posttoday

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"

03 พฤษภาคม 2559

ถึงเวลาตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในสนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ภาพนักปั่นจักรยานแล่นมาด้วยความเร็วสูง ก่อนเสียหลักพลิกคว่ำหน้ากระแทกพื้นเลือดอาบ ภาพรถเกี่ยวกันล้มระเนระนาดเป็นหมู่คณะ แขนขาถลอกปอกเปิก จนถึงกระแสร่ำลือปากต่อปากว่ามีคนหัวใจวายตายคาสนาม

อุบัติเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น ณ "ลู่ปั่นจักรยานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" หรือ "Sky Lane Thailand"  กำลังสร้างความหนักอกหนักใจให้นักปั่นจำนวนไม่น้อย

คำถามตามมาคือ ถึงเวลาหรือยังที่จะมีการจัดระเบียบเรื่องความปลอดภัยในสนามจักรยาน

กระแส Sky Lane ฟีเวอร์

กว่า 4 เดือนแล้วที่ลู่ปั่นจักรยานท่าอากาศสุวรรณภูมิ หรือ Sky Lane เปิดให้บริการ

ด้วยความสวยงามอลังการ ทันสมัย ตั้งแต่ระบบเข้าออกสนามด้วยการสแกนสายรัดข้อมืออัจฉริยะ (Snap band) สนามสีฟ้ายาว 23.5 กิโลเมตร สองข้างทางเป็นสระน้ำและผืนหญ้าเขียวขจี โดยมีฉากหลังเป็นเครื่องบินกำลังทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า มีห้องน้ำและจุดพักทุกระยะ 5 กิโลเมตร เสาไฟฟ้าให้แสงสว่างยามค่ำคืนเรียงรายสองข้างทาง ตลอดจนร้านเครื่องดื่ม และลานจอดรถ ภายใต้งบประมาณการสร้างกว่า 500 ล้านบาท โดยความร่วมมือของบริษัทท่าอากาศยานไทยและธนาคารไทยพาณิชย์

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้มีนักปั่นจากทั่วทุกสารทิศแห่กันมามืดฟ้ามัวดิน วันธรรมดา 3,000-5,500 คน วันหยุดเสาร์อาทิตย์ 5,500-7,500 คน หรืออาจทะลุถึงหลักหมื่น

มองจากเบื้องบน ขบวนนักปั่นที่คล้ายฝูงมดเลื่อนไหลไปตามความคดโค้งของสนามสีฟ้า ประกอบด้วยนักปั่นมืออาชีพ มือสมัครเล่น มือใหม่ พวกเขาพาจักรยานเสือหมอบ เสือภูเขา ทัวริ่ง จักรยานแม่บ้าน มากินลมชมวิว ออกกำลังกาย จนถึงฝึกซ้อมประลองกำลังขา

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"

 

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"

หนึ่งในนั้นคือ สุรเชษฐ์ อัชฌาสัย พนักงานบริษัทเอกชนวัย 40 เขาบอกว่าปั่นมาตั้งแต่ที่นี่ยังถูกเรียกว่า "สนามเขียว" จนเปลี่ยนเป็น "สนามฟ้า"

"ตกใจมาก เปลี่ยนไปเยอะเลย ตั้งแต่ที่จอดรถ กว้างใหญ่มากจุได้เป็นพันคัน ระบบเข้าสนามสมัยก่อนต้องโชว์บัตรประชาชน กรอกชื่อนามสกุล เดี๋ยวนี้ใช้สายรัดข้อมือจ่อตรงทางเข้าก็เข้าได้เลย ลู่ปั่นทาสีใหม่ ราดยางอย่างดี มีการแบ่งช่องระหว่างคนปั่นช้ากับปั่นเร็ว มีห้องน้ำห้องท่าทุกระยะ มีไฟฟ้าให้ความสว่างตอนกลางคืน มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน เรียกว่าทันสมัยและครบวงจรสุดๆ"

เขาบอกว่า ความประหลาดใจที่สองที่พบเจอคือ คนเยอะมาก ต้องใช้คำว่าล้นหลาม ล้นทะลัก ถล่มทลาย

