posttoday

ทักษิณไม่ได้เจรจา แค่หาทางออกปรองดอง

28 กุมภาพันธ์ 2559

"ความปรองดอง หากจะพูดก็เปรียบเหมือนการอธิบายช้าง ที่มีมุมมองไม่เหมือนกัน มองกันคนละมุม แต่สำหรับผมความปรองดองคือความสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน"

โดย...ฐายิกา จันทร์เทพ

ปรากฏการณ์ตีกลับไร้เสียงตอบรับจากผู้มีอำนาจอย่างสิ้นเชิง สำหรับช่องทางการพูดคุยหาทางออกร่วมกันที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างชาติหยั่งกระแสสังคม ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังเจอมรสุมทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และปากท้องรุมเร้า

การเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ถูกจับตามองว่าเป็นยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวชิงพื้นที่ทางการเมืองอีกครั้ง รวมถึงยุทธศาสตร์โลกล้อมเข้ากระหน่ำ คสช. นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดใจชี้แทนกับทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ว่า มีคนถามเยอะว่า ดร.ทักษิณ มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ที่ออกมาพูดกับสื่อต่างประเทศ แต่เท่าที่มีโอกาสได้คุยกับท่านก็บอกว่าไม่มีอะไร

แต่ที่ออกมาพูด เพราะผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมากต้องการสัมภาษณ์มานาน ซึ่งท่านทักษิณเองก็อั้นไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ มาเป็นเวลาเกือบๆ 2 ปี ตั้งแต่ยึดอำนาจรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งช่วงเวลานี้ก็เป็นโอกาสดีที่มีการร่างรัฐธรรมนูญกติกาที่สำคัญของบ้านเมือง จึงเปิดโอกาสได้พูดคุยกัน ซึ่งเป็นการพูดคุยแสดงความคิดเห็นธรรมดา ไม่ใช่เป็นการยื่นขอเจรจา หรือจะเรียกว่าเป็นการเปิดช่องสื่อสารกับกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ เพื่อลดความหวาดระแวงกันและกัน หาทางออกความขัดแย้งของบ้านเมือง การพูดครั้งนี้ยืนยันได้ว่าไม่ได้ตั้งเงื่อนไขใดๆ เพื่อตัวท่านเอง หรือเพื่อน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น จะไปบอกรัฐบาลทหารอย่าไปยึดทรัพย์น้องสาวผม แล้วตระกูลชินวัตรจะเลิกเล่นการเมือง แบบนี้ไม่มีแน่นอน

“อยากให้รัฐบาลมองแบบให้เกียรติกัน แม้อดีตนายกฯ ทักษิณจะอยู่ต่างประเทศก็ตาม ผมเชื่อว่าไม่มีใครดีบริสุทธิ์ หรือเลวไปซะทุกอย่าง แต่มันมีทั้งข้อดีข้อเสียกันทั้งนั้น ผมยืนยันว่าท่านทักษิณไม่ได้โหนกระแส คสช.ในขณะที่เขาเพลี่ยงพล้ำ หรือมาขย่มมะม่วงตอนที่สุกงอมจะหลุดออกจากขั้ว และไม่ได้มีการประเมินว่า คสช.จะอยู่หรือไปในขณะนี้ เพราะไม่ว่าใครจะออกมาทำอะไรก็คงไม่เป็นผล ทั้งหมดอยู่ที่ตัวท่าน พล.อ.ประยุทธ์ เองทั้งสิ้น” นพดล ระบุ

ส่วนการขอเปิดช่องทางการหารือร่วมกันของทักษิณถูกตีกลับ คสช.และรัฐบาลไม่ขานรับในข้อเสนอนั้น นพดล กล่าวว่า ถือว่าเสียดายที่ปิดประตูการสร้างบรรยากาศการปรองดอง ถือว่าเป็นการเสียโอกาสและรู้สึกน่าเสียดายที่ คสช.มองข้อเสนอของท่านทักษิณเบาบาง ไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะมันไม่ใช่ข้อเสนอเพื่อตักตวงผลประโยชน์ทางการเมือง แต่เพื่อหาทางออกการปรองดอง แต่ถ้าไม่คุยกันแล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร ท่านทักษิณพูดกับตนเองบ่อยครั้งว่า

“ผมเป็นคนไม่มีอะไรเลย พูดกับผมง่ายๆ อยากจะให้ผมทำอะไร หรือถ้าอยากได้คำแนะนำทางเศรษฐกิจก็โทรมาสิ มาถามคำปรึกษาผมได้” ในทางกลับกันคนพวกนี้คิดแต่ว่าไม่ปรึกษาพวกคนติดคดีหรอก

นพดล ระบุด้วยว่า อย่านึกว่าสถานการณ์จะดีอย่างนี้ไปตลอด เพราะเวลานี้ปัญหาใหญ่มีเศรษฐกิจรุมเร้า ถ้ามันมีการพูดคุยกันที่ดี เชื่อว่า ประชาชนจะสนับสนุน ที่ผ่านมาที่มีกระแสการประสานหาแนวทางการพูดคุยกันมาตลอด แท้จริงแล้วไม่มี เพราะในอดีตไม่รู้ว่าจะคุยอะไรกับใคร แต่ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้า คสช. เป็นผู้ที่มีอำนาจในประเทศ แต่ไม่ว่าเมื่อก่อนในอดีตหรือตอนนี้เอง ก็ยังไม่มีการพูดคุยกัน หรือประสานอะไรกัน ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลปฏิเสธแบบไม่มีเยื่อใยให้กัน เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แค่เสียดายโอกาส เพราะนั่นคือสิทธิของรัฐบาลที่จะปฏิเสธ

แกนนำพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่มีกระบวนการขั้นตอนใดๆ ที่จะกำหนดกฎกติกามารยาทในการคุยกัน แต่สิ่งที่ออกมามันคือความพรั่งพรูของความปรารถนาดีที่ท่านทักษิณอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า และคิดว่าการที่ท่านอยู่ต่างประเทศ แต่ละประทศก็ศิวิไลซ์ มีความเป็นอยู่ที่ดี เศรษฐกิจดี นั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว แต่ท่านเห็นข่าวบ้านเรามีคนผูกคอตายด้วยราคายางพารา ราคาข้าวตกต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจโลกรุมเร้า ท่านก็คิดว่าทำไมไม่หาทางออกร่วมกัน

ที่ผ่านมา เราพร่ำพูดเรื่องปรองดองมาตลอด แต่เราไม่รู้ว่าประเด็นและปัญหาการทำปรองดองให้เกิดขึ้นคืออะไร ซึ่งความคิดตนมองว่ามี 2 ประเด็นเท่านั้น คือ 1.ไม่รู้ว่าปรองดองคืออะไร 2.เราไม่ทำอะไรที่จะนำไปสู่ความปรองดอง เวลานี้ท่านทักษิณอยู่สบาย พอมีเงินอยู่บ้างแม้จะโอนให้ลูกหมดแล้ว แต่ทั้งหมดเพราะท่านเป็นห่วงอนาคตของประเทศ วันนี้เมื่อไม่มีกติกาในการพูดคุยกัน ขณะเดียวกันคนมี280216a04*อำนาจเขาก็ปฏิเสธออกมาเสียแล้ว ทุกอย่างจึงเดินหน้าไม่ได้

ส่วนข้อกังวลว่าการออกมาเคลื่อนไหวของ ดร.ทักษิณ เป็นยุทธศาสตร์ใช้โลกล้อมประเทศหรือไม่ นพดล ชี้แจงว่า วันนี้อย่าไปประเมินว่า ดร.ทักษิณสามารถไปสั่งให้ประเทศต่างๆ มีทัศนคติกับประเทศไทยอย่างไร ดังนั้นจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวโดยใช้ยุทธศาสตร์โลกล้อมหรือไปดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลร้ายต่อประเทศ และ ดร.ทักษิณไม่ได้โน้มน้าวให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามาแซงก์ชั่นประเทศไทย แต่ประเทศนั้นๆ เขารู้ว่าประเทศไทยเป็นอย่างไร เขามีการรายงานจากสถานทูต และจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพราะฉะนั้นต่างประเทศเขาสามารถที่จะเอกซเรย์การกระทำต่างๆ ของ คสช.และรัฐบาลได้ ด้วยตัวของเขาเอง

แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุด้วยว่า แม้แต่ความกังวลของ คสช.ที่มีต่อการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ของสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ตาม อย่ามาโทษพวกเราที่ท่านไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองหรือเศรษฐกิจได้ เพราะเราไม่สามารถไปทำอะไรได้ เป็นการติเพื่อก่อเท่านั้น

“เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของพวกเราไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งหมดอยู่ที่นายท้ายเรือใหญ่ว่าจะสามารถประคับประคองเรือให้ไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร อำนาจของรัฐบาลมีมากเหลือ ทั้งกองทัพก็สนับสนุน มีมาตรา 44 ในการดำเนินการต่างๆ ได้โดยไม่ผิด ไม่มีฝ่ายค้านในสภา รัฐบาล คสช.สามารถที่จะจัดการได้ทั้งคน เงิน และนโยบาย ดังนั้นอยู่ที่คุณจะพุ่งเรือลำนี้ไปอย่างไรกับอำนาจที่มีอยู่อย่างครบองค์ประกอบ อำนาจท่านมีเยอะมาก ถ้าทำดีจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติได้”

ทักษิณไม่ได้เจรจา แค่หาทางออกปรองดอง

นพดล กล่าวถึงการดำเนินการปรองดองของ คสช.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ยึดอำนาจว่า การปรองดอง คสช.ไม่ต้องทำอะไรมาก เอาแค่ว่าฝ่ายผู้มีอำนาจไม่พูดจาดูถูกเหยียดหยาม หรือพูดจาในลักษณะกล่าวร้ายอีกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็พอแล้ว หรือพูดแบบมีเมตตาธรรม ให้เกียรติกัน แค่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองแล้ว ที่ผ่านมาได้พูดอยู่ตลอดเวลาว่าข้อความการพูดของความเกลียดชังไม่ควรจะมีอยู่ไม่ว่าเวทีใดๆ ก็ตาม แม้แต่บนเวทีปราศรัย แต่เวลานี้ในฝ่ายที่มีอำนาจกลับยังพูดจาเช่นนั้นอยู่ แล้วความปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

“ความปรองดอง หากจะพูดก็เปรียบเหมือนการอธิบายช้าง ที่มีมุมมองไม่เหมือนกัน มองกันคนละมุม แต่สำหรับผมความปรองดองคือความสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ว่าเราไม่จำเป็นต้องรักกัน แต่ขอให้เคารพสิทธิซึ่งกันละกัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม มองไปข้างหน้า ส่วนจะมีเรื่องนิรโทษกรรมอยู่ในสมการปรองดองหรือไม่ ผมจะไม่พูดถึง เพราะเขาจะหาว่าความปรองดองคือนิรโทษกรรม ซึ่งมันไม่ใช่ แต่มันกว้างกว่านั้น” แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าว

นพดล ประเมินความปรองดองของประเทศว่า ยากและลำบาก คำว่าปรองดองคือเราต้องเข้าใจว่าปัญหาเกิดจากอะไร และอยู่กันแบบเข้าอกเข้าใจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ ยิ่งปรองดองลำบากอยู่ เพราะเรายังหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจกัน เมื่อเวลาอีกฝ่ายหนึ่งชนะก็มาเขียนกฎกติกาจะป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามามีอำนาจ โดยไม่ได้มองผลประโยชน์โดยส่วนรวมหรือหลักการสากลที่ใช้บังคับกับคนไทยทุกกลุ่ม เช่น การเขียนร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ซึ่งเนื้อหาที่ออกมามันคือการสะท้อนวิถีคิดของผู้มีอำนาจที่ไม่ไว้วางใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือพรรคเพื่อไทย จนทำให้พรรคการเมืองต่างๆ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วย

ตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามายึดอำนาจรัฐประหาร ก็ประกาศการปรองดอง โดยเน้นย้ำว่าทุกอย่างจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติกรรม แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวย้อนแย้งพร้อมกับตั้งคำถามกลับทันทีว่า บ้านเมืองเราในระบบประชาธิปไตยถ้ามีข้อขัดแย้งทางการเมือง ต้องเปลี่ยนแปลงโดยการยุบสภา และมีการเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสิน มันไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจมาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แล้วมาบอกว่า
ที่ทำแนวทางนี้เป็นแนวทางที่เหมาะสม ดังนั้นต้องถามกลับไปอีกว่ามีคดีใดที่เกี่ยวข้องกับคนพรรคเพื่อไทยไม่โดนดำเนินคดีบ้าง รวมทั้งคดีต่างๆ ของอดีตนายกฯ ทักษิณก็ตาม

“มีการตั้งคำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมท่านทักษิณ ไม่กลับมาสู้คดี แต่ต้องบอกว่าคดีของท่านทักษิณนั้นเกิดจากการตั้ง คตส. ซึ่งกรรมการบางคนคือคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองมาสอบสวนตอนยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ซึ่งขัดหลักนิติธรรม มีการพยายามอ้างว่า ดร.ทักษิณไม่เคารพกฎหมาย ขณะที่ท่านทักษิณบอกว่าคุณไปฉีกรัฐธรรมนูญ ไปทำลายนิติธรรม ท่านก็มีสิทธิที่จะไม่ยอมรับการทำงานของ คตส. เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าจะดำเนินการตามกฎหมาย เราฝ่ายพรรคเพื่อไทยและรวมถึงท่านทักษิณเองก็ไม่ได้ขัดข้อง ที่จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย แต่เราอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ” คนสนิททักษิณ กล่าว

แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวย้ำว่า หากความไม่ไว้วางใจต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะคิดว่าพรรคเพื่อไทยยังเคลื่อนไหวอยู่นั้น นั่นหมายถึงความหวาดระแวงที่มีมากขึ้นนั่น คุณไม่ได้มองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นหุ้นส่วนของประเทศไทยที่จะมาร่วมมือกันเดินหน้าประเทศ มองแต่ว่าจะขจัดออกจากทางการเมืองอย่างไร วันนี้เราต้องมาคุยกันอย่างเปิดอกว่าบทบาทใหม่ของประเทศเราต้องการให้แต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร และร่างกติกาที่พอรับกันได้ เราต้องกว้างพอที่จะรวมทุกภาคส่วนอย่างลึกซึ้ง

“ทางออกการปรองดองวันนี้ คือ ต้องให้ทุกภาคส่วนมาพูดคุยเรื่องคับข้องใจกัน มาพบกันที่จะสงวนจุดต่างแสวงหาจุดร่วมกันให้ได้มากที่สุด และบอกได้หรือไม่ว่าประเทศไทยต่อไปนี้จะไม่สองมาตรฐาน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ส่วนนักการเมืองเองจะสร้างกลไกอะไรขึ้นมาที่คุณโกง จะมีโทษหนัก ถ้านักการเมืองที่ดีเขาพร้อมที่จะรับกับกลไกที่เข้มงวดอยู่แล้ว สุดท้ายคือการวางรากฐานประเทศ โครงสร้างทางการเมือง รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย”

ปฏิรูปเพื่อไทย สู่สถาบันทางการเมือง

นพดล ชี้แจงต่อคำ ถามที่ว่า “ทำไมทักษิณ ไม่หยุดเล่นการเมือง” ว่า ตนไม่สามารถที่จะไปตอบคำถามอะไรแทนได้ว่าในอนาคตจะทำ อะไรอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าวันนี้เองท่านทักษิณไม่ได้เล่นการเมืองเหมือนอย่างในอดีต วันนี้ท่านแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามสภาพความเป็นจริงในส่วนของเสื้อแดงเองก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตอนนี้ท่านก็อายุ 67 ปีแล้ว บทบาทที่ทำ ตอนนี้อยู่ในลักษณะเป็นคนที่มีประสบ การณ์ความรู้ ก็เป็นธรรมดาที่มีคนที่รักคนที่ชอบมาปรึกษาบ้าง ต่อไปนี้เข้าใจว่าคงมีแต่บทบาทที่สร้างสรรค์ในฐานะอดีตนายกฯมากกว่า

นอกจากนี้ ขอพูดในฐานะที่เป็นสมาชิก พรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง ว่าหากในอนาคตอันใกล้ พรรคการเมืองสามารถประชุมพรรคได้คงจะมีการคัดสรรหัวหน้าพรรคให้มีกรรมการบริหารพรรคมาดูแล

“เราต้องทำ ให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมือง คนต้องมาช่วยกันโล้กันพาย ไม่ใช่จะมาอาศัยกินบุญเก่านายกฯ ทักษิณเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่านโยบายหลายเรื่องอาจจะต้องสานงานเก่าต่อยอดงานใหม่นโยบายดีๆ เราเก็บไว้ และคิดนโยบายใหม่ๆขึ้นมา ในอนาคตถ้ารัฐธรรมนูญออกมาผ่านแล้วมีองค์กรอิสระมาติติงนโยบายเราก็ต้องระมัดระวังเป็น 2 เท่า ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เราต้องปฏิรูปพรรคและเราต้องทำ ให้พรรคการเมืองของเราเป็นพรรคเพื่อไทย ใสสว่าง ขจัดข้อครหาว่าพรรคเราเป็นพรรคของตระกูลหนึ่งตระกูลใดหรือคนหนึ่งคนใด หรือเป็นพรรคที่คู่แข่งทางการเมืองมาอ้างว่าพรรคเราเป็นพรรคทุจริตคอร์รัปชั่น เราต้องสื่อสารให้สังคมได้รู้ว่าเราได้ทำ ประโยชน์กับประเทศชาติหลายเรื่อง และเราสนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ”

นพดล ให้เหตุผลต่อการปฏิรูปพรรค เพื่อไทยต่อไปอีกว่า เราปฏิรูปพรรคไม่ใช่เพราะเรามากังวลใจเพราะมีคนในเครือข่ายตระกูลชินวัตร แต่คิดว่าเราต้องทำ ให้พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยั่งยืน สามารถยืนอยู่ได้ แต่ถ้าคนในตระกูลชินวัตรจะสนับสนุนพรรคก็เป็นสิทธิของเขาที่จะทำ ได้ แต่ที่สำคัญ เราต้องมีกลไกในการบริหารงานที่เป็นสถาบันมีรูปแบบการตัดสินใจอย่างโปร่งใส ไม่ว่าใครจะมาสนับสนุนทางการเงิน หรือมาออกแรง เราก็ไม่ปฏิเสธ นามสกุลชินวัตรเองก็มีสิทธิที่จะสนับสนุนพรรคเท่ากับนามสกุลอื่นๆ แต่จะมาอยู่ในรูปแบบกรมการที่โปร่งใสยั่งยืน เพราะความยั่งยืนสำคัญ เราต้องสร้าง วัฒนธรรมองค์กรยุคเปลี่ยนผ่านและมีนโยบายที่กินได้

ทักษิณไม่ได้เจรจา แค่หาทางออกปรองดอง

ร่างรัฐธรรมนูญอย่าระแวงทักษิณ

ประเด็นการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ (ร่างแรก) ภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทุกประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวโยงทางการเมือง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นชนวนสำคัญความขัดแย้งของบ้านเมือง “นพดล ปัทมะ” แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งคนการเมืองที่ออกมาแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญต่อเนื่อง และได้ฉายภาพกว้างสำทับข้อมูลต่ออนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาแม้ว่ายังไม่สะเด็ดน้ำก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นแนวคิดของคณะผู้ร่างได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ประเด็นที่รับไม่ได้มากที่สุดคือเรื่อง การให้องค์กรอิสระเข้ามามีอำนาจตักเตือนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเข้าใจว่ามันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพราะตามหลักการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติมาจากประชาชน เขามีสิทธิที่จะแถลงนโยบายต่อสภาและทำตามที่ให้สัญญาไว้

“นพดล” ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญต่อไปว่า ยังมีประเด็นนายกรัฐมนตรีคนนอกและที่มา ของ สว.ที่กำหนดให้มาจากการสรรหาหรือเขาจะใช้คำว่าเลือกตั้งทางอ้อมก็ตาม แต่เป็นการตัดสิทธิประชาชนที่จะได้เลือกตัวแทนของเขาเอง ที่สำคัญคืออำนาจ สว.ที่สามารถเลือกคณะกรรมการองค์กรอิสระได้ หากยึดตัวอย่างศาลรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสและเยอรมนี ก็จะมาจากการแต่งตั้งของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จึงถือว่าเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่า

ในส่วนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจค่อนข้างสูงและการที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาวินิจฉัยปัญหาทางการเมืองต้องระมัดระวัง และควรให้องค์กรศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์ที่วินิจฉัยกฎหมายเพียงอย่างเดียว ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องได้เสียงจากพรรคที่ต้องได้ สส. 10 คนขึ้นไปนั้น ในทางปฏิบัติไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ เพราะถ้าได้รับสัญญาณจากใครบางคนว่าอย่ายกมือให้เท่านั้น ก็ทำให้การแก้ไขเป็นไปไม่ได้

“โดยหลักแล้วคุณไม่สามารถที่จะไปจำกัดอำนาจรัฐสภาในอนาคตที่จะแก้ไขกฎหมายในอนาคตให้เป็นธรรมเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป คุณบังอาจอย่างไรไปจำกัดอำนาจประชาชนที่จะไปแก้ไขกติกาสูงสุดของประเทศ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 คนเกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจ แต่กลับไปจำกัด สส. สว.ที่มาจากประชาชน มันขัดหลักโดยสิ้นเชิง”

ส่วนประเด็น 16 ข้อเสนอ ต่อการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรีที่ส่งให้ กรธ.นั้น นพดล บอกว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยเฉพาะข้อที่ 16 ที่ระบุให้เขียนรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ช่วง เพราะหากรัฐธรรมนูญเกิดจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคการเมืองด้วย ที่เขามีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ แต่คุณจะมาถืออำนาจที่จะครอบงำการบริหารราชการแผ่นดินถือว่าล้าหลัง

ขณะเดียวกันยังเป็นการไม่ยอมรับอำนาจผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ขัดหลักการประชาธิปไตย จะทำให้ประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นทั้งในระดับประเทศ และระดับภาคเอกชน ทำให้ประเทศเราเหมือนเมียนมาที่ยังไม่รับมีรัฐธรรมนูญใหม่ เดิมเราเป็นดาวรุ่งของประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้รองจากฟิลิปปินส์ แต่ตอนนี้ภาพลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนเราสูญเสียไป

สำหรับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดเรื่องการเขียนร่างรัฐธรรมนูญต้องรองรับการช่วงการเปลี่ยนผ่าน ในห้วงเวลา 5 ปี นั้น นพดล มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ซึ่งนานๆ ทีจะมีโอกาสเห็นด้วยกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่บอกว่า รัฐบาล คสช.ไม่เชื่อในผลงานของรัฐบาลปัจจุบันเอง จึงต้องมีกลไกมาควบคุมรัฐบาลในอนาคต

“เราต้องเร่งคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศเร็วที่สุดต้องเชื่อมั่นในสติปัญญาของคนไทยที่จะเลือกนักการเมืองที่มีคุณภาพ ถ้าวันข้างหน้าหน่วยงานองค์กรภาครัฐปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงปฏิบัติตามคำสั่งตามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย เหตุรัฐล้มเหลวก็จะไม่เกิดขึ้น เรามีเครื่องมือครบที่จะดูแลบ้านเมืองได้ เราต้องปล่อยให้กลไกต่างๆ ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันนักการเมืองต้องปรับปรุงตัวเองสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะนักการเมืองถูกมองเหมือนอาชีพที่ไม่พึงประสงค์”

อย่างไรก็ตาม ถ้าให้ประเมินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ นั้น “นพดล” กล่าวว่า ถ้าเป็นแบบนี้โอกาสที่จะไม่ผ่านน่าจะมีมากกว่า แต่ความคิดเห็นนี้ไม่ได้ตัดสินใจแทนพี่น้องประชาชน ที่เห็นว่าไม่ผ่านประชามติเพราะมีประเด็นมากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากคนทุกกลุ่ม ขณะเดียวกันการที่ มีชัย มาใช้ภาษาโฆษณาว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง เป็นเพียงแค่เครื่องเคียงเท่านั้น

“เราไม่กลัวยาแรง แต่เรากลัวยาสั่ง แต่ถ้ายาสั่งใช้กับทุกคนไม่มีปัญหา และเห็นด้วยถ้าใช้กับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนเยอะ และถ้าประชาชนรู้ข้อเท็จจริงโอกาสผ่านไม่ใช่เรื่องง่าย”

