posttoday

กลุ่มก่อการร้าย บุกหัวบันไดอาเซียน

24 มกราคม 2559

การโจมตีเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องตื่นตัวรับมือกับภัยก่อการร้าย

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

เหตุวินาศกรรมถล่มกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา อาจนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสมัยแห่งการก่อการร้ายของโลกที่หวนกลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544 โดยเปลี่ยนจากแกนนำหลักอย่างเครือข่ายอัลกออิดะห์ ไปเป็นเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส)

นับจากค่ำคืนอันโหดร้ายในกรุงปารีสที่มีผู้เสียชีวิตถึง 130 คน การโจมตีที่มีเป้าหมายเพื่อข่มขู่ เขย่าขวัญ และอวดอ้างศักดาของไอเอส ไปจนถึงเครือข่ายพันธมิตรท้องถิ่น ได้กระจายไปอย่างต่อเนื่องถึงนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ที่มีผู้เสียชีวิต 10 คน กรุงวากาดูกู ประเทศบูร์กินา ฟาโซ มีผู้เสียชีวิต 29 คน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิต 8 คน และที่มหาวิทยาลัยในจังหวัดไคเบอร์ ปัคตุนควา ประเทศปากีสถาน มีผู้เสียชีวิต 30 คน

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันเพียง 2 เดือน ยังไม่นับรวมกรณีที่อีกหลายประเทศสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัย สกัดแผนการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ทันในอีกหลายครั้ง อาทิ มาเลเซีย

ทว่าที่น่าสนใจก็คือ การโจมตีเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการก่อวินาศกรรมกลางกรุงครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องตื่นตัวรับมือกับภัยคุกคามการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากที่สามารถกวาดล้างเครือข่ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) ที่มีสายสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์ลงได้เมื่อหลายปีก่อน

สเตรทส์ไทม์ส รายงานว่า กลุ่มซึ่งมีชื่อว่า “คาติบาห์ นูซันตารา” (Khatibah Nusantara) คือกลุ่มก่อการร้ายใหม่ในอาเซียนที่อยู่ภายใต้การนำของไอเอส โดยเป็นการรวมตัวของชาวอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสในซีเรีย ซึ่งเหตุโจมตีล่าสุดในกรุงจาการ์ตาก็เป็นฝีมือของคนกลุ่มนี้ ซึ่งนำโดยหัวหน้ากลุ่มที่ชื่อว่า “มูฮัมหมัด บาห์รัน นาอิม” ผู้ที่บัญชาการตรงมาจากซีเรีย โดยหวังขึ้นเป็นผู้นำของไอเอสในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บาห์รัน อดีตนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วัย 32 ปี เคยต้องโทษจำคุกในอินโดนีเซียระยะหนึ่ง ฐานครอบครองกระสุนปืนไรเฟิลอย่างผิดกฎหมาย 533 นัด ก่อนจะไปเข้าร่วมกับไอเอส และได้ขึ้นเป็นนักรบต่างชาติของไอเอสที่มีลำดับชั้น ในเมืองรักกา ประเทศซีเรีย เมื่อต้นปี 2558

กลุ่มก่อการร้าย บุกหัวบันไดอาเซียน เหตุโจมตีกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เมื่อ 14 ม.ค.59 / ภาพ เอเอฟพี

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บาห์รันพยายามสร้างเครือข่ายนักรบไอเอสในอาเซียน และมีการติดต่อกับกลุ่มก่อการร้ายหน้าเดิม โดยเฉพาะบรรดาแกนนำเดิมของเจไอ เช่น กลุ่ม “จามาห์ อันชารุต เตาฮิด : เจเอที” ของ อาบู บาการ์ บาเชียร์ ครูสอนศาสนาที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของเจไอ ที่จัดตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมาแทนที่เจไอ ซึ่งถูกยุบไป แม้ว่าเจ้าตัวจะยังถูกทางการคุมขังอยู่จนถึงปัจจุบันก็ตาม

เหตุโจมตีกลางกรุงจาการ์ตาครั้งล่าสุด นับเป็นการก่อการร้าย “ครั้งแรก” จากแผนการโจมตีหลายครั้ง ที่สามารถหลุดรอดการกวาดล้างทลายแผนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของอินโดนีเซียมาได้ เช่นเดียวกับในมาเลเซียที่เพิ่งสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย 1 คน ซึ่งวางแผนเตรียมก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้เมื่อไม่กี่วันมานี้ 

โรฮัน กุนารัตนา จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยการก่อการร้ายและความรุนแรงทางการเมืองในสิงคโปร์ กล่าวในการประชุมความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเอเชียแปซิฟิก เมื่อเดือน ต.ค. 2558 ว่า ปัจจุบันมีผู้ก่อการร้ายในภูมิภาคราว 30 คนแล้ว ที่เข้าร่วมกับไอเอส ในจำนวนนี้ 22 คน มาจากอินโดนีเซีย และ 5 คน มาจากมาเลเซีย ขณะที่อีก 600 คน กำลังไปเข้าร่วมกับไอเอสที่ซีเรียและอิรัก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางการสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ได้จับกุมคนงานก่อสร้างชาวบังกลาเทศ 27 คน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มทหารอิสลามแนวคิดสุดโต่ง ทั้งกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์และกลุ่มติดอาวุธไอเอส และได้สั่งเนรเทศคนงานทั้ง 26 คน ขณะที่อีกคนถูกตัดสินจำคุก เนื่องจากจับได้ว่าพยายามหลบหนีออกจากประเทศอย่างผิดกฎหมายหลังรู้ข่าวการจับตัวของสมาชิกกลุ่ม

ลีเซียนลูง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระบุว่า คนงานก่อสร้างกลุ่มดังกล่าวเรียนรู้การต่อสู้ และวางแผนกลับไปเข้าร่วมก่อเหตุโจมตีที่บังกลาเทศ และประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ทางการสิงคโปร์ถือว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นภัยใหญ่หลวงต่อประเทศ

ลีเซียนลูง ยังกล่าวว่า สิงคโปร์ได้ยกระดับความมั่นคง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาและเชื้อชาติ โดยทางการจะป้องกันทุกทางไม่ให้กลุ่มแนวคิดสุดโต่ง หรือกลุ่มก่อการร้ายก่อตั้งรกราก

ด้านรัฐมนตรีกลาโหมของสิงคโปร์ ระบุว่า สมาชิกกลุ่มเหล่านี้สนับสนุนอุดมการณ์ของกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง และวางแผนเข้าร่วมกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย ซึ่งคนเหล่านี้อาจจะเปลี่ยนใจคิดโจมตีสิงคโปร์ขึ้นมาได้ โดยสมาชิกกลุ่มนี้ได้ร่วมกันเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับหลักอิสลามสุดโต่ง และมีการรวมตัวกันในแต่ละสัปดาห์

นอกจากการคุกคามของกลุ่มไอเอสแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง หน่วยงานด้านความมั่นคงในอาเซียนก็กำลังจับตากับชนกลุ่มน้อยชาว “อุยกูร์” มากขึ้นด้วยเช่นกัน ท่ามกลางรายงานว่า ชาวอุยกูร์บางส่วนมีความเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในภูมิภาคนี้

ซาอุด อุสมาน หัวหน้าหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติของอินโดนีเซีย เปิดเผยกับรอยเตอร์ส ว่า อินโดนีเซียกำลังให้ความร่วมมือกับจีน ในการสอบสวนชาวอุยกูร์รายหนึ่งที่ต้องสงสัยว่าวางแผนเตรียมก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเมืองเบกาซี ใกล้กับกรุงจาการ์ตา เมื่อวันคริสต์มาสอีฟที่เพิ่งผ่านมา 

ไม่ว่าจะด้วยความกังวลด้านความมั่นคง หรือเพราะแรงกดดันจากรัฐบาลจีนที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจภายในอาเซียน หลายประเทศต่างก็พร้อมใจกันส่งตัวชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์กลับให้จีนนับร้อยรายในช่วงหลายปีมานี้ เช่น กัมพูชาส่งกลับ 20 คน ในปี 2552 มาเลเซียส่งกลับ 11 คน ในปี 2554 เวียดนามส่งกลับ 21 คน ในปี 2557 ไทยส่งกลับ 109 คน ในปี 2558 และยังมีเมียนมาและลาวที่ส่งกลับจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์ซีเคียวริตี้ส์ มิดเดิลอีสต์ รายงานว่า กุนารัตนาและบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายได้เรียกร้องให้แต่ละประเทศในอาเซียนเร่งวางแผนรับมือภัยคุกคามดังกล่าว เพื่อลดผลกระทบทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างเหตุระเบิดครั้งล่าสุดที่แยกราชประสงค์ ในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าถึง 6.4 หมื่นล้านบาท พร้อมจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงถึง 1 ล้านคน

ขณะที่ภัยคุกคามก่อการร้ายทั้งในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ก็ยังทำให้หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลียและสหรัฐ ต้องออกประกาศเตือนภัยการเดินทางแก่พลเมืองของตนเองด้วย

สำหรับประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบกรณีหน่วยข่าวแจ้งเตือนมีกลุ่มผู้ต้องสงสัยเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือกลุ่มไอเอส เข้ามาพบผู้นำศาสนาที่มัสยิดใน จ.นราธิวาส พร้อมมอบทุนสนับสนุนและขอให้มีการสอนในเรื่องรัฐอิสลาม ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวอีกทางหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่รัฐไทยได้จับกุมกลุ่มผู้ต้องหาที่อาจเป็นสมาชิกกลุ่มไอเอสก่อเหตุลอบวางระเบิดที่อินโดนีเซียแล้วหลบหนีมากบดานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยืนยันว่าไม่มีกลุ่มไอเอสเข้ามาในประเทศไทย เป็นเรื่องการเข้า
ไปตรวจสอบบุคคลที่ต้องสงสัย ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ใช่ เรื่องนี้ไม่ได้ปิดบัง เพียงแต่จะต้องมีกระบวนการยุติธรรม เลยบอกแล้วว่าอย่าเพิ่งมาถามเรา ซึ่งตอนนี้ได้เช็กทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็ยืนยันแล้วว่าไม่ใช่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยืนยันว่าไม่ใช่ ตรวจสอบในพื้นที่ภาคใต้เองก็ยืนยันว่าไม่ใช่

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง คือวันนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ประเทศเพื่อนบ้านมีการเอาผู้ต้องสงสัยส่งกลับไปประเทศเหมือนกัน คนที่หน้าตาคล้ายๆ อันตราย อย่าให้มีปัญหาเลย อย่าให้มีคนเหล่านี้เข้ามา เราก็ทำของเรา เราก็อยู่ของเราไป เราไม่ขัดแย้งกับใคร แต่เราต้องสนับสนุนมติองค์การสหประชาชาติในการร่วมมือกันปกป้อง รวมถึงร่วมมือด้านการข่าวการตรวจสอบและมาตรการป้องกันเฝ้าระวังสนามบิน ท่ารถ ท่าเรือ ขอให้ช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไร

คำชี้แจงดังกล่าวอาจทำให้หลายคนคลายใจลงได้ระดับหนึ่ง แต่ความกังวลในเรื่องการก่อการร้ายของกลุ่มไอเอสที่ขยายวงเข้ามาในอาเซียนได้ทำให้บรรยากาศแห่งความหวาดผวาคืบคลานมาในใจคน...

กลุ่มก่อการร้าย บุกหัวบันไดอาเซียน

แนวคิดอันตรายกว่าบุคคล เฝ้าระวังลามอาเซียน

ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ต่อการขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายที่อาจจะเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนว่า ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้ให้การยอมรับกลุ่มไอเอส เพราะใช้ความรุนแรง โลกมุสลิมไม่สามารถยอมรับได้

“วันนี้ผมคิดว่าเราให้ความสำคัญกับการก่อเหตุที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสและตะวันตกมาก จนลืมไปว่าไอเอสก็ได้ก่อเหตุในประเทศมุสลิมมากมาย แม้จะก่อเหตุได้ทุกที่ แต่การจะปักหลักอย่างเข้มแข็งอย่างในตะวันออกกลาง ในพื้นที่อื่นๆ เป็นไปได้ยาก”

