posttoday

ชำแหละพฤติการณ์ "เผานั่งยาง" ทำลายศพง่าย-แกะรอยยาก

27 เมษายน 2559

เจาะลึกการ "เผานั่งยาง" พฤติกรรมทำลายศพยอดนิยมของนักฆ่ามืออาชีพ

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

กองเถ้ากระดูกมนุษย์และร่องรอยเศษยางรถยนต์ถูกเผา จำนวน 23 จุด ซึ่งถูกค้นพบบริเวณป่าเชิงเขาบ้านคำบอนเวียงชัย ต.หนองแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กำลังสร้างความหวาดผวาให้แก่คนทั้งประเทศ 

ยิ่งพบว่ามีชาวบ้านหลายสิบชีวิตถูกอุ้มหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย บวกเสียงร่ำลือถึงประวัติความเป็นมาว่า บริเวณดังกล่าวเคยมีคนถูกฆ่าแล้วนำมาเผานั่งยางเพื่อทำลายหลักฐานอย่างต่อเนื่องนานหลายปี จนถูกเรียกว่า "สุสานเผานั่งยาง"

โศกนาฎกรรมสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นจึงตกเป็นเป้าสนใจของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

"เผานั่งยาง"วิชามารของคนมีสี

ในอดีต หลายคนคงเคยเห็นข่าวฆาตกรรรมอำพรางศพในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่วงน้ำ ฝังดิน โบกปูน ยัดส้วม หั่นชำแหละ จนถึงการ "เผานั่งยาง" อันถือเป็นวิธียอดนิยมของเหล่านักฆ่ามืออาชีพ

"รู้กันในหมู่โจรว่า  การเผานั่งยางเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐชอบทำกัน สมัยก่อนเวลาจับผู้ต้องสงสัยมารีดข้อมูล ขู่บังคับให้รับสารภาพ เค้นไปซ้อมไปเกิดพลั้งมือทำเขาตาย เลยต้องหาทางทำลายหลักฐาน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว เวลาฆ่าใคร ถ้าไม่เจอศพ จะดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตายไม่ได้ ทีนี้จะเอาไปโยนทิ้งน้ำก็กลัวศพจะลอย ฝังดินเดี๋ยวหมามันมาคุ้ย หั่นศพก็ยุ่งยากเสียเวลา เลยใช้วิธีเผา สาเหตุที่ใช้ยางรถยนต์ เพราะยางเป็นเชื้อเพลิงที่ดีที่สุด หาง่าย แกะรอยยาก ถึงเวลาก็เอายางสวมร่างของศพเหมือนฮูลาฮูป ศพไหนเพิ่งตายใหม่ๆจับนั่งได้ เขาเรียกว่าเผานั่งยาง ศพไหนตายมาหลายชั่วโมง ตัวแข็งจับนั่งไม่ได้ก็จับนอน เรียกว่าเผานอนยาง เสร็จแล้วเอาน้ำมันราดจุดไฟก็เผ่นได้เลย ยางจะลุกไหม้ไปเรื่อยๆจนเหลือแต่เถ้าถ่าน แถมมีกลิ่นกลบ ดีกว่าไม้ ฟืน ฟาง ซึ่งต้องใช้เยอะ และต้องคอยเติมตลอด ตำรวจพวกนี้้เวลาไปทำก็จะเอาพวกลูกน้องที่เป็นโจรไปช่วย ไอ้ลูกน้องเลยรู้เห็นวิธี ต่อมาไปรับงานอุ้มฆ่า มันก็ทำเลียนแบบลูกพี่"

คำบอกเล่าอันน่าสะพรึงของ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร อดีตนายตำรวจคนดัง ผู้คลุกคลีกับแวดวงอาชญากรรมมาอย่างโชกโชน

