posttoday

ถอดบทเรียนคดี "ดีเจเกียร์R" เมื่ออารมณ์เดือดทำชีวิตพัง

11 มกราคม 2559

กรณีศึกษาจากอุบัติเหตุสะท้านเมือง สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ไม่น่าเชื่อว่า แค่เหตุการณ์กระทบกระทั่งเล็กๆน้อยๆบนท้องถนนจะลุกลามบานปลายกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์

เมื่อ นายภัทรศักดิ์ เทียมประเสริฐ หรือดีเจเก่ง ถอยรถกระบะชนรถคู่กรณี หลังมีเรื่องกระทบกระทั่งเบียดแซงกัน โดยเจ้าตัวอ้างว่าถูกชนท้ายก่อน แต่ภายหลังมีพลเมืองดีถ่ายคลิปวีดีโอไว้เป็นหลักฐานชัดเจนว่าโกหก ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างถล่มทลาย สุดท้ายเลยถูกสังคมรุมประณาม ถูกดำเนินคดีข้อหาหนัก หนำซ้ำยังอาจถูกเพิกถอนใบขับขี่อย่างถาวร

อนาคตต้องมาดับวูบเพราะความอารมณ์ร้อนของตัวเองแท้ๆ

สังคมอดทนต่ำ

คดีนี้นับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึง "อุณหภูมิร้อนระอุบนท้องถนน" ได้เป็นอย่างดี เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร และพร้อมที่จะบันดาลโทสะได้ทุกเมื่อ

จากถ้อยคำสบถ สู่ลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกาย อาจถึงขั้นฆ่ากันตายได้ง่ายๆ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า ปัจจุบันเมืองไทยได้เข้าสู่ 'ยุคสังคมเมือง' ผู้คนต่างใช้ชีวิตแบบเร่งรีบ การอยู่ร่วมกันในสังคมก็เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ไปถึงจุดหมายของตัวเอง ขณะเดียวกันแต่ละคนล้วนมีปัญหาสะสมในใจ เมื่อเจอปัญหาการจราจรคับคั่งบนท้องถนน ก็ง่ายที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกัน

"สาเหตุของการกระทบกระทั่งกันบนท้องถนน มี 3 ปัจจัยคือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น บวกกับ การบริหารจัดการอารมณ์ และ พื้นฐานบุคลิกภาพของแต่ละคน จุดเดือดของคนเราไม่เท่ากัน การแสดงออกทางอารมณ์ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนเดือดแล้วหันไปสู่วิธีจัดการให้สงบ แต่บางคนเดือดแล้วเลือกใช้วิธีรุนแรง ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงแตกต่างกัน"

สอดคล้องกับความเห็น พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) บอกว่า ปัญหากระทบกระทั่งบนท้องถนนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกวัน ทว่าพ.ศ.นี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากปัญหารถติดสะสมเพิ่มขึ้น คนเครียดมากขึ้น พอเกิดเรื่องก็พร้อมที่จะฟิวส์ขาด

"ที่สำคัญต้องยอมรับว่า วินัยจราจรของคนไทยค่อนข้างต่ำ ทุกคนเอาเปรียบกันเพื่อให้ตัวเองไปถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด บางคนขับขี่รถมาดีๆแต่เจอการเอารัดเอาเปรียบวันแล้ววันเล่าก็เก็บสะสมความไม่พอใจไปเรื่อย จนวันหนึ่งทนไม่ไหวเกิดบันดาลโทสะ ระเบิดความรุนแรงออกมา

"วินัยจราจรบ้านเราวิกฤตมาก วัดได้จากสถิติของสถาบันวิจัยด้านคมนาคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่ท้องถนนอันตรายที่สุดในโลก มีตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์อยู่ที่ 44 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน เทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์อยู่ที่ 18 คนต่อประชากร 100,000 คน"รองผบก.จร.กล่าว

ถอดบทเรียนคดี "ดีเจเกียร์R" เมื่ออารมณ์เดือดทำชีวิตพัง

เพิกถอนใบขับขี่ ยาแรงได้ผลชะงัด?

แม้ความบาดหมางของดีเจคนดังกับคู่กรณีจะลงเอยด้วยดี ทว่าขั้นตอนทางกฎหมายยังคงดำเนินต่อไป

ความคืบหน้าล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ดินแดงรวบรวมสำนวนพยานหลักฐานฟ้อง 3 ข้อหา ประกอบด้วย ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น, ทำร้ายร่างกายไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายทางร่างกายและจิตใจ และ ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจ ส่งให้พนักงานอัยการ ขณะเดียวกัน สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า หากสอบสวนพบว่ามีการกระทำผิดชัดเจนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2558 และพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 อาจพิจารณาพักใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 1 ปี และหากตรวจสอบประวัติย้อนหลังพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำ ก็สามารถยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ฉบับดังกล่าวอย่างถาวร

พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าวว่า การใช้มาตรการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และการกำหนดระยะเวลางดเว้นไม่ให้ขับรถบนท้องถนนช่วงระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย และรักษาความสงบเรียบร้อยบนท้องถนน คัดกรองผู้ขับรถที่ไม่มีคุณภาพออกจากท้องถนนเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นๆ

กรณีเพิกถอนใบขับขี่ต้องดูพฤติการณ์ว่ารุนแรงแค่ไหน กระทบต่อความสงบเรียบร้อยบนท้องถนนไหม ถ้าไม่กระทบมากก็อาจใช้วิธีพักใบขับขี่ชั่วคราว 1 ปี เพื่อให้โอกาสปรับปรุงตัว แต่ถ้าศาลพิจารณาแล้วว่าถ้าปล่อยให้ขับรถต่อไปจะเป็นอันตราย ก็อาจให้เพิกถอน ซึ่งหากเพิกถอนแล้วยังขับรถ มีโทษจำคุก 2 ปี

อีกประเด็นที่น่าคิดคือ พฤติกรรมที่ไม่สมควรจะขับรถ ยกตัวอย่างคดีไฮโซหนุ่มขับรถไล่ชนคนบนทางเท้าจนเสียชีวิต  เราเคยประสานไปยังกรมขนส่งทางบกเกี่ยวกับการประเมินสภาพทางจิตใจและสภาพร่างกายของผู้ขับรถ เนื่องจากที่ผ่านมาพอได้ใบขับขี่แล้วก็สามารถต่ออายุได้เลยเมื่อครบกำหนด 5 ปี แต่การเช็คความพร้อมทางด้านจิตใจและร่างกาย ถ้ามีปัญหามีผลต่อการขับรถก็อาจไม่ต่ออนุญาตขับขี่ให้ เดาง่ายๆว่า รถบนท้องถนน 100 คัน มันอาจจะมีสักคนที่สภาพจิตสภาพร่างกายไม่เหมาะกับการขับรถ แต่ดูไม่รู้ จนกระทั่่งเกิดเหตุ อาการถึงได้ปรากฎออกมาให้เห็น

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบก เพิ่งบังคับใช้ประกาศกำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาการออกใบอนุญาตขับรถสำหรับผู้ที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ พ.ศ.2558 โดยกำหนดให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ โดยไม่ใช่จากเหตุขาดคุณสมบัติเรื่องอายุ ตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 จะไม่สามารถขอรับใบอนุญาตขับรถฉบับใหม่ได้ จนกว่าจะพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ  หากจะขอรับใบอนุญาตขับรถใหม่อีกครั้งจะต้องเข้าสู่กระบวนการ ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถรายใหม่ที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตมาก่อน ซึ่งจะได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราว แล้วแต่กรณี และสำหรับกรณีที่ใบอนุญาตที่ถูกเพิกถอนเป็นใบอนุญาตขับรถชนิดส่วนบุคคลตลอดชีพ จะไม่มีการออกใบอนุญาตขับรถชนิดส่วนบุคคลตลอดชีพทดแทนแต่อย่างใด

ถอดบทเรียนคดี "ดีเจเกียร์R" เมื่ออารมณ์เดือดทำชีวิตพัง

จงใจ-เจตนา...ประกันไม่จ่าย

คำถามที่หลายฝ่ายต้องการคำตอบก็คือ กรณีตั้งใจชนรถคันอื่นเพราะบันดาลโทสะ ประกันภัยรถยนต์จะคุ้มครองหรือไม่?

อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย อธิบายว่า ตามหลักกฎหมายและหลักการประกันภัยของทั่วโลกระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ ถ้าหากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการ "จงใจและเจตนา"

"หลายครั้งมีเคสคนใจร้อนขับชนคู่กรณี แล้วบอกกว่า 'ไม่เป็นไร รถผมประกันชั้นหนึ่ง' ที่ผ่านมาเราพิสูจน์ไม่ได้ทุกเคสว่าเขาเจตนาหรือไม่ ต้องดูจากสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก สำหรับเคสล่าสุดที่เกิดขึ้นมีภาพชัดเจน ไม่ต้องรอดูสำนวนของพนักงานสอบสวน ดูคลิปวีดีโอก็เห็นชัดเจนว่าเป็นการเจตนาชน บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ กรมการขนส่งทางบกควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการคัดกรองผู้ที่จะมีสิทธิ์สอบใบขับขี่ว่า คนที่จะมาขับรถบนท้องถนนร่วมกับรถคันอื่นได้ควรมีวุฒิภาวะแค่ไหน  นอกจากนี้ยังคิดไปถึงการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ของผู้ขับขี่ที่จะมาทำประกันภัยรถยนต์ ที่ผ่านเราอิงจากตัวรถเป็นหลัก แต่ต่อไปอาจต้องอิงจากตัวผู้ขับขี่ คนไหนมีพฤติกรรมขับรถประมาทซ้ำซาก ชนบ่อย ต้องมีการบันทึกประวัติการเกิดอุบัติเหตุ พฤติกรรมการขับขี่"

คลิปวีดีโอ...หลักฐานสำคัญยามคับขัน

วิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความ จะมาไขข้อข้องใจถึงกรณีจงใจถอยรถชนรถคันอื่นว่าเข้าข่าย "พยายามฆ่า" หรือไม่

"ข้อหาพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 หรือ 289 และ 80 หมายถึงผู้กระทำความผิดมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือชีวิตของคู่กรณี หรือ ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น แต่การกระทำผิดกระทำไปไม่ตลอด หรือ การกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  อธิบายง่ายๆคือ ข้อหาพยายามฆ่านั้น  ผู้กระทำผิดต้องมีเจตนาฆ่าตั้งแต่แรก เพียงแต่ไม่บรรลุผลนั่นคือความตายของผู้อื่น ซึ่งกรณีนี้ก็ต้องดูว่า การถอยหลังชนมีเจตนามุ่งต่อชีวิตหรือเพียงทรัพย์สิน ถ้ามุ่งทรัพย์สินคือรถยนต์ก็จะผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ถ้ามุ่งเอาชีวิตก็เข้าข่ายพยายามฆ่า"

นักกฎหมายรายนี้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรวบรวมข้อเท็จจริงจากภาพถ่าย หรือคลิปวิดิโอ รวมทั้งทำการสอบสวนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ถ้าฝ่ายใดไม่เห็นด้วยก็สามารถโต้แย้งได้ และสุดท้ายศาลจะเป็นผู้ตัดสิน

"ต้องยอมรับภาพและคลิปต่างๆเป็นประโยชน์มากต่อพยานหลักฐาน ในต่างประเทศใช้กล้องวงจรปิดในที่สาธารณะ เวลามีการทำร้ายร่างกายหรือทะเลาะวิวาทกัน เมื่อมีความเห็นเป็นไปในแนวทางขัดแย้ง เจ้าหน้าที่ก็จะอาศัยกล้องวงจรปิดเพื่อดูว่าใครบ้างกระทำความผิด ใครเป็นผู้ลงมือ ในแง่ของกล้องก็ต้องบอกว่ามีประโยชน์ ซึ่งตรงนี้ก็รวมถึงพลเมืองดีที่ใช้มือถือถ่ายคลิปเหตุการณ์ไว้เป็นหลักฐานด้วย"

อุบัติเหตุครั้งนี้ถือป็นกรณีศึกษาน่าสนใจที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต เพราะผลลัพธ์ที่ตามมาจากอารมณ์ชั่ววูบนั้น สร้างความเสียหายได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง.

ถอดบทเรียนคดี "ดีเจเกียร์R" เมื่ออารมณ์เดือดทำชีวิตพัง