posttoday

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

24 เมษายน 2559

หลักสูตรวิชาว่ายน้ำอันหลงทิศผิดทาง ทำให้เด็กไทย "ว่ายน้ำได้" แต่ "เอาตัวรอดไม่ได้"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ฤดูร้อนมาเยือน ทุกคนต่างนึกถึงท้องทะเลสีคราม แม่น้ำไหลเอื่อยเฉื่อย ห้วยหนองคลองบึงอันสงบร่มรื่น ยิ่งช่วงปิดเทอมใหญ่ เด็กจำนวนไม่น้อยคงพากันไปหาที่เล่นน้ำ กระโดดโจนทะยาน ดำผุดดำว่ายอย่างเย็นฉ่ำหนำใจ

แต่ใครจะคิดว่า เมื่อเกิดเหตุจมน้ำขึ้น ด้วยทักษะการว่ายน้ำอันกระท่อนกระแท่น บ้างว่ายไม่เป็น บ้างว่ายเป็นแต่ช่วยเหลือคนอื่นไม่ได้ ส่งผลให้เด็กจำนวนไม่น้อยต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า

เด็กไทยว่ายน้ำไม่เป็น?

ข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 10,932 คน หรือเฉลี่ยปีละ 1,100 คน ที่น่าตกใจคือ  เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ว่ายน้ำเป็นแค่ 23.7 % และว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้ พูดง่ายๆคือมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด และทักษะการช่วยเหลือเพียง 4.4 % เท่านั้น

"เด็กโตมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆคน เนื่องจากไม่รู้วิธีเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง เวลาเพื่อนที่ว่ายน้ำไม่เป็นเกิดจมน้ำ คนที่ว่ายเป็นก็กระโดดลงไปช่วย สุดท้ายกอดคอกันตาย แหล่งน้ำที่มีเด็กเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำสูงที่สุดคือ แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บ่อขุด สระสาธารณะ ห้วยหนองคลองบึง น้ำตก แม่น้ำ ทะเล รองลงมาคือ สระว่ายน้ำ ใครมีโอกาสใกล้แหล่งน้ำมากก็มีโอกาสตายมาก ฉะนั้นก่อนจะเล่นน้ำต้องว่ายให้เป็นก่อน"

คำกล่าวของ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะกุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

สอดคล้องกับความเห็นของ ก้องภพ วาสนาวาทีกิจ หรือ ครูจิ้น เจ้าของโรงเรียนสอนว่ายน้ำ Bangkok Swimming byครูจิ้น ว่ายน้ำเป็นเร็ว บอกว่า  การเรียนว่ายน้ำถือเป็นทักษะที่ควรมีติดตัวไว้ตลอดชีวิต เพราะไม่มีทางรู้ว่าวันใดเราจะประสบเหตุตกน้ำตกท่า เรือล่ม รถพลิกคว่ำตกน้ำ จนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ถึงเวลานั้นทุกคนต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ด้วยตัวเอง

"วิชาว่ายน้ำที่ดีคือ นอกจากจะสอนให้ว่ายเอาตัวรอดแล้ว ต้องสอนให้รู้วิธีช่วยเหลือคนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่สอนให้ว่ายท่าต่างๆอย่างเดียว ผมสอนเทคนิคการเอาชีวิตรอดในน้ำ ตั้งแต่เบสิก ตีขา ลอยตัว กลั้นหายใจ ดำน้ำ สอนให้เขาลอยตัวให้ได้นาน 3 นาที และกลั้นหายใจใต้น้ำได้อย่างน้อย 1 นาที สำหรับการเอาชีวิตรอด สอนให้รู้จักกลไกของน้ำและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเช่น สระว่ายน้ำ คลอง น้ำตก แม่น้ำ ทะเล

