posttoday

"ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์" ... ถึงเวลาออกแบบถนนที่ใช้ร่วมกันได้

03 เมษายน 2559

ทางออกของปัญหาห้ามจักรยานยนต์วิ่งบนสะพานข้ามแยกและอุโมงค์ทางลอด

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

หลังการประกาศห้ามไม่ให้รถจักรยานยนต์วิ่งบนสะพานข้ามทางแยกจำนวน 39 สะพาน รวมทั้งอุโมงค์ทางลอดทั่วกรุงเทพมหานคร จำนวน 6 แห่ง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและลดอุบัติเหตุ เล่นเอาบรรดาสิงห์มอเตอร์ไซค์ต่างหัวเสียกันเป็นแถว

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า กฎข้อบังคับดังกล่าวไม่เอื้อต่อสภาพการจราจรที่เป็นจริง สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวนมาก

คำถามคือ จะมีทางออกที่สามารถทำให้รถมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์ใช้ถนนร่วมกันได้หรือไม่

ความปลอดภัยต้องมาก่อน

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บชน.) เผยว่า ข้อบังคับห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด วิ่งบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก 39 แห่ง และอุโมงค์ 6 แห่งในกรุงเทพฯ อยู่ในระหว่างช่วงทดลองมีกำหนดระยะเวลา 90 วัน ก่อนจะประเมินผลอีกครั้ง

“ปัจจุบันมีปริมาณรถมากขึ้นและไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สำหรับรถที่มีความเร็วต่ำ เช่น รถจักรยานยนต์ จักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจร ทั้งยังเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตามข้อบังคับที่ออกมายังอยู่ในช่วงทดลอง 90 วัน หากใครมีข้อเสนอ ข้อมูล หรือรายละเอียดที่น่าสนใจสามารถส่งมายังสน.ท้องที่ได้”

พล.ต.ต.อดุลย์ บอกว่า งานนี้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์อาจสูญเสียความสะดวกสบายไปบ้าง แต่ความปลอดภัยนับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเพิ่งถูกองค์การอนามัยโลกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีถนนอันตรายมากที่สุดอันดับสองของโลก

“ที่ผ่านมาทราบว่า ข้อบังคับดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บางส่วน แต่เส้นทางที่เรากำหนด ผ่านการศึกษามาอย่างรอบคอบแล้วทั้ง 39 เส้นทางและ 6 อุโมงค์ทางลอด รถจักรยานยนต์มีทางออกสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นได้ อาจเสียเวลาไปติดไฟแดงบ้าง แต่สามารถลดอุบัติเหตุได้เยอะ ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ ในดีมีเสีย ในเสียมีดี ถ้าเราเอาเรื่องอุบัติเหตุเป็นที่ตั้ง ก็จำเป็นต้องสูญเสียความสะดวกสบายไปบ้าง อย่างไรก็ตาม จะประเมินอีกครั้งว่าเมื่อครบกำหนด 90 วันของการทดสอบแล้ว ผลที่ออกมาเป็นอย่างไร หากไม่ดี ไม่ประสบความสำเร็จก็พร้อมจะแก้ไข”

รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเส้นทางในอนาคตให้รถทุกประเภทสามารถใช้ร่วมกันได้ ต้องพิจารณาร่วมกันหลายฝ่าย รวมทั้งกำลังดูโมเดลประเทศอื่นๆในการจัดการจราจร เพื่อนำมาทดลองใช้ต่อไป

"ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์" ... ถึงเวลาออกแบบถนนที่ใช้ร่วมกันได้

ขอเถอะครับ! แก้กฎหมายสักที

โดม เผือกขจี ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์และผู้ก่อตั้งเพจ ขอเถอะครับ ในฐานะแกนนำรณรงค์ให้มีการแก้ไขปรับปรุงพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

