posttoday

คสช.ต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้ง (โดยไม่จำเป็น)

08 พฤษภาคม 2559

"คสช.​จะต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งโดยไม่จำเป็น เพราะมันจะทำให้ฝ่ายที่มีความประสงค์ที่จะยั่วยุเพื่อให้สถานการณ์เดินหน้าไปสู่ความไม่เรียบร้อยราบรื่น ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง บรรลุวัตถุประสงค์ของคนกลุ่มนั้น"

โดย... ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับถอยหลังสู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ท่ามกลางการจับจ้องว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญว่าบ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ทว่าบรรยากาศที่ดูจะเข้มงวดและคลุมเครือในเวลานี้หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงกันว่าอาจมีผลต่อประชามติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ โดยระบุว่า หากมีการผ่อนคลายการไม่จำกัดเสรีภาพ จะช่วยให้บรรยากาศเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งราบรื่นขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่า คสช.จะยอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

แม้จะมี พ.ร.บ.ประชามติ แต่การจะทำให้สถานการณ์นิ่งนั้น ขึ้นอยู่กับทั้งเนื้อหาของ​กฎหมายประชามติ อยู่ที่การตีความกฎหมาย และอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ​นี่จะเป็นตัวที่จะบ่งบอกว่าสถานการณ์จากนี้จะเป็นอย่างไร

“จนถึงขณะนี้แม้เนื้อหากฎหมายประชามติจะนิ่งแล้วบังคับใช้แล้ว แต่การตีความยังไม่นิ่ง และยังไม่มีความครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะก่อนกฎหมายบังคับใช้ คนในรัฐบาลหลายคนก็ออกมาให้ความเห็นในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจว่าการแสดงความเห็นหรือท่าทีใดๆ ต่อรัฐธรรมนูญ หรือการทำประชามติทำไม่ได้เลย

...แต่พอหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปสิ่งที่ทำได้ ทำไม่ได้ ก็ยังขัดแย้งกันอยู่ มีบางเรื่องที่ทำได้ แม้จะมีบางเรื่องที่ทำไม่ได้ก็ตาม ตรงนี้ประชาชน หรือแม้แต่พวกผมที่เป็นนักการเมืองก็ยังสับสน สุดท้ายแล้วต้องฟังใคร อะไรคือข้อสรุปที่มีความนิ่ง ชัดเจนแล้ว เราจะได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประชามติ” 

จุรินทร์​ มองว่า กติกาที่ กกต.กำหนดให้ทำได้ไม่ได้นั้นยังมีการตีความได้หลายส่วน เช่น กรณีการแสดงความเห็นที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง คำว่าผิดไปจากข้อเท็จจริงตีความได้กว้างมาก และเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจเอาผิดเอาถูกกับผู้ที่แสดงความเห็นไปได้หลายทิศทาง ตรงนี้ต้องมีความชัดเจนพอสมควร

สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรยากาศเดินหน้าไปสู่ประชามติ สำหรับคนที่เขามีความสุจริตต้องการแสดงความเห็นก็เกิดความคลุมเครือกังวล ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแง่ข้อเท็จจริง เขาสามารถแสดงความเห็นโดยสุจริต ทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ทั้งนี้ กกต.อาจจะต้องอธิบายความเพิ่มเติม ให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ เท่าที่ทราบ กกต.บางรายกำลังเดินสายอธิบายอยู่ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะทำให้คลุมเครือหนักขึ้นอีก หรือจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น อันนี้ก็ต้องรอดู

“แต่ที่สำคัญคือ คสช.​จะต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งโดยไม่จำเป็น เพราะมันจะทำให้ฝ่ายที่มีความประสงค์ที่จะยั่วยุเพื่อให้สถานการณ์เดินหน้าไปสู่ความไม่เรียบร้อยราบรื่น ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้ง บรรลุวัตถุประสงค์ของคนกลุ่มนั้น”  ​

ถามย้ำว่า ประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จุรินทร์ ตอบว่า คสช.ต้องระมัดระวังไม่ไปเข้าทางฝ่ายที่เขาพยายามยั่วยุให้เกิดสถานการณ์เดินหน้าไปสู่จุดที่เขาพึงประสงค์ 