"นอกจากนี้ยังต้องให้เขาตระหนักถึงความปลอดภัยทางน้ำด้วย อย่างเวลาไปเที่ยวน้ำตก ไม่ควรกระโดดเล่นโลดโผน เพราะไม่รู้ว่าใต้น้ำจะมีโขดหิน หรือมีความลึกแค่ไหน แม่น้ำลำคลองบางแห่งก็ไม่ใช่ที่ที่เล่นได้ เพราะมีความเชี่ยว มีเรือแล่นผ่าน แถมเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงทะเลที่มีทั้งคลื่น ทั้งน้ำวน เราเตือนให้เขาสังเกตป้ายเตือนห้ามเล่นน้ำ ตรงไหนเล่นได้ตรงไหนเล่นไม่ได้ และสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง"

จากประสบการณ์สอนว่ายน้ำมานานนับสิบปี ครูจิ้นมองว่า สาเหตุที่เด็กส่วนใหญ่"ว่ายน้ำไม่เป็น" มาจากหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ตรงจุดและปัญหาการเข้าไม่ถึงสระว่ายน้ำ

"การเรียนว่ายน้ำมักเรียนกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ครู 1 คนต่อเด็ก 20-30 คน ทำให้ดูแลเด็กไม่ทั่วถึง แถมวิชานี้มักสอนสัปดาห์ละครั้ง มันไม่พอ ไม่มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาคนเรียนว่ายน้ำมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก บางคนเรียนไปเพื่อสอบเข้าข้าราชการ รักษาอาการปวดหลัง หลายคนอยากลบปมด้อย แก้ไขความกลัวในวัยเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็น

"ปัจจุบันสระว่ายน้ำจะมีอยู่แต่ในโรงเรียนใหญ่ๆ หรือโรงเรียนเอกชนดังๆ ตามมหาวิทยาลัย ศูนย์กีฬา สโมสรสปอร์ตคลับ หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม คอนโดหลายแห่งก็ไม่อนุญาตให้สอนว่ายน้ำ เพราะเกรงจะไปรบกวนผู้อาศัยท่านอื่น ถือเป็นปิดโอกาสไปเยอะ ครูสอนไม่มีสระสอนก็ถือเป็นข้อจำกัดใหญ่เหมือนกัน

"นอกจากนี้ยังมีปัญหาสระปิดเร็ว ค่าสอนแพงเกินไป การเข้าไม่ถึงสระว่ายน้ำของเด็กๆ ทำให้บางคนไปลองผิดลองถูกกันเองตามแหล่งน้ำสาธารณะ จนเป็นเหตุให้เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น"

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย ครูจิ้น-ก้องภพ วาสนาวาทีกิจ

"หลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ" จบป.1ต้องว่ายได้

ท่ามกลางการตั้งคำถามว่าหลักสูตรการเรียนการสอนว่ายน้ำทุกวันนี้เน้นสอนท่าต่างๆเพื่อการแข่งขัน เช่น ฟรีสไตล์ กบ กรรเชียง ผีเสื้อ มากกว่าจะสอนทักษะการเอาชีวิตรอด

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยสามารถ "ปฏิรูป"หลักสูตรการเรียนการสอนว่ายน้ำได้ ด้วยการเปลี่ยน "วิชาว่ายน้ำ" ให้เป็น "หลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ"

"หลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ มีทักษะอยู่ 5 ประการ เพื่อให้เด็กอายุ 6-12 ปีเรียนรู้ทำได้ด้วยตัวเอง ประกอบด้วย 1.รู้จุดเสี่ยง รู้ว่าแหล่งน้ำประเภทใดเป็นอันตราย เสี่ยงต่อการจมน้ำ ตกน้ำ ห้ามเข้าใกล้เด็ดขาด เช่น น้ำไหลเชี่ยว น้ำไม่รู้พื้นผิว แหล่งน้ำที่มีโอกาสทรุด 2.ต้องลอยตัวให้ได้ 3 นาที เด็กส่วนใหญ่ตายใกล้ตลิ่ง ตกไปลอยตัวขึ้นไม่ได้ก็จะจมลง ดังนั้นต้องลอยตัวให้ได้นาน 3 นาที 3.ว่ายให้ได้ไกล 15 เมตร ท่าอะไรก็ได้ เพื่อว่ายกลับเข้าฝั่ง 4.ช่วยเพื่อนให้ถูกวิธี ด้วยการ "ตะโกน-โยน-ยื่น" ตะโกนให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยนสิ่งของลอยน้ำออกไป ยื่นสิ่งของยาวๆออกไปช่วยเหลือ โดยไม่ต้องกระโดดลงไป 5.ใช้ชูชีพเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ จากการสำรวจพบว่า เด็กไทยใส่ชูชีพขณะเดินทางทางน้ำเพียง 18 % เท่านั้น หลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการนี้ ควรบรรจุไว้ในหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเลยว่า เรียนจบป.1จะต้องทำได้ทุกคน"