"ผมขี่มอเตอร์ไซค์มาเกือบ 30 ปี เรื่องข้ามสะพานข้ามแยกและลงอุโมงค์นั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนเข้าใจว่ามันขึ้นไม่ได้ เพราะขนาดซีซีเครื่องยนต์มันต่ำ ขึ้นไปแล้วเสียวสันหลังแน่ๆ แต่ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์มีขนาดเครื่องยนต์ 100 ซีซีขึ้นไป สามารถทำความเร็วได้เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งตรงกับความเร็วที่กฏหมายกำหนดไว้ว่ารถทุกชนิดที่ขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ต้องทำความเร็วไม่เกิน 60 กม.ต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่า มอเตอร์ไซค์ต้องขึ้นสะพานหรือลงอุโมงค์ได้สิ แต่เหตุผลที่มอเตอร์ไซค์ขึ้นไม่ได้เพราะติดข้อกฎหมายข้อหนึ่งในพรบ.จราจร พ.ศ.2522 ที่ระบุว่ารถจักรยานยนต์จะต้องขับชิดขอบทางด้านซ้าย ซึ่งพอเอาเข้าจริง ขอบทางด้านซ้ายมันชิดไม่ได้ มีทั้งฝาท่อระบายน้ำ รถเมล์ รถแท็กซี่จอดแช่กันเยอะแยะเต็มไปหมด เรื่องนี้ทุกคนรู้ดี”

หนุ่มรายนี้เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวะการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

"ข้อบังคับล่าสุดไม่ได้ออกมาโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน หรือความเป็นอยู่ของประชาชน เเต่กลับมองอยู่มุมเดียวคือ ผู้ใช้รถยนต์จะได้รับความเดือดร้อน ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งที่ในเมืองใหญ่ ต่างจังหวัด เขาก็ไม่มีการห้ามขึ้นสะพาน เพราะเขามองว่า มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะหลักของประชาชนในพื้นที่ คำถามคือทำไมกรุงเทพฯ ไม่คิด ทั้งที่ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่ามีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนสะสมในกรุงเทพ ฯ กว่า 3 ล้านคัน ท่านผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะไม่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์เหล่านี้เลยเหรอครับ มากกว่านั้นภาษีที่ได้จากรถจักรยานยนต์ส่วนหนึ่งก็ถูกนำไปใช้ในการซ่อมเเซมบำรุงถนน สะพานเเละสาธารณะประโยชน์ เเต่เรากลับถูกห้ามใช้เนี่ยนะ”

โดม บอกว่า ประเทศไทยหนีการพัฒนาไม่พ้น เพียงแต่รอให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ มีความจริงใจและเต็มใจ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

“ทางออกข้อแรกคือ แก้ไขกฎหมาย อย่าบอกว่าแก้ไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังแก้กันได้เลย ข้อสอง มาร่วมกันสร้างโครงการสะพานต้นแบบหรืออุโมค์ต้นแบบที่เหมาะสมกับรถทุกขนาดล้อ รณรงค์ให้ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด และหากสะพานไหนพอปรับปรุงได้ก็ควรกำหนดช่องทางวิ่งที่ชัดเจนให้กับจักรยานยนต์ ส่วนในอนาคตแน่นอนว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจต้องร่วมกันออกแบบเส้นทางที่สร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนมากที่สุด อย่างประเทศเวียดนาม จีน หรืออื่นๆ เขามีช่องทางสำหรับจักรยานยนต์หมดแล้ว รีบพัฒนาเถอะครับ อย่าให้ต้องรอมีนายกรัฐมนตรีขับขี่จักรยานยนต์ไปทำงานเสียก่อนแล้วค่อยแก้เลย”

"ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์" ... ถึงเวลาออกแบบถนนที่ใช้ร่วมกันได้

ทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

สะพานข้ามทางร่วมทางแยก 39 แห่ง ตามข้อบังคับล่าสุด ได้แก่ 1.สะพานยกระดับข้ามแยกคอลงตัน 2.สะพานยกระดับข้ามแยกอโศกเพชร 3.สะพานข้ามแยกรามคำแหง 4.สะพานข้ามแยกประชาสงเคราะห์ 5.สะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง 6.สะพานข้ามแยตึกชัย 7.สะพานข้ามแยกราชเทวี 8.สะพานข้ามแยกประตูน้ำ 9.สะพานข้ามแยกยมราช