“นพดล” ยังได้กล่าวยอมรับว่า คสช.ได้เปรียบหลายเรื่องทั้ง งบประมาณในการจัดทำ และการใช้นักศึกษาวิชาทหาร (รด.) รวมทั้งอำนาจรัฐที่ใช้กลไกผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และข้าราชการ ในการทำให้การประชามติชนะได้ ซึ่งทางฝ่ายการเมืองได้แต่เรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. เปิดเวทีให้ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ อย่าไปชี้นำ และควรเปิดเวทีอภิปราย แต่อย่าไปถึงใช้หัวคะแนนรณรงค์กันเลย เวลานี้ห่วงเรื่องเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ประชามติทั่วโลกต้องให้ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านออกมารณรงค์เต็มที่ไม่ต้องไปกลัวการลงโทษ

ทั้งนี้ หากกรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว มองว่าในอนาคตข้างหน้าประเทศจะพ้นวิกฤตหรือไม่ นพดล วิเคราะห์ว่า หากกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยผ่านประชามติ ด้วยคะแนนเสียงก้ำกึ่ง เช่น 100 เสียง แต่ผ่านการทำประชามติเพียง 52 เสียง อีก 48 เสียงไม่เห็นด้วย หากเทียบก็ 30 ล้านคนไม่เห็นด้วยกับกติกานี้ สุดท้ายความรู้สึกที่ไม่พอใจ ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญนี้ก็ยังคงมีอยู่ มันก็จะเป็นการถ่วงรั้งสมานฉันท์ ความเป็นเอกภาพของคนในชาติโดยใช่เหตุ ถามว่าทำไม กรธ.ไม่ใช้โอกาสนี้รับฟังความคิดเห็นแล้วรับกันได้ แล้วทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่มีใครที่จะได้ทั้งหมดหรือเสียกันหมด ต้องประนีประนอมกันบ้าง

“วันนี้มันเหมือนทุกอย่างยังไม่สะเด็ดน้ำ เหมือนปัสสาวะไม่สุด เราเสียโอกาสกับการไม่ไว้วางใจทางการเมืองเยอะ ขอให้ผู้มีอำนาจไม่ต้องหวาดระแวงกับ ดร.ทักษิณ เอาเวลาไปเร่งบริหารประเทศแล้วเร่งคืนประชาธิปไตย อย่ากลัวพรรคเพื่อไทยว่าเขียนกติกาแบบนี้แล้วพรรคเพื่อไทยจะชนะ อย่าไปกังวลอนาคตของประเทศจนเกินไป ปล่อยให้ประชาชนเขาคิดบ้าง แล้วทำดำเนินการตรวจสอบให้เข้มข้นผ่านหน่วยงาน องค์กรต่างๆ อย่างเป็นธรรม เราอย่าไปไม่ไว้วางใจการตัดสินใจและวิจารญาณของประชาชน ปล่อยให้เขาเรียนรู้และพัฒนาไป”

“นพดล” ยังได้ สังเคราะห์การทำงานของ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ต้องให้ประชาชนตัดสิน แต่ขอชี้ให้เห็นว่าวันนี้เศรษฐกิจไม่ดีขึ้น โอกาสที่จะมีรัฐธรรมนูญที่ดีก็น้อย การปรองดองก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะสามารถเป็นคำตอบได้ว่า คสช.ยึดอำนาจมาเสียของหรือไม่ แต่ถ้าแฟร์ก็ต้องให้โอกาส คสช.และรัฐบาล เพราะเวลายังไม่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม “นพดล” ออกตัวว่า จากนี้ไปจนถึงเดือน ก.ค. 2560 อาจจะเกิดปาฏิหาริย์อะไรบางอย่าง เช่น รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากการปรับปรุงแก้ไข หรือรัฐบาลมองว่าประเทศไปไม่ได้แล้วต้องหันมาปรองดองกัน ส่วนปัญหาเศรษฐกิจนั้นเข้าใจได้ว่ามันไม่ง่าย เพราะทั่วโลกถดถอยหมด ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ แต่ประเทศเพื่อนบ้าน เติบโต 6%-7% นั่นเพราะคนขาดความเชื่อมั่น วันนี้สหภาพยุโรปไม่เจรจาสัญญาฟรีเทรดอะกรีเมนต์ เพราะเห็นว่าประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเสียโอกาสแบบนี้ไป นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลใหม่ต้องแก้ไข