“ผมเชื่อว่า คสช.คงประเมินได้ว่า เพียงแต่การตอบสนองต่อสถานการณ์จะทำแบบไหนอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบพอสมควรที่จะประคองสถานการณ์ให้เดินหน้าไปตามโรดแมปอย่างราบเรียบ”

ส่วนคำถามที่ว่ากลุ่มที่ต้องการยั่วยุให้เกิดสถานการณ์นั้นเป็นใคร มีกำลังมากน้อยแค่ไหน จุรินทร์​ ตอบว่า คสช.คงทราบอยู่ และคงประเมินได้

ในแง่การจัดเวทีชี้แจงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จุรินทร์ ออกตัวว่า ยังไม่เห็นแนวปฏิบัติว่าจะทำอย่างไร แม้แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เอง ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามอยู่เหมือนกัน ว่าสุดท้ายจะไปจัดเวทีได้มากน้อยแค่ไหน หรือแสดงความเห็นได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

“ถ้าไปบอกแต่ข้อดีไม่บอกข้อเสีย จะกลายเป็นการชี้นำชัดเจนหรือเปล่า มันก็เเป็นความคลุมเครือ เหมือนสถานการณ์ที่ทุกคนเกร็งไปหมด หลายฝ่ายเกร็งกันไปหมดในการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น หากบรรยากาศยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตก็จะทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผลของประชามติ หยิบไปเป็นประเด็นในการลดความชอบธรรมของการทำประชามติในอนาคตว่าเป็นประชามติไม่ผ่านกระบวนการให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสรเสรีตามที่ควรจะเป็น

“ในแง่การลงประชามติของประชาชนก็ทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วน สุดท้ายอาจกระทบไปถึง​ภาพลักษณ์ในสายตาต่างชาติ”

สำหรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้น จุรินทร์ บอกว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ได้แสดงความเห็นไปก่อนหน้ากฎหมายประชามติมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ​ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นในนามตัวบุคคล​ แต่ก็เป็นการสะท้อนจุดยืนในสมาชิกพรรคการเมือง แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะตัดสินใจอย่างไร ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

​“ในฐานะพรรคการเมือง ผมคิดว่าเราต้องเคารพ สุดท้ายผลออกมาอย่างไร เช่น สุดท้ายถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน พรรคการเมืองก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง จากนั้นจะไปเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องของอนาคต ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน ที่จะนำมาประกอบว่าประชาชนให้เสียงประชาธิปัตย์มาเท่าไหร่ ​ให้เสียงพรรคการเมืองอื่นมาเท่าไหร่ มันเป็นคณิตศาสตร์ทางการเมืองที่จะต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณา

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเรียน คือ เราอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับทหาร ไม่ได้แปลว่าถ้าไม่เห็นด้วยแล้วจะเป็นศัตรูกับทหาร หรือเห็นด้วยก็จะเป็นพวกเดียวกับทหาร แต่ว่า​เราก็มีหลักของเราในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง เราไม่เป็นศัตรูกับทหาร ไม่เป็นศัตรูกับข้าราชการ ไม่เป็นศัตรูกับตำรวจ  ​

“ในฐานะนักการเมืองไม่ว่าในอนาคตเราจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ยังจะต้องทำงานร่วมกันกับทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำ ในฐานะที่เขาเป็นกลไกฝ่ายประจำ แยกจากกันไม่ได้ตลอดกาล ส่วนดุลพินิจการเมืองเราจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องเคารพ

“ผมไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ว่าผลจะออกมาอย่างไร ​มันคงไม่ง่ายภายใต้สถานการณ์กฎหมายประชามติในปัจจุบันที่จะบอกว่ารับหรือไม่รับ ผมคิดว่ามันก็อาจจะหมิ่นเหม่ แต่ที่สำคัญคือผลประชามติออกมาอย่างไรก็ต้องเคารพ เพราะถือว่าเป็นเสียงของประชาชน และถ้ามีการเลือกตั้งเราก็ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน ก็อยู่ที่ผลเลือกตั้งจะออกมา” 

คสช.ต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้ง (โดยไม่จำเป็น)

จุรินทร์​ ย้ำจุดยืนของพรรคว่า ต้องการให้เกิดความชัดเจน โดย คสช.ควรบอกว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเดินต่อไปอย่างไร ​แต่จนถึงขณะนี้ คสช.เองยังประสงค์ที่ทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมป

“พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการทำประชามติ หากผ่าน รัฐธรรมนูญก็มีความชอบธรรมว่าได้ผ่านกระบวนการยอมรับจากประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ก็ควรผ่านกระบวนการรับรองจากคนทั้งประเทศเสียก่อน

“แต่กระบวนการนำไปสู่ประชามติควรเปิดโอาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นโดยสุจริตได้ตามสมควรเพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชน ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนน้อยที่มีโอกาสอ่านรัฐธรรมนูญครบทั้งเล่ม ทุกหมวด ทุกมาตรา​ ถัดจากนี้หลังมีกฎหมายประชามติก็ต้องอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายต่อไป หากการบังคับใช้จะมีลักษณะเอื้อต่อการเดินหน้าไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตก็คิดว่าจะเป็นผลบวกกับทุกฝ่ายมากขึ้น”

ถามว่าในฐานะพรรคการเมืองพร้อมจะไปร่วมเวทีกลางที่ กกต.จะจัดให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​ ระบุว่า ตอนนี้หลายคนระมัดระวัง เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายขัดกฎหมาย ดังนั้นหากมีการการันตีได้ว่าจะไม่มีความผิดก็จะดี เพราะหากเข้าข่ายความผิดจะมีโทษจำคุกถึง 10 ปี ซึ่งรุนแรงมาก และทำให้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ ถ้าสามารถทำได้อย่าง​ถูกต้องชอบธรรมก็ยินดีให้ความร่วมมือ ​ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีกลาง เวทีคู่ขนาน ​อะไรก็ตามที่สามารถสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นโดยสุจริต​ พรรคพร้อมสนับสนุน ​ 

จุรินทร์ สะท้อนมุมมองว่า ขณะนี้สมาชิกพรรคสอบถามเข้ามามากว่าเรื่องไหนทำได้ไม่ได้ จากที่สอบถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าง กกต.ที่แม้จะมีประกาศหลักเกณฑ์ 6 ​ทำได้ 8 ทำไม่ได้ ​ก็ยังมีคำถามบางส่วนที่ยังคลุมเครือ ทำให้พรรคก็ยังไม่สามารถอธิบายสมาชิกได้ จึงต้องรอความชัดเจนบางส่วนจาก กกต. ขณะนี้ติดตามทางสื่อ รวบรวมว่ามีความเห็นว่าอย่างไร ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่ยุติครบถ้วน

สำหรับจุดยืนที่แตกต่างกันระหว่างประชาธิปัตย์ และ กปปส. จุรินทร์​ อธิบายว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาในบางกรณีก็ไม่ได้มีความเห็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ทุกคนทุกฝ่ายทุกองค์กรมีสิทธิเสรีภาพเป็นของตัวเอง

“ผมคิดว่าแต่ละส่วนแถลงความเห็นตนเองชัดเจนแล้ว” ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเล่นบทตีสองหน้าระหว่างประชาธิปัตย์​และ กปปส.นั้น จุรินทร์ กล่าวเพียงว่า “ผมคิดว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตของทั้งสองฝ่าย”

ส่วนประเด็นประชาธิปัตย์​มีความเห็นใกล้เคียงกับพรรคเพื่อไทยเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น จุรินทร์ อธิบายว่า ตรงนี้เป็นความเห็นบางส่วนใกล้เคียงกันได้ แต่ที่มาที่ไปอาจไม่เหมือนกัน

“​ในส่วนของพรรคเรารอจนกระทั่งรัฐธรรมนูญยกร่างเสร็จ จนได้ร่างสุดท้ายปรากฏออกมา จึงให้ความเห็นว่าเป็นอย่างไร เพราะต้องการให้ความเห็นในทางหลักการเหตุผล ตรรกะจริงๆ ไม่มีความเห็นล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ร่าง หรือร่างไม่เสร็จ ก่อนจะออกมาประกาศเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย อันนี้เป็นที่มาที่ไปที่คุณอภิสิทธิ์ไปแถลง ดังนั้นคำตอบบางส่วนที่ออกมาใกล้เคียงกัน แต่ที่มากระบวนการพิจารณาไม่เหมือนกัน” จุรินทร์ กล่าว

เคารพกฎหมาย หลักสำคัญ ​"ปรองดอง"