ผู้การวิสุทธ์ เล่าว่า สถานที่เผานั่งยางมักเป็นสถานที่ลับตาคน ห่างไกลชุมชน ไม่พลุกพล่าน เช่น ป่า ภูเขา ที่ดินส่วนตัว เขตหวงห้าม สำหรับกรณีการค้นพบเศษเถ้ากระดูกชิ้นส่วนมนุษย์และยางรถยนต์ 23 จุดในอ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เขามองว่า คนร้ายคงคิดว่าบริเวณดังกล่าวเงียบ ปลอดภัย บวกกับความคุ้นเคยชำนาญเส้นทาง จึงมั่นใจว่าจะไม่มีใครมาพบแน่นอน

"พอเผานั่งยางไปศพนึงแล้วงานเรียบร้อย พอมีศพที่สอง สาม สี่ ก็เอาไปเผาใกล้ๆที่เดิม ที่มันเยอะอาจเป็นไปได้ว่า พรรคพวกเพื่อนฝูง ลูกน้องมาขอคำปรึกษา 'พี่ ช่วยผมหน่อย เอาไปจัดการที่ไหนดี' 'เฮ้ย ไปจุดนี้เลยไอ้น้อง แม่งโคตรเงียบ ไม่มีใครเห็นแน่' ก็บอกต่อๆกันไป โชคร้ายเกิดไฟป่า ไอ้ตรงที่เคยเป็นดงรกๆก็เตียนโล่ง ชาวบ้านเกิดมาเห็น เรื่องก็เลยแดง"

อดีตนายตำรวจคนดัง ทิ้งท้ายว่า หลังข่าวการค้นพบสุสานเผานั่งยางที่อุดรธานี หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะพุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะตำรวจ เนื่องจากที่ผ่านมามักมีข่าวตำรวจนอกรีตเข้าไปพัวพันกับคดีซ้อมผู้ต้องหา อุ้มฆ่า ลักพาตัวอยู่บ่อยครั้ง

"พอมีข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้น จะเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพัวพันเกือบทุกคดี ซ้อมผู้ต้องหา รีดเค้นทรมาน ตั้งแก๊งอุ้ม เมื่อเกิดข่าวขึ้น ประชาชนจึงมองตำรวจในทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมันจะทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจมัวหมองลงไปอีก"

ชำแหละพฤติการณ์ "เผานั่งยาง" ทำลายศพง่าย-แกะรอยยาก พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร

ลงพื้นที่เก็บหลักฐาน ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ

คำถามที่สังคมอยากรู้มากที่สุดนาทีนี้คือ ชิ้นส่วนมนุษย์ที่หลงเหลืออยู่ในกองเถ้าถ่านทั้ง 23 จุดนั้นเป็นของใคร เสียชีวิตด้วยสาเหตุใด เสียชีวิตมานานแค่ไหน และหลักฐานที่มีอยู่เพียงน้อยนิดเหล่านี้จะสาวไปถึงผู้สังหารได้หรือไม่

ความคืบหน้าล่าสุดตำรวจอุดรธานีได้ลงพื้นที่เก็บรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดแบบ "ปูพรม" ส่งไปยังสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อตรวจสอบด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์

แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่ปรึกษาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้มีประสบการณ์ไขคดีฆาตกรรมเผานั่งยางมาแล้วหลายคดี อธิบายว่า ตามหลักกฎหมาย การไขปริศนาคดีฆาตกรรมต้องหาหลักฐานสำคัญให้ได้ 6 อย่าง ประกอบด้วย 1.เหตุการตาย 2.พฤติการณ์การตาย 3.ตายที่ไหน 4.ตายเมื่อไหร่ 5.ผู้ตายเป็นใคร 6.ใครเป็นคนฆ่า ทั้ง 6 ข้อนี้จะเป็นเบาะแสสำคัญนำไปสู่การจับกุมคนร้าย

