posttoday

ส่องข้อกฎหมายคดีเบนซ์ซิ่งชนฟอร์ด "ไม่ยอมตรวจแอลกอฮอล์ = เมาแล้วขับ"

17 มีนาคม 2559

ทนายเกิดผล แก้วเกิด ไขข้อข้องใจ อุบัติเหตุรถชน ไม่ตรวจแอลกอฮอล์ได้หรือไม่

ทนายเกิดผล แก้วเกิด ไขข้อข้องใจ  อุบัติเหตุรถชน ไม่ตรวจแอลกอฮอล์ได้หรือไม่

เหตุการณ์รถเบนซ์ซิ่งชนรถเก๋งฟอร์ด กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในหน้าสื่อ...

สังคมตั้งคำถามดังสนั่น ถึงการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบคดีในการตรวจสอบผู้ขับขี่รถเบนซ์ว่ามีแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ได้ประสานไปทางโรงพยาบาลแล้ว แต่คนขับรถเบนซ์ปฎิเสธไม่ให้เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างเลือด

"เหตุใด จึงไม่มีการเจาะเลือดผู้ขับขี่ เพื่อตรวจแอลกอฮอล์?" นี่คือคำถามที่สังคมต้องการคำตอบ

เกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระผู้อาสาช่วยคลายปัญหาให้ชาวบ้าน ให้ความเห็นว่า  กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิตามกฎหมายที่จะทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้

การปฎิเสธการตรวจค่าแอลกอฮอล์ พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 142 บัญญัติชัดเจนอยู่แล้วว่า ถ้าผู้ขับขี่ปฎิเสธไม่ยอมให้พิสูจน์ กฎหมายก็ให้ถือว่าผู้ขับขี่ มีแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกฎหมายกำหนด จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 10,000- 20,000 บาท และ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พร้อมกันนั้น ในวรรคสาม ยังให้อำนาจตำรวจในการกักตัวไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าผู้ต้องสงสัยจะยอมให้ตรวจสารเสพติดได้

"ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ตรวจสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ตรวจการมีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ เพื่อดำเนินการตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การตรวจสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมรับการตรวจสอบแล้ว หากผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฏว่าไม่ได้เสพ ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที"

ทนายเกิดผล บอกว่า โดยสรุปถ้าคุณขับรถชนคนอื่น  หากถูกร้องขอให้ตรวจแอลกอฮอล์  คุณสามารถปฎิเสธได้ แต่กฎหมาย พรบ.จราจรทางบก มาตรา 142 บอกว่า ถ้าปฎิเสธ ให้เจ้าหน้าที่ถือว่า คุณมีแอลกอฮอล์ ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 ก็ให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจ ตรวจเลือดของผู้ต้องหาได้ ในกรณีมีอัตราโทษจำคุก อย่างสูง ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ในกรณีล่าสุด เหตุการ์รถเบนซ์ชนรถฟอร์ด คดีนี้เป็น ความผิดฐานประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปี  ตำรวจย่อมมีอำนาจ ตามมาตรา 131/1 อยู่แล้ว

"ไม่เห็นต้องรอให้ผู้ต้องหาให้ความยินยอมใดๆ ถ้าไม่ยอมให้ตรวจ ก็สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า บทพิสูจน์ตรงนั้นเป็นโทษแก่เขาเอง คุณไม่ยอมถือว่าคุณผิด ถ้าผู้ขับขี่อ้างว่าบาดเจ็บ ก็ไม่ใช่ปัญหา สามารถไปโรงพยาบาลแล้ว รักษาตัวและตรวจเลือดหาผลแอลกอฮอล์ได้อยู่ดี ฉะนั้นถ้าเหตุการณ์เข้าข่ายกฎหมายที่ผมพูดไปนั้น พนักงานสอบสวนพูดไม่ได้ว่า ตรวจเลือดไม่ได้..เขาไม่ให้ตรวจ เพราะคุณมีอำนาจ และถ้าเขาไม่ให้ตรวจจริงๆ ตำรวจอาจเอาผิดฐานขัดขืนเจ้าพนักงานได้ด้วยซ้ำ"ทนายเกิดผล  กล่าว

ทั้งนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 ฉบับเต็ม ระบุว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ทั้ง จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม

หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือผู้ต้องหาหรือ ผู้เสียหายกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดย ไม่มีเหตุอันสมควร ให้ สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้นแล้วแต่กรณี

กฎหมายในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังถูกสังคมจับตาและตั้งคำถามจากเหตุการณ์นี้