จุรินทร์วิเคราะห์ข้ามช็อตไปถึงหลังเลือกตั้งสถานการณ์บ้านเมืองจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งได้หรือไม่ สถานการณ์ความขัดแย้งในอดีตจะหมดไป ความปรองดองสมานฉันท์จะเกิดขึ้นจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และความพยายามของ คสช.ได้มากน้อยแค่ไหน

จุรินทร์ มองว่า การจะไปหวังให้บ้านสงบราบรื่น ไม่มีความขัดแย้งเป็นไปไม่ได้ ​เพราะประเทศไหนในโลกที่เป็นปะชาธิปไตย ก็ต้องมีความเห็นต่างเกิดขึ้นได้เสมอ รวมทั้งการขัดแย้งทางความคิด

“มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่าไปกังวลว่ามีความเห็นไม่ตรงกันแล้วสังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมโกลาหล ซึ่งไม่ใช่ สังคมประชาธิปไตยต้องมีความเห็นต่าง และความเห็นต่างนั้นจะหาข้อสรุปอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับร่วมได้ด้วยกันกับทุกฝ่าย

...หลักของความปรองดองที่ดีที่สุด คือ การเคารพกฎหมายกติกา เพราะว่าถ้าต้องการสร้างสันติระยะยาวให้เกิดขึ้นในสังคม ต้องใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรม กฎหมาย คือหัวใจสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนเคารพกฎหมาย ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก ผมคิดว่าถ้าเราถือหลักนี้ สุดท้ายสังคมก็จะเดินหน้าไปสู่สันติระยะยาวได้”​

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความพยายามบิดเบือนกฎหมายทำผิดให้เป็นถูก ต่อไปในอนาคตฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วยก็จะออกมาต่อต้านไม่ยอมรับ กลายเป็นสองฝ่ายเผชิญหน้า นำไปสู่ความรุนแรงโกลาหลของบ้านเมือง

“การทำผิดให้เป็นถูก หรือล้างผิดซะ ผมว่าไม่ใช่ทางออก นั่นแหละคือการนับหนึ่งนำไปสู่วิกฤตครั้งใหม่ของประเทศ แต่ถ้ายืนให้มั่นว่าต่อไปนี้เราต้องยึดกฎหมาย ไม่ทำผิดให้เป็นถูก ไม่ทำถูกให้กลายเป็นผิด ระยะยาวสังคมจะเดินไปได้​ แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านก็ต้องยอมรับว่ากว่าจะไปถึงถนนลาดยางก็ต้องวนอยู่บนถนนลูกรัง ขรุขระบ้าง แต่เราก็ต้องอดทน วันหนึ่งจะไปถึงถนนลาดยาง”

สำหรับข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรมที่หลายฝ่ายเคยเสนอเพื่อให้เป็นทางออกลบล้างความขัดแย้งในอดีต และเริ่มต้นกันในอนาคตนั้น จุรินทร์ มองว่า ทันทีที่จะไปนิรโทษกรรมก็จะเกิดวิกฤตรอบใหม่ขึ้นทันที

“ปรากฏให้เห็นแล้ว แม้แต่การยึดอำนาจครั้งนี้ที่เกิดขึ้นมาจากอะไร สาเหตุจริงๆ คือการออกกฎหมายนิรโทษฯ ​ทำผิดให้เป็นถูก สุดท้ายรัฐบาลก็ไปไม่รอด พลอยทำให้ประชาธิปไตยไม่รอดไปด้วย สุดท้ายก็ต้องยึดอำนาจ​

....ดังนั้น หากกลับมาทำอีก ผมว่าปัญหาก็จะย้อนกลับมาอีก อาจจะมีความต่างวิธีการ สุดท้ายคนที่ไม่ยอมรับก็จะออกมา คำตอบชัดอยู่แล้ว ผมพูดไม่มีอะไรซับซ้อน ตรงไปตรงมา”​

ถามว่ามีการวิเคราะห์ไปถึงช่วงปลาย คสช.ที่อาจมีแนวคิดเรื่องการอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรมให้กับทุกสี ทุกฝ่าย เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ จุรินทร์ กล่าวว่า ​​ส่วนตัวเคยได้ยินแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดว่าจะต้องยึดหลักกฎหมาย ยังไม่ได้ยินในสิ่งที่ถาม

