posttoday

โลกเปลี่ยนไป สินค้าไทยโดนก๊อบปี้

13 มีนาคม 2559

ปัญหาที่ผู้ประกอบการรายเล็กและกลางเผชิญคืองบประมาณการจดสิทธิบัตรในแต่ละประเทศ ส่งผลให้สินค้าไทยถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์

ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีเรื่องไหนฮือฮาเท่าคอลเลกชั่น กระเป๋าประจำฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว ของ บาเลนเซียกา (Balenciaga) แบรนด์สินค้าหรูของสเปน ที่แฟชั่นในซีซั่นนี้มีความคล้ายคลึงกับถุงกระสอบสีรุ้ง ที่พ่อค้าแม่ขายบ้านเราใช้บรรจุสินค้าไปขายตามตลาดนัดต่างๆ

กระเป๋าสีรุ้งนี้ยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มาช็อปปิ้งในประเทศไทยนิยมซื้อใส่ของหิ้วขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน เพราะมีน้ำหนักเบา ราคาถูก จุของได้มาก และทนทาน

เมื่อเห็นนางแบบสะพายกระเป๋าใบใหญ่สีรุ้งบนแคตวอล์ก ทำให้คนไทยทั้งหลายเกิดความสงสัยว่า บาเลนเซียกาก๊อบปี้กระเป๋ากระสอบของไทย และละเมิดลิขสิทธิ์ของไทยหรือไม่ หรือในทางกลับกัน ถ้ามีคนหิ้วกระเป๋าสีรุ้งของไทยไปยุโรป จะถือว่าทำผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ของกระเป๋าบาเลนเซียกาหรือไม่

นันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตอบชัดๆ แล้วว่า ไม่ เนื่องจากไม่ใช่เป็นการลอกเลียน เพราะหากมีเจตนาลอกเลียนจะต้องทำให้รูปแบบเหมือนกระเป๋าบาเลนเซียกา ทั้งวัสดุ รูปแบบ ลวดลายสีสัน และมีเครื่องหมายการค้าที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นกระเป๋าบาเลนเซียกา

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตกระเป๋าของไทยจะร้องเรียนว่า บาเลนเซียกาลอกเลียนแบบก็ไม่ได้ เพราะลักษณะสินค้าไม่ได้ใกล้เคียงกัน วัสดุก็แตกต่าง กระเป๋าถุงใส่ของรูปทรงคล้ายกล่องสี่เหลี่ยม ต่างจากกระเป๋าของบาเลนเซียกาชัดเจน อีกทั้งกระเป๋ากระสอบยังมีวางจำหน่ายและใช้กันอย่างแพร่หลายมานานแล้วในหลายๆ ประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในไทยเท่านั้น

กรณีนี้แค่สินค้าที่เข้าข่ายคล้ายคลึงในรูปแบบ ดีไซเนอร์คนละมุมโลกอาจมีแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานออกมาคล้ายกันได้ แต่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการคล้ายคลึงกันจนชวนให้คิดว่าใครก๊อบปี้ใคร จึงจำเป็นต้องรู้ว่านิยามของสินค้าเลียนแบบ และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น แตกต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างระหว่าง “สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์” และ “สินค้าเลียนแบบ” สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หรือที่ผู้บริโภคทั่วไปเรียกว่า “สินค้าเถื่อน” หรือ  “Pirated Goods” ส่วนสินค้าเลียนแบบ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสินค้าก๊อบปี้นั้น ตรงกับคำว่า “Counterfeit Goods”

สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ หมายถึง สินค้าที่มีการทำซ้ำ คัดลอก ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์บันทึกเสียง บันทึกภาพหรือบันทึกภาพและเสียงจากต้นฉบับโดยไม่ได้รับอนุญาตทางกฎหมาย ทำซ้ำเนื้อหาของสื่อต่างๆ เช่น ซอฟต์แวร์แผ่นซีดี ฟิล์มดีวีดี รวมถึงการบันทึกเพลงและภาพยนตร์

ส่วนสินค้าเลียนแบบ จะเป็นสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งแตกต่างออกไปในรูปแบบอื่น อาทิ การลอกเลียนแบบกระเป๋า เสื้อผ้าหรือนาฬิกาจากตราสินค้าชื่อดัง สินค้าเลียนแบบจึงหมายถึง สินค้าที่ผลิตขึ้นเพื่อพยายามลอกเลียนแบบหรือจงใจปลอมแปลงอย่างผิดกฎหมายให้มีคุณลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนกับสินค้าของแท้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตัวอย่างสินค้าเลียนแบบที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงคือสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย ประเภทกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า น้ำหอม แว่นตา เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เป็นต้น

ประเทศไทยถูกสหรัฐขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่จะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญามานานนับทศวรรษ แต่ปัจจุบันสินค้าเมดอินไทยแลนด์ก็เริ่มถูกละเมิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจกระทิงแดง ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง กล่าวว่า ประเทศไทยไม่เหมือนในอดีตแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก คำว่า Made in Thailand ได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าดีมีคุณภาพด้วยซ้ำ การที่สินค้ากระเป๋าสายรุ้งถูกลอกเลียนแบบ น่าฉกฉวยโอกาสเร่งสร้างแบรนด์ไทยแลนด์ให้มีความเข้มแข็ง เพราะสินค้าไทยยังมีโอกาสอีกมาก