"ในสนามจะเห็นนักปั่นมากมายหลายประเภท เช่น มือโปร พวกนี้มาเป็นทีม ปั่นคล่องปั่นเร็วเกาะกลุ่มเป็นขบวน มือสมัครเล่นก็ปั่นกินลมชมวิว  ปั่นช้าๆไปเรื่อยๆเหนื่อยก็พัก กลุ่มที่ถือว่ามีพฤติกรรมน่าปวดหัวคือ พวกปั่นไปเซลฟี่ไป แบบนี้อันตรายมาก การชะลอรถถ่ายรูปตัวเองเสี่ยงล้ม แถมยังอาจทำให้รถตามมาทีหลังชนเอาด้วย อีกกลุ่มคือพวกปั่นซิ่ง ซ่า คึกคะนอง บางคนตีคู่แข่งกัน บางคนชอบไปจ่อตูดกลุ่มอื่นจนล้อหน้าไปสะกิดล้อหลังแล้วเกี่ยวกันล้ม บางคนโชว์แรงขา ปั่น 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วมาก น่าหวาดเสียว แต่กลุ่มนี้ไม่อันตรายเท่าสองกลุ่มแรก เพราะเขาวิ่งเลนขวาและให้สัญญาณเป็น"

นักปั่นรายนี้ ยอมรับว่า กลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด ไม่ใช่ปั่นเซลฟี่ ปั่นเร็ว หากแต่เป็นพวกที่ "ปั่นไม่ไหว" ไปไม่รอด เพราะไม่รู้กำลังตัวเอง ฝืนสังขาร จนสุดท้ายเกิดป่วยตายคาสนาม

"นักปั่นมือโปรเขาเอาตัวรอดได้ ห่วงก็แต่พวกมือใหม่นี่แหละ พวกนี้มักไม่รู้ข้อจำกัดทางร่างกายตัวเอง ไม่รู้กำลังตัวเองว่าได้แค่ไหน ไหวหรือเปล่า 23.5 กิโลเมตรนี่ไม่ใช่หมูๆนะครับ ทั้งลม ทั้งแดด ส่วนมากคนตายคาสนาม ร้อยทั้งร้อยหัวใจล้มเหลว หัวใจวายเฉียบพลันทั้งนั้น"

"ซิ่ง-ซ่า-ปั่นไม่ไหว" อุบัติเหตุจากความประมาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพอุบัติเหตุนักปั่นเลือดตกยางออก นอนสลบไสลไม่ได้สติ หรือถูกหามส่งรถพยาบาลฉุกเฉินทั้งชุดปั่นจักรยานที่ถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ สร้างความกังวลใจให้หลายฝ่าย

จากการรวบรวมสถิติต่างๆภายในสนามของฝ่ายรักษาความปลอดภัย Sky Lane Thailand พบว่ามีตัวเลขน่าสนใจดังนี้

1 ม.ค.-31 ม.ค.59 จำนวนผู้ใช้บริการลู่ปั่น 92,790 คน / รับแจ้งเหตุรถเสีย (ยางแตก,โซ่หลุด) 208 คน / รับแจ้งเหตุปั่นต่อไม่ไหว 75 คน / รับแจ้งเหตุพบสัตว์หรือสิ่งของบนลู่ปั่น 1 ครั้ง / รับแจ้งเหตุมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 49 คน /รับแจ้งอุบัติเหตุมีผู้ป่วยหนักนำส่งรพ. 14 คน

1 ก.พ.-28 ก.พ.59 จำนวนผู้ใช้บริการลู่ปั่น 88,346คน / รับแจ้งเหตุรถเสีย (ยางแตก,โซ่หลุด) 177 คน / รับแจ้งเหตุปั่นต่อไม่ไหว 67 คน / รับแจ้งเหตุพบสัตว์หรือสิ่งของบนลู่ปั่น - ครั้ง / รับแจ้งเหตุมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 51 คน / รับแจ้งอุบัติเหตุมีผู้ป่วยหนักนำส่งรพ. 14 คน

29 ก.พ.-3 เม.ย.59 จำนวนผู้ใช้บริการลู่ปั่น 108,671 คน / รับแจ้งเหตุรถเสีย (ยางแตก,โซ่หลุด) 230 คน / รับแจ้งเหตุปั่นต่อไม่ไหว 94 คน / รับแจ้งเหตุพบสัตว์หรือสิ่งของบนลู่ปั่น - ครั้ง / รับแจ้งเหตุมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 90 คน /รับแจ้งอุบัติเหตุมีผู้ป่วยหนักนำส่งรพ. 9 คน

"ผมยอมรับว่า ข่าวอุบัติเหตุต่างๆที่มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเรื่องที่เรากังวลมาก"ถ้อยคำยืนยันของ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย

ผอ.ใหญ่ทอท. เผยว่า ลู่ปั่นจักรยาน Sky Lane Thailand อยู่ในพื้นที่สนามบิน ดังนั้นความปลอดภัยต้องอยู่ในระดับเดียวกับมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization :ICAO)