"ไม่ใช่ทุกคดีจะหาตัวคนร้ายได้เสมอไป โดยเฉพาะคดีเผานั่งยาง เนื่องจากสภาพศพถูกทำลายจะมีความยากมาก เคสที่อ.บ้านผือ สังคมพุ่งเป้าสนใจอยู่เรื่องเดียวว่าผู้ตายเป็นใคร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 ข้อที่ต้องหาคำตอบ ตำรวจก็มุ่งตรวจดีเอ็นเอ แต่โอกาสที่จะตรวจเจอดีเอ็นเอพบมีน้อยมาก ถ้าคนมีความเชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จะรู้ว่าต้องตรวจหาอย่างอื่นด้วย เช่น สิ่งที่ทำให้ตายคือ กระสุน คดีเผานั่งยางหลายคดี ศพมักถูกยิง พอนำไปเผานั่งยางปุ๊บ กระสุนมันอยู่ในศพ อาจอยู่กลางกองกระดูก ดังนั้นถ้าคนไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญไปคุ้ยๆหยิบๆโกยๆ หลักฐานจะหายหมด

ส่วนการหาคำตอบว่าผู้ตายเป็นใคร กระบวนการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ตรวจสอบด้วยหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือ 6 วิธีคือ ตรวจดีเอ็นเอ ตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ ตรวจฟัน ตรวจกระดูก ตรวจพยาธิสภาพ และเอ็กซเรย์ ทั้ง 6 วิธีนี้เป็นการพิสูจน์ที่มีความแม่นยำ ส่วนกลุ่มที่สองคือ พิสูจน์คร่าวๆจากสิ่งที่ติดตัวเรา เช่น ไฝ ปาน และสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา เช่น  นาฬิกา เข็มขัด สร้อย แหวน ไม่จำเป็นต้องเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาพศพ

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ตรวจศพต้องมีความรู้ ถ้าเกิดเดินลงไปปุ๊บเอากระดูกไปตรวจดีเอ็นเอแสดงว่าไม่มีความรู้ เพราะสิ่งที่จะระบุได้ว่าเป็นใครอาจเป็นหัวเข็มขัด แหวน หรือเวลาหยิบกระดูกขึ้นมา ต้องดูสภาพศพก่อนว่าศพที่อยู่ในขดยางมันวางอย่างไร บางทีอาจเห็นกระดูกฝ่ามือหงายหลังชิดกัน นั่นหมายความว่าถูกมัดไพล่หลัง ก็ต้องไปดูต่อว่าข้อมือมีรอยลวดมัดไหม เป็นต้น ยิ่งคดีเผานั่งยางหลายศพในที่เดียวกัน ยิ่งต้องมีความพยายามในการค้นหาพยานหลักฐาน"

หมอพรทิพย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุเผานั่งยาง ต้องใช้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ มิใช่ให้ตำรวจทำงานเพียงหน่วยงานเดียว

"คดีใหญ่และยากแบบนี้สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการร่วมกันในหลายหน่วยงาน ทุกฝ่ายต้องหารือกัน ไม่ใช่ตำรวจรับไปทำทั้งหมด เท่าที่ทราบคนดูแลที่เกิดเหตุขณะนี้เป็นพนักงานสอบสวนในพื้นที่ คอยเก็บพยานหลักฐานแล้วส่งไปให้นิติเวชตรวจสอบ จริงๆต้องให้เจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์มาเก็บหลักฐานตั้่งแต่แรก แต่นิติเวชมีอำนาจแค่ในกรุงเทพ ส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะเข้าไปได้ก็ต่อเมื่อได้รับการร้องขอจากตำรวจเท่านั้น นี่กลับใช้ตำรวจในพื้นที่ตรวจที่เกิดเหตุ ซึ่งตำรวจทั่วไปไม่มีความเชี่ยวชาญ แม้เขาจะบอกว่าทำได้ตามมาตรฐาน แต่ขอยืนยันว่าไม่ใช่ เคสแบบนี้ต้องได้รับการอบรมเฉพาะทางด้านกระดูก"

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสนับสนุนและติดตามคนหายและพิสูจน์ศพนิรนาม พ.ศ.2558 กำหนดให้หลายหน่วยงานมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน อาทิ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทยกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข อัยการสูงสุด สถาบันนิติเวชวิทยา ฯลฯ ทว่าวันนี้มีตำรวจยังคงเป็นหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบ

"หมอไม่ขอพูดว่าตำรวจเก็บพยานหลักฐานไม่ถูกต้อง แต่ขอพูดว่าระบบที่มีอยู่ยังไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ 1.กฎหมายไม่เอื้อ ให้อำนาจหน่วยเดียวคือ พนักงานสอบสวน ระบบงานก็ผูกขาด ใครจะช่วยก็ไปห้ามเขาหมด 3.ประชาชนไม่มีทางเลือก สะท้อนว่ารัฐไม่เคยสร้างระบบขึ้น ปล่อยให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ ศพนิรนามแบบนี้มีมานานแล้ว ไม่ได้มีแค่เผาทำลายอย่างเดียว มีทั้งเอาไปฝัง ถูกทอดทิ้งโดยไม่ได้รับการพิสูจน์อะไรเลย  ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด"

อดีตผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทิ้งท้ายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ ถือว่าดีมาก ทราบว่าจะให้มีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า 1 หน่วย ให้นิติวิทยาศาสตร์เป็นอิสระจากการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งให้พนักงานสอบสวนใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาทำคดีมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะสามารถช่วยประชาชนได้อย่างแท้จริง

ชำแหละพฤติการณ์ "เผานั่งยาง" ทำลายศพง่าย-แกะรอยยาก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์

คดีใหญ่แบบนี้ รัฐบาลต้องไม่นิ่งเฉย

สำหรับมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยืนยันว่า การพบศพที่ตายผิดธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ในอ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสิทธิในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต

"ประการแรก สิทธิในการที่จะต้องรับรู้ความจริง รับรู้ความจริงว่าศพเหล่านั้นเป็นใคร ทำไมถึงถูกฆ่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจจากส่วนกลาง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นิติเวช กรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาร่วมตรวจสอบหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ถือว่าสำคัญที่สุด ประการที่สอง ต้องหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ การพบศพกว่า 23 ศพที่อ.บ้านผือ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่พบศพชาวโรฮิงยาที่จ.สตูล สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการกระทำอย่างอุกอาจ หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกระทรวงยุติธรรมไม่หาตัวผู้กระทำผิด ก็ไม่ต่างจากกับการปล่อยให้คนชั่วลอยนวล วันข้างหน้าก็จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกเรื่อยๆ

ประการที่สาม สิทธิเรื่องการชดเชยเยียวยา ที่ผ่านมาทั้งกรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด ความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าสืบสวนพบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ สิทธิชดเชยเยียวยาครอบครัวเหยื่อเป็นสิ่งที่พวกเขาสมควรได้รับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อการสูญเสีย ประการสุดท้าย ข่าวนี้ถือไม่ใช่ข่าวธรรมดา แต่เป็นการละเมิดสิทธิ์ครั้งยิ่งใหญ่ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศแน่นอน ขนาดพบศพโรฮิงยาซึ่งเป็นผู้อพยพยังเป็นข่าวไปทั่วโลก แล้วนี่เป็นประชาชนคนไทยมีสิทธิเสรีภาพในการมีชีวิตอยู่ และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยจากรัฐ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะไขคำตอบนี้ ก่อนจะถูกหยิบยกเป็นประเด็นในระดับสากลว่า มีการสังหารหมู่ประชาชนเกิดขึ้น ซึ่งจะทำลายความเชื่อมั่นในเรื่องการทำงานของหน่วยงานรัฐ."

คงต้องติดตามกันว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้จะมีความคืบหน้าแค่ไหน จะสืบสาวไปถึงขบวนการอุ้มฆ่าเผานั่งยางได้หรือไม่ หรือจะเงียบหายไปเหมือนคดีอื่นๆ

ชำแหละพฤติการณ์ "เผานั่งยาง" ทำลายศพง่าย-แกะรอยยาก นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