จากประสบการณ์การทำธุรกิจ พบว่าในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นมือปืนหรือรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ดังๆ และขาดการสร้างแบรนด์ของตัวเอง และปัญหาที่ผู้ประกอบการรายเล็กและขนาดกลางเผชิญคืองบประมาณการเข้าไปจดสิทธิบัตรในแต่ละประเทศ ซึ่งทั้งสองปัจจัยส่งผลให้สินค้าไทยถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มและอาหาร รวมไปถึงสินค้าแฟชั่น ในส่วนนี้รัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในด้านค่าใช้จ่ายการจดสิทธิบัตร

อีกตัวอย่างคือ รองเท้าแตะหูหนีบยี่ห้อนันยางตราช้างดาว รองเท้ายางพารา 100% พื้นรองเท้าสีขาว แต่หูรองเท้าหลากสี คู่ละ 99 บาท เกิดไปสะดุดตาดาราฮอลลีวู้ดอย่าง “เทย์เลอร์ มอมเซน” หรือ “เจนนี ลิตเติล เจ” แห่งกอสซิปเกิร์ล ถึงขนาดซื้อจากเมืองไทยแล้วหอบหิ้วไปใส่ที่สหรัฐให้เป็นที่ฮือฮาเมื่อหลายปีก่อน

วันนี้ไนกี้ แบรนด์รองเท้ากีฬาชื่อดังสัญชาติอเมริกันได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นรองเท้าแตะ พื้นสีขาว หูคีบสีน้ำเงิน และมีสัญลักษณ์ไนกี้อยู่ที่พื้นด้านล่างรองเท้า ชื่อรุ่น Nike Solarsoft Thong รูปแบบรองเท้าเหมือนนันยางตราช้างดาวเปี๊ยบ แต่ต่างกันตรงพื้นรองเท้าของไนกี้ผลิตจากโฟม EVA หรือ Solarsoft ไม่ใช่ยางพารา 100% และขายในราคาคู่ละ 900 บาท

ปิยะ ซอโสตถิกุล กรรมการบริหารซีคอน กรุ๊ป ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “ซอโสตถิกุล” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานรองเท้านันยาง ได้โพสต์ภาพรองเท้าแตะไนกี้ที่มีรูปลักษณ์เหมือนช้างดาวราวกับแกะ ผิดกันตรงที่มีเครื่องหมายถูก ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของไนกี้ ตามด้วยคำคมของ ชาร์ลส์ คาเลบ โคลตัน ว่า Imitation is the Sincerest form of flattery ซึ่งแปลความได้ว่า การเลียนแบบเป็นรูปแบบที่จริงใจ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รองเท้าแตะช้างดาวถูกลอกเลียนแบบ แต่เป็นครั้งแรกที่รูปแบบช้างดาวถูกเลียนแบบโดยแบรนด์ดัง รองเท้านันยาง ช้างดาว ถูกลอกเลียนแบบมานานหลายสิบปีแล้วจากคู่แข่งในประเทศกว่า 10 แบรนด์ ลอกเลียนแบบและขายในราคาถูกกว่า แต่ไม่เคยมียี่ห้อใดโค่นรองเท้ายี่ห้อนี้ได้ เพราะคุณภาพของรองเท้าที่ผลิตจากยางพารา 100% จึงมีความทนทานมาก

แม้ว่าสไตล์ของรองเท้านี้จะเตะตาฝรั่งมังค่าเพียงใด แต่สำหรับ “ซอโสตถิกุล” เจ้าของสินค้านี้ กลับมองว่าในระยะเริ่มต้นรองเท้าแตะช้างดาวยังจะเป็นสินค้าสำหรับชนชั้นกลางและชั้นล่างแถบอาเซียน

ด้าน อาคม พลานุเวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลโบ ฟู้ดส์ ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอาหารตรา “โลโบ” กล่าวว่า ปัญหาสินค้าถูกก๊อบปี้ที่ยังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องปกติของแบรนด์สินค้าที่ได้รับความนิยม ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองก็ยังมีการก๊อบปี้สินค้าไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา หรือซีอิ๊ว

อย่างไรก็ดี หากให้มองการก๊อบปี้ที่เป็นในส่วนของกลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารถือว่าพบน้อยมาก แต่บริษัทเคยไปเจอสินค้าที่ก๊อบปี้แบรนด์ โลโบ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งถือว่าเป็นตลาดส่งออกที่ดีของบริษัทอีกตลาดหนึ่ง เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ หลังจากเจอสินค้าก๊อบปี้แบรนด์ของบริษัทก็รู้สึกแปลกใจเล็กน้อย เนื่องจากแบรนด์สินค้าของโลโบ บริษัทมีการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าถูกต้องตามกฎหมายของประเทศเวียดนาม แต่สินค้ากลับถูกก๊อบปี้ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทเข้าใจว่าการเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศอย่างไรก็เสียเปรียบคู่แข่งในประเทศนั้น เนื่องจากเจ้าของประเทศเลือกที่จะคุ้มครองธุรกิจและคนของประเทศมากกว่าแบรนด์สินค้าและนักธุรกิจต่างประเทศที่เข้าไปทำตลาด

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกว่าสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายในลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม และได้รับความนิยม จะมีสินค้าผลิตจากจีนใช้กลยุทธ์แย่งตลาดโดยติดฉลากภาษาไทยและปลอมเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ติดบนตัวสินค้าเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจว่าเป็นสินค้าจากไทย เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพและกำหนดราคาขายได้สูงกว่าสินค้าจีน สินค้าที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่มเซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า ของชำร่วย ของเด็กเล่น และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น และวิตกว่าหากยังไม่แก้ไขและทำความเข้าใจจะทำให้สินค้าที่ผลิตจากไทยเสียภาพพจน์และเสียตลาดในระยะยาว

โลกเปลี่ยนไป สินค้าไทยโดนก๊อบปี้

รัฐเร่งแก้ ทั้งรับและรุก

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ สถานการณ์การละเมิดเครื่องหมายการค้าไทยในต่างประเทศที่ผ่านมา สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คือการถูกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ถูกปลอมเครื่องหมายการค้า และบุคคลอื่นนำเครื่องหมายการค้าของตนไปจดทะเบียนในต่างประเทศ ประเภทสินค้า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภท อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง

ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลังประมาณ 10 ปี มีจำนวนที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับแจ้งทั้งสิ้น 34 กรณี คาดว่าจำนวนผู้ประกอบการที่ถูกละเมิดฯ ในต่างประเทศน่าจะมีมากกว่านี้แต่ไม่ได้แจ้งข้อมูลมายังกรม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวในแง่ความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าคนไทยไม่สามารถใช้เครื่องหมายการค้าของตนในตลาดต่างประเทศที่มีผู้อื่นนำไปจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วได้ ขณะเดียวกันต้องทำตลาดโดยใช้เครื่องหมายการค้าใหม่หรือต้องไปซื้อเครื่องหมายการค้าคืน

สำหรับประเทศที่พบปัญหารุนแรงที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากเป็นเขตเศรษฐกิจที่สินค้าของไทยมีชื่อเสียงอย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับผู้บริโภค โดยลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเกิดจากการร่วมทุนกับคู่ค้าระหว่างประเทศ และไม่มีการทำสัญญาในประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างชัดเจน จึงทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำทรัพย์สินทางปัญญาไปจดทะเบียนหรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเกินจากที่ตกลงไว้ในตอนแรก และเป็นเหตุให้มีกรณีพิพาทระหว่างกันในภายหลัง

นันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดเครื่องหมายการค้าส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทำให้สูญเสียโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ ขณะเดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในการซื้อสินค้าหรือขาดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า สูญเสียค่าใช้จ่ายและเวลากรณีมีการฟ้องร้องดำเนินคดี

สำหรับแนวทางช่วยเหลือของกรม ในเชิงรุก กรมทำหน้าที่ให้คำแนะนำและส่งเสริมการให้ความรู้ผู้ประกอบการในการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปจดทะเบียนในประเทศต่างๆ โดยเน้นให้ผู้ประกอบการทราบและเตรียมตัวก่อนที่จะเกิดปัญหา โดยช่วงที่ผ่านมา กรมมีการจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการเรื่อง “บุกตลาดอาเซียนและจีนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” จำนวน 4 ครั้ง โดยได้ดำเนินการแล้ว 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 ม.ค. 2559 ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ

การแก้ปัญหาในเชิงรับ หากเกิดปัญหาถูกละเมิดในต่างประเทศแล้วนั้น เนื่องจากกรมมีความร่วมมือกับหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศในหลายประเทศ และมีสำนักหรือหน่วยงานที่ดูเรื่องความร่วมมือต่างประเทศอยู่ ผู้ประกอบการไทยก็สามารถมาขอคำปรึกษาได้

นอกจากนี้ ระบบจดทะเบียนตามภาคีพิธีสารมาดริด จะทำให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศต่างๆ

ปัจจุบันภาคีพิธีสารมาดริดมีสมาชิก 97 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน ออสเตรเลีย และประเทศอาเซียนที่เป็นภาคี คือ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และในเดือน มี.ค. 2559 จะมีผลกับสปป.ลาว ขณะนี้อาเซียนอีก 5 ประเทศที่เหลือ รวมทั้งไทยอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารมาดริด โดยในส่วนของไทยคาดว่าจะเข้าเป็นภาคีได้ประมาณเดือน ต.ค. 2559 นี้

“ระหว่างที่รอการเข้าสู่พิธีสารมาดริด ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศที่ตนวางแผนจะไปขยายตลาด เพื่อป้องกันการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในภายหลัง” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวทิ้งท้าย