posttoday

เปิดบทเฉพาะกาล ปูทางแม่น้ำ5สายอยู่ยาว

30 มีนาคม 2559

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งสิ้น 279 มาตรา ไฮไลต์สำคัญและเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย คือ บทเฉพาะกาล

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ที่จะนำไปสู่การประชามติโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ตามขั้นตอนต่อจากนี้ กรธ.จะส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

หากเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่กระบวนการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ แต่ถ้าไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศแล้วว่าจะมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งสิ้น 279 มาตรา จากเดิมที่มี 270 มาตรา ไฮไลต์สำคัญและเป็นที่จับตาของหลายฝ่าย คือ บทเฉพาะกาล เพราะเป็นบทบัญญัติที่กำหนดการดำรงอยู่ของแต่ละองค์กร และการกำหนดวันเลือกตั้ง สส. และการได้มาซึ่ง สว. ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้

ในเรื่องการคงอยู่ของแต่ละองค์กร ทั้ง สนช. ครม. คสช. สปท. และ กรธ. ปรากฏว่า กรธ.ได้บัญญัติเรียงตามลำดับดังนี้

มาตรา 263 ให้ สนช.ทำหน้าที่ สส.และ สว.ต่อไปจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ส่วน ครม.ในมาตรา 264 กำหนดว่า ครม.ชุดปัจจุบันจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกระทั่งมี ครม.ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารับหน้าที่ ขณะที่ คสช.ถูกกำหนดสถานะไว้ในมาตรา 265 ซึ่งมีบทบัญญัติ คือ ให้อยู่ต่อไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ แต่ คสช.จะยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ตามปกติ ซึ่งหมายความว่าหัวหน้า คสช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ 

“ให้ คสช.ที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้า คสช. และ คสช.ยังคงมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของหัวหน้า คสช. และ คสช.มีผลใช้บังคับได้ต่อไป” เนื้อหาของ มาตรา 265

ส่วนสถานะของ สปท.จากเดิมที่ กรธ.กำหนดให้มีอายุอีก 1 ปี แต่ในมาตรา 266 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนให้ สปท.อยู่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 259 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องทำให้เสร็จภายใน 120 วัน

“ให้ สปท.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปพลางก่อนเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่ตราขึ้นตามมาตรา 259” เนื้อหาของมาตรา 266

อย่างไรก็ตาม กำหนดให้ สนช. สปท. ครม. หากต้องการลงสมัคร สส.ต้องลาออกภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่ถ้าต้องการสมัคร สว.ไม่จำเป็นต้องลาออกตามเงื่อนไขดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วน คสช.สามารถเป็น สว.ได้โดยไม่ต้องลาออก 

ด้าน กรธ.จะอยู่ทำหน้าที่เพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ จากเดิม 11 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 240 วัน (8 เดือน) ตามมาตรา 267 ประกอบด้วย 1.การเลือกตั้ง สส. 2.การได้มาซึ่ง สว. 3.กกต. 4.พรรคการเมือง 5.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 6.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 7.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 8.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 9.การตรวจเงินแผ่นดิน และ 10.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเมื่อ สนช.ได้พิจารณากฎหมายดังกล่าวเสร็จแล้ว กรธ.จะพ้นจากตำแหน่งทันที และไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปีนับแต่วันที่พ้นตำแหน่ง เพื่อไม่ให้เกิดการมีส่วนได้ส่วนเสีย

ที่สำคัญ หากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. การได้มาซึ่ง สว. กกต. และพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ จะต้องมีการเลือกตั้ง สส.ภายใน 150 วัน ซึ่งใน กรธ.มีการคำนวณว่าการเลือกตั้ง สส. น่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2560

ขณะที่ วุฒิสภา ในบทเฉพาะกาลมาตรา 269 นั้น ทาง กรธ.ยังคงยืนยันในหลักการเดิม ไม่ว่าจะเป็นการให้มี สว.จากการสรรหาจำนวน 250 คน มีวาระ 5 ปี แบ่งเป็น

1.สว.จำนวน 194 คน ที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาที่ คสช.ตั้งขึ้น

2.สว.ที่มาจากการเลือกกันตามสาขาวิชาชีพ 20 ด้าน จำนวน 50 คน

3.สว.โดยตำแหน่งจำนวน 6 คน  ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งหมด คสช.จะต้องดำเนินการให้มี สว.ให้เสร็จภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง สส.

สำหรับหน้าที่ของวุฒิสภาชุดพิเศษนี้ นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่กลั่นกรองและแต่งตั้งบุคคลตามปกติแล้ว ยังมีอำนาจในการติดตามการปฏิรูปประเทศด้วย ซึ่งมาตรา 270 ระบุว่า “นอกจากจะมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้วุฒิสภาตามมาตรา 269 มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการนี้ให้ ครม.แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาเพื่อทราบทุกสามเดือน”

ขณะเดียวกัน บทเฉพาะกาลยังได้บัญญัติถึงการทำหน้าที่ของ อัยการ ด้วย โดยมาตรา 277 ระบุว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 248 วรรคสี่ ห้ามมิให้พนักงานอัยการดํารงตําแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐในทํานองเดียวกัน หรือดํารงตําแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัทหรือกิจการอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์มุ่งหาผลกําไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นที่ปรึกษาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน”

ที่สุดแล้ว กรธ.ยังคงบัญญัติถึงการรับรองการกระทำต่างๆ ที่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ของ คสช.ไว้ในมาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของร่างรัฐธรรมนูญ