posttoday

สมการอำนาจใหม่ กุญแจสู่ความปรองดองยั่งยืน

03 มกราคม 2559

ดังนั้นต้องออกแบบรัฐธรรมนูยอย่างไรให้สามฝ่ายอยู่ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ทหาร+พรรคการเมือง2.สีแดงพรรคเพื่อไทย3.กปปส.พรรคประชาธิปัตย์

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม / ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ประเทศไทยเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างเป็นทางการ แม้ปีเก่าจะผ่านไป แต่ปัญหาทางการเมืองที่คาราคาซังในปี 2558 ยังคงถูกส่งข้ามปีมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การสร้างความปรองดอง การปฏิรูปประเทศ ไปจนถึงสถานะทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อฉายภาพประเทศที่ต้องเผชิญในปีนี้ รวมไปถึงสิ่งจำเป็นที่แต่ละฝ่ายต้องดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศก่อนการเลือกตั้งในปี 2560

เอนกเริ่มจากการชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังมีทางสองแพร่งในสองเรื่องด้วยกันคือ การร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการสร้างความปรองดอง

“การเมืองไทยเดินมาถึงทางสองแพร่งที่ต้องเลือกเดินให้ชัดว่าจะไปทางไหน เช่น ทางหนึ่งรับรัฐธรรมนูญ โรดแมปก็เดินต่อไป ถ้าส่วนใหญ่ไม่เอารัฐธรรมนูญ โรดแมปเดิมที่วางไว้ก็ไปต่อไม่ได้ ต้องมาทำโรดแมปใหม่เช่นเดียวกับการสร้างความปรองดองก็เป็นเรื่องทางสองแยกอีก แยกหนึ่ง คือ เงียบๆ ไว้ไม่ให้พูดอะไร รอให้คดีต่างๆ มันเสร็จ ทุกฝ่ายมีความชัดเจนว่าต้องรับโทษอะไร แล้วค่อยมาคิดเรื่องการนิรโทษกรรม อีกแบบหนึ่งคือจะต้องมีการบอกว่าจะเดินหน้านิรโทษกรรมอย่างไร จะนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ และจะดำเนินการแบบไหน”

“ผมว่าปี 2559 อย่างมากที่สุดที่เราคาดหวังได้คือความชัดเจนว่าเราจะไปทางไหน ผิดกับปี 2558 ที่หนักไปในทางคัดค้านและการจัดการและปราบปราม มาในปี 2559 ผมคิดว่าควรต้องตกผลึกเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญ”

3 ฝ่ายกินกันไม่ลง ต้องออกแบบ รธน.ให้อยู่ร่วมกัน

อาจารย์เอนก ย้ำว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ออกแบบให้อำนาจสามฝ่าย คือ ทหาร ฝ่ายการเมือง กลุ่มสีเสื้อ มีความสมดุล เพราะการสร้างความปรองดองไม่มีทางสำเร็จได้ หากยังใช้รูปแบบการเมืองเหมือนในอดีต

“ต้องพิจารณาถกเถียงและมีฉันทามติพอสมควรว่าเราจะไปทางไหน เราจะกลับไปเป็นแบบเดิม คือ มีการเลือกตั้ง จัดการกับทหารที่ยึดอำนาจ หรือจะกลับไปเป็นแบบเดิมในแง่ที่ว่า พวกสีหนึ่งจะกลับมา เกิดการทะเลาะกัน เดินขบวนอีก ดังนั้น ต้องออกแบบที่จะทำอย่างไรเพื่อให้สามฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างปรองดองกัน”

“การปรองดองกันต้องเริ่มจากการแบ่งอำนาจให้ได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาสีใดสีหนึ่งออกไปจากสมการอำนาจ หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาทหารออกไปจากสมการอำนาจเพื่อให้เหลือแค่สองสี ดังนั้นต้องออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไรให้สามฝ่ายอยู่ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.ทหาร+พรรคการเมืองอื่นๆ 2.สีแดง พรรคเพื่อไทย 3.กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่ฝ่ายที่จะบริหารจัดการจะเป็นฝ่ายที่ไม่ใช่สองสีที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการสร้างความปรองดอง”

ขณะเดียวกัน ในมุมของเอนกยังคิดต่อไปอีกว่า ทหารต้องเป็นฝ่ายสื่อสารออกมาให้ชัดว่าอยากจะสร้างความปรองดองอย่างไรด้วย ถึงจะช่วยให้ทุกอย่างมีความชัดเจน

“ถ้าเราจะให้ปี 2559 เป็นปีที่ทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้นได้จริงๆ ทหารต้องสื่อกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้รู้เรื่องว่าจะเอารัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ใช่ปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญกันมา และพอถึงเวลาก็ไม่เอาอีก ต้องทำให้เรื่องนี้ให้ตกผลึก

