posttoday

"ฟินเทค" พลิกโฉมบริการการเงิน

28 กุมภาพันธ์ 2559

อีกไม่นาน “ฟินเทค” หรือ ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้น

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

นาทีนี้เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคนเรียบร้อยแล้ว ในหลากหลายรูปแบบ และอีกไม่นาน “ฟินเทค” หรือ ไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (Financial Technology) จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนไทยมากยิ่งขึ้น

ฟินเทคแบบเบสิกที่สุดที่ทุกคนใช้อยู่คือ เอทีเอ็ม โมบายแบงก์กิ้ง ตู้กดเติมเงินโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างคือการใช้บริการทางการเงินด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยคนเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมอีกต่อไป อันเป็นจุดประสงค์หลักในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินขึ้นมา

ฟินเทคจึงเป็นการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่การทำธุรกิจและธุรกรรมทางการเงิน เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่เอื้อประโยชน์กัน ทั้งในด้านอำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกรรมทางการเงิน การเพิ่มกิจกรรมทางการเงินกับการซื้อขายสินค้า เพียงแค่อาศัยระบบการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น

จุดเด่นของฟินเทค คือ ความง่ายในการใช้บริการ ไม่ซับซ้อนและผูกขาด สร้างอิสระในการทำธุรกรรมทางการเงินแก่ผู้บริโภค ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้ฟินเทคได้รับความนิยมทั่วโลก จนกลายเป็นกระแสและแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

มูลค่าการตลาดของฟินเทคทั่วโลกเมื่อปี 2557 อยู่ที่ 2.5-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 หรือเติบโต 130% ขณะที่ในเอเชีย ฟินเทคมีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 หรือเติบโต 3 เท่าจากปัจจุบัน

ฟินเทคมีความหลากหลาย กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ (สตาร์ทอัพ) เข้ามาจัดตั้งบริษัทเพื่อพัฒนาธุรกิจมากมาย ในสหรัฐอเมริกามีสตาร์ทอัพทำฟินเทคเป็นพันบริษัท แต่ในประเทศไทยธุรกรรมนี้เพิ่งเริ่มต้น จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์มีผู้ประกอบการด้านฟินเทคจดทะเบียนประมาณ 40 บริษัท ซึ่งนับว่ายังน้อย แต่ก็มีโอกาสจะเติบโตเร็ว

บริษัท ฟินเทค ที่ได้ยินกันบ่อยๆ เช่น เอ็มเปย์ ทรูมันนี่ เพย์สบาย ที่เป็นบริการชำระเงิน โอนเงิน รวมทั้งมีฟินเทคที่เป็นองค์กรระดมทุนผ่านออนไลน์ (คราวด์ฟันดิ้ง) อย่าง ดรีมเมกเกอร์ มีฟันด์ อาซิโอล่า รวมทั้งฟินเทคที่เกี่ยวกับการลงทุนและการวิเคราะห์หุ้น อย่าง สต็อคเรดาร์ส สต็อคทูมอร์โรว์ เป็นต้น รวมไปถึงบริการทางการเงินของค่ายมือถือ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ (เทลโก้) ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ ถือเป็นฟินเทคอีกรูปแบบหนึ่งที่มียอดธุรกรรมเพิ่มขึ้นมากทั้งที่ไม่ได้เป็นธนาคาร เข้ามามีบริการรับชำระเงิน-โอนเงินมากขึ้น รวมทั้งยังมีการพัฒนาเป็นระบบชำระเงินรายย่อย (อี-วอลเลต) ที่โอนเงินหากันโดยไม่จำกัดค่าย ใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ฟินเทคเข้ามามีบทบาทและส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคาร สถาบันการเงิน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาให้บริการรับชำระเงิน โอนเงิน ถึงขนาด เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ยังกล่าวว่า คู่แข่งสำคัญของเจพีมอร์แกนที่สำคัญจากนี้ไปไม่ใช่ธนาคารใหญ่ๆ ในอเมริกาอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นเหล่าบริษัทฟินเทค สตาร์ทอัพ ที่กำลังบ่มเพาะกันอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในแถบซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐ

ดังนั้น เพียงดิจิทัลแบงก์กิ้งอาจจะไม่เพียงพอแล้ว สำหรับการรองรับการทำธุรกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นได้ว่าทุกธนาคารให้ความสนใจการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ และเริ่มมีการปรับตัวเพื่อให้การให้บริการเท่าทันกับความต้องการของลูกค้า ด้วยการทุ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาในด้านฟินเทคให้มากขึ้น

ธีระชาติ ก่อตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่นสต็อคเรดาร์ส ระบุว่า ฟินเทคเริ่มรุกคืบเข้ามาในตลาดทุน แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่หากเข้ามาเต็มรูปแบบผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือโบรกเกอร์ ความสำคัญของเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน (ไอซี) อาจจะได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะทุกอย่างจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผู้ลงทุนที่จะมีการหาข้อมูลที่จะมาใช้วิเคราะห์เองจากแอพพลิเคชั่นตัวช่วยในการวิเคราะห์การซื้อขาย วิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งใส่คำสั่งซื้อขายทางอินเทอร์เน็ตเอง

