย่างยาวนานตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าสูงกว่า 100 ล้านบาท ลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ป่านนี้ความสำเร็จทุกอย่างคงคืบหน้าไปมากกว่านี้

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม"

วันนี้ชาวบ้านยังต้องดูแลตัวเอง

ถึงแม้ศาลจะตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดี แต่กระบวนการชดเชยเยียวยากลับไม่มีให้เห็น โดยเฉพาะเรื่องสาธารณูปโภคสำคัญอย่างน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาด กลับกลายเป็นว่าพวกเขาต้องลงทุนสร้างระบบน้ำประปากันเอง
 
ธนกฤต โต้งฟ้า หนุ่มคลิตี้วัย 23 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วปนเปื้อนในร่างกาย เล่าว่า ระบบประปาภูเขาเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 หลังจากน้ำในลำห้วยไม่สามารถนำมาบริโภคได้ เพราะเต็มไปด้วยสารพิษ
 
“เดิมทีหมู่บ้านแห่งนี้ใช้น้ำลำห้วยเป็นหลัก ทั้งกิน ทั้งใช้ในกิจกรรมทางสังคม ศาสนา กระทั่งได้รับผลกระทบจากสารตะกั่ว ชาวบ้านเริ่มหวาดระแวงไม่กล้ากินไม่กล้าใช้ แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะน้ำไม่เพียงพอ พอปี 2546 อบต.ชะแล เริ่มดำเนินการประปาภูเขาขึ้น ใช้ท่อเหล็กเป็นวัสดุหลัก ส่งน้ำหล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้าน แต่มันไปได้ไม่ทั่วถึง นานเข้าก็เกิดสนิม ที่สำคัญน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่ธาตุอย่างหมู่บ้านเรา จำเป็นต้องได้รับการกลั่นกรองก่อนดื่มกินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเรื่องนี้ อบต.มีงบไม่เพียงพอ”
 
ธนกฤต บอกว่า หลังจากพวกเขาชนะคดีคพ. ในปี 2556 ได้แบ่งเงินจากค่าชดเชยที่ได้ราว 1 ล้านบาท นำมาปรับปรุงระบบน้ำประปาภูเขา เพื่อให้สะอาด ปลอดภัยและทั่วถึงมากขึ้น
 
“เราแบ่งเงินออกมาจำนวน 1 ล้าน เพื่อนำมาปรับปรุงระบบประปาภูเขา เปลี่ยนจากท่อเหล็กเป็นท่อประปาที่ได้รับมาตราฐาน แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอ พยายามร้องขอให้ คพ.เข้ามาช่วยเยียวยาเราเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจัง ไม่มีกลไกชดเชยระหว่างฟื้นฟู ”
 
เมื่อไม่ได้รับความช่วยเหลือและถูกปฎิเสธ ธนกฤตและชาวบ้านตัดสินใจร่างโครงการระบบประปาภูเขาขึ้นมาเอง พร้อมร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชนจนได้เงินมา 3 ล้านบาท จัดการปรับเปลี่ยนท่อประปา สร้างบ่อพักน้ำเสร็จสิ้นเมื่อปี 2558
 
“เมื่อ คพ.ไม่ช่วยเรา ผมจำเป็นต้องเขียนร่างโครงการขึ้นมาและไปขอเงินบริจาคจากภาคเอกชนทั่วประเทศ  สุดท้ายได้เงินมา 3 ล้านบาท จัดการพัฒนาระบบประปาภูเขา ตอนนี้ทุกอย่างดีขึ้นมาก น้ำประปาทั่วถึง แต่ยังไม่มีเครื่องกรองที่มีคุณภาพ สิ่งที่กังวลคือ หน้าแล้งปีนี้น้ำน้อยมาก หลายบ้านหนีไม่พ้นที่ต้องกลับไปกินน้ำในลำห้วยเช่นเคย”

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม" ธนกฤต โต้งฟ้า เยาวชนบ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ชี้ให้ดูระบบประปาภูเขา ที่วันนี้เหลือน้ำน้อยไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภคของชาวบ้าน สุดท้ายก็ต้องยอมใช้น้ำปนเปื้อนสารตะกั่วจากลำห้วยคลิตี้

หลากหลายชีวิตท่ามกลางลำห้วย
 
ที่ผ่านมามีการรณรงค์ไม่ให้ดื่มกินน้ำในลำห้วย ทว่าด้วยวิถีชีวิตความเคยชิน บวกกับน้ำประปาภูเขายังไปไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอให้ดื่มกินได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะหน้าแล้ง ทำให้ชาวคลิตี้ยังคงต้องพึ่งพาลำห้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสายน้ำแห่งนี้เปรียบดั่งเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งดื่มกิน ประกอบอาหาร ซักผ้า หรือแม้กระทั่งสร้างความสุขและผ่อนคลาย
  
ปัญญา ทองภาภูมิปฐวี ย้อนรำลึกถึงสมัยยังเป็นเด็กว่า เขาเติบโตมากับสายน้ำใสแจ๋ว ดื่มกิน จับปลาได้อย่างสบายอกสบายใจ จนกระทั่งลำห้วยต้องมาแปดเปื้อนมัวหมองด้วยสารตะกั่ว
 
“ตอนเด็กๆผมทั้งกินทั้งเล่นน้ำในห้วยทุกวันเลยครับ สะอาด ใส วันไหนร้อนๆก็พากันวิ่งกระโดดตีลังกาลงน้ำกับเพื่อนสนุกสนาน  จนวันหนึ่งน้ำเริ่มมัวขุ่นและมีกลิ่น เด็กๆอย่างเราไม่รู้ก็เข้าใจว่าน้ำป่า  นานวันเข้าเริ่มได้ยินข่าว ห้วยบ้านเรากำลังปนเปื้อนสารตะกั่ว ห้ามกินห้ามใช้ อันตรายถึงตาย ชาวบ้านพากันถอยหนีไปพักหนึ่ง แต่มันหนีไม่ได้ตลอด ทุกคนยังต้องกิน ต้องใช้  บางบ้านเขาก็ต้มดื่มจริง แต่ส่วนใหญ่ไม่หรอกครับ ยิ่งออกไปทำไร่ด้วย เหนื่อยเมื่อไหร่ก็ตักขึ้นมากินเลย จะไม่ให้ใช้ คงยาก”
 
ปัญญา บอกว่า ถึงแม้จะมีน้ำประปาจากภูเขาทดแทน แต่ก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหน้าแล้ง น้ำที่ไหลไปไม่ทั่วถึง ประกอบกับความเคยชินของคนในพื้นที่ ลำห้วยยังเป็นชีวิตของทุกคน "ที่สำคัญห้วยเรามันไม่เคยแห้งเลยครับ"
 
วิวัฒน์ นาสัวกิติ หนุ่มใหญ่วัย 53 ปี ยืนยันว่า แม้จะกลัว แต่ก็ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับมัน
 
“วันนี้ผมก็ยังกินน้ำในลำห้วยอยู่ ความกลัวนั้นมีแน่นอนเพราะเห็นผลกระทบที่หลายคนได้รับ แต่ให้หนีคงไม่พ้นหรอก ต้องลองมาอยู่ในชุมชน ในหมู่บ้านเราแล้วจะรู้ ชาวบ้านยังกินปลา ปักเบ็ดในลำห้วย มันคงแปลก  ถ้าบ้านเรามีน้ำ มีทรัพยากรอยู่ใกล้ๆ แต่ใช้ได้ไม่เต็มที่ ก็หวังว่าภาครัฐจะจัดการให้จริงจังเสียที  ดูแลชาวบ้านอย่างเท่าเทียม เหลียวแลคนไกลอย่างเราด้วย”
 
ชลาลัย นาสวนสุวรรณ สาววัย 27 ปี เกิดและเติบโตที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ก่อนออกไปเรียนร่ำเรียนจนจบมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี คณะวิทยาการจัดการ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ปัจจุบันกำลังเรียนในระดับปริญญาโทสาขาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา ม.เชียงใหม่ ถือเป็นอีกคนที่เรียนจบแล้วกลับมาช่วยเหลือพัฒนาบ้านเกิด ในฐานะครู
 
“เราแนะนำเด็กๆเสมอว่า ให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำ พวกเขาก็เริ่มตั้งคำถามเสียงดังกว่าคนรุ่นเก่าแล้วว่าทำไม เพราะอะไรเราถึงใช้น้ำในหมู่บ้านไม่ได้  มันแสดงให้เห็นว่าเด็กๆเริ่มสนใจปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขของหมู่บ้านมากขึ้นเรื่อยๆ”
 
ชลาลัย บอกว่า วิถีชีวิตในวันนี้ของชาวบ้าน แต่ละปีทุกคนยังคงออกไปทำมาหากินอยู่ไร่มากกว่าอยู่บ้าน นั่นหมายความว่า ลำห้วยยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกต้องกิน ต้องใช้  

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม" ฝายดักตะกอนปนเปื้อนจากตะกั่วที่กรมควบคุมมลพิษ สร้างไว้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะสามารถลดการปนเปื้อนและฟื้นคืนชีวิตให้ลำห้วยคลิตี้ล่าง

ปัจจุบันชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจากสารพิษตะกั่ว บางคนมีอาการปวดเมื่อยไปถึงกระดูก หน้ามืด ท้องร่วง ขณะที่เด็กๆหลายคนต่างประสบปัญหาพัฒนาการทางสมองช้า พิการ ไม่สมประกอบ โดยแต่ละคนรายมีค่าสารตะกั่วในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติมาก  โรคร้ายเหล่านี้ได้บั่นทอนวิถีชีวิตและสุขภาพของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน
 
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด หนีไม่พ้น โจ่ สอวอ-วิชัย นาสวนกนก  เด็กชายวัย 12 ขวบ ที่เข้ารับการรักษาโรคสารตะกั่วตั้งแต่แรกเกิด หลังมีอาการตัวเล็กผิดปกติ วันนี้เขายังคงผอมบาง เดินไม่ตรง ไม่สมประกอบ มีอาการหอบหืด และอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นเด็กปัญญาอ่อน เป็นภาพอันน่าเวทนาสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากสารพิษที่ชาวบ้านไม่ได้ก่อได้เป็นอย่างดี
 
วันนี้บทเรียนอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับคือ การทุ่มเททรัพยากรมหาศาลอันไร้ความรอบคอบ เพื่อเเลกกับผลประโยชน์ของคนไม่กี่กลุ่มนั้นเสี่ยงเกินไปหรือเปล่ากับคนตัวเล็กตัวน้อยที่จะได้รับผลกรรมที่ไม่ได้ก่อ
 
18ปีผ่านไป ความยุติธรรมช่างมาถึงช้าเหลือเกิน.

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม" โจ่ นายวิชัย นาสวนกนก เล่นน้ำในลำห้วยคลิตี้อย่างสนุกสนาน หนึ่งในเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับระดับสารตะกั่วในเลือดที่สูงกว่าผู้ใหญ่

 

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม" ฝายดักตะกอนปนเปื้อนจากตะกั่วที่กรมควบคุมมลพิษ สร้างไว้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะสามารถลดการปนเปื้อนและฟื้นคืนชีวิตให้ลำห้วยคลิตี้ล่าง

 

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม" ซ้ายคือดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว ส่วนขวาคือดินธรรมชาติที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยชาวบ้านเก็บตัวอย่างดินรอบๆฝายดักตะกอนปนเปื้อนจากตะกั่ว

 

18 ปีคลิตี้ ... เมื่อความยุติธรรมล่าช้าคือความ "อยุติธรรม" ลานแต่งแร่ในอดีตถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่หลังเหมืองปิดตัวลง ในอดีตสถานที่แห่งนี้จะมีการขนแร่ตะกั่วที่ขุดมาได้นำมากองรวมกันบนยอดเนินสูงเท่าภูเขาย่อมๆก่อนจะผ่านกระบวนการด้วยน้ำและสารเคมีต่างๆเพื่อแยกแร่ตะกั่วออกมาส่วนกาก