“ถ้าเดินตามแนวการยึดตามหลักกฎหมายก็เป็นแนวที่ถูกต้อง และเท่าที่ติดตามแกนนำหลายกลุ่มก็ประกาศว่าจะไม่ยอมนิรโทษกรรมตัวเอง อันนั้นก็สะท้อนให้เห็นว่า แกนนำเหล่านั้นก็ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้พิสูจน์ตัวเอง” จุรินทร์​ กล่าว

คสช.ต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้ง (โดยไม่จำเป็น)

250 สว. เงื่อนไข กำหนดว่าที่รัฐบาลชุดใหม่

ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมก่อนเดินทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คำมั่นว่าจะเกิดขึ้นในปี 2560 ตามโรดแมป จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์​ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกตัวว่าพรรคพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

“ถ้าประชาชนลงประชามติให้รัฐธรรมนูญผ่าน นั่นก็แปลว่าการเลือกตั้งก็จะต้องเกิดตามโรดแมป เราเคารพเสียงประชาชน ลงสมัครรับเลือกตั้ง แพ้ชนะก็เป็นเรื่องของประชาชน อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน”

ส่วนระบบเลือกตั้งใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดวิธีเป็นการเลือกตั้ง “บัตรเดียว” ชี้ขาดทั้ง สส.เขตและนำมาคำนวณเป็น สส.ระบบสัดส่วนต่างจากอดีตนั้น จุรินทร์ อธิบายว่า พรรคก็ต้องมีการปรับแผนเพื่อรองรับระบบเลือกตั้งใหม่ตามไปด้วย ​ซึ่งความจริงพรรคได้สะท้อนความเห็นไปก่อนหน้านี้แล้ว หากกติกาอย่างนี้ออกมาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เว้นแต่จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

ทั้งรูปแบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไปตามสมควรหากรัฐธรรมนูญผ่านการบังคับใช้ การเลือกตั้งครั้งล่าสุดใช้บัตรสองใบ บัตรหนึ่งเลือกคน อีกบัตรเลือกพรรค เมื่อเปลี่ยนมาเป็นบัตรใบเดียว เลือกคนกับพรรคแยกจากกันไม่ได้ เอามามัดรวมเป็นข้าวต้มมัด เพราะฉะนั้นถ้าคุณจะซื้อปลาคุณต้องซื้อทั้งพวง ปลาแดงตัว ปลาขาวตัวไม่ได้ ต้องเอาคะแนนมารวมกัน

รองหัวหน้าพรรค ปชป.​ อธิบายว่า สำหรับการลงพื้นที่ของว่าที่ผู้สมัครนั้นคงต้องปรับแผนจากเดิม โดยจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้นในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพราะรูปแบบเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม การเตรียมผู้สมัครเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันภายใน เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถประชุมได้ ทำอะไรที่เป็นทางการไม่ได้ ก็แค่นั่งคุยกัน 2-3 คน นั่งนึกว่าเมื่อถึงเวลาได้รับการเปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมได้ถูกต้องตามกฎหมายจะเดินหน้าอะไรต่อไป

“จากเดิมที่มีบัตรสองใบ ถ้าเขตนี้ไม่พอใจคนของพรรค ท่านเลือกพรรคอื่นไม่เป็นไร แต่สำหรับพรรค ขอให้เลือกพรรคการเมืองนี้ ทำอย่างนั้นได้ หรือถ้าไม่พอใจพรรคไม่เป็นไร แต่คนของเราอยู่ใกล้ชิด ท่านทำงานร่วมกับท่าน ขอให้ช่วยเลือกคน 

“แต่ต่อจากนี้ทำไม่ได้ เพราะจะเป็นการเอาคนกับพรรคมามัดรวมกัน ประชาชนต้องตัดสินใจ ถ้าคนกับพรรคตรงกันไม่เป็นปัญหา หรือหากในกรณีไม่เห็นด้วยกับทั้งคนทั้งพรรคเขาก็ไม่เลือก แต่ถ้าเห็นด้วยกับคนแต่ไม่เห็นด้วยกับพรรค หรือเห็นด้วยกับพรรคไม่เห็นด้วยกับคน ผู้ลงคะแนนจะต้องชั่งน้ำหนัก”

จุรินทร์ ขยายความเพิ่มเติมว่า เคยพูดมาก่อนหน้านี้แล้วว่าเป็นห่วงว่าอาจจะเป็นเแรงจูงใจที่จะทำให้การซื้อเสียงทำได้ง่ายขึ้น ถ้าซื้อต้องซื้อสองใบ แต่เที่ยวนี้ซื้อใบเดียวได้สองอย่าง แถมอาจจะไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน สำหรับคนที่ต้องการเลือกคน แต่ไม่ต้องการเลือกพรรค หรือคนที่ไม่ต้องการเลือกพรรค ไม่ต้องการเลือกคน จะแยกแสดงเจตนารมณ์ไม่ได้

ถามย้ำว่าจะทำให้ต้องปรับรูปแบบวิธีการคัดตัวผู้สมัครใหม่หรือไม่ รองหัวหน้า ปชป.ตอบว่า เรื่องนี้คิดว่า “คน” จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะถ้าพฤติกรรมของประชาชนลงคะแนนจากคนเป็นหลัก คนก็จะทวีความสำคัญ กลายเป็นพรรคมีน้ำหนักรองลงไป อย่างไรก็ตาม ตรงนี้อาจขึ้นกับพื้นที่ด้วย บางพื้นที่พรรคอาจสำคัญกว่าคน แต่สุดท้ายเมื่อกติกาออกมาให้มัดรวมกันก็ต้องต่อสู้ไปตามกติกา

“มีประเด็นบางท่านที่มีความเห็นว่าถ้าบัตรใบเดียวจะทำให้เกิดเบี้ยหัวแตก แต่ความเห็นผม อาจจะเกิดผลตรงข้ามก็ได้ เพราะว่าเมื่อพรรคใดชนะในเขตแล้ว เมื่อเอาคะแนนที่ชนะซึ่งจะต้องได้มากกว่าคนอื่นในเขตมาคำนวณอีกรอบเป็นเสียง สส.ที่จะได้ทั้งพรรค ก็จะทำให้ได้ สส.รวมทั้งพรรคมากขึ้นไปอีก”

จุรินทร์​ มองอีกด้านว่า​ ระบบเลือกตั้งใหม่นี้อาจมีส่วนทำให้พรรคเล็กมี สส.ได้บ้าง แม้จะแพ้ทุกเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าเอาคะแนนทุกเขตมารวมกัน คำนวณเป็น สส.ทั้งพรรคก็อาจทำให้ได้ สส. คนสองคน มันก็มีสองด้าน ต้องรอดู

คสช.ต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้ง (โดยไม่จำเป็น)

ถามไปถึงอนาคตภายหลังการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายประเมินว่าน่าจะเป็นรัฐบาลผสม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์วิเคราะห์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลผสมเพราะมีเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะหากคำถามพ่วงประชามติผ่านประชามติ ก็แปลว่าคนที่จะมาโหวตนายกฯ ไม่ได้มีแค่ สส. 500 คน แต่รวมกับเสียง สว. เป็น 750 คน

สมมติถ้ามีพรรคการเมืองหนึ่งได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ เช่น สมมติได้ 270 เสียง ก็อยู่ที่เสียงของวุฒิสภาว่าจะเทน้ำหนักไปทางไหน ซึ่งถ้ามีแต่สภาผู้แทนฯ 270 เสียง ก็อาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ถ้าเขาไม่ประสงค์ที่จะเอาพรรคอื่นเข้ามาร่วม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเงื่อนไขวุฒิสมาชิก 250 เสียงเข้ามาร่วมด้วย แล้วจะตั้งรัฐบาลผสมก็อาจตั้งไม่ได้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับ 250 เสียงของวุฒิสภาที่จะเป็นเงื่อนไขที่จะเป็นตัวกำหนด ตอบล่วงหน้าไม่ได้ทั้งหมดว่าผลจะออกมาอย่างไร นี่คือการจำลองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่เกิดขึ้นก็ตามสุดแล้วแต่

ถามว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายหรือไม่ จุรินทร์ มองว่า ในกรณี สว. 250 เสียง ไปบวกกับเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนฯ รัฐบาลก็จะอยู่ยาก เพราะต่อจากนั้นในการพิจารณาผ่านกฎหมาย หรือพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องอาศัยสภาผู้แทนฯ อย่างเดียว 500 เสียง รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยเหมือนในอดีตที่อยู่ได้ไม่กี่วัน