“...ปี 2559 ต้องออกแบบเรื่องการสร้างความปรองดองให้เสร็จ การปรองดองจะเกิดขึ้นจะต้องมีเรื่องที่ต้องเอาผิดและมีเรื่องที่จะต้องนิรโทษกรรมและอภัยโทษ อะไรที่ทำได้ก็ต้องทำไปก่อน จะให้ปรองดองแบบมีความยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีสามฝ่ายเข้ามาร่วมปรองดอง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ฝ่ายหนึ่งเป็นคนดำเนินการปรองดอง ขณะที่อีกฝ่ายเป็นฝ่ายที่ถูกบริหารจัดการในการปรองดอง

“...บางเรื่องไม่ต้องเอาคนมากมายมาพูดหรอก เอาคนที่สำคัญมาก็พอ เพราะคนไทยมีปฏิภาณและไหวพริบที่จะอยู่อย่างสงบและสันติ ทุกคนต้องความสงบทั้งนั้น ถ้าคุณจัดการให้โดยที่ทุกคนรู้สึกว่ามันไม่มากเกินไป และมีสัดส่วนที่พอดีพอเหมาะ ผมว่าก็ยอมกันได้ สิ่งที่คณะรัฏฐาธิปัตย์ต้องพยายามหลีกเลี่ยง คือ อย่าทำให้เห็นว่าตนเองทำอะไรแล้วมันไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสม เท่านั้นมันก็โอเค มันไม่มีใครอยากอยู่แบบนี้ไปอีกนานหรอก เพราะมันไม่สนุก”

เมื่อถามถึงทิศทางการปฏิรูปประเทศในช่วงปี 2559 อาจารย์เอนกกลับมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกิดได้เท่าไหร่นักด้วยสภาพที่แตกแยกอยู่เช่นนี้ ถ้าต้องการปฏิรูปประเทศจริงๆ ก็ต้องดึงสามฝ่ายเข้ามาร่วมกันให้ได้

“ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเมืองไทยจะปฏิรูปได้หรือเปล่า การปฏิรูปประเทศถ้าจะเกิดขึ้นได้ในสภาพอย่างทุกวันนี้ก็ต้องปฏิรูปโดยสามฝ่ายร่วมกันอยู่ดี ปี 2559 ในความเห็นของผม คือ ต้องทำให้เห็นว่าโรดแมปใหญ่ของประเทศจะต้องเป็นสามฝ่าย คุณจะทำอะไรได้ถ้าคุณไม่ทำแบบนี้

“...คุณจะให้สีแดงหรือพรรคเพื่อไทยเจ๊งไป ถามว่าแล้วเจ๊งหรือเปล่า คุณก็เห็นอยู่ว่าก็ไม่เจ๊งนะ คุณจะให้พรรคประชาธิปัตย์ กปปส.เจ๊งไป แล้วเจ๊งหรือเปล่า มันก็ไม่เจ๊งนะ คุณให้ทหารหายไปโดยอัตโนมัติ โดยฉับพลันและไล่ให้ไป ก็ไม่ไปหรอก”

...ในสังคมไทยได้ทดลองทำกันมา 80 ปีแล้ว จะเห็นว่าชนชั้นนำของเรา ทหารของเรา ไม่ใช่อะไรที่คุณจะไปยึดอำนาจมาได้ง่ายๆนะ เขาเก่ง เขาสู้ เขาปรับตัว ส่วนชนชั้นล่างของเรา ชนชั้นกลางของเรา ก็ไม่ใช่พวกที่จะยอมสยบอยู่ในอำนาจใครโดยไม่หือไม่อือ เมื่อเอาอีกฝ่ายลงไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็กดเขาไม่ได้ ก็ต้องมา
ร่วมกัน

คนเบื่อความขัดแย้งแบบเดิม ทหารยุคใหม่ บู๊บุ๋นครบเครื่อง

อย่างไรก็ตาม อนาคตของการร่างรัฐธรรมนูญ ถูกผูกไว้กับการทำประชามติด้วย โดยมีการประเมินว่าน่าจะมีขึ้นในช่วงกลางปี 2559 ซึ่งในทัศนะของอาจารย์คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการออกแรงของรัฐบาลและทหารด้วย

“ถ้ามันไม่มีใครเข้าไปจัดการหรือจัดตั้งเลย และรัฐบาลก็ช่วยรณรงค์ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ก็อาจจะผ่านได้ แต่ถ้ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายที่กำลังขัดแย้งอยู่นี้กลับไปรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะขลุกขลัก แต่ในอารมณ์ของคนทั่วๆ ไป ผมคิดว่าไม่ได้คิดเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเท่าไหร่หรอกตอนนี้”

“ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับทหาร ถ้าทหารคิดว่าเวลาที่ทหารต้องการในปี 2559 ยังไม่พอ ผมคิดว่าเขาก็อยู่เฉยๆ รัฐธรรมนูญก็ตกได้ แต่ถ้าเขาคิดว่าเขาพร้อมแล้ว เขาก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐธรรมนูญผ่านได้ ผมก็คิดว่ารัฐธรรมนูญก็ผ่านได้ แต่มาถึงตอนนี้ ทหารเขาเอาสถานการณ์อยู่ อีกอย่างปี 2559 เศรษฐกิจก็อาจจะดีขึ้นด้วย”

ช่วงท้ายอาจารย์เอนกวิเคราะห์ถึงอารมณ์ของประชาชนที่มีต่อการเมือง รวมถึงเปรียบเทียบการจัดระเบียบของกองทัพในเรื่องการเมืองในอดีตกับปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

“อารมณ์คนก็คงไม่ชอบให้เกิดความขัดแย้งแบบเก่าๆ อีก แต่จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วก็ไม่ได้อยากเท่าไหร่ ถ้าเป็นสังคมไทยแบบปกติก็คงต้องเลือกตั้งแล้ว แต่ว่าสังคมไทยตอนนี้อยู่ในภาวะที่มีเรื่องอื่นๆ สำคัญกว่า คือ ฝ่ายหนึ่งก็ไม่ชอบเลือกตั้งแล้ว เพราะถ้าเลือกตั้งก็รู้ว่าอีกพวกหนึ่งกลับมาแน่ เลยคิดว่าอยู่เฉยๆ อยู่แบบนี้ไปก่อนก็ได้”

“ส่วนฝ่ายที่ต้องการการเลือกตั้ง เวลาขยับปุ๊บก็โดนรวบ ทหารก็ขยันทำงานเป็นระบบมาก ไม่ใช่ทหารที่ขยับอยู่คนเดียว แต่เป็นทหารที่ขยับทั้งกองทัพ ทั้งกองทัพเปลี่ยนสภาพเป็นพรรคการเมืองหมด แต่เป็นพรรคการเมืองที่มีอาวุธอยู่ในมือครบและมีอำนาจพิเศษ เพราะฉะนั้นฝ่ายที่คิดจะต่อต้านรัฏฐาธิปัตย์ก็ต้องคิดหลายตลบ ซึ่งคนไทยเราก็ไม่อยากคิดอยู่แล้ว พอคิดๆ ไปแล้ว รอดีกว่า”

“อย่าไปคิดว่าทหารตอนนี้เป็นทหารเมื่อปี 2535 หรือ 2549 ทหารปี 2535 เผชิญกับสังคมที่ไม่มีความแตกแยก เพราะเป็นพลเรือนสู้กับทหาร เป็นคนชั้นกลางสู้กับทหาร ปี 2549 พอยึดอำนาจเสร็จ ก็รู้สึกว่าต้องรีบคืน รีบให้มีการเลือกตั้ง เอานายกฯ สุรยุทธ์ มาทำหน้าที่ นายกฯ สุรยุทธ์ ก็พยายามจะเป็นนายกฯ ประชาธิปไตย ในขณะที่ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว คนก็กลับมาสู่ประชาธิปไตยได้เร็ว และสิ่งที่คนไม่คาดถึงคือ คนกลับมาเลือกพรรคของคุณทักษิณมาเป็นรัฐบาล พอมาปี 2558 ทหารได้เข้ามายึดอำนาจ ก็อยู่กับอำนาจเต็มที่ เป็นระบอบที่คิดแล้วว่าไม่ใช่จะเข้ามาอยู่แค่ไม่กี่เดือน หรือ อยู่ปีเดียวแล้วจะออกไป เข้ามาเพื่อให้ประเทศไทยไม่กลับไปเป็นแบบเดิมด้วย” เอนกสรุป

นายกฯบิ๊กตู่ ส่วนผสมระหว่าง 'สมัคร-ป๋า'

ผ่านมาปีกว่า คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีตก อาจารย์เอนกวิเคราะห์ถึงท่าทีและความคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า "ผมว่าเขาเป็นคนที่รู้เยอะ รู้ลึก รู้หลายเรื่อง และเรียนรู้เร็ว ผมก็ไม่เคยคิดนะว่าเขาจะพูดได้ทุกเรื่องในเวลาอันรวดเร็ว และรู้เรื่องทุกเรื่อง มีความรู้ในขนาดที่พอทำอะไรได้ บางอย่างเขาคล้ายคุณสมัคร สุนทรเวช เป็นอย่างมาก ไม่น่าเชื่อนะ คนคนหนึ่งเป็นทหารมาทั้งชีวิต ทำไมถึงรู้อะไรเยอะขนาดนี้ เขาเรียนรู้เร็ว และมีสัญชาตญาณของการเป็นผู้นำอยู่ไม่น้อย กล้าตัดสินใจเร็ว ใช้ลูกน้อง และลูกน้องก็โอเคกับเขา"

"ถามว่าคนไทยทั้งหมดชอบเขาหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็มีคนที่ชอบเขามากกว่าที่เราคิดก็แล้วกัน คุณจะไปทำอะไรเขาได้ตอนนี้ เขาก็กล้าจับจริงๆ ที่เขามีอะไรที่แตกต่างกว่าผู้นำ

คนอื่นๆ มีอยู่ไม่กี่เรื่อง หนึ่ง เขาไม่ยอมให้ประเทศไทยอยู่เฉยๆ แล้ว เขาใช้กำลังและใช้น้ำหนักใช้ทุกอย่างกระแทก เข็น และลากให้ไปข้างหน้า"

...คุณจะชอบหรือไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง แต่เวลานี้คุณจะอยู่กับที่วนไปวนมาไม่ได้ ต้องเดินหน้า สอง เขากล้าที่จะขัดใจใครก็ได้ เขากล้าหมดดูสิ ขัดใจนักข่าวก็กล้า ขัดใจนักวิชาการก็กล้า ขัดใจประชาธิปัตย์ก็กล้า ขัดเพื่อไทยก็กล้า แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่รับรู้นะว่าขัดใจ คนอื่นอยู่ เขาก็พูดเสมอนะว่าเขาเสี่ยง เขาอันตราย

"...ผมว่าอาจเป็นสองเรื่องที่คนไทยมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว ไม่ไปไหนกันสักที ชักเย่อกันอยู่ตรงนี้ จะไปไหนก็ไม่ไป อันนี้แหละที่จะอธิบายว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งถึงรับเขาได้"

แม้อาจารย์เอนกจะเคยอยู่ในแม่น้ำ 5 สายทั้งในฐานะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูป แห่งชาติ แต่ก็ไม่เคยได้สนทนากับ พล.อ.ประยุทธ์ ในทางตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ กลับรู้จักอาจารย์เอนก ซึ่งอาจารย์เอนกบอกว่าตรงนี้เป็นความพิเศษส่วนหนึ่งของนายกฯ

"ผมไม่เคยคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ เลย แต่เขามารู้จักชื่อผม และชื่อพี่ชายผมด้วย มีคนเล่าให้ผมฟังว่า เขาทบทวนความจำว่า 'เจริญค้าข้าว เอนกปรองดอง' อะไรแบบนี้ แสดงว่าเขาเป็นคนอื่นหนังสือพิมพ์ อ่านรายงานอยู่ไม่น้อย ซึ่งนายกฯ คนอื่นๆ ไม่ถึงขนาดนี้เลย"

"อีกอย่างท่านก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ได้เข้าใกล้เลย คนที่เป็น นายกฯ ส่วนหนึ่งเสียคนเพราะพอได้เป็นก็จะมีคนรุมให้วุ่นไปหมด จนไม่มีเวลาทำอะไร เว้นแต่จะเป็นนักลงทุนและเป็นคนที่เกี่ยวกับงาน พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะให้พบ ตรงส่วนนี้มีความคล้ายกับ ป๋า (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ป๋าคุยกับคนโดยอิงตามสถาบัน เช่น ป๋าคุยกับนักธุรกิจคนนี้เพราะคนนี้เป็นประธานหอการค้า ไม่ได้คุยเรื่อยเปื่อย"

กระนั้นทุกอย่างมีสองด้าน โดยในสายตาของอาจารย์เอนกมองว่า นายกฯ มีข้อดีอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องปรับเช่นกัน

"ข้อดีก็มี ข้ออ่อนก็มีอยู่ เช่น ใจร้อน และผมว่าต้องฟังคนให้มากขึ้น ต้องฟังความเห็นต่างๆ ให้หลากหลาย ต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำงานที่ใหญ่มากและสำคัญมาก และต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร เวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ถ้าความเด็ดขาดและความเหนียวแน่นและความอึดของเขาทำให้ประเทศไทยคลี่คลายได้ ผมว่าจะอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์แน่นอน ที่ผ่านมาก็ไม่เคยคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะทำอะไรได้ขนาดนี้"