posttoday

"พระพยอม"ชูปฏิรูปวงการสงฆ์

18 กุมภาพันธ์ 2559

"ขอให้คิดดูระหว่างความสงบกับการมีสังฆราช ถ้ามีสังฆราชแล้วสังคมไม่สงบ กับถ้าสังคมเกิดความสงบโดยที่ไม่มีการตั้งสังฆราช อย่างหลังก็น่าจะดีกว่า"

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ภาพกลุ่มพระสงฆ์ออกมาชุมนุมเรียกร้องจนนำไปสู่ความรุนแรง ส่งผลให้เกิดรอยด่างพร้อยในวงการผ้าเหลือง หลายฝ่ายมองว่าพระควรจะอยู่ในธรรมวินัย การออกมารวมตัวเช่นนี้อาจไม่เหมาะสม ขณะที่บางกลุ่มเห็นด้วยและสนับสนุนการออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้อง โดยอ้างว่าปกป้องพระพุทธศาสนาห้ามใครมาย่ำยี

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว  กล่าวว่า  มีความหนักใจกับภาพพจน์ของพระสงฆ์ในขณะนี้ เพราะภาพที่ออกมาเสียหายทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน เนื่องจากมีพระสงฆ์ล็อกตัวเจ้าหน้าที่ทหารตรงนี้ไม่ทราบว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม นั่นถือเป็นด้านลบกับวงการสงฆ์ หากออกมาชุมนุมกันตามปกติก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น
  
"พระพุทธเจ้าสรรเสริญคนที่ไม่ใช้ความรุนแรง สงสัยพระรูปนั้นไม่ได้ขออนุญาตพระพุทธเจ้าก่อน อาตมาจึงขอให้พระที่จะทำเช่นนั้นถามพระพุทธเจ้าก่อนว่า หากทำแบบนี้หรือล็อกตัวทหาร พระพุทธเจ้าจะว่าอย่างไร เชื่อว่าถ้าถามพระพุทธเจ้าสักนิดคงไม่เกิดภาพความเสียหายอย่างที่ผ่านมา" พระพยอม ระบุ

เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังอยู่  อย่างในอดีตพระพุทธเจ้าห้ามพระบางกลุ่มยังไม่เชื่อฟังเลย ตัวอย่างในเมืองโกสัมพีพระทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าเข้าไปห้ามแต่พระพวกนั้นกลับสอนพระพุทธเจ้าว่า "ขอพระองค์อยู่ให้เป็นสุขเถอะ พวกเราจะทำกันให้เห็นดำเห็นแดง" จึงขอฝากชาวพุทธอย่าไปคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้นเป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุและมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
 
สำหรับข้อเรียกร้องของพระบางกลุ่มที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลมาก้าวก่ายในทางธรรมนั้น พระพยอม มองว่า เรื่องนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ที่ศาสนาจะลอยตัวอยู่เป็นเอกเทศ หากรัฐบาลไม่อุ้มวงการศาสนา ไม่ทะนุบำรุง พระจะเอากำลังที่ไหนมาปกป้อง ดังนั้นจึงต้องมีบ้านเมืองค่อยอุปถัมภ์ ศาสนาลอยๆ ดูไม่มีผู้อุปถัมภ์ทะนุบำรุง จะอยู่ได้อย่างไร

"ตอนนี้อาจเรียกร้องไม่ต้องการให้รัฐมายุ่งเกี่ยวกับสงฆ์ แต่อีกระยะหนึ่งพอเกิดกรณีใหม่ขึ้นอาจจะขอให้รัฐช่วยอุปถัมภ์คุ้มครอง พอช่วงไหนที่เอาตัวไม่รอดก็จะเรียกร้องให้คุ้มครอง เป็นเรื่องธรรมดาแบบนี้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนไว้แล้ว แต่จู่ๆ จะมาถึงจุดยุติไม่เกี่ยวข้องรัฐโดยเหตุผลแค่นี้เป็นไปไม่ได้"

พระพยอม กล่าวว่า การปฏิรูปศาสนาต้องทำอยู่แล้ว ศาสนาก็อยู่ด้วยบ้านเมือง ถ้าบ้านเมืองอยากทำ มหาเถรสมาคม (มส.) จะไปคัดค้านได้หรือ  หากออกมาคัดค้านเชื่อว่าก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะคงต้องมีจุดจบวันหนึ่ง ในเมื่อภาพเหตุการณ์ความรุนแรง คือตัวเร่งเร้าที่ต้องทำให้เกิดการปฏิรูป แทนที่เขาจะไม่ต้องปฏิรูป เพราะถ้าไม่ปฏิรูปภาพแบบนี้ก็จะเกิดซ้ำซากอีก จะต้องทำกันอย่าไปวิตกกังวล

ตอนนี้อยู่ที่รัฐบาล ถ้าหากวางตัวและตัดสินไม่ดี หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็จะเกิดความวุ่นวาย แล้วถ้าเข้าข้างฝ่ายหนึ่งแล้วไปกดขี่อีกฝ่ายอันนี้จะลำบาก รัฐต้องเชิญตัวแทนฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายกลางที่เป็นนักปราชญ์ทางศาสนา มาพูดคุยกัน แล้วรัฐบาลก็ออกมาชี้แจงกับประชาชนว่ารัฐบาลขอตัดสินใจแบบนี้ เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นแบบนี้ จึงต้องตัดสินใจแบบนี้ คิดว่าดีที่สุด เนื่องจากใครเป็นรัฐบาลก็ลำบากเมื่อเจอสภาพแบบนี้ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

"ประชาชนจะเห็นใจรัฐบาล ถ้ารัฐบาลวางตัวเป็น กลาง แล้วใช้นักปราชญ์ทางศาสนาเข้ามาช่วยคิด ช่วยชี้แจง ช่วยกันพูด  แล้วหากฝ่ายใดไม่ยอมรับก็จะเป็นผู้พ่ายแพ้ศรัทธาทางสังคม ส่วนฝ่ายที่ยอมรับถึงแม้จะแพ้แต่ก็ชนะใจประชาชนว่ารู้จักยอมหยุด"

นอกจากนี้ การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ที่ยังเป็นปัญหาอยู่นั้น พระพยอม กล่าวว่า อยากให้มองว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ไม่มีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชมาหลายปี ก็อยู่กันได้

"ขอให้คิดดูระหว่างความสงบกับการมีสังฆราช ถ้ามีสังฆราชแล้วสังคมไม่สงบ กับถ้าสังคมเกิดความสงบโดยที่ไม่มีการตั้งสังฆราช อย่างหลังก็น่าจะดีกว่า"

ด้าน ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ประธานโครงการปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า พระที่ออกมาชุมนุมนั้นมีความเก็บกดเนื่องจากเกิดความไม่เป็นธรรมในวงการสงฆ์ ทั้งนี้หากมองแค่มุมพระออกมาชุมนุมคงไม่เป็นธรรม เราต้องดูที่ข้อเรียกร้องว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างบางข้อที่ต้องการให้มีการตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ตรงนี้ควรทำตาม พ.ร.บ.สงฆ์

"กลับกันภาพที่ออกมานั้นถือว่าไม่เหมาะสมทั้งสองฝ่าย มุมที่ทหารทำกับพระก็ดูรุนแรงเหมือนกัน ส่วนเรื่องการปฏิรูปนั้นควรดำเนินการอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมามีพระสงฆ์ออกมาชุมนุมทางการเมืองมากขึ้น ยังไงสังคมพระก็ต้องมีการพึ่งพารัฐ  ยกเว้นคณะสงฆ์จะปลดแอกตัวเองออกจากรัฐ รัฐก็เข้าไปแทรกแซงไม่ได้ แต่ในความจริงรัฐกับศาสนามีความสัมพันธ์มายาวนาน"

ผู้เชี่ยวชาญศาสนศึกษา กล่าวว่า  ถ้าเราเคารพกฎกติกาทุกเรื่องก็จะสงบ กรณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ทางมหาเถรสมาคม (มส.) ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ขณะนี้คนที่ตกลงกันไม่ได้คือคนนอกวงการ หรือเป็นลูกศิษย์ ที่ต่างฝ่ายก็เชียร์ฝั่งตัวเอง ซึ่งถ้าเราเคารพกฎก็ต้องว่ากันไปตามกฎ ส่วนความถูกใจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  มิฉะนั้นบ้านเมืองเดินไปไม่ได้ ทั้งนี้พระสงฆ์ถือเป็นพลเมืองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายจะยึดพระธรรมวินัยอย่างเดียวไม่ได้