อีกด้านหนึ่ง สมมติสถานการณ์ สว. 250 เสียง ไปบวกกับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ อย่างนี้ก็คงเดินหน้าไปได้ เพราะหลังเลือกนายกฯ เสร็จ สว.ถอยกลับไปทำหน้าที่ปกติ รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้วก็ยังอยู่ได้ ถัดไปก็เป็นพฤติการณ์เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินว่าจะล้มเหลว สำเร็จ หรืออย่างไร

ส่วนได้ประเมินหรือไม่ว่าระบบเลือกตั้งใหม่นี้จะทำให้ประชาธิปัตย์ได้คะแนนเพิ่มขึ้นหรือลดน้อยลง จุรินทร์​ตอบเลี่ยงๆ ว่า ไม่ได้มองว่ากติกาได้เปรียบเสียเปรียบ กติกาที่ออกมาควรเป็นกติกาที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประชาธิปไตยระยะยาว มันไม่ควรเป็นกติกาที่ทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เปรียบ ถ้าไม่เช่นนั้นกติกาที่ออกมาจะมีความยั่งยืนยาก ​กลายเป็นกติกาเฉพาะกิจเฉพาะกาลไป

​“พวกผมสนับสนุนกติกาที่เดินหน้าไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยยั่งยืน ส่วนแพ้ชนะเป็นเรื่องปกติ ไม่มีพรรคไหนชนะตลอดกาล ไม่มีพรรคไหนแพ้ตลอดกาล” 

แม้ระบบเลือกตั้งใหม่นี้จะทำให้ฐานเสียงของพรรคถูกเจาะได้ก็ไม่กังวล แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่ารูปแบบจะเป็นรูปแบบใด เราต้องคัดตัวผู้สมัครให้ดีที่สุด เที่ยวนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เป็นผลดีกับทุกพรรคการเมืองที่มีระยะเวลาเตรียมตัว แม้เตรียมตัวที่ไม่เป็นทางการ หรืออย่างน้อยก็คิดไว้ในใจ เพราะมีเวลาคิด ถ้าทุกอย่างเดินไปตามโรดแมปก็ไม่ถึงกับฉุกละหุกเหมือนยุบสภา ต้องเลือกตั้งภายใน 90 วัน

อย่างไรก็ตาม คิดว่าถ้าถึงช่วงเวลาที่จะเห็นได้ชัดว่าจะมีการเลือกตั้ง คสช. ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้มีเวลาสักช่วงที่เหมาะสมให้เขาได้ดำเนินการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ไม่ใช่ 50-60 วัน อย่างนี้ทำไม่ได้

หลังการเลือกตั้งโอกาสพรรคอันดับ 1 กับอันดับ 2 จะมีโอกาสจับมือตั้งรัฐบาลหรือไม่ จุรินทร์ ​กล่าวว่า ตอบล่วงหน้าไม่ได้ ต่างประเท​ศก็มีตัวอย่างที่พรรคที่ 1 และ 2 ที่ประชาชนมอบหมายให้พรรคที่ได้ที่ 1 ไปจัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อเสียงเขาไม่พอก็ไปจับมือกับพรรคที่ 2 ที่ประชาชนมอบหมายเป็นอันดับ 2 ก็เป็นเรื่องที่เคยมีในประวัติศาสตร์

“แต่สำหรับประเทศไทยผมตอบล่วงหน้าไม่ได้ ​แต่ที่ผ่านมาเท่าที่เคยเห็นแนวทางปฏิบัติมาก่อนหน้านี้เลือกตั้ง 3-4 ครั้งที่ผ่านมา พรรคได้ที่ 1 เป็นรัฐบาล พรรคที่ได้ที่ 2 ก็เป็นฝ่ายค้าน พรรคเล็กก็ประกอบเป็นรัฐบาล หรือที่หลงเหลือไม่ได้เป็นรัฐบาลก็เป็นฝ่ายค้าน หรือพรรคที่ 2 เป็นรัฐบาล พรรคหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้าน”

ถามย้ำชัดๆ ว่า ประชาธิปัตย์​กับเพื่อไทยมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันหรือไม่

“ตอบล่วงหน้าไม่ได้ และเท่าที่ผ่านมายังไม่เคยคิดเรื่องนี้ และมันก็สะท้อนในช่วงที่ผ่านมา คนหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกคนหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้าน นี่เป็นปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่ถามว่าเกิดขึ้นได้ไหม​ก็ตอบว่าไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน และผมไม่อยู่ในฐานะจะตอบด้วย” รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าว