posttoday

"ปานามาเปเปอร์ส ชี้เป้าเเล้ว เราจะยิงหรือเปล่า" วรากรณ์ สามโกเศศ

20 เมษายน 2559

"ปรากฎการณ์ปานามา เปเปอร์ส เหมือนการชี้เป้าให้ทุกคนมองเห็นความเสียหาย เเต่ประเด็นสำคัญไปกว่านั้นคือ เราจะทำอย่างไรต่อไป"

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

ข้อมูลจากเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ในกรณี "ปานามา เปเปอร์ส" กลายเป็นเเฟ้มลับที่สั่นสะท้านไปทั่วทุกมุมโลก เพราะรายชื่อของผู้ถูกระบุว่าเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับการ "ฟอกเงิน-หนีภาษี" นั้น ล้วนแล้วเเต่เป็นคนดัง มหาเศรษฐี ข้าราชการระดับสูงตลอดจนนักการเมืองของแต่ละประเทศ ซึ่งครอบคลุมตัวบุคคลและบริษัทใหญ่โตกว้างขวาง ส่งผลให้รัฐบาลหลายเเห่งทั่วโลกพากันตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเส้นทางการเงินในแวดวงธุรกิจข้ามชาติขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งมีคนดังอย่างน้อย 21 ราย เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องและมีรายชื่อในบัญชีลอตมหึมาครั้งนี้

วรากรณ์ สามโกเศศ หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย เปิดห้องทำงานบนชั้น 4 ตึกอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายเรื่อง "ที่พักหลบภาษี" หรือ Tax havens พร้อมกับสะท้อนผลกระทบจากแฟ้มลับสุดอื้อฉาว "ปานามา เปเปอร์ส" ให้ฟัง

Tax Havens สวรรค์ของนักเลี่ยงภาษี

"ที่พักหลบภาษี" หรือ Tax havens กลายเป็นเรื่องปกติของเหล่านักธุรกิจ นักลงทุน นักการเมือง ตลอดจนคนดังมากมาย ที่หันไปหลบซ่อนธุรกิจในดินแดนห่างไกล โดยเฉพาะหมู่เกาะเล็กๆ เพื่อหลบเลี่ยงภาษีในประเทศของตน เพื่อความมั่งคั่งร่ำรวย ตลอดจนเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ดร.วรากรณ์ บอกว่า การจัดตั้งบริษัทขึ้นในแหล่งหลบเลี่ยงภาษีต่างประเทศ  Tax havens ในรูปแบบที่เรียกว่า shell company หรือบริษัทที่มีแต่เปลือก ไม่นับว่าขัดต่อกฎหมาย แต่แสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนโปร่งใสในที่มาของเงิน

“การหลบเลี่ยงภาษียังต่างประเทศด้วยการจัดตั้ง shell company เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มานานแล้ว เพียงแต่ว่า ขนมเค้กของโลกมันใหญ่ขึ้น มีคนพยายามเป็นหนูมารุมเทะกันมากขึ้น แผ่ขยายกว้างขวางไปยังหลายประเทศ ถึงคราวเอกสารหลุดรอดออกมาจึงพบว่ามีคนได้ประโยชน์จำนวนมาก โดยวัตถุประสงค์ซึ่งเป็นที่ยอมรับทางวิชาการของ Tax havens  มีด้วยกันหลายประการ ตัวอย่างเช่น เป็นกลยุทธ์ของบริษัทในการลงทุนทางธุรกิจซึ่งไม่อยากเปิดเผยรูปแบบดำเนินการต่อคู่แข่ง เป็นช่องทางในการใช้ประโยชน์ทางภาษีที่ทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่ถูกต้องตามศีลธรรม ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าจะเลวเสมอไป อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่เชื่อกันว่าภาษี คือแรงจูงใจใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย”

การสร้างประโยชน์ทางด้านภาษีให้กับตัวเอง โดยทั่วไปมีสองประเภทคือ Tax Avoidance ที่หมายถึงการวางแผนหรือการเลี่ยงภาษี และ  Tax Evasion หรือการหนีภาษีนั่นเอง