"ทอท.กับธนาคารไทยพาณิชย์ จัดตั้งบริษัทลู่ปั่น เพื่อกำกับดูแลสนามปั่นจักรยาน Sky Lane Thailand อธิบายง่ายๆคือ ไทยพาณิชย์ลงเงินสร้างสนาม เราลงที่ดิน ดูแลสนาม เช่น จัดยามรักษาความปลอดภัย ตัดหญ้ารอบสนามซึ่งเสียค่าใช้จ่ายถึงปีละ 10 ล้านบาท บำรุงรักษาพื้นผิวสนาม ห้องน้ำห้องท่า ลานจอดรถ ไม่นับซ่อมแซมรั้วที่มีคนหาปลาลักลอบตัดเป็นประจำ

เราเห็นแล้วว่า 4 เดือนมานี้คนเยอะขนาดไหน ในฐานะเจ้าบ้านเราก็กลัวจะมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นในสนาม เช่น อุบัติเหตุ ลักขฌมย ปล้นจี้ชิงทรัพย์ จนถึงอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ เลยต้องให้ความสำคัญเรื่องระบบป้องกันรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ ตั้งแต่ติดป้ายเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ตามเสาไฟฟ้าทุกระยะ เตรียมรถกระบะ 3 คันคอยวิ่งรับคนเจ็บ คนเป็นลม ปั่นไม่ไหว หรือรถเสีย โซ่หลุด ยางรั่ว ยางแตก ผมย้ำเจ้าหน้าที่เสมอว่า รถเวียน อย่ารอให้เรียกแล้วค่อยไป แต่ต้องขับเวียนไปตลอดเวลาทุก 15-20 นาที โดยไม่ต้องรอให้โทรแจ้ง เพราะเกรงจะไม่ทันการณ์ โดยมีรถพยาบาลฉุกเฉินสแตนด์บายไว้นอกสนามตลอด"

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand" ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ

แม้จะยังไม่ถึงขั้นเกิดเหตุอาชญากรรมร้ายแรง แต่ผอ.ใหญ่.ทอท. ยืนยันว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ประโยชน์ของ Sky Lane Thailand ที่มีต่อคนนับหมื่นนับแสนแลกกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นแม้เพียงคนเดียวไม่ได้

"ผมเพิ่งไปปั่นตอนเวลาหนึ่งทุ่ม คนยังแน่น แต่ถามว่าถ้าดึกกว่านั้นล่ะ ถ้าคนเบาบางกว่านั้นล่ะ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นล่ะ วันก่อนสังเกตเห็นหมา 2 ตัวหลุดเข้ามาวิ่งเล่นในสนาม เดินเข้ามาในลู่อย่างสบายใจเฉิบ สมมติเกิดนักปั่นผ่านมามองไม่เห็นแล้วชนรถพลิกคว่ำ กว่ารถกระบะจะขับผ่านมา 15-20 นาที แบบนี้อันตราย ล่าสุดขณะนี้เรากำลังติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วสนาม โดยเฉพาะตามจุดอับจุดเสี่ยงทั้งหมด ที่ผ่านมาช่วงนักปั่นยังช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้ แต่ในอนาคตถ้าเกิดจะขยายเวลาปิดถึง 22.00 มันจะยุ่งกันไปใหญ่ ถ้าวัดจากอุบัติเหตุที่เกิดบ่อยขนาดนี้ เรื่องเปิดดึกคงต้องขอประเมินกันอีกที"

ในฐานะผู้ชื่นชอบการปั่นจักรยานเช่นกัน ดร.นิตินัย บอกว่า ปัญหารถเสีย โซ่หลุด ยางแตก พบสัตว์ หรือสิ่งกีดขวางบนลู่ปั่น ไม่น่าห่วงเท่าอุบัติเหตุหนักถึงขั้นต้องส่งโรงพยาบาล

"เฉลี่ยเดือนหนึ่ง 10-15 คน มีตั้งแต่ซ่า คึกคะนอง อัดกันแหลก แล้วเกี่ยวกันล้มทั้งกลุ่ม เคสนี้มักพบกิโลเมตรที่ 19-20 เป็นประจำ พวกคางแตก แขนขาถลอก หัวกระแทกมักไม่ตายหรอกครับ เพราะมีกฎข้อบังคับให้ใส่หมวกกันน็อค เจ็บเล็กเจ็บน้อยยังพอไหว แต่ถึงขั้นเสียชีวิตนี่เราไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้

