posttoday

เรียงร้อยบูชาพระเกียรติ "สมเด็จพระสังฆราชแห่งแผ่นดิน"

13 ธันวาคม 2558

เหนืออื่นใดในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ได้พระราชทานพระโกศทองน้อยซึ่งสูงขึ้นไปเสมอสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

วันที่ 24 ต.ค. 2556 เป็นวันที่ประชาชนชาวไทยและคณะสงฆ์ไทยได้สูญเสียครั้งใหญ่เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้สิ้นพระชนม์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

หลังจากนั้นได้มีการตั้งพระศพบำเพ็ญพระกุศล ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เรื่อยมาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 2 ปีกว่าจนบัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส ระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค. 2558

เลื่อนชั้นพระเกียรติเสมอ พระสังฆราชเจ้า

เป็นที่ทราบดีว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช คือสมเด็จพระสังฆราชคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุดเริ่มมาจากทรงเป็นพระอภิบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวช หลังจากนั้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนับถือเป็นครุฐานีย์และถวายพระเกียรติมาถึงปัจจุบันกระทั่งวันที่สิ้นพระชนม์ก็ทรงถวายพระเกียรติสูงสุด

เมื่อแรกสิ้นพระชนม์ ได้รับพระราชทานพระโกศกุดั่นใหญ่ทั้งที่เมื่อว่าตามระเบียบการพระราชทานพระโกศของสำนักพระราชวังกำหนดตามพระยศของพระองค์จะได้พระโกศกุดั่นน้อยเนื่องจากเป็นพระสังฆราชสามัญชน แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระเกียรติสูงอีกขั้นหนึ่ง

เหนืออื่นใดในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ก็ได้พระราชทานพระโกศทองน้อยซึ่งสูงขึ้นไปเสมอสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

“ตามพระยศแล้ว สมเด็จพระสังฆราชจะได้รับพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อย แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลื่อนชั้นพระโกศให้ตั้งแต่วันแรกเป็นพระโกศกุดั่นใหญ่ ซึ่งมีชั้นยศสูงกว่าพระโกศกุดั่นน้อย 1 ขั้น พร้อมพระราชทานเลื่อนพระยศอีกครั้งเป็นพระโกศทองน้อยในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนี้

“จึงถือว่าเป็นพระสังฆราชสามัญชนรูปแรกที่ได้รับพระราชทานพระโกศสูงสุด และเป็นพระสังฆราชรูปแรกที่ได้พระราชทานเลื่อนชั้นยศพระโกศถึง 2 ครั้ง”ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับพระโกศทองน้อยนั้น โดยปกติจะใช้เป็นเครื่องยศประกอบพระศพสำหรับเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ลักษณะของพระโกศทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรงแปดเหลี่ยม ยอดมงกุฎปิดทองประดับกระจก ตามประวัติปรากฏอยู่ 2 องค์

องค์แรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ สร้างขึ้นตามอย่างพระโกศทองใหญ่ในรัชกาลที่ 4 สำหรับทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนองค์ที่ 2 เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ณ อยุธยา) สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน

เรียงร้อยบูชาพระเกียรติ "สมเด็จพระสังฆราชแห่งแผ่นดิน" พระโกศทองน้อย - พระจิตกาธาน

พระเลซองพร้อมทำหน้าที่ถวายสังฆบิดร

ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในครั้งนี้ รัฐบาลได้กราบอาราธนาผู้นำสงฆ์และผู้นำศาสนา 13 ประเทศ ทั้งหมด 19 รูป มาร่วมงาน ในการนี้รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งได้จัดพระระดับผู้บริหารมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ทูตชำนาญการทำหน้าที่เลซอง (ดูแลต้อนรับและถวายความสะดวกให้กับพระสงฆ์จาก 13 ประเทศ) ตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย โดย 5 คน/รูป จะรับผิดชอบต่อ 1 รูป

พระมหา ดร.สุรศักดิ์ ปัจจันตเสโน รองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร. หนึ่งในพระเลซอง กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้ดูแลพระมหาสังฆนายก สยามนิกาย ฝ่ายมัลวัตตะ แห่งศรีลังกา ร่วมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมตำรวจ ล่าม และผู้ติดตาม รวม 5 คน คอยถวายความสะดวกทุกอย่างตั้งแต่วันที่เดินทางมาจนถึงวันที่เดินทางกลับ

“หน้าที่หลักวันที่ 15 ช่วงบ่ายนำท่านไปถวายพระศพสมเด็จพระสังฆราช ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนวันที่ 16 เวลาบ่าย 2 ท่านไปร่วมพิธีที่วัดเทพศิรินทราวาส รอจนกว่าพิธีเสร็จ จึงนำท่านกลับโรงแรม ส่วนวันที่ 17 ก็จะไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นอันเสร็จภารกิจ”

ตกแต่งพระเมรุสมพระเกียรติยศ

การประดับตกแต่งพระเมรุถือเป็นการเทิดพระเกียรติพระองค์ครั้งสุดท้าย ในการนี้มีแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ การตกแต่งบนพระเมรุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่การตกแต่งภูมิทัศน์รอบพระเมรุและบริเวณงาน สวนนงนุช พัทยา รับดำเนินการ รูปแบบเน้นความเรียบง่ายตามพระจริยวัตรแต่สมพระเกียรติยศ

กัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุช พัทยา กล่าวว่า ภูมิทัศน์รอบพระเมรุจะตกแต่งด้วยกระถางดินเผามีอักษร “ญสส” ซึ่งเป็นพระนามย่อของสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 101 ใบเท่ากับพระชนมายุ บริเวณโดยรอบประดับด้วยดอกชวนชม ขณะเดียวกันจะใช้ต้นหูกระจงขาว 40 ต้น ซึ่งสื่อถึงความบริสุทธิ์ และต้นตะโกพันธุ์ไม้ไทยตกแต่งเป็น 9 ช่อ 16 ต้น วางบริเวณรอบพระเมรุให้ดูสวยงาม

ส่วนพื้นที่รอบพระเมรุและริมทางเดินจะใช้ดอกดาวเรืองสีส้ม ซึ่งสื่อถึงสีจีวร 9,000 ต้น รวมกับดอกดาวเรืองสีเหลือง สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1.2 หมื่นต้น ผสมกับต้นไทรแท่งอีก 500 ต้น

“แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ลืม สมเด็จพระสังฆราชสกุลเดิม คชวัตร ซึ่ง คช หมายถึงช้าง เราจึงเตรียมจัดทำช้างจำลองประดับด้วยดอกบานไม่รู้โรยสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติ คือวันศุกร์ 16 เชือก มาตั้งประดับทุกมุมของพระเมรุ” ผู้อำนวยการสวนนงนุช ทิ้งท้าย

เรียงร้อยบูชาพระเกียรติ "สมเด็จพระสังฆราชแห่งแผ่นดิน"

พระจิตกาธานทรงบุษบกวิจิตรล้ำ

พระจิตกาธานถือเป็นเครื่องประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ภายใต้การสร้างสรรค์ของโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) และตัวแทนจากอาชีวะ 9 แห่ง จาก 4 ภาค

บุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ สำนักพระราชวัง กล่าวว่า โครงสร้างพระจิตกาธานเป็นทรงบุษบก ชั้นเรือนยอด 3 ชั้นตามสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานฉัตรผ้าขาว 3 ชั้น ทำด้วยไม้สักปิดทอง ฐานเขียงปิดทองลายกระดาษสาบทองพื้นชมพู (ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง) ตามชั้นสมณศักดิ์ในโบราณราชประเพณี ในการจัดทำเครื่องสดตกแต่งจะประกอบด้วยงานแทงหยวก งานแกะสลักของอ่อน และงานร้อยกรองดอกไม้สด

ในการประดับตกแต่งเครื่องสดบริเวณชั้นรัดเกล้า (เครื่องยอด) จะประดับตกแต่งด้วยกรอบตาข่ายดอกไม้สดลายแก้วขิงดวงประดับด้วยเลื่อมเงิน อุบะประดิษฐ์ด้วยกลีบกล้วยไม้สีเหลือง ทุกชั้นประกอบลายแทงหยวกประดับชั้นรัดเกล้าปักประดับดอกไม้ไหวและพู่กลิ่น บริเวณแผงตาข่ายประดับประดิษฐ์อักษรพระนามย่อ “ญสส” ด้วยกลีบดอกไม้ติดประดับทั้ง 4 ด้าน ชั้นยอดสุดประดับพุ่มดอกไม้ไหวสีขาวปักประดับชั้นยอดสุดภายใต้ฉัตรแขวนสีขาว 3 ชั้น

ด้านในชั้นรัดเอวบริเวณที่ประดิษฐานโกศพระศพตกแต่งด้วยมาลัยดอกมะลิ รัดปิดฐานพระลองในตกแต่งด้วยลายกลีบบัวจงกลเย็บด้วยกลีบดอกกล้วยไม้สีเหลืองสีขาว และสีฟ้า 3 ชั้น (สีฟ้า คือวันประสูติ เหลือง สีแห่งความเป็นสังฆราชา ขาว สีแห่งความบริสุทธิ์ในศีล)

บุญชัย กล่าวต่อว่า ส่วนบริเวณฐานล่างหรือฐานเขียงตกแต่งด้วยลายหยวกและแผงตาข่ายดอกไม้สด ฐานเขียงประดับลายกระดาษทองอังกฤษสาบสีชมพูลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งตามสมณศักดิ์ ชั้นล่างสุดตกแต่งลายหยวก เรียกว่า หยวกกันธรณี มีความหมายถึงไม่ให้ร้อนถึงพระธรณี เนื่องจากธรรมเนียมการเผาศพผู้มีสมณศักดิ์หรือผู้มีบุญญาธิการจะต้องมีกาบกล้วยป้องกันไม่ให้ร้อนถึงสวรรค์และไม่ให้ร้อนถึงพระธรณี

ทั้งหมดเป็นผลงานที่ประณีตสมพระเกียรติ ยศพร้อมที่จะนำไปประดับพระเมรุวัดเทพศิรินทร์ในช่วง 4 โมงเย็น ของวันที่ 15 ธ.ค.นี้