posttoday

ก.ล.ต.หมดยุค เสือกระดาษ

15 เมษายน 2559

ก.ล.ต. ยุคที่มี “รพี สุจริตกุล” เป็นเลขาธิการสำนักงาน เฉียบคมเด็ดขาดเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านอย่างชัดเจน

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬห์

สํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยุคที่มี “รพี สุจริตกุล” เป็นเลขาธิการสำนักงาน เฉียบคมเด็ดขาด เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องการออกประกาศ กติกาการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) การเสนอขายหุ้นเฉพาะเจาะจง (พีพี) และล่าสุดการออกประกาศลงโทษทั้งส่งฟ้องและเปรียบเทียบปรับผู้ที่กระทำไม่เหมาะสมออกมาอย่างต่อเนื่อง

“ศักรินทร์ ร่วมรังษี” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งรับผิดชอบดูแลในเรื่องกฎหมาย เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการทบทวนกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทั้งนี้กฎหมายที่มีการทบทวนและแก้ไขนั้นเพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาตลาดทุนด้วย

สำหรับกฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการมีหลายเรื่อง อาทิ การนำมาตรการทางแพ่งมาใช้ดูแลและทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่มีการนำมาตรการทางแพ่งมาใช้ในการพิจารณาคดีความผิดที่เกิดขึ้นในตลาดทุน ซึ่งขณะนี้กฎหมายดังกล่าวได้ส่งไปที่กระทรวงการคลังแล้วและรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่สภา คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะออกมาได้ทันใช้ในปี 2559

“มาตรการทางแพ่งเมื่อมีผลบังคับใช้จะครอบคลุมความผิดทั้งในเรื่องการปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลภายในหาผลประโยชน์ (อินไซเดอร์) การให้ข้อมูลเท็จ และกรรมการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทำผิดต่อหน้าที่”

มาตรการทางแพ่งนั้นจะมีทั้งโทษปรับและโทษจำ คือโทษทางอาญายังมีอยู่และกำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากตลาดทุน จะถูกเรียกคืนผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการทำคดี จากเดิมที่รัฐออกค่าใช้จ่ายและยังมีมาตรการห้ามเข้ามาเป็นคนในตลาดทุน เช่น เป็นกรรมการบริหารรวมถึงห้ามเข้ามาซื้อขายในตลาดทุนด้วย

“การนำมาตรการทางแพ่งมาดูแลผู้กระทำความผิดนั้น ในโทษปรับ คนทำผิดจะเจอถึง 3 เด้ง เช่น เจอโทษปรับ 2 เท่าของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น และถูกริบผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกลับมาด้วย เช่น ได้ผลประโยชน์จากการทำผิด 100 ล้านบาท เจอโทษปรับ 2 เท่า คือ 200 ล้านบาท และเมื่อรวมกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเท่ากับว่าผู้ทำผิดจะเจอไป 300 ล้านบาท”

ทางด้านขั้นต้นการดำเนินคดี มาตรการทางแพ่งจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาลงโทษทางแพ่ง ซึ่งในคณะกรรมการชุดนี้จะมีตัวแทนจากอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงาน ก.ล.ต. หากคนทำผิดยอมรับผิด ก็จะมีการเปรียบเทียบปรับ การลงโทษถือว่าจบ คดีอาญาจบ แต่หากไม่ยอมรับผิดก็จะถูกกล่าวโทษและส่งให้ศาลแพ่งพิจารณาต่อไป คาดหวังอย่างมากว่าการนำมาตรการทางแพ่งมาใช้จะทำให้การดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจะเสร็จได้รวดเร็วมากขึ้น หรือ 1-2 ปีจบคดีได้ จากอดีตที่ใช้ทางอาญาเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะใช้เวลานานมาก เพราะต้องพิสูจน์หลักฐานไม่มีข้อสงสัย

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขเกี่ยวกับฐานความผิดการกระทำไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น ในมาตรา 238, 239, 240, 241 และ 243 โดยเฉพาะในมาตรา 238 ที่หากผู้บริหาร บจ. ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ให้ข้อมูลเท็จ ให้ข้อมูลที่มีผลต่อราคาหุ้น และให้ข้อมูลประชาชนเป็นเท็จ รวมถึงนักวิเคราะห์หากมีการคาดการณ์ในอนาคต บนข้อมูลเท็จก็จะมีความผิดและจะครอบคลุมถึง
ฟรอนต์รันนิ่ง คือ รวมถึงผู้จัดการกองทุนหรือผู้บริหาร บลจ. หากมีการซื้อขายหุ้นดักหน้า หรือนำหน้าที่ไปซื้อขายหุ้นก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย ความผิดจะพอๆ กับการปั่นหุ้น และเป็นโทษทางอาญา จากเดิมที่เป็นเรื่องของความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเท่านั้น

นอกจากนั้น นอมินี คือบุคคลที่ยอมให้คนอื่นใช้ชื่อเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นและมาใช้ในการทำผิดก็จะถือว่าผิดทางอาญาด้วย และการนำข้อมูลที่ล่วงรู้ว่าจะมีการซื้อขายหุ้นรายการขนาดใหญ่ หากมีบุคคลที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลมาหาประโยชน์ เช่น บริษัทที่ปรึกษากองทุน บล. หรือคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะถือว่าผิดกฎหมาย

ศักรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายใหม่จะเข้าไปดูแลถึงการซื้อขายที่ตั้งด้วยระบบในการตัดสินใจและมีผลกระทบต่อราคาหุ้นรุนแรง (โปรแกรมเทรด) ก็จะมีความผิดทางอาญาด้วยเพราะถือว่าสร้างความเสียหายให้กับตลาดอย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็ใช้กฎหมายนี้แล้ว

สำหรับการแก้ไขในเรื่องบทบาทหน้าที่ของกรรมการ กรณีเมื่อถูกกล่าวโทษแล้ว จะต้องห้ามเป็นบุคคลในตลาดทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและจะมีการรับฟังความคิดเห็น จากเดิมเมื่อผู้บริหาร บจ.ถูกกล่าวโทษ ถือว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม และขาดคุณสมบัติ แต่ที่ผ่านมา จะมีการแยกระหว่างผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. (ไลเซนส์) เช่นกรณีบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักลงทุน หากถูกกล่าวโทษจะไม่เหมาะสมทันที แต่ในกรณีของ บจ.ยังไม่เข้มข้นเท่าและให้อยู่ในกลไกของการยอมรับกันเองคือ ผู้ถือหุ้น หรือองค์กร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อยกระดับให้เท่ากับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตคือมีผลทันทีหากถูกสำนักงานกล่าวโทษ ก็ให้ถือว่าขาดคุณสมบัติ ด้านผู้บริหาร บจ.จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ตลาดหุ้นมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ ดังนั้นการเข้ามาเป็นผู้บริหาร บจ.จะต้องมีความรับผิดชอบที่เข้มข้นขึ้นด้วย

ตอนนี้จะเห็นการเปรียบเทียบปรับหรือการส่งฟ้องจำนวนมาก เพราะงานด้านกฎหมายและการกำกับจะขึ้นตรงกับเลขาธิการ ก.ล.ต. ดังนั้นกระบวนการต่างๆ ในเรื่องของการตัดสินใจจะรวดเร็วและเด็ดขาดมากขึ้น ประกอบกับระยะเวลาของการดำเนินการต่างๆ ที่ดำเนินการงานเสร็จสิ้นพอดี