10.สะพานข้ามแยกกำแพงเพชร 11.สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว 12.สะพานข้ามแยกสุทธิสาร 13.สะพานข้ามแยกรัชโยธิน 14.สะพานข้ามแยกประชานุกูล 15.สะพานข้ามแยวงศ์สว่าง 16.สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน 17.สะพานยกระดับถนนสุวินทวงศ์ 18.สะพานยกระดับข้ามแยกร่มเกล้า ถนนรามคำแหง 19.สะพานยกระดับข้ามแยกลาดบัวขาว ถนนรามคำแหง 20.สะพานยกระดับข้ามแยกมีนบุรี 21.สะพานข้ามแยกสถานีบรรสินค้าไอซีดี ถนนเจ้าคุณทหาร 22.สะพานข้ามแยกลำสาลี 23.สะพานบกระดับถนนรามคำแหง 24.สะพานข้ามแยกศรีอุดม 25.สะพานข้ามแยกประเวศ 26.สะพานข้ามแยกบางกะปิ 27.สะพานไทย-เบลเยี่ยม 28.สะพานข้ามถนนนางลิ้นจี่ 29.สะพานข้ามแยกรัชดาพระราม430.สะพานภูมิพล1 31.สะพานข้ามแยคลองตัน 32สะพานข้ามแยกศิครนิทร์ 33.สะพานไทย-ญี่ปุ่น 34.สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี 35.สะพานข้ามแยกบางพลัด 36.สะพานข้ามแยกพระราม2 37.สะพานข้ามแยกตากสิน 38.สะพานข้ามแยกนิลกาจ 39.สะพานข้ามแยบางพฤกษ์

ขณะที่อุโมงค์ 6 แห่ง ได้แก่ 1.อุโมงค์วงเวียนบางเขน 2.อุโมงค์พัฒนาการ-รามคำแหง24 3.อุโมงค์ทางลอดแยกศรีอุดม 4.อุโมงค์ทางลอดแยกบรมราชชนนี 5.อุโมงค์ทางลอดแยกบางพลัด 6.อุโมงค์ทางลอกแยกท่าพระ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) อธิบายว่า การห้ามไม่ให้รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพานข้ามแยกเป็นเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากความเร็วของรถยนต์ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์เวลาขับเร็วแล้วเกิดอุบัติเหตุจะมีระบบป้องกันที่ดีกว่า ทั้งเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์ที่แทบไม่มีอะไรป้องกันเลย ยิ่งถ้าสะพานข้ามแยกมีระยะยาว ปล่อยให้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งปนกับรถยนต์จะอันตราย เพราะเมื่อถนนโล่ง รถจะวิ่งเร็วมาก

ส่วนเรื่องอุโมงค์ ตามหลักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า เวลากลางวันขณะที่เราขับรถ ม่านตาจะหรี่ลงเพื่อไม่ให้มีแสงเข้ามามากเกินไป พอลงอุโมงค์ ม่านตาจะต้องมีการปรับตัวขยายขึ้นทันที ทำให้สายตาของคนขับรถช่วงนั้นจะเบลอไปประมาณครึ่งวินาที ไม่สามารถโฟกัสวัตถุข้างหน้าได้ ประกอบกับมอเตอร์ไซค์เป็นวัตถุขนาดเล็กไม่เหมือนรถยนต์ที่มีวัตถุขนาดใหญ่ ทำให้มองเห็นไม่ชัด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านความเร็วด้วย สังเกตได้ว่าก่อนลงอุโมงค์ ถนนจะถูกออกแบบให้รถชะลอความเร็วลง เพราะไม่รู้ว่าข้างในอาจมีรถติดหรือมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหรือเปล่า"

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า จำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั้งหมด 35 ล้านคันในเมืองไทย เป็นมอเตอร์ไซค์ถึง 19 ล้านคัน ฉะนั้น รถจักรยานยนต์ ถือเป็นรถส่วนบุคคลส่วนใหญ่ในไทย  ซึ่งประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์สูง เขาจะสร้างหรือออกแบบเส้นทางเพื่อตอบโจทย์กับผู้ใช้งาน อย่างเวียดนาม ภายในอุโมงค์มีเลนเฉพาะสำหรับรถมอเตอร์ไซด์ ไต้หวันเเละมาเลเซียก็ทำเลนเพื่อมอเตอร์ไซด์เลย

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนรายนี้ เสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้

จัดการความเร็วของรถยนต์อย่างจริงจัง ตามกฎหมายอุโมงค์หรือสะพานข้ามแยกนั้นกำหนดความเร็วอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง “เมื่อถนนโล่ง คนจะขับรถเร็ว” และขับเกิน 80 หรือกระทั่ง 100 กม./ชม. โดยเฉพาะทางข้ามแยกที่มีเส้นทาค่อนข้างยาว อย่างสะพานยกระดับถนนรามคำแหงหรือรัชดา หากอยู่ในช่วงเวลากลางคืนด้วยแล้ว โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นต้องทำให้รถวิ่งอยู่ในความเร็วสัมพัทธ์ที่สามารถควบคุมหรือลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้  คือไม่เกิน 50 กม./ชม. 

ปรับเส้นจราจรใหม่ เพิ่มช่องทางให้จักรยานยนต์ เพิ่มช่องทางและติดตั้งหลักนำทางหรือไกด์โพสท์ให้กับจักรยานยนต์ แนวทางนี้ต้องประเมินดูว่าเส้นทางไหนสามารถทำได้บ้าง เพราะหลายเส้นทางไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับ

กำหนดช่วงเวลาแชร์พื้นที่จราจร ช่วงเวลากลางคืน รถยนต์มักวิ่งด้วยความเร็วสูงเนื่องจากถนนโล่ง ไม่ควรอย่างยิ่งที่รถจักรยานยนต์จะไปวิ่งร่วมด้วย ซึ่งอุบัติเหตุบนทางแยกหรืออุโมงค์ทางลอดแทบทุกครั้งเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน

“ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องทบทวนเรื่องการออกแบบถนนรองรับกับผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์ หากไม่คิดก็จะกลายเป็นผู้วิ่งไล่ตามปัญหาไปตลอด เเละภาระหนักอึ้งจะตกไปอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัย”

"ห้ามมอเตอร์ไซค์ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์" ... ถึงเวลาออกแบบถนนที่ใช้ร่วมกันได้

ควบคุมความเร็ว - ปรับปรุงเส้นทางใหม่

ผศ.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า สามารถออกแบบสะพานข้ามแยกหรืออุโมงค์ลอดให้รถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ใช้งานร่วมกันได้ แต่ต้องกำหนดเกณฑ์การใช้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว

"วิธีคือต้องกำหนดให้ใช้ความเร็วที่เหมาะสมในระดับเดียวกัน เช่น กำหนดความเร็วไว้ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วดังกล่าวถือว่าปลอดภัยสำหรับมอเตอร์ไซค์หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น พูดง่ายๆว่าไม่ทำให้ถึงตาย นอกจากนี้ต้องให้มอเตอร์ไซค์วิ่งตรงกลางร่วมกันกับรถยนต์เลย ไม่ต้องชิดขอบทางด้านซ้ายเหมือนก่อน เท่ากับว่ารถยนต์ก็ต้องเคารพรถมอเตอร์ไซค์เสมือนว่าเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่งด้วย ถ้าทำแบบนี้รถทุกประเภทก็สามารถใช้สะพานข้ามแยกร่วมกันได้ ถึงอย่างนั้น อาจใช้ได้แค่ในบางพื้นที่เท่านั้น ต้องวิเคราะห์เป็นกรณีไป เช่น หากเป็นพื้นที่ถนนยาวๆ ยากที่จะลดความเร็ว  มอเตอร์ไซค์เข้าไปปะปนก็อาจมีปัญหา ขณะที่อุโมงค์ทางลอด มีข้อจำกัดด้านการมองเห็น เพราะเวลาลงอุโมงค์สายตาจะเบลอไปช่วงสั้นๆ รถมอเตอร์ไซค์ก็เล็กมาก อีกอย่างถ้าในอุโมงค์ระบบระบายน้ำไม่ดี ก็มีความเสี่ยงทำให้มอเตอร์ไซค์ลื่นล้ม  เเต่โดยสรุปแล้ว รถมอเตอร์ไซค์สามารถใช้สะพานข้ามแยกและอุโมงค์ทางลอดร่วมกับรถยนต์ได้ ถ้าสามารถควบคุมความเร็วได้ในระดับไม่เกิน 50 กม.ต่อชม."

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบถนนชี้ว่า การปรับปรุงถนนหนทางที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับเลนมอเตอร์ไซค์นั้นทำได้เพียงแค่ลดขนาดช่องทางวิ่งของรถยนต์ลง

“มอเตอร์ไซค์ต้องการพื้นที่ขณะเคลื่อนที่ประมาณ 1.5 – 1.75 เมตร ในบ้านเราหากอยากได้เลนมอเตอร์ไซด์ หลายพื้นที่สามารถปรับปรุงได้ เพียงแค่บีบช่องทางรถยนต์ลง โดยทั่วไปมีขนาด 3.25 – 3.5 เมตร บีบลงเหลือ 3 เมตร และนำ 50 ซม.ที่เหลือแต่ละเลน มาแบ่งเป็นเลนมอเตอร์ไซค์  สมมุติมี 2 ช่องจราจร ก็เท่ากับมีพื้นที่ 7 เมตร ถ้าบีบให้เหลือแค่ ช่องละ 3 เมตร ก็จะได้เลนมอเตอร์ไซด์ ขนาด 1 เมตร แต่ปัญหาคือถนนบ้านเรามีอาคารพาณิชย์เเละเลนซ้ายสุดมักเป็นที่จอดรถ ทำให้ในเขตเมืองไม่สามารถสร้างเลนมอเตอร์ไซค์ได้ ส่วนพื้นที่ในอุโมงค์ส่วนใหญ่เราทำช่องทางจราจรแคบเพียงช่องละ 3 เมตร สองช่องรวมกันก็แค่ 6 เมตร ไม่มีพื้นที่พอจะบีบเพื่อแบ่งให้กับมอเตอร์ไซค์ นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่อยากให้มอเตอร์ไซค์ ลงไปวิ่งในอุโมงค์ ส่วนสะพานข้ามแยกนั้นต้องดูเป็นแต่กรณีว่าสะพานใด มีขนาดช่องทางเพียงพอ

อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สรุปว่า ถ้าควบคุมความเร็วได้ในระดับ 50 กม.ต่อชม. รถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ก็สามารถวิ่งร่วมกันได้ในทุกๆ พื้นที่ การหาทางออกร่วมกัน ณ ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงให้ชัดเจนก่อนว่าทำไม สะพานนี้วิ่งได้ เหตุใดอันนี้วิ่งไม่ได้ หากอ้างเรื่องความเป็นระเบียบ ปัญหาจราจร เเละความปลอดภัยที่รถมอเตอร์ไซค์ชอบขับซิกเเซก เจ้าหน้าที่ก็ต้องทำทางให้กับผู้ขับขี่ ไม่ใช่ไล่ให้พวกเขาขับอ้อมไปไกลๆ หรือโยนภาระด้านอื่นให้

ปัญหาจราจรนับเป็นปัญหาคลาสสิค การแก้ปัญหาจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่ทางออกที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับจากคนในสังคม.