posttoday

มองอนาคตเกาะระมุม... จุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์

23 กรกฎาคม 2553

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

โดย....ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

มองอนาคตเกาะระมุม... จุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วบนผืนดินเกาะระ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา คือสภาพการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อสร้างเงื่อนไขสำหรับออกเอกสารสิทธิทำกิน (สทก.) โดยข้อมูลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ระบุว่า “นักการเมืองท้องถิ่น” มีเอี่ยว ช่วยตอกย้ำข้อพิรุธที่เกิดขึ้นได้อย่างยิ่งยวด
              
 สังคมจึงตั้งคำถามไปยัง จุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.พังงา พรรคประชาธิปัตย์ น้องชาย จุรินทร์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะผู้กว้างขวางและเจ้าของพื้นที่ ว่ารับทราบถึงปัญหาหรือมีส่วนเกี่ยวโยงหรือไม่
               
“ยืนยันเลยว่าผมและพรรคพวกไม่มีพื้นที่บนเกาะอย่างแน่นอน ทั้งประเทศไทยผมก็ไม่มีสักแปลง ตรวจสอบได้ ที่สำคัญเรื่องนี้ผมเป็นคนเอาเข้ามายังที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร) เอง ผมก็เป็นหนึ่งในคณะด้วย ถ้าผมทำผิดหรือคิดจะปกป้องพรรคพวกก็คงไม่บ้าส่งเรื่องเข้ามาตรวจสอบตัวเอง”
               
เขา ยอมรับว่า รู้จักกับนักการเมืองท้องถิ่นจริงเพราะต้องทำงานร่วมกัน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกที่ดิน ที่สำคัญเขาเป็นผู้แจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนายทุนผู้บุกรุกด้วยตัวเอง
              
จุฤทธิ์ เล่าว่า ประชากรบนเกาะระทั้งหมดมีไม่เกิน 100 คน หากเชื่อมโยงกันแล้วก็เป็นญาติกันทั้งหมด และก็จะโยงไปถึงนักการเมืองท้องถิ่น แต่จากร่องรอยการบุกรุกพบว่าเป็นกลุ่มนายทุน จึงได้แจ้งไปยังผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพังงา ท้ายสุดจับกุมได้ 19 ราย ขณะดำเนินคดีและส่งฟ้องศาลตามขั้นตอน
           
“ผมในฐานะส.ส.ในพื้นที่จะไม่ยอมให้ใครทำผิด ยิ่งพื้นที่ริมหาดประมาณ 1,500 ไร่นั้น ยิ่งต้องดูแล จะปล่อยให้ใครบุกรุกไม่ได้เด็ดขาด”

แต่ทว่า ยังมีข้อมูลความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างจุฤทธิ์กับนักการเมืองท้องถิ่น “ตระกูล ม.” รวมถึงข้าราชการกรมป่าไม้ระดับสูง ที่มีส่วนรู้เห็นในการบุกรุกพื้นที่เกาะในครั้งนี้
               
“ขอเรียนว่าคนตระกูล ม. ที่เป็นข่าวนั้นไม่เคยสนับสนุนทั้งผมและพี่จุรินทร์เลย คนในพื้นที่ก็รู้ดี ในวันนี้มีความพยายามบิดเบือนข้อมูลบางส่วนว่าผมมีความสัมพันธ์กับ 1 2 3 4 5 คน ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของส.ส. จำเป็นต้องรู้จักทุกคนในจังหวัด ถ้าบอกว่าไม่รู้จักแสดงว่าไม่ได้ลงพื้นทำงานเลย แต่จะเหมารวมว่าผมเชื่อมโยงกับการบุกรุกพื้นที่นั้นคงไม่ถูก ถ้ายังเคลือบแคลงก็ไปพิสูจน์สิทธิ์ได้”
               
สำหรับความเป็นมาของปมปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จุฤทธิ์ อธิบายว่า เดิมทีพื้นที่ป่าสงวนฯ เกาะระเป็นของกรมป่าไม้ที่มอบให้กรมอุทยานแห่งชาติดูแล กระทั่งในปี 2552 หลังเหตุการณ์สึนามิ มีการปรับเปลี่ยนโครงการบริหารราชการ โอนองค์การสวนพฤกษศาสตร์จากสำนักนายกรัฐมนตรีมาอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นั่นเท่ากับว่า ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ขึ้นตรงกับ ทส.เพียงผู้เดียว
               
จากนั้นก็เกิดข้อพิพาทเรื่องเนื้อที่บนเกาะทั้ง 1.2 หมื่นไร่ว่าจะให้ใครดูแล จะทำให้เกาะระเป็นอะไร และกระทบต่อวิถีชาวบ้านหรือไม่ โดยมีการตั้งงบ 26 ล้าน ให้ศึกษาความเป็นไปได้สำหรับให้เกาะระเป็นสวนพฤกษศาสตร์ทั้งเกาะคือ 1.2 หมื่นไร่ แต่ก็ถูกคัดค้านจากชาวบ้านอย่างหนัก เนื่องจากกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่เดิม
               
ขณะเดียวกันก็มีผู้ร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการฯ เรื่องการบุกรุกพื้นที่ด้วยการเตรียมออก สทก. จำนวน 154 ราย ที่สุดแล้วตรวจสอบเหลือเพียง 139 ราย จึงได้ทำหนังสือไปยัง ทส.เพื่อให้ชี้แจง และเรื่องก็ยังค้างอยู่ตรงนี้
               
อย่างไรก็ตามล่าสุด ทราบว่าเหลือเพียง 79 รายที่เข้าเงื่อนไขออก สทก. แต่ก็ยอมรับว่ามีโอกาสที่นายทุนจะมาสวมสิทธิ์ของชาวบ้านในการขอออก สทก. ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องป้องปรามให้ถึงที่สุด และคาดว่าท้ายที่สุดแล้วจาก 79 ราย จะไม่เหลือแม้แต่รายเดียว
               
จุฤทธิ์ บอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีการบุกรุกพี้นที่เลย กระทั่งปี 2552 เมื่อมีข่าวว่าจะมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาใช้พื้นที่เกาะระทำโน่นทำนี่ และผมคิดว่าตอนนี้ ทส. มีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าจะให้เกาะระเป็นอะไร เพราะในปีงบประมาณ 2554 ไม่มีการจัดสรรงบให้เกาะระแม้แต่บาทเดียว
               
สอดคล้องกับการบริหารงานขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งหากไม่มีงบสนับสนุนจากรัฐบาล กฎหมายก็เปิดช่องให้สามารถร่วมทุนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ได้
           
ชาวบ้านจึงเป็นห่วงว่ากำลังหนีจากยักษ์ตัวหนึ่ง มาเจอยักษ์ตัวใหญ่กว่า และกินเรียบกว่า เพราะพื้นที่แห่งนี้ถ้ามอบให้หน่วยงานใดแล้วกฎหมายเอื้อให้สามารถทำสัมปทานได้ ผลประโยชน์มหาศาลย่อมต้องตกไปอยู่กับใครสักคน
               
“ที่หน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงไปสำรวจนั้น พบกวาง พบหมูป่า แสดงว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านอนุรักษ์มาตลอด ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ แต่เมื่อมีข่าวว่าหน่วยงานรัฐจะเข้ามาดูแลพื้นที่ ผมไม่มั่นใจว่าสัตว์เหล่านี้จะยังเหลืออยู่หรือไม่”
               
แนวทางการอนุรักษ์เกาะระในมุมมองของจุฤทธิ์ เห็นว่า ควรทำเป็นโมเดลเชิงอนุรักษ์ระดับประเทศ ให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ได้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาควบคุม และเมื่อพบการบุกรุกชาวบ้านก็จะแจ้งความดำเนินคดีเอง
           
“พังงาพอแล้วสำหรับอุทยานฯ จะเห็นได้ว่าเกาะระแห่งนี้ปัจจุบันก็ยังไม่ได้เป็นอุทยานฯ แต่ก็ยังมีความสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์อยู่อย่างครบถ้วน นั่นเป็นข้อยืนยันว่าชาวบ้านสามารถอนุรักษ์ไว้ได้ตั้งแต่ในอดีตเป็นร้อยๆ ปี”
           
เขา บอกว่า กรรมาธิการหลายท่านพยายามให้ผมในฐานะเจ้าของพื้นที่ชี้ว่าเกาะระควรเป็นอะไร แต่ดูเหมือนว่าเขามีเพียงสองตัวเลือก คือสวนพฤกษศาสตร์กับอุทยานฯ ถามว่าทำไมมีแค่สองช็อยด์ให้ผมเลือก แล้วทำไมเจ้ากระทรวงอย่าง ทส. ไม่เลือกเอง แต่อย่างที่เรียนไปแล้วว่า ทส. ก็คงมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว
               
อย่างไรก็ตามเขายังมีคำถามอยู่ว่า ทส. มีสิทธิ์อะไรมาแบ่งพื้นที่ตรงไหนให้ใครเท่านี้เท่านั้น และไม่ว่าเกาะระจะถูกจัดการให้เป็นอะไรก็ตาม วันนี้กฎหมายเขียนไว้ชัดว่าต้องให้ทำประชาพิจารณ์ฟังเสียงจากชาวบ้านก่อนว่าจะเอาด้วยหรือไม่ แล้วจึงออกเป็นพ.ร.บ.
           
“ก่อนหน้านี้ที่อ้างว่าเคยทำประชาพิจารณ์ชาวบ้านแล้วนั้น คิดว่าคงไม่ใช่ เพราะมีกลุ่มคนเข้ามาเรียกประชุมชาวบ้าน ให้ความรู้กับชาวบ้านว่าสวนพฤกษศาสตร์ดีอย่างไร แน่นอนสวนพฤกษศาสตร์ดีกว่าอุทยานฯ เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่า พอชาวบ้านเห็นดีด้วยก็กลับนำรายชื่อชาวบ้านที่เข้ารว่มประชุมมาอ้างว่าเป็นประชาพิจารณ์ ซึ่งผมบอกว่าไม่ใช่ เพราะไม่มีการโหวตหรือแสดงความเห็นใดๆ ที่สำคัญไม่ได้ทำโดยหน่วยงานรัฐ”
              
 จุฤทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า หลายคนให้ความสนใจกับพื้นที่บนเกาะระเป็นอย่างมาก นั่นเพราะปัจจุบันนี้การหาเกาะส่วนตัวที่สมบูรณ์คงยากมาก ดังนั้นหากสามารถดูแลทั้งเกาะคือ 1.2 หมื่นไร่ได้ ก็สามารถครอบครองพื้นที่นี้อย่างเบล็ดเสร็จ
               
“กลุ่มนักวิชาการเองต้องเปิดกว้าง อันไหนเป็นสิ่งดีก็ควรเอา คิดว่าการอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องมีนักวิชาการและหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแล กลุ่มไทยใหญ่หรือมอแกนนั้นอยู่มากว่าร้อยปี ไม่มีใครเข้ามา เการะก็สุขสงบ พอปี 2552 มีการตั้งงบถึง 26 ล้านบาท เพื่อสำรวจเกาะระและจัดตั้งสิ่งต่างๆ ถามว่าเงินหายไปไหนหมด ดังนั้นต้องตรวจสอบทั้งสองด้าน”
              
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.คณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อพิรุธการออกเอกสารสิทธิตามข้อร้องเรียน เกิดกระแสข่าวว่านายจุฤทธิ์พยายามสะกัดกั้นไม่ให้คณะนักวิชาการและสื่อมวลชนลงพื้นที่ได้
               
จุฤทธิ์ อธิบายว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีผู้ติดตามมาเป็นคณะใหญ่เช่นนี้ เบื้องต้นได้เตรียมเรือเร็วที่จุได้ 20 คนไว้ เพราะคิดว่าจะมีเพียงคณะกรรมาธิการฯ เท่านั้น แต่เมื่อมากันมากจะให้ลงทั้งหมดก็เกรงเรื่องความปลอดภัย จึงได้ให้ไปลงเรือใหญ่ของกองทัพเรือ ซึ่งจุได้ประมาณ 50 คน ส่วนที่เหลือถ้าอยากตามไปก็ยินดี แต่คงต้องจัดหาเรือไปเอง
              
 ส่วนที่ต้องกลับออกมาจากพื้นที่เร็วนั้น เนื่องจากลมแรง ภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับทั้งเรือมีเสื้อชูชีพเพียง 10 ตัว ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น จ.พังงาจะไม่มีคนมาเที่ยวอีกเลย เป็นห่วงภาพลักษณ์ภาพพจน์ของจ.พังงา ไม่อยากให้ซ้ำรอยสึนามิ
          
 “ยิ่งนักวิชาการเข้ามาตรวจสอบก็ยิ่งดี คนพังงาจะได้เบาแรง แต่ตรวจสอบเสร็จต้องไม่แสดงความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เข้ามาตรวจสอบแล้วขอแบ่งสักพันไร่” จุฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย