posttoday

"ประหารไม่ทำให้ข่มขืนลด" ความเห็นอีกมุมจากวงการยุติธรรม

04 กุมภาพันธ์ 2559

ความคิดความเห็นจากวงการยุติธรรม ต่อกระแสสังคมเรียกร้องให้การข่มขืนเท่ากับประหาร และห้ามอภัยโทษ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

คดีสุดสะเทือนขวัญ กลุ่มวัยรุ่นพัทลุง ลวงคู่อริไปฆ่าฝังดิน พร้อมข่มขืนแฟนสาวและโยนลงเหวอย่างเหี้ยมโหด เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม ผู้คนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กฎหมายควรเพิ่มโทษคดีข่มขืนให้ประหารชีวิตสถานเดียวและไม่ควรให้มีการอภัยโทษคนกลุ่มนี้เด็ดขาด

ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ประธานหลักสูตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า หลายประเทศทั่วโลก เห็นตรงกันแล้วว่า การลงโทษผู้กระทำความผิดคดีข่มขืน ด้วยการประหารชีวิต ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่แท้จริง และอาจส่งผลเสียอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

"ถ้าโทษอย่างเดียวของการข่มขืน คือ ประหาร ผลที่ตามมาก็คือ หนึ่ง เหยื่อทุกรายจะตาย เนื่องจากเกิดการฆ่าปิดปากและอาจมีการอำพรางศพร่วมด้วย สอง หากกระบวนการยุติธรรมผิดพลาด อาจมีกรณีจับแพะหรือเกิดการใส่ร้ายขึ้น สาม อาจมีการติดสินบนเจ้าพนักงาน เนื่องจากผู้ต้องหาทราบล่วงหน้าแล้วว่า มีความตายรออยู่และจะพยายามวิ่งหาทางเอาตัวรอดทุกช่องทาง จนอาจนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น จากการเปลี่ยนแปลงหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐ"

ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ กล่าวว่า ทุกครั้งเมื่อปรากฎคดีที่มีการกระทำความผิดรุนแรง ด้วยอารมณ์โกรธแค้นของสังคม หลายคนต้องการให้ผู้ต้องหาถูกลงโทษด้วยความรุนแรง แต่สิ่งที่ควรตระหนักคือ เรายังไม่ทราบสาเหตุ แรงจูงใจของการกระทำผิดที่รอบด้านเพียงพอ หลายเคสมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน บางเคสกระทำเพื่อล้างแค้นและข่มขืนเป็นพลพลอยได้ที่ตามมา  ประหารชีวิตได้ความสะใจและข่มขู่คนบางกลุ่มในสังคมได้เท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

บทลงโทษของกฎหมายไม่ได้มีไว้แก้แค้น แต่มีไว้เพื่อป้องกันการกระทำความผิด การประหารชีวิตเป็นมาตรการที่ไม่ให้โอกาสแก้ไขปรับตัวได้อีก สังคมอยากแก้แค้นหรือว่าข่มขวัญ  ขอให้เข้าใจว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะเยาวชน

กระบวนการยุติธรรม พยายามส่งคนใหม่กลับคืนสู่สังคม

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.)  ที่บอกว่า กระบวนการยุติธรรม เชื่อในทฤษฎี "มนุษย์เราสามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้" เมื่อวันเวลาเปลี่ยน เหตุการณ์สภาพแวดล้อมเปลี่ยน พฤติกรรมและนิสัยก็เปลี่ยนได้ กระบวนการยุติธรรม พยายามส่งคนใหม่กลับคืนสู่สังคม ไม่ใช่ส่งคนเดิมหรือคนที่แย่กว่าเดิมกลับมา

รองปลัดยธ.ยืนยันว่า ที่ผ่านมาพบว่า ผู้กระทำความผิดซ้ำซากนั้นมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น โดยเด็กและเยาวชน พบว่ามีเพียง 12 เปอร์เซนต์ ขณะที่ผู้ใหญ่มีประมาณ 14 เปอร์เซนต์ เพียงแต่ถูกนำไปเสนอเป็นข่าวบ่อยครั้ง

