posttoday

ร่างรัฐธรรมนูญน่าห่วง ไม่ตอบโจทย์ปฏิรูป

11 มีนาคม 2559

ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยที่คนไทยอยากเห็น”

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทยที่คนไทยอยากเห็น” ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะสังคมศาสตร์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กลไกสำคัญของการปฏิรูปคือรัฐบาล แต่ต้องยอมรับรัฐบาลนี้จะอยู่ไปเกือบ 4 ปี ถ้าเป็นไปตามโรดแมป ซึ่งในเวลานี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และดำเนินการทันที โดยต้องทำอย่างน้อย 3 ข้อ

1.ในฐานะมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน 2.อะไรสวนทางกับการปฏิรูปรัฐบาลต้องไม่ทำ เนื่องจากจะสร้างความสับสน และ 3.รัฐบาลควรเร่งทำและให้ความสำคัญกับสิ่งที่คิดว่า ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งทำได้ยาก แต่ทำในรัฐบาลพิเศษ เช่น ปฏิรูปตำรวจ

“การปฏิรูปประเทศที่สำคัญที่สุดที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างคนให้มีคุณภาพ จะได้การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่ดีตามมา เพราะจะใช้ดุลยพินิจในการเลือกคนมาใช้อำนาจรัฐแทน และถ้าได้คนมีคุณภาพ ก็จะไม่เห็นด้วยหรือเห็นชอบกับการทุจริต หรือมีทัศนคติ โกงไม่เป็นไร”

ส่วนการเสนอชื่อ 3 นายกฯ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการเปิดทางให้คนนอกเข้ามา ดังนั้นต้องมาชั่งกันว่าควรหรือไม่ เพราะการเมืองอาจเกิดวิกฤตได้ ส่วนบัตรเลือกตั้งใบเดียวเป็นระบบไม่สะท้อนความต้องการแท้จริงของประชาชน และอาจจูงใจให้เกิดการซื้อเสียง

นอกจากนี้ การห้ามสมาชิกพรรคการเมืองสมัคร สว. หรือต้องพ้นสมาชิก 10 ปี แต่ในระบบประชาธิปไตย กลไกสำคัญ คือ ประชาชนสามารถตั้งพรรคการเมืองได้ สังคมพัฒนาแล้วผลักดันให้ทุกคนเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และที่น่าเป็นห่วง คือ บทเฉพาะกาล รวมถึงการมีเงื่อนไขแก้รัฐธรรมนูญยากขึ้น

“การกำหนดที่มา สว.จากระบบเดิมเลือกไขว้กัน แต่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า สว.เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมดำเนินการทางการเมืองให้เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ คิดว่ามีขึ้นเพื่อควบคุมทิศทางประเทศให้เป็นตามเวลากำหนด อย่างไรก็ตามต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและชั่งน้ำหนักว่าจะเป็นต้องเป็นอย่างไร เพราะวันหนึ่งรัฐธรรมนูญเขียนออกมามีข้อสรุปอย่างไร ก็ต้องเดินหน้าทำประชามติ”

ขณะที่ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ขยายความว่า สำหรับประเทศไทยมีปัญหาหลายด้านต้องปฏิรูป เพื่อทำให้ประเทศมีขีดความสามารถแข่งขัน ลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ อีกทั้งประเทศไทยกำลังเป็นสังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าหลายประเทศทั้งในยุโรปและประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากนี้ ต้องปฏิรูประบบยุติธรรม การศึกษา เพราะหลายเรื่องอยู่ท้ายๆ ของการจัดอันดับ เสียงเรียกร้องการปฏิรูปเกิดขึ้นมาก่อนรัฐประหาร โดย สปช.-สปท.ได้ดำเนินการเสนอความเห็นไปยังรัฐบาล แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นความคืบหน้าการปฏิรูปชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น พลังงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญ

ขณะเดียวกัน การปฏิรูปตำรวจซึ่งผู้เสนอเรื่องนี้กลับเพิ่งมาบอกวิธีว่าต้องทำอย่างไร และกฎหมายบางอย่างยังไม่ไปไหน แม้กระทั่งเรื่องปฏิรูปวงการสงฆ์ ไม่ปรากฏชัดว่าผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะปฏิรูปอย่างไร รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ปัจจุบันย้ายกันยกโขยง ซึ่งทำโดยอำนาจพิเศษ

“แผนกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก โดยเขียนโยงกับรัฐธรรมนูญ สว.มาจากการแต่งตั้ง หรือรัฐธรรมนูญแก้ไม่ได้หรือยากมาก ซึ่งปัจจุบันการปฏิรูปต้องให้ประชาชนกำหนดเอง แต่ควรทำให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในอนาคต”

ส่วนตัวเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.​จะนำประเทศไปสู่การรัฐประหารอีกรอบ ทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก รวมถึงลดบทบาทประชาชนในการตรวจสอบการบริหารราชการด้านต่างๆ และในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปัญหาวิกฤตประเทศ แม้จะเพิ่มเติมองค์ประกอบหลายฝ่าย แต่หัวใจหลักคือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ดังนั้นกระบวนการนี้เอื้อให้เกิดวิกฤตในประเทศ และให้องค์กรอิสระล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ง่าย

สำหรับประเด็นที่มา สว.โดยท่าทีของมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่ายังไม่เห็นเอกสารเรื่องนี้จึงไม่ชี้แจง และกลายเป็นความอึมครึมในสังคม ทำให้การเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นขั้นตอนวัดใจ กรธ. ว่าจะกล้าไม่ทำตาม คสช.​ในเรื่องที่เห็นว่าไม่ควรทำตามหรือไม่ แม้จะออกตัวว่าไม่เห็นรายละเอียด แต่กลับมีการพูดคุยกันแล้ว

รวมถึงเป็นขั้นตอนวัดใจ คสช.​ต่อความต้องการอำนาจ สว.ที่จะยืนยันรายละเอียดอะไรไปยัง กรธ. และสุดท้ายเป็นขั้นตอนวัดใจของประชาชน ว่าจะโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้การรณรงค์ประชามติต้องเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นได้ โดยอย่าใช้ข้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญกับผู้ที่เห็นต่าง

ด้าน วันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า ก่อนเกิดการรัฐประหาร ประชาชนเรียกร้องให้ประเทศต้องได้รับการปฏิรูป คือ ตำรวจ การเมือง ทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกระดับ และการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรวมทั้งหมด 11 ด้าน โดยเสนอไปยังรัฐบาล 37 วาระ

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญนี้ใช้ยาแรง ไม่ให้คนที่ซื้อสิทธิขายเสียงหรือมีคดีทุจริตเข้าสู่วงการการเมืองตลอดชีวิต ขณะที่การปราบปรามคอร์รัปชั่นได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น โดยมีกรอบเวลาทำงานชัดเจน ส่วนการปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งสุจริตโปร่งใสมากที่สุด

ส่วนการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ สปท.​คณะหนึ่งศึกษาและคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมเร็วๆ นี้ คือ การควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมไว้ด้วยกัน

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นว่า ขอตั้งฉายาให้กับร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. เป็นฉบับทุนขุนนาง เพราะสร้างให้รัฐเป็นใหญ่ ซึ่งสวนทางกับสังคมโลกที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน​เพื่อสร้างดุลยภาพและตรวจสอบ

ทั้งนี้ น่ากังวลว่าหากร่างรัฐธรรมนูญให้ข้าราชการเป็นใหญ่ เสี่ยงต่อการเข้าครอบงำของกลุ่มทุนได้ แม้ประเด็นนี้จะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ทำไมร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดช่องว่าง แทนที่จะสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและการบริหารแบบมีดุลยภาพ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างอยู่นี้ไม่เคยแตะต้องกลุ่มทุนผูกขาดเลย แม้จะให้ชื่อว่าเป็นฉบับปราบโกงก็ตาม