“แทนที่จะเสียภาษีในประเทศ ก็เลี่ยงไปเสียที่อื่น สมมุติผมได้รับผลตอบแทนจากบริษัทในประเทศไทยเยอะมาก ต้องเสียภาษีถึง 30 เปอร์เซนต์ อย่ากะนั้นเลย ตั้งอีก 5 บริษัทลูกขึ้นมาที่ปานามา และเอามันทั้ง 5 นั้นมาซื้อหุ้นบริษัทแม่ของผม เวลาจ่ายเงินปันผลให้กับทั้ง 5 บริษัท ก็ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียน้อยกว่า แล้วค่อยหาทางเอาเงินที่โน่นกลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง อาจนำเข้ามาด้วยการซื้อบ้านหลังโตๆ ซื้อที่ดิน หรือทริกที่ทำกันมากที่สุดทริกหนึ่งคือการสั่งของเข้ามาในราคาแพง ทั้งที่มูลค่าจริงไม่ได้มากขนาดนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกของเก่าที่ประเมินราคาลำบาก สั่งซื้อ 80 ล้านทั้งที่จริง 1 ล้านบาท เราซื้อขายแลกเปลี่ยนกันปกติสามารถอธิบายที่มาที่ไปของเงินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายกับคนเก็บภาษีได้”

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังรายนี้ บอกต่อว่า ด้วยผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลทางด้านภาษีทำให้ดินแดนที่เอื้อประโยชน์ต่อการตั้งบริษัทกลายเป็นสวรรค์ที่ชัดเจนสำหรับพวกชอบทำอะไรแอบซ่อน เปรียบง่ายๆ เหมือนผู้ชายจะซ่อนเงินภรรยา คงธรรมดาเกินไปหากซ่อนในหนังสือ เพื่อให้ซับซ้อนกว่านั้น ก็เอาหนังสือไปซ่อนต่อในตู้ซะเลย ความซับซ้อนในการซ่อน โดยมี shell company มารองรับ ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น และเป็นแฟชั่นที่ทั่วโลกใช้บริการ ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทย

“เสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนตั้งบริษัทไม่มากมาย เจ้าของหรือผู้บริหารไม่ต้องเป็นต้องเดินทางมาเหยียบชายหาดของหมู่เกาะ เนื่องจากสามารถจ้างตัวแทนทำงานได้ รัฐบาลประเทศผู้เอื้อประโยชน์เหล่านั้นไม่ต้องการรับทราบรายงานการประชุม ไม่สนใจว่าบริษัทจะกำไรขาดทุน  ต้องการเพียงแต่เงินตอบแทนเป็นค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่างๆเท่านั้น ความลับต่างๆ ของลูกค้า รัฐบาลประเทศเหล่านี้มักไม่ให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และมีกฎระเบียบในการรักษาความลับทางการค้าหรือข้อมูลธนาคารอย่างเข้มงวด รับประกันเต็มที่ว่าจะไม่ถูกเปิดเผยหรือแทรกแซง”

โดยสรุป Tax havens มีทั้งดีและเสีย แต่ข้อเสียนั้นน่าสงสัยว่ามากกว่าดี เชื่อว่าทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน หรืออาจเกี่ยวพันกับยาเสพติด

"ปานามาเปเปอร์ส ชี้เป้าเเล้ว เราจะยิงหรือเปล่า" วรากรณ์ สามโกเศศ

ความ(ไม่)โปร่งใสทางเศรษฐกิจ

แม้การหลบเลี่ยงภาษีไปยังต่างประเทศจะทำได้อย่างถูกกฎหมายแต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสทางธุรกิจเช่นกัน

ดร.วรากรณ์  บอกว่า ความโปร่งใสทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งต่อต่างชาติและคนในประเทศ

"ความโปร่งใสผูกโยงไปกับทุกเรื่อง อย่างเรื่องภาษี ถ้าทุกคนเสียภาษีด้วยกฎเกณฑ์เดียวกัน หมายถึงเสียด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่เสียด้วยความเจ็บใจ เราจะมีกำลังใจ มีความเชื่อมั่น ไว้ใจและกล้าในการลงทุน ไม่ใช่ทำงานอย่างเต็มที่ แต่กลับต้องมาเสียภาษีด้วยความเจ็บใจ เพราะมองไปที่คู่แข่ง เขาดันทำไม่ถูกต้อง เเม้ว่าผมเองไม่อยากทำเพราะบริษัทมีธรรมมาภิบาล แต่นานเข้าๆ ทุกคนอาจพากันทำแบบนั้นหมดก็ได้

กลับกันถ้าทุกคนเสียภาษีอย่างเสมอหน้า โปร่งใส เปิดเผย ก็จะเกิดแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน ที่สำคัญถ้าประเทศใดประเทศหนึ่ง เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส มันยังสะท้อนถึงระดับจริยธรรมของประเทศนั้นด้วย ถ้าเดินไปทิศทางที่ว่า ทำอย่างไรจะโกงรัฐบาล โกงเพื่อน โกงคู่แข่งได้วะ แบบนั้นประเทศจะเจริญได้อย่างไร"