หลักสูตรดังกล่าวเคยถูกผลักดันไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้บรรจุลงในเขตพื้นที่การศึกษา 200 เขต ทุ่มงบประมาณมากกว่า 22 ล้านบาท ปรากฎว่าทำได้ปีเดียวเลิก ไม่ต่อเนื่อง

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า แม้วันนี้ยังไม่อาจบรรจุหลักสูตรนี้ในโรงเรียน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการได้ ทว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ สามารถขับเคลื่อนได้ทันที โดยใช้งบไม่เยอะ อาศัยความร่วมมือกันของชุมชนและเครือข่ายต่างๆ

"โรงเรียนไหนอยากทำก็ทำกันเองได้ เพราะมันยังไม่มีการบรรจุหลักสูตรในโรงเรียน ฉะนั้นอย่ารอ สามารถทำได้ทันที ถ้าองค์การปกครองท้องถิ่น และชุมชนเล็งเห็นความสำคัญของทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำของเด็กๆ ยกตัวอย่างที่สุรินทร์ หลายโรงเรียนไม่มีสระว่ายน้ำสำหรับสอน อบต.จึงลงทุนซื้อสระว่ายน้ำประกอบเอง ราคา 10,000-40,000 บาท เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ ใช้เวลา 7 วันก็สอนได้สำเร็จ ลดจำนวนเด็กจมน้ำตายไปได้เยอะ"

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

"ฮุก31 โมเดล" ต้นแบบความสำเร็จที่ยั่งยืน

"นครราชสีมา"เคยได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำตายสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เฉลี่ยถึงปีละ 60 คน ทว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังมีการถ่ายทอดหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดตามชุมชนต่างๆใน 32 อำเภอ ก่อนขยายไปทั่วทุกภูมิภาค ส่งผลให้ผู้ใหญ่และเด็กนับหมื่นชีวิตเกิดทักษะด้านความปลอดภัยทางน้ำ  ตัวเลขเด็กจมน้ำตายจึงลดลงอย่างน่าพอใจ ทั้งหมดเป็นผลงานน่าชื่นชมของกลุ่มภาคประชาชนซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "ฮุก31 "

"สมัยก่อนช่วงปิดเทอมที่โคราชมีเหตุงมศพเกือบทุกวัน วันละศพสองศพ รวมๆแล้ว 15-20 ศพ ยิ่งปิดเทอมหน้าร้อนอาจมากกว่า 30 ศพ วันหนึ่งเราเลยตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กจมน้ำตายแล้วต้องงมศพๆๆ มันเป็นการช่วยที่ปลายเหตุ ในฐานะที่เราทำงานด้านกู้ภัยทางน้ำมานานกว่า 20 ปี ทั้งช่วยคนจมน้ำ งมศพ กู้เรือ เลยรู้ว่าใครๆก็สามารถลอยตัวได้ ว่ายน้ำเป็น ก็เลยคิดว่าควรไปแก้ที่ต้นเหตุดีกว่า

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

ชาญชัย ศุภวีระกุล หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจฮุก 31 นครราชสีมา เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นหลักสูตรการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เขาบอกว่าสาเหตุการจมน้ำเสียชีวิตมาจากตัวเด็กขาดทักษะการว่ายน้ำ การเอาชีวิตรอดในน้ำ ขาดความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ

"ยกตัวอย่างเคสเด็กผู้หญิงอายุ 9 ขวบ 4 คนจมน้ำตายหมู่ วันเกิดเหตุเป็นวันประกาศผลสอบ เลิกเรียนเร็ว จึงชวนกันไปเล่นน้ำที่สระขุดเพื่อการเกษตรใกล้ๆบ้าน ปรากฎว่าเด็กคนหนึ่งจมน้ำ เพื่อนที่เหลือจึงกระโดดลงไปช่วย สุดท้ายตายหมด จากการสืบสวนภายหลังพบว่า สระน้ำดังกล่าวเป็นสระของคุณตา รอบๆสระมีกิ่งไผ่เรียงรายเต็มไปหมด บนฝั่งมีท่อพีวีซีขนาดยาว 4 เมตรกองอยู่ 30 ท่อน แต่เด็กเหล่านี้ไม่รู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อนจมน้ำแทนที่จะยื่นกิ่งไผ่ยาวๆให้เพื่อนคว้า หรือโยนท่อพีวีซีไปให้เกาะแล้ววิ่งไปตะโกนเรียกผู้ใหญ่ กลับกระโดดลงไปช่วยเพื่อน ผลคือตายหมด นี่คือกรณีศึกษาที่เรามักเอาไปสอนเด็กๆ"

หลักสูตรการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ระยะเวลา 15 ชั่วโมง ประกอบด้วย 3 วิชาคือ ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดและพื้นฐานการว่ายน้ำ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของหลายฝ่าย เช่น สำนักควบคุมโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ชุมชน โรงเรียน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

"เราจะเข้าไปจัดการเรียนการสอนให้แก่ชุมชนที่สนใจ โดยหางบประมาณมาให้ ประสานงานเพื่อนัดวันเวลา หาสถานที่ แล้วเข้าไปเตรียมการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ติดป้ายเตือน พร้อมกับสร้างสถานีเล็กๆก่อนนำอุปกรณ์ช่วยคนจมน้ำไปติดตั้ง เช่น แกลลอนพลาสติกขนาด 5 ลิตร ถุงเชือก กิ่งไม้ยาว 3 เมตร ทั้งหมดมาจากวัสดุรีไซเคิลได้รับการบริจาคมาจากชาวบ้านในชุมชน จากนั้นก็จะมีการจัดการสอนทักษะความปลอดภัยทางน้ำ โดยฐานแรกสอนทำ CPR ช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้อง แทนวิธีอุ้มพาดบ่าเพื่อกระแทกน้ำออกจากท้อง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดๆ ฐานที่ 2 สอนให้ช่วยเหลือคนตกน้ำด้วยการตะโกน-โยน-ยื่น โดยใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ที่สถานี ฐานที่ 3 เป็นทักษะการว่ายน้ำเอาชีวิตรอด สอนลอยตัวง่ายๆโดยใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ขวดเป๊บซี่ และสอนให้ลอยตัวเปล่าโดยใช้ปอดเป็นเสื้อชูชีพ วิธีคือ ยืดอก ยกพุง ตัวไม่งอ ทำตัวสบายๆแหงนมองท้องฟ้า

ผมสอนเด็กๆมาเป็นหมื่นคนเฉพาะในโคราช สอนครูฝึกอาสาสมัครมานับพันทั่วประเทศ เป็นการไปสร้างเครือข่ายให้เขา โดยคนพวกนี้จะเข้าไปสอนตามชุมชนต่อไปเรื่อยๆ ทำมา 5 ปีพิสูจน์แล้วว่ามันได้ผล สถิติลดลงจาก 60 รายต่อปี ในปี 2555 เหลือ 40 ราย ปี 2556 32 ราย ปี 2557 23 ราย ปี 2558 เหลือ 21 ราย ขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศจากปีละ 1,500 ราย เหลือเพียง 700 ราย ถือว่าลดลงไปกว่า 50 % เราตั้งเป้าไว้ว่าจะลดลงให้เท่ากับศูนย์ให้ได้ภายในปี 2065"

ถึงเวลาแล้วที่เมืองไทยต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนว่ายน้ำให้เด็กๆสามารถเอาชีวิตรอด และช่วยเหลือผู้อื่นได้ในสถานการณ์คับขัน มากกว่าจะว่ายแค่พอเป็นเน้นท่าสวย

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

 

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย

 

ยกเครื่อง "วิชาว่ายน้ำ" ต้องเอาชีวิตรอดได้มิใช่แค่ท่าสวย