"คนที่กระทำอาชญากรรมนั้นจิตใจไม่ได้อยู่ในลักษณะปกติที่จะมีตรรกะความคิดถึงผลที่จะตามมา  การกระทำความผิดแต่ละครั้งมีองค์ประกอบร่วมมากมาย ทั้งภาวะในจิตใจของเขาเอง สภาพแวดล้อมและการเย้ายวนจากปัจจัยภายนอก ผมเองเคยสัมภาษณ์เยาวชน ผู้ต้องหาคดีข่มขืน พบว่า เด็กที่ก่อเหตุ บางรายมีความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ ช่วยเหลือตัวเองบ่อยครั้ง และเคยมีความสัมพันธ์กับสัตว์ วันดีคืนดี พบเจอเหยื่อแต่งตัวเย้ายวนในที่มืด ประกอบกับจังหวะและโอกาส ความเสี่ยงที่จะก่อเหตุก็เพิ่มมากขึ้น สังคมต้องดูปัจจัยต้นทางอย่างรอบด้าน"

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า ไม่มีใครสนับสนุนหรืออยากให้เกิดอาชญากรรม แต่โอกาสในการแก้ตัวคือสิ่งที่เขาควรได้รับ ซึ่งภายในคุกมีการจำแนกความผิดและแนวทางพัฒนาผู้ต้องหาที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ว่าหลายคนเรียนจบปริญญาตรี  การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ธรรมมะศึกษาและวิชาชีพ จนสามารถปรับตัวออกมาเป็นคนที่ดีขึ้นได้ในสังคม

ปรับบทลงโทษ อาจเป็นเพียงปลายสุดของปัญหา

นอกจากกระบวนการยุติธรรมแล้ว ในแง่จิตวิทยา จิตแพทย์ระบุว่า การปรับบทลงโทษ อาจเป็นเพียงปลายสุดของปัญหา

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย” ในประเด็นดังกล่าว โดยมีดังใจความสำคัญดังนี้ 

งานวิจัยและบทความมากมายทางด้านอาชญาวิทยา ระบุตรงกันว่า อสูรร้ายไม่ได้ถูกสร้างขึ้นใน 1 วัน แต่ถูกสร้างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยนานนับปี คดีเล็กๆที่เคยก่อขึ้นถูกละเลยและพัฒนากลายเป็นคดีสะเทือนขวัญ ทุกๆ คดีมักมีสัญญานนำมาก่อน สัญญานที่ล่องหนในสายตาของคนในสังคม และเมื่อนำฆาตกรคดีสะเทือนขวัญทั้งหลายมาสัมภาษณ์ เกือบทั้งหมด เคยผ่านชะตาชีวิตอันโหดร้ายเกินกว่าจินตนาการมาแล้วทั้งนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจถ่ายทอดบาดแผลของตัวเองไปให้ผู้บริสุทธิ์ในท้ายที่สุด

"ผมเองก็เคยได้คุยกับคนกลุ่มนี้ครับ บอกได้คำเดียวว่าประวัติอดีตยาวพรืดเป็นหน้า แถมดราม่าแบบละครไทยชิดซ้ายเลย เราควรกลับมาถามตัวเองว่า ชุมชนแบบไหน สังคมแบบไหน ที่ผลิตฆาตกร 4 คนให้มารวมตัวอยู่ในที่เดียวกัน  เราพลาดเรื่องราวอะไรไปก่อนหน้านี้รึเปล่า คนในชุมชน เคยรับรู้ปัญหาหรือไม่ แก้ไขอย่างไร ครูที่โรงเรียน เคยเห็นพฤติกรรมผิดปกติหรือไม่ จัดการอย่างไร ตำรวจ เคยได้รับแจ้งคดีเล็กๆน้อยๆหรือไม่ ติดตามต่อเนื่องอย่างไร แพทย์ เคยได้ตรวจและสงสัยเรื่องยาเสพติดหรือไม่ ส่งต่อไปยังใคร สังคมสงเคราะห์ เคยได้มีบทบาทหรือไม่ เพราะอะไร หรือ คนกลุ่มนี้ เขาแค่ 'Invisible' ในขณะที่เรากำลังจดจ่ออยู่กับการปรับบทลงโทษทั้งหลาย ...เรากำลังจมอยู่กับปลายสุดของปัญหารึเปล่า เรากำลังมองข้ามเส้นทางสู่อสูรร้ายก่อนหน้านี้รึเปล่า หรือว่าเราเคยมองเห็น แต่คิดไปว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา...เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ"

นพ.วรตม์ระบุว่า "สังคมไทย อาจจะยังมีเด็กชายผู้ล่องหน อีกไม่รู้เท่าไหร่ ที่ดันโชคร้ายเพราะยังต้องหายใจอยู่ ทนอยู่กับ 'บาดแผลที่ไม่มีใครมองเห็น' และรอวันที่จะส่งต่อบาดแผลนั้นให้ผู้บริสุทธิ์รายถัดไป"