ข้อดีของฟินเทค คือ จะทำให้อุตสาหกรรมเป็นการแข่งขันที่เน้นทางด้านการบริการมากกว่าที่จะไปเน้นทางด้านแข่งขันในด้านราคาหรือการตลาดมากกว่า ซึ่งสต็อคเรดาร์สก็เป็นสตาร์ทอัพที่เป็นฟินเทคที่เน้นเรื่องการบริการข้อมูลไปแข่งขันในตลาดทุน

ที่ผ่านมาอาจจะเห็นว่าหลายโบรกเกอร์หรือคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน ใช้หุ่นยนต์หรือโรบอตในการเฝ้าดูคำสั่งซื้อขายให้ สแกนข้อมูลสถิติ หุ้น ให้ จริงๆ คือการมีซอฟต์แวร์ที่ดีเข้ามาช่วยในระบบ

ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแรกที่ขยับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้วยการปรับโครงสร้างผู้บริหารครั้งใหญ่ พร้อมกับตั้งกลุ่มธุรกิจใหม่ขึ้นมา คือ “กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” (Kasikorn Business-Technology Group : KBTG) พร้อมกับแต่งตั้งให้ ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ดำรงตำแหน่งประธาน KBTG ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา

ธีรนันท์ กล่าวว่า ปัจจุบันไอทีกลายเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจการเงิน ทั้งเสริมการให้บริการและเป็นตัวสร้างธุรกิจใหม่อย่างฟินเทค เห็นได้ว่าเรื่องไอทีมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต จึงต้องก่อตั้งขึ้นเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของเครือธนาคารกสิกรไทย เพราะบางเรื่องไอทีถือเป็นตัวเบิกทางของธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

สถาบันการเงินหลายแห่งมองฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงินเป็นภัยคุกคามที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดของธนาคารพาณิชย์ แต่ธนาคารกสิกรไทยมองอีกด้านว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่อุดมไปด้วยบุคลากรความสามารถสูง และมีจุดแข็งในฐานลูกค้าหลายล้านบัญชี ศักยภาพสูงเช่นนี้สามารถรุกเป็นฟินเทคได้เอง ไม่จำเป็นต้องตั้งรับการแข่งขัน

“การแยกการบริหารเป็นอิสระออกมาจากธนาคาร ทำให้หน่วยธุรกิจนี้มีความยืดหยุ่น ไม่ติดกับกฎระเบียบของธนาคาร สามารถปรับเปลี่ยนรองรับดึงคนไอทีรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการการผูกมัดเข้ามาร่วมงาน จากนั้นเมื่อมีความพร้อม KBTG ก็จะสามารถเป็นเอาต์ซอร์สให้บริษัทภายนอกได้ เช่น Cloud Service ได้” ธีรนันท์ กล่าว

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีอนาคตและมีศักยภาพ โดยหนึ่งในนั้นคือฟินเทค และธุรกิจการเงิน เช่น วีซ่า มาสเตอร์การ์ด รวมถึงธุรกิจที่จะมาเป็นคู่แข่งของธนาคารในอนาคต เช่น กูเกิลเพย์ ซึ่งมีระบบการรับจ่ายเงินผ่านออนไลน์ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นคู่แข่งสำคัญของธนาคาร จึงเห็นว่าควรหาทางเป็นพันธมิตรหรือลงทุนธุรกิจประเภทนี้

นอกจากนี้ บุคลากรด้านฟินเทคจึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ทำให้เกิดการจัดประกวดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเงินขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธนาคารกสิกรไทย เข้าร่วมกับพันธมิตรสนับสนุนการประกวดแนวคิดด้านการพัฒนาระบบชำระเงินและเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) เพื่อเฟ้นหาให้ผู้ที่มีความคิดโดดเด่น ใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเงิน

เมื่อฟินเทคเบ่งบาน การกำกับดูแลธุรกิจฟินเทคในไทยก็ยังมีไม่มากตามไปด้วย อย่าง คราวด์ฟันดิ้ง ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มเข้ามาดู แต่ยังเป็นการสอบถามรูปแบบวัตถุประสงค์ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะกำกับดูแลกลุ่มนี้อย่างจริงจัง

ทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน ธปท.จึงอยู่ระหว่างดูหลักเกณฑ์การควบคุมให้เหมาะสม แต่ขณะนี้ยังไม่น่าห่วง เพราะแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น สถาบันการเงินก็มีการซื้อแนวคิดไปให้บริการต่อ ทำให้ ธปท.ยังดูแลได้ แต่ในเรื่องคลาวด์แลนดิ้ง ยอมรับว่ายังไม่มีการควบคุม เพราะไม่ใช่สถาบันการเงิน ถ้าจะคุมต้องออกกฎหมายใหม่หรือกฎหมายพิเศษมาดูแล

ฟินเทค ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของธนาคาร รวมทั้งผู้กำกับดูแลด้วย เพราะเป็นนวัตกรรมที่ใหม่มาก กฎหมายการเงินจะต้องพัฒนาให้เท่าทัน หรือครอบคลุมการเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายต้องไม่ปิดกั้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย