posttoday

"ทรู-ดีแทค-จัสมิน" ดิ้นหนีตาย

20 ธันวาคม 2558

ธุรกิจมือถือหนีไม่พ้นที่จะมีสงครามราคาเกิดขึ้นรอบใหม่ แต่รอบนี้ค่ายจัสมินทำไม่ง่ายจึงต้องติดตามว่าจะใช้กลยุทธ์อย่างไร

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

จบลงไปแล้วสำหรับการประมูลคลื่น 900 MHz เมื่อเวลา 00.15 น. ในวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น แห่งค่ายทรู เป็นผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตสล็อตที่ 2 จำนวน 10 MHz ไปด้วยราคา 76,298 ล้านบาท

แต่เกิดปรากฏการณ์พลิกล็อก เมื่อบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ แห่งค่ายจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ชนะการประมูลใบอนุญาตสล็อตที่ 1 จำนวน 10 MHz ด้วยราคา 75,654 ล้านบาท และทำให้บริษัท แจส โมบายฯ เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายที่ 4 นอกจากค่าย  แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ค่ายโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และค่ายทรู (ทรู คอร์ปอเรชั่น)

นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจสื่อสาร มองว่าค่ายทรูประเมินผลประมูลผิดคาดไปมากเพราะสู้เต็มที่ เพื่อพยายามตีกันไม่ให้ดีแทคได้ใบอนุญาตไป แต่คาดไม่ถึงว่าจัสมินจะสู้ไม่ถอย ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในตลาดมือถือ จึงต้องติดตามกลยุทธ์ของค่ายทรูว่าจะทำอย่างไรที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดของดีแทคมาให้ได้ ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้รายใหม่เข้ามาล้วงตับลูกค้าออกไปได้ งานนี้ค่ายทรูคงต้องเหนื่อยอีกนาน...

ธุรกิจมือถือหนีไม่พ้นที่จะมีสงครามราคาเกิดขึ้นรอบใหม่ เหมือนตอนออเร้นจ์จากอังกฤษเข้ามาเป็นพันธมิตรของค่ายทรู แต่รอบนี้ค่ายจัสมินทำไม่ง่าย เพราะนอกจากจ่ายใบอนุญาตแพงมากๆแล้ว ยังต้องลงทุนระบบโครงข่ายและจะต้องลงทุนด้านการตลาดและทีมงาน ในฐานะผู้เล่นรายใหม่จริงๆ จึงต้องติดตามว่าจะใช้กลยุทธ์อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการดึงพันธมิตรเข้ามาและการให้บริการธุรกิจ 4จี จะมุ่งเน้นด้านใด

สำหรับค่ายดีแทค หากต้องการรักษาลูกค้าไว้จะต้องลงทุน 4จี แม้ใบอนุญาตจะเหลือเพียง 3 ปีก็ตาม และเป็นใบอนุญาตที่จ่ายค่าธรรมเนียมแพงถึง 25% เทียบไม่ได้เลยกับใบอนุญาตใหม่ที่จ่ายเพียง 5.25% นอกจากนั้นเงินลงทุนยังมีเวลาตัดค่าเสื่อมเพียง 3 ปีเท่านั้น นั่นหมายความว่าบริษัทจะต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก แต่หากไม่ลงทุนก็จะสูญเสียลูกค้าออกไปเรื่อยๆ ดังนั้นค่ายดีแทคจะต้องสู้ลงทุน 4จี

ขณะที่สถานการณ์ของค่ายเอไอเอส การประมูลคลื่น 900 MHz ไม่ได้ถือเป็นโชคดี เพราะราคาสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท/ใบ แพงเกินความจำเป็นของบริษัท และคลื่นที่มีอยู่ 30 MHz ก็เพียงพอที่จะรองรับลูกค้า ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการทีโอทีเลือกเอไอเอสเป็นพันธมิตรในการให้บริการ 3จี บนคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz เป็นเวลา 10 ปี

“เอไอเอสไม่ต้องจ่ายค่าประมูลรอบนี้ ทำให้มีเงินเหลือเพียงพอในการขยายการลงทุน และที่สำคัญมีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งอย่างค่ายทรูที่ต้องจ่ายใบอนุญาต 2 ใบ รวมมากกว่า 1 แสนล้านบาท และยังสามารถให้บริการได้เป็นอย่างดี” แหล่งข่าวเปิดเผย

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.  กล่าวว่า ค่ายเอไอเอสและค่ายดีแทค แม้จะไม่ชนะการประมูล แต่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์คับขัน เพียงแต่ต้องกำหนดกลยุทธ์เพื่อรักษาคุณภาพบริการและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ สำหรับค่ายทรูนั้นการมุ่งมั่นเอาจริงเพื่อชนะการประมูลทั้งสองคลื่น แสดงให้เห็นถึงความต้องการก้าวสู่อันดับ 1 ของตลาดมือถือในไทย การครอบครองคลื่นหลายย่านความถี่ในปริมาณมากจะเป็นผลดีต่อคุณภาพบริการและความครอบคลุมของพื้นที่ให้บริการ

สำหรับน้องใหม่ในตลาดมือถือ ค่ายจัสมิน ซึ่งมีบริการบรอดแบนด์แบบมีสายและบริการไว-ไฟอยู่แล้ว การเพิ่มบริการบรอดแบนด์ผ่านมือถือจะทำให้สามารถบริการลูกค้าบรอดแบนด์ได้ ครบวงจรมากยิ่งขึ้น และคาดการณ์ว่าแจสคงจะหาพันธมิตรทางธุรกิจกับค่ายมือถือเดิมที่ไม่ชนะการประมูลครั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดมือถือ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ให้บริการ 4 ค่าย มีใบอนุญาตคลื่นความถี่อยู่ในมือรวม 95 MHz และค่ายมือถือบางรายยังมีคลื่นที่ให้บริการลูกค้า ได้แก่ ค่ายดีแทคที่มีสัญญาสัมปทานใช้งานคลื่น 800 MHz จำนวน 10 MHz และคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz กับบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2561 และค่ายทรูที่มีสัญญาใช้งานคลื่น 850 MHz จำนวน 15 MHz ในรูปแบบ MVNO กับบริษัท กสทฯ ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2568

จึงเท่ากับว่าขณะนี้ค่ายมือถือทุกค่ายมีคลื่นความถี่ทั้งในระบบใบอนุญาตและในระบบการให้สัมปทานรวมทั้งสิ้น 165 MHz 

ฐากร ระบุว่า ในปี 2561 กสทช.จะนำคลื่น 1800 MHz จำนวน 45 MHz ที่หมดอายุสัมปทานมาเปิดประมูล รวมทั้งจะเจรจากับบริษัท อสมท ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่น 2600 MHz จำนวน 120 MHz บางส่วนมาเปิดประมูลภายในปี 2559 และในระยะถัดไปจะเจรจากับบริษัท ทีโอที นำคลื่น 2300 MHz ที่มีจำนวน 60 MHz มาเปิดประมูล

“กสทช.คาดว่าความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ต่างๆ ในเชิงพาณิชย์จะต้องมีประมาณ 300 MHz” ฐากร กล่าว

"ทรู-ดีแทค-จัสมิน" ดิ้นหนีตาย

แหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาความต้องการใช้งานคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นเป็นเส้นกราฟที่ชันมาก กสทช.มีหน้าที่ต้องจัดหาคลื่นให้เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยจะมีการเจรจากับ อสมท บริษัท ทีโอที รวมทั้งช่อง 7 ที่มีคลื่น 700 MHz เพื่อขอให้หน่วยงานเหล่านี้ คืนคลื่นมาให้ กสทช. เพื่อนำไปเปิดประมูล แต่เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ที่หน่วยงานเหล่านี้สูญเสียไปจากการคืนคลื่นความถี่ก่อนกำหนด กสทช.มีแนวคิดที่จะแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กสทช. เพื่อนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น เดิมทีกำหนดให้ต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด ให้แบ่งบางส่วนมาจ่ายชดเชยให้หน่วยงานเหล่านี้

สำหรับคลื่น 1800 MHz ที่จะเปิดประมูลในปี 2561 นั้น กสทช.กำหนดราคาประมูลใบอนุญาตตั้งต้นเท่ากับราคาประมูลคลื่น 1800 MHz ล่าสุดหรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อรายปี ส่วนคลื่น 800 MHz ที่จะหมดสัมปทานจะต้องคืนให้กระทรวงคมนาคม เพราะเป็นคลื่นที่ใช้ในการสื่อสารด้านการรถไฟระหว่างประเทศ ส่วนคลื่น 2600 MHz หาก อสมท คืนคลื่นมาให้จะต้องใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 8-10 เดือน ก่อนจะมีการเปิดประมูล

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สิ่งที่ค่ายจัสมิน ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการมือถือรายที่ 4 ต้องเผชิญหลังจากนี้คือ การที่ค่ายมือถือเดิมทั้ง 3 ราย จะต้องลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ลงมาแข่ง เพื่อป้องกันไม่ให้รายใหม่เกิด แต่ กสทช.ได้ออกแบบกลไกที่จะทำให้รายใหม่อยู่ได้คือ การเปิดกว้างในการเช่าเสาสัญญาณโทรศัพท์ ขณะที่ค่ายจัสมินเองมีโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกกระจายทั่วประเทศนับแสนกิโลเมตร หากต้องตั้งเสาสัญญาณใหม่ให้เป็นไปตามประกาศก็ลงทุนไม่มาก เพราะต้นทุนเสาขณะนี้ก็ลดลงมามาก

“หากค่ายจัสมินสามารถหาลูกค้าได้ 3-5 ล้านราย ก็น่าจะถึงจุดคุ้มทุนที่อยู่ได้ ส่วนการจ่ายค่าใบอนุญาตก็เอื้อต่อรายใหม่คือ ปีที่ 1 จ่าย 8,000 ล้านบาท ปีที่ 2 จ่าย 4,000 ล้านบาท ปีที่ 3 จ่าย 4,000 ล้านบาท และปีที่ 4 จะจ่ายค่าใบอนุญาตที่เหลือ แต่ปัญหาของจัสมินคือ การมีช็อปหน้าร้านที่จะให้บริหารน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และการถูกรับน้องจากค่ายมือถือรายเดิมที่ลดราคาลงมา โดยเฉพาะดีแทคที่ไม่มีต้นทุนในการประมูลครั้งนี้เลย” แหล่งข่าวเปิดเผย