posttoday

‘สิทธิ’ สัตว์ กับ ‘สวัสดิภาพ’ คน ปัญหาการตีความทารุณกรรม

18 เมษายน 2559

เรื่องหมากัดคน คนยิงหมา กลายเป็นข่าวครึกโครมโด่งดัง

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เรื่องหมากัดคน คนยิงหมา กลายเป็นข่าวครึกโครมโด่งดัง โดยเฉพาะกรณี พ.ต.ต.วสวัตติ์ สุขไทย สารวัตรกลุ่มงานวิจัยและประเมินผล 3 กองวิจัย สำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้อาวุธปืนยิงหมาในแฟลตลาดยาวเสียชีวิต

สารวัตรปืนโหดรายนี้อ้างว่า จำเป็นต้องป้องกันตัวเองและภรรยาที่กำลังตั้งท้องเพราะหมามารุมจะกัด จึงทำให้สังคมออกมาประณามและเรียกร้องให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ก่อนที่เจ้าตัวจะถูก รอง ผบ.ตร. นำมาแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงและเตรียมสอบสวน พร้อมเอาผิดทางวินัย

การคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ตาม พ.ร.บ.การป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เพิ่งจะบังคับใช้ได้ไม่นาน เริ่มมีการตั้งคำถาม โดยเฉพาะเรื่องการตีความว่า ที่สุดแล้วระหว่าง “สิทธิ” สัตว์ และ “สวัสดิภาพ” คน ควรมีจุดกึ่งกลางตรงที่ใด อะไรที่ทำได้ อย่างไหนทำไม่ได้ ไม่ว่าจะโดย “คน” หรือ “สัตว์”

โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ผู้มีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้เองด้วย ก็ยังเอ่ยปากยอมรับว่า กฎหมายยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ยังมีข้อบกพร่องบ้าง โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร

“กฎหมายป้องกันทารุณกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และ 2.เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายลูกหรือเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ออกมาเลยสักฉบับ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์แต่กลับยังไม่ดำเนินการ” เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ระบุ

โรเจอร์ อธิบายว่า ในเมื่อยังไม่มีกฎหมายลูกตัวนี้ก็ไม่สามารถเอาผิดกับคนเลี้ยงสัตว์ได้ ดังนั้นเมื่อใช้ตรงนี้ไม่ได้ก็ต้องใช้เรื่องการทารุณกรรมสัตว์เพียงอย่างเดียว ขณะที่กฎหมายทารุณกรรมสัตว์ก็เขียนไว้เพียงข้อเดียว กว้างๆ ห้ามไม่ให้ผู้ใดกระทำทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร เลยเกิดปัญหาตามมาอะไรคือการทารุณสัตว์

“เมื่อกฎหมายไม่ได้บอกว่า หมาจรจัดถือว่าเป็นสัตว์ได้รับความคุ้มครอง การระบายโทสะเป็นความผิดตามกฎหมาย เป็นการทารุณสัตว์ ไม่ใช่เหตุอันควร แต่คนก็คิดว่าทุกอย่างเป็นเหตุอันควรหมด มันเห่าฉัน ฉันก็เลยกลัวมันเลยฆ่ามัน มันเคยมากัดญาติพี่น้องฉัน นี่ก็เลยคิดว่าเป็นเหตุอันควร เพราะกฎหมายไม่ชัดเจน คนกระทำผิดก็มีเวลาคิดก่อนให้การตำรวจ ทุกคนก็อ้างหมดว่าเป็นเหตุอันควร ซึ่งการจะดำเนินคดีกับผู้เลี้ยงนั้น ยังไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากในส่วนนี้จะอยู่ในกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ แต่ยังไม่ได้มีการบังคับใช้” โรเจอร์ กล่าวย้ำถึงช่องว่างกฎหมาย

โรเจอร์ กล่าวว่า ทั่วกรุงเทพฯ มีสุนัขกว่า 8 แสนตัว แบ่งเป็นสุนัขจรจัดกว่า 1.2 แสนตัว สุนัขมีเจ้าของ 6 แสนตัว และ 7-8 หมื่นตัวอยู่ตามชุมชน สุดท้ายหากกฎหมายสวัสดิภาพสัตว์ไม่ออกมา ก็จะเป็นการเอาผิดคนทำร้ายสุนัขเพียงฝ่ายเดียว แต่พวกรักหมาแล้วทำผิดกฎหมายกลับทำอะไรไม่ได้

ชัยชาญ เลาหศิริปัญญา เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังไม่มีตัวกฎหมายลงโทษที่จะเอาผิดกับผู้ปล่อยปละละเลยสุนัขที่เลี้ยง แต่กลับไปเน้นที่การป้องกันทารุณกรรมสัตว์มากกว่า อย่างไรก็ตามในอนาคตจะให้มีการจดทะเบียนการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นหากนำไปปล่อยก็จะทราบทันทีว่าใครนำไปปล่อยไว้

“กรณีปัจจุบัน ถ้ามองให้ชัดว่าเป็นการป้องกันตัว กฎหมายฉบับนี้ก็สามารถนำมาอ้างได้ แต่ต้องมีเหตุผลอันควรจริง เช่น หมาหลายตัวมารุมเห่า ยังไม่ได้เข้ามากัดแต่ใช้อาวุธปืนยิง แบบนี้ถือว่าเกินกว่าเหตุ อย่างกรณีพ่อค้าข้าวมันไก่ ถือว่าทำเกินกว่าเหตุ เพราะหมาถูกล่ามโซ่ไว้แล้ว แต่กลับไปใช้มีดแทงทำร้ายมันอันนี้ผิดชัดเจน แต่หากอ้างว่าป้องกันตัวต้องเป็นตอนขณะเกิดเหตุหมากัด แบบนี้จึงถือว่าป้องกันตัว โดยกรณีพ่อค้าข้าวมันไก่เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดีหนักแน่นอน” ชัยชาญ กล่าว

เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้กับใคร แต่จะทำความเดือดร้อนสำหรับคนที่บันดาลโทสะ แล้วทำร้ายสัตว์โดยที่ไม่มีเหตุอันควร ถือว่ากฎหมายตัวนี้สามารถช่วยคุ้มครองสัตว์ได้มาก ในอนาคตคาดว่าคดีทารุณสัตว์จะค่อยๆ ลดน้อยลง และในอีก 10 ปีข้างหน้าปัญหาสุนัขจรจัดจะหมดไปอย่างแน่นอน แต่ช่วงปีแรกสุนัขจรจัดอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีคนนำมาปล่อยเพื่อเลี่ยงที่จะรับภาระเลี้ยงดู