ที่น่าห่วงคือ พวกป่วยหนัก หมดแรง หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย พวกนี้ไม่ประเมินกำลังตัวเอง คิดว่าตัวเองแข็งแรง ประเด็นคือ Skylane เป็นสนามปั่นมาตรฐานระดับโลก ถามว่าจะเข้ามาปั่นระยะทาง 23.5 กิโลเมตร คุณรู้ร่างกายตัวเองดีพอหรือยังว่าไหว ถ้าไม่รู้ก็อย่าเสี่ยง ไม่ไหวอย่าฝืน บางคนเห็นเพื่อนไหวก็คิดว่าตัวเองไหวเหมือนเขา ผมขอแนะนำให้ซื้อ Heart Rate Monitor เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจไว้ จักรยานคันละเป็นแสนยังซื้อมาอวดกันได้ แค่ฮาร์ตเรทตัวเดียวแต่มันช่วยชีวิตได้ก็ซื้อไว้เถอะครับ"

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"

อนาคต คุณสมบัติของสายรัดข้อมืออัจฉริยะหรือสแนป นอกจากจะบันทึกข้อมูลชื่อ นามสกุล ที่อยู่ กรุ๊ปเลือด ยังสามารถบอกตำแหน่งนักปั่นในลู่ บันทึกสถิติความเร็วและระยะทางได้ด้วย

"ขอร้องไปทางผู้ใช้ด้วยว่าอย่าลงทะเบียนผิดคน บางคนมักง่าย เอาสแนปคนอื่นมาใช้ ควรลงทะเบียนเพื่อให้รู้ว่าคุณมีตัวตน จะได้เช็คชื่อคนเข้าคนออก ในอนาคตถ้าระบบไอทีทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันหมด เราจะได้รู้ว่าคุณเข้ามาเมื่อไหร่ อยู่ตรงไหน หรือหยุดนานจนผิดสังเกตจะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณ เพื่อความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือ

คำแนะนำจากนักปั่นเลียบรันเวย์

ธิติ กอเจริญพาณิชย์ หนึ่งในผู้ใช้จักรยานเป็นประจำ บอกว่า หลังจากทราบปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้เจ้าของสนามดูแลให้มากกกว่านี้ แต่เขามองว่าปัญหาจริงๆไม่ได้เกิดจากสนาม แต่เกิดจากวินัยของนักปั่นเอง

1.ปัญหาอาการล้มเหลวทางหัวใจ/วูบ/heatstrokeหรืออื่นๆ ระหว่างปั่น

สาเหตุเกิดจากไม่รู้ขีดจำกัดร่างกายของตนเอง ร่างกายอยู่ในภาวะที่อาจจะอ่อนแอ เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ แล้วมาขี่โหมหนัก หรือร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เกิดอาการวูบหมดสติไปทั้งๆที่ปั่นอยู่ ทำให้รถขาดการทรงตัวจนล้ม ซึ่งอาจทำเพื่อนๆในกลุ่มหรือคนที่ที่ปั่นตามมาด้านหลังอยู่ล้มตามไปด้วย

ทางแก้คือ พักผ่อนให้เพียงพอก่อนปั่น ใช้ heart rate monitor เพื่อสังเกตุอัตราเต้นหัวใจ รู้จักลิมิตตัวเอง หากรู้ว่าต้องปั่นไกล ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตก่อนหรือระหว่างปั่น เพื่อเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และจำเสมอว่า "ได้ชนะ" อาจไม่คุ้ม "เสียชีวิต"

2.อุบัติเหตุล้มจากการเปลี่ยนเลนกะทันหัน (เลนช้าเลี้ยวออกมาขวางเลนเร็ว)

สาเหตุเกิดจากไม่รู้มารยาทในการปั่นจักรยาน ข้อนี้จะคนปั่นช้าหรือคนปั่นเร็ว อุบัติเหตุเกิดได้จากทั้งสองฝ่าย แบบแรกคือ เกิดจากฝ่ายคนปั่นความเร็วต่ำ ซึ่งปั่นๆอยู่แล้วเปลี่ยนจากเลนซ้าย (สำหรับรถช้า) ไปเลนขวา (รถเร็ว) กะทันหัน หรือเกิดจากความไม่รู้ว่าช้าหรือเร็วต้องอยู่เลนไหน ทำให้คนที่ปั่นเร็วมาทางเลนขวาชนเข้าด้านหลัง หรือต้องเบรคกะทันหันในกลุ่ม และเกี่ยวกันเองล้ม (ตัวเองก่อ แต่คนอื่นซวย) แบบที่สองคือ เกิดจากขาแรง ปั่นเร็วไม่ลืมหูลืมตา ไม่ดูทางล่วงหน้าว่ามีสิ่งกีดขวางหรือผู้ใช้ถนนท่านอื่นอยู่หรือไม่ หรือไม่มีการตะโกนเตือน ทำให้คนที่อยู่ด้านหน้าไม่ได้หลบให้พ้นทาง สุดท้าย ชนกับด้านหน้า ไม่ก็เบรคกะทันหัน เนื่องจากไม่ได้ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า ชนล้มกันเองในกลุ่ม เกิดอุบัติเหตุ

ทางแก้คือ เรียนรู้และปฏิบัติ ตามมารยาทการขับขี่ ซึ่งจริงๆแล้วก็คล้ายๆมารยาทในการขับรถยนต์นี่แหละครับ เร็วอยู่ขวา ช้าอยู่ซ้าย อย่าแทรกกลางหรือปาดหน้ากระทันหัน ง่ายมากๆ และที่สำคัญที่สุด อย่าคิดว่าตัวเองปั่นกันอยู่คนเดียว หรือกลุ่มเดียวบนโลก คนอื่นเค้าก็ใช้ถนน หรือสนามปั่นร่วมกับท่านอยู่เหมือนกัน

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"

 

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"

3.อุบัติเหตุเกี่ยวกันล้มเนื่องจากทับไลน์กัน (อาการล้อหลังของคนที่ปาดหน้าทำให้ล้อหน้าคนโดนปาด เปลี่ยนทิศแล้วล้ม หรือขี่ล้อซ้อนกันแล้วล้อหน้าเราไปช้อนล้อหลังเค้า ทำให้เราเองล้ม และด้านหลังซวยต่อ) เกิดขึ้นในการขี่ต่อแถวเป็นกลุ่ม

สาเหตุเกิดจากขาดประสบการณ์ในการขับขี่กลุ่ม เข้าแทรกกลางกลุ่ม ทำให้กลุ่มเสียจังหวะ ชนกันล้ม หรือไปปาดหน้าคนที่อยู่ในขบวน ล้อหลังของเราปัดล้อของคนในขบวนเสียหลัก คนด้านหลังรับลูกหลงกันต่อ จะหนักจะเบา ขึ้นอยู่กับความเร็ว หรืออีกสาเหตุเกิดจากการขี่จี้แบบ "ล้อหน้าเราซ้อนล้อหลังเขา" ผลคือ หากมีการส่ายจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะทำให้คนหลังมีโอกาสเสียหลักมากกว่าคนหน้า

ทางแก้คือ เรียนรู้และปฏิบัติตามมารยาทการขับขี่กลุ่ม อยากเข้ากลุ่ม ไปต่อหลังก่อนถ้ายังไม่มีประสบการณ์ หรือยังไม่รู้จังหวะคนในกลุ่ม "อย่าแทรก" ถ้าไม่ใช่เพื่อนกันที่รู้จังหวะ หรือคนในกลุ่มส่งสัญญาณให้เข้าไปในกลุ่มแล้ว "อย่าแทรกเด็ดขาด" และหลีกเลี่ยงการขี่ล้อซ้อนกัน หากต้องการขี่ดูดหรือหมกในกลุ่ม ขี่ให้ล้ออยู่ในไลน์เดียวกัน เพื่อลดโอกาสการเกี่ยวกันในกลุ่ม

4.อุบัติเหตุล้มเพราะทางลื่น

สาเหตุเกิดจากการใช้ความเร็วที่สูงเกินไปในทางที่สุ่มเสี่ยง เช่นทางโค้งหนักๆ หรือบริเวณที่มีทรายหรือน้ำขัง หรืออีกกรณีคือใช้ยางที่ไม่ได้คุณภาพ

ทางแก้คือ สังเกตจุดอันตราย และชะลอความเร็ว พร้อมส่งสัญญาณชะลอให้คนในกลุ่ม หรือคนที่ปั่นมาด้านหลังรู้ ว่าเรากำลังจะชะลอ และหมั่นเช็คคุณภาพของยางที่ตนเองใช้

"สรุปคือ การแก้ปัญหาด้วยการจำกัดความเร็ว หรืออะไรก็ตาม มันเป็นแค่ "เปลือก" จะปั่นที่ไหน จะปั่นเร็วหรือช้า ถ้าไม่ตระหนักถึงรากเหง้าของปัญหาที่กล่าวมา ยังไงมันก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งานในพื้นที่นั้นๆ สุดท้ายแล้วสิ่งที่ควรจะต้องเริ่มแก้คือ "ตนเอง" "

สำหรับนักปั่นผู้นิยมใช้บริการ Sky Lane Thailand นอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ควรละเลย ถึงเวลาแล้วที่นักปั่นทุกคนต้องหันมาตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในสนามจักรยาน.

เจาะลึก "อุบัติเหตุ-ความปลอดภัย" สนามจักรยาน "Sky Lane Thailand"