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะไปเรียกร้องความสูญเสียทางภาษีในอดีตกลับคืนมา แต่ในอนาคตรัฐบาลจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังกับการอุดรูรั่วและช่องโหว่ที่ขาดความรัดกุม

"ถ้าต้องการให้ประเทศโปร่งใส อนาคต ต้องอุดรูรั่วให้ได้ แน่นอนน้ำที่ไหลออกไปเเล้ว คงยากที่จะตักกลับเข้ามาในถัง แต่ต่อไปนี้ต้องอุดรูรั่ว ไม่ให้น้ำไหลออกมา เมื่อไม่ไหลออก น้ำในถังก็จะเพิ่มขึ้นจากการถูกเติมเข้ามา ภาษีต้องเก็บให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่บริษัทใหญ่ จ่ายภาษีเพียงนิดเดียว แบบนี้ไม่ใช่เสรีภาพทางเศรษฐกิจแต่เป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น เชื่อว่าวันนี้รัฐบาลมีข้อมูลของทุกคนอยู่แล้ว หากนำไปประกอบกับหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่ได้รับจากต่างชาติ  การสืบค้นตรวจสอบไม่ใช่เรื่องยาก
ผมคิดว่าอนาคตหากประเทศใดปล่อยให้คนในประเทศพากันเอาเงินไปซุกซ่อน หลบเลี่ยงภาษีนอกประเทศอย่างง่ายดาย  ทั่วโลกคงขบขันให้ประเทศนั้นที่เต็มไปด้วยการเเข่งขันลงทุนที่ไม่มีความเท่าเทียม"

"ปานามาเปเปอร์ส ชี้เป้าเเล้ว เราจะยิงหรือเปล่า" วรากรณ์ สามโกเศศ

นานาประเทศต้องร่วมกดดัน

"ปานามา เปเปอร์ส นั้นแสดงให้เห็นถึงความเสียหายในโลก โดยเชื่อว่าจะกลายเป็นแรงผลักดันให้นานาชาติ กดดันประเทศ Tax havens ให้เปิดเผยข้อมูลกันมากขึ้น อย่างธนาคารสวิส ในอดีตปิดบังข้อมูลหมด จนมีพวกค้ายาเสพติดเข้าไปใช้บริการ ทำให้ต้องเปิดเผยเพิ่มมากขึ้น  ตัวอย่างรัฐบาลที่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้ ก็เช่น สหรัฐอเมริกา บารัค โอบาม่า จัดการยกเครื่องระบบจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน แก้ปัญหาบริษัทข้ามชาติและเศรษฐีชาวสหรัฐ ที่หลีกเลี่ยงภาษีจากการทำกำไรที่เกิดขึ้นนอกสหรัฐ ด้วยการใช้เขตปลอดภาษีในต่างประเทศ จนทำให้รัฐบาลสหรัฐ เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านเหรียญ"

ดร.วรากรณ์ ทิ้งท้ายว่า พฤติกรรมหลบเลี่ยงภาษีกำลังเป็นแนวโน้มที่ยากในอนาคต เนื่องจากเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะตรวจสอบ ค้นหา เเละนำมาเปิดเผย ปรากฎการณ์ปานามา เปเปอร์สเปรียบเสมือนการชี้เป้าให้ทุกคนมองเห็นความเสียหาย ทว่าประเด็นสำคัญไปกว่านั้นคือ "เราจะทำอย่างไรต่อไป"

"อนาคตการหลบเลี่ยงไม่ง่ายเเล้ว ถ้าคนในประเทศเราไม่ตรวจสอบ ฝรั่งก็ทำอยู่ดี ไม่เเน่คู่แข่งทางธุรกิจอาจจะสืบค้น ตรวจสอบ เพื่อนำมาเปิดเผยเสียเองก็ได้ คำถามสำคัญคือ เปิดเผยแล้วมีผลอย่างไรต่อไป บริษัทเล็กๆ เหล่านี้จะบีบให้ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีความโปร่งใส่มากขึ้นไหม หลังจากชี้เป้าแล้ว ปืนมันยิงหรือเปล่า แม้ทุกอย่างจะเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับคำว่าปกติ แต่อย่าปล่อยให้ความปกติผ่านไป โดยไม่ต้องสอบสวน"

โลกกำลังถามว่าถึงเวลาหรือยัง ที่การใช้ช่องว่างของกฏหมาย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเองจะต้องสิ้นสุดลงเสียที