ศราวุฒิ เห็นว่า กรณีที่จาการ์ตา อินโดนีเซีย ผู้ก่อเหตุและวางแผนไม่ใช่คนจากตะวันออกกลาง เพียงแต่คนก่อเหตุมีแนวคิดนิยมไอเอส บางคนเคยเข้าร่วมกับไอเอส การตั้งองค์การหรือสาขาในภูมิภาคนี้จึงไม่น่าห่วง แต่แนวคิดไอเอสคือสิ่งที่น่ากังวล เพราะมีการแพร่กระจายเรื่องความรุนแรง โฆษณาชวนเชื่อผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนไม่รู้ว่าใครบ้างนิยมแนวทางไอเอส หรือเชื่อคำประกาศไอเอส แล้วโจมตีพื้นที่ต่างๆ

“สิ่งที่น่ากลัว คือ การก่อเหตุโดยปัจเจกบุคคลที่นิยมไอเอส ซึ่งประเทศต่างๆ ไม่รู้ได้เลย น่ากลัวกว่าในอดีตที่ผ่านมา อย่างสมัยอัลกออิดะห์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังยุคสงครามเย็น เทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่รวดเร็วหรือแพร่กระจายได้ทั่วอย่างปัจจุบัน แต่ไอเอสเกิดขึ้นในช่วงที่โลกมีการสื่อสารที่รวดเร็วมาก จึงกลายเป็นการแพร่กระจายอุดมการณ์แนวคิด”

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลไม่พบคนไทยเข้าร่วมกับไอเอส และมีคนไทยน้อยมากที่นิยมไอเอส แต่ความชื่นชอบนี้ก็ต้องแยกแยะว่า เป็นเพราะชื่นชอบกระแสต่อต้านตะวันตก หรือต่อต้านมุสลิมสายชีอะห์ แต่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย หรือไม่ถึงขั้นใช้ความรุนแรง

ศราวุฒิ บอกว่า การขยายสาขามายังภูมิภาคอาเซียน ยังไม่ใช่แนวคิดของไอเอสในตะวันออกกลาง เพราะไอเอสให้ความสำคัญกับพื้นที่ตะวันออกกลางมากที่สุด เนื่องจากเป็นที่เกิดศาสนาอิสลาม และเป็นดินแดนที่ตะวันตกเคยขีดเส้นแบ่งไว้ เข้าใจว่าคนประกาศตั้งสาขาไอเอสในภูมิภาคนี้คือ ขบวนการบางกลุ่มเพื่อสร้างการยอมรับ แต่ถึงตั้งได้ก็คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะภูมิภาคนี้เป็นมุสลิมสายปฏิรูป ไม่ยอมรับขบวนการเหล่านี้มาตลอด เช่น ในอดีตกลุ่มเจไอเคลื่อนไหวเหตุการณ์บาหลี เหตุการณ์ระเบิดโรงแรมเจดับบลิวแมริออท กลุ่มเจไอก็ถูกลดบทบาทลง

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยอมรับว่าโอกาสเกิดการก่อการร้ายในประเทศไทยมีมากขึ้นกว่าในอดีต

“ประเทศไทยในอดีตถูกมองว่าเป็นที่พักพิงเพื่อเตรียมก่อเหตุ จากหลายปัจจัยประกอบ เช่น เป็นแหล่งอาวุธสงคราม หรือวัตถุที่ใช้ก่อวินาศกรรมหาได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นการคุมอาวุธเถื่อน ระเบิด มีความจำเป็นพอๆ กับการตรวจสอบคน หากคนที่เข้ามาไม่สามารถหาของเหล่านี้ได้ การก่อวินาศกรรมก็น้อยลง ความหละหลวมก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่บอกว่าเราเป็นแหล่งพักพิง ซึ่งทั้งโลกมันเปิด การเพิ่มข้อมูลตรวจสอบบุคคลให้เกิดความรวดเร็วก็ช่วยป้องกันได้”

เอกพันธุ์ ระบุว่า การก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียนน่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น เพราะองค์กรเหล่านี้ต้องการหาพื้นที่เพื่อได้เครดิต ประเทศไทยรวมทั้งประเทศกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรกับชาติตะวันตก ไทยกับโลกตะวันตกสัมพันธ์แน่นแฟ้น นั่นหมายถึงเพื่อนของศัตรูก็คือศัตรู

ภาพ...เอเอฟพี