posttoday

“คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ

12 ธันวาคม 2558

ความในใจของคนลาวไร้สัญชาติบนแผ่นดินไทย ...40 ปีผ่านไปยังไร้ตัวตน

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด / ภาพ...ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์

วันที่ 2 ธ.ค.ของทุกปี ถือเป็นวาระครบรอบ 40 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นวันชาติที่ประชาชนชาวลาวจะได้เฉลิมฉลอง รำลึกถึงด้วยความปลื้มปีติ และยินดีกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุข อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขง "กลุ่มคนลาวอพยพ" ผู้หลีกลี้หนีภัยสงครามเมื่อ 40 ปีก่อนมาอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆในจ.อุบลราชธานี ยังเปรียบเสมือนคนไร้ตัวตน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล ไม่มีสัญชาติ ทำให้ถูกลิดรอนสิทธิ์และเข้าไม่ถึงบริการของรัฐอย่างที่ควรจะได้รับ

เข้าไม่ถึงสิทธิ ถูกกดขี่ข่มเหง

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาว มีชาวลาวอพยพจำนวนมากหนีภัยข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่เมืองไทย ปักหลักสร้างบ้าน สร้างครอบครัว ให้กำเนิดลูกหลานจนเติบโตแตกแขนงรุ่นแล้วรุ่นเล่าเฉกเช่นปัจจุบัน

ปัญหาคือที่ผ่านมาจนวันนี้กระบวนการพัฒนาสถานะยังไปไม่ถึงไหน พวกเขานับหมื่นชีวิตยังคงไร้สัญชาติ ถูกเรียกว่าลาวอพยพ เป็นผู้ถือบัตรไม่มีสัญชาติไทย ทั้งที่กระบวนการทางกฎหมายเปิดช่องให้คนเหล่านี้ได้บัตรประชาชนไทย ทว่าในทางปฎิบัติกลับติดขัดอุปสรรคมาโดยตลอด

ภูธร พันธรังศรี อายุ 31 ปี เกิดเมื่อ 5 ต.ค.2527 ที่บ้านหนองผือใหญ่ ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม พ่อแม่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาว เมื่อปี 2518 ปัจจุบันได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ถือบัตรเลข 0) ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล

เขาเล่าด้วยสีหน้าเหนื่อยใจว่า ตัวเองและพี่น้อง รวมถึงผู้มีสิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา 23 คนอื่นในบ้านบะไหอีกกว่า 20 ราย เคยยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียนอำเภอโขงเจียมในช่วงปี 2554  โดยปลัดอำเภอได้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องครบถ้วน แต่กลับมีการอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยให้กับชาวบ้านกลุ่มนี้ เพียง 3 รายเท่านั้น อีก 17 คนกลับเงียบหาย

“เมื่อลองติดตามสอบถามความคืบหน้าจากปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายทะเบียนที่เพิ่งย้ายมาปฏิบัติหน้าที่แทนปลัดคนเดิม สำนักทะเบียนกลับบอกว่า พวกเราไม่เคยยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติ และไม่เคยได้รับการส่งต่อเอกสารคำร้องขอลงรายการสัญชาติเลย พร้อมยังกล่าวอ้างว่าผู้ใหญ่บ้านบะไหเองก็ไม่ทราบเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติของลูกบ้าน  ซึ่งพวกเรายืนยันว่าผู้ใหญ่บ้านคนเดียวกันเป็นหนึ่งในพยานที่เข้ารับการสอบปากคำให้การรับรองแก่ทุกคน ล่าสุดทางอำเภอบอกว่า ให้ผมหาเอกสารหลักฐาน หาวัตถุพยานมายื่นเรื่องใหม่อีกครั้ง ปัญหาคือคนทำคลอดหรือคนที่รู้เห็นการเกิดผม วันนี้เสียชีวิตไปแล้ว คนที่ยังอยู่อายุก็ปาเข้าไป 70 – 80 ความจำก็เลอะๆเลือนๆ”

“คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ ภูธร กำลังโชว์บัตรเลข 0 หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

แน่นอนว่าการไม่ได้รับสัญชาติไทยของพวกเขา ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากมายหลายประการ โดยเฉพาะการเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปหางานที่ดีกว่า

ผมเป็นคนไทย 100 % จะให้กลับลาวก็ไม่ได้ เพราะไม่มีบัตร ผมอยู่ไทยมาตั้งแต่เกิด พูด อ่านเขียนภาษาไทย ภาษาลาวไม่รู้สักตัว ภรรยาก็คนไทย ลูกผม ครอบครัวผมอยู่กันที่นี่หมด ไม่เคยสัมผัสสังคมฝั่งโน้นเลย ชีวิตทั้งชีวิตคือเมืองไทย เสียภาษีเต็ม แต่ทำไมเราไม่มีสิทธิเหมือนคนอื่น อยากมีที่ดิน มีบ้าน มีรถก็ไม่สามารถจัดซื้อได้ด้วยชื่อตัวเอง ต้องใช้ชื่อคนข้างบ้าน ออกไปทำงานข้างนอกก็ได้ค่าแรงไม่เท่าคนอื่น ถูกกดราคา เคยเป็นบาร์เทนเดอร์ที่โรงแรม คนอื่นได้แก้วละ 20 บาท ผมได้ 10 บาท เงินเดือนรวมได้ไม่เกิน 5 พันบาท จะมีความสามารถหรือเก่งเท่าไหร่ก็ช่าง เขาให้แค่นั้น เขาบอกก็เพราะคุณไม่ใช่คนไทย”

สุดสาคร พันธรังศรี วัย 30 ปี เล่าให้ฟังว่า ตอนอายุ 18 ปี อยากไปทำงานนอกพื้นที่ก็ต้องรวบรวมพรรคพวกลักลอบขึ้น"รถล่อง"ไปสมัครงานตามโรงงานเล็กๆ

“ขึ้นรถทัวร์ไม่ได้ครับ ต้องขึ้นรถล่อง ซอกแซกไปเรื่อยๆ หลีกเลี่ยงเส้นทางหลัก แล้วสมัครงานตามโรงงานหรือโรงแรมเล็กๆตามเมืองท่องเที่ยว พวกนายจ้างเขาชอบพูดกันว่าจ้างคนลาวดีกว่าจ้างพม่า เพราะราคาถูกและพูดไทยได้” 

ชีวิตของสุดสาครน่าสะเทือนใจพอๆกับนิยาย ถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคน

“ครั้งหนึ่งหลังเลิกงานผมไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกับเพื่อนๆ ตำรวจเอารถมาขวาง ขอดูบัตร ผมบอกไม่มี เขาบอกว่างั้นน้องมีเงินไหมล่ะ คนละ 5,000 ซึ่งเยอะมากในสมัยนั้น ผมตอบไปว่าเงินเดือนผมแค่ 3,500 เอง แต่เขาไม่สน พูดจาข่มขู่สารพัดว่าถ้ามึงไม่มี กูจะขังให้ลืมเลย ตอนนั้นมือไม้สั่น ไม่เคยโดนอะไรแบบนี้ สุดท้ายโดนจับเข้าห้องขัง อยู่ในนั้นตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 2 โชคดีมีร้อยเวรใจดี แกเดินเข้ามาถามว่า เอ็งอยู่แขวงไหน ผมบอกอยู่จังหวัดอุบลครับ ไม่ใช่ลาว จากนั้นก็สอบถามเรื่องราวเกี่ยวกับอุบล ซึ่งผมตอบได้หมด จนแกพูดอีสานด้วย บอกพี่ก็คนอุบลเหมือนกัน สุดท้ายเขาสงสารปรับผมแค่ 100 บาท แถมยังให้เงินผมอีกร้อยเป็นค่ารถด้วย”

“คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ สุดสาคร เล่าถึงประสบการณ์ถูกกดขี่ข่มเหงเนื่องจากไร้สัญชาติ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่มีวันลืมคือ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรีดไถเงินเหยียบหมื่นจนสิ้นเนื้อประดาตัว แถมยังไล่ตะเพิดราวกับหมูกับหมา

“ตอนนั้นทำงานฟาร์มไก่ที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้ค่าแรงครึ่งเดียวของคนไทยคือ วันละ 105 บาท ทำงานทั้งปีจนเก็บเงินได้หมื่นนึง จู่ๆพี่สาวเสียชีวิต เลยขอหัวหน้าลางาน 7 วันไปบวชให้พี่สาว เขาบอกให้ได้แค่ 3 วัน เลยตัดสินใจลาออก ขึ้นรถทัวร์จากชลบุรี มาเจอด่านตำรวจ ตำรวจถามมึงมีบัตรไหม ไม่มีเอาเงินมา แกค้นกระเป๋าผม เอาไปหมดเลย หมื่นกว่าบาท ผมยกมือไหว้ร้องขอคืนสักครึ่งหนึ่ง เขาก็ไม่ให้ แถมยังไล่ให้ผมเดินกลับบ้าน ผมนั่งร้องไห้อยู่แถวนั้นเป็นชั่วโมง จนกระทั่งมีตำรวจอีกคนเข้ามา เขาสงสารเลยฝากผมขึ้นรถทัวร์กลับมาบ้าน”

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างอันเจ็บปวดรวดร้าวของการไม่มีสัญชาติ

ชีวิตออกแบบได้เมื่อมีบัตร

การกลับมามีตัวตนอีกครั้งนั้นนั้นโล่งอกเหมือนหลุดออกจากขุมนรก นอกจากสร้างความภาคภูมิใจในสิทธิของตัวเองแล้วยังทำให้ใครหลายคนสามารถวางแผนชีวิตในอนาคตได้อีกด้วย

ภาคินัย อินทะโสม วัย 24 ปี เกิดเมื่อ 14 มิ.ย.2534 ที่ศูนย์อพยพบ้านนาโพธิ์  แม้จะมีพ่อแม่เป็นคนลาว และถือบัตรไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือเลข 0 ทว่าได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเป็นบุคคลสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แห่งพรบ.สัญชาติ พ.ศ.2551 

“สมัยเด็กๆยังไม่มีสัญชาติ ทำอะไรกับทางราชการยากลำบากไปหมด ทั้งการใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายมากกว่าคนไทยถึงสองเท่า เรื่องการศึกษา ส่งเรียงความประกวด วาดรูปได้รางวัลระดับจังหวัดก็ต้องใช้ชื่อคนอื่น เพราะตัวเองไม่มีชื่อเป็นคนไทย โตมาไปทำงานที่กรุงเทพก็ต้องทำหนังสือขออนุญาตออกนอกพื้นที่ทุก 3 เดือน 6 เดือน และต้องระบุด้วยว่าไปทำงานตรงไหน บ้านเลขที่อะไร พร้อมส่งหนังสือต่อไปยังกรุงเทพฯ ให้เจ้าของกิจการหรือผู้ดูแลเซ็นรับรองอีก พอเรียนจบ ม.6 จะขอทุนกยศ.เรียนต่อ ก็ถูกปฎิเสธ เพราะเขาระบุว่าต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น

“คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ ภาคินัย (เสื้อสีขาวสลับชมพู) กำลังแสดงหลักฐานการได้รับสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แห่งพรบ.สัญชาติ พ.ศ.2551

ภาคินัยเป็นคนแรกของหมู่บ้านบะไหที่ได้รับสัญชาติ ตามกฎหมายมาตรา 23 ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 26 ก.พ. 2535 โดยไม่เจาะจงว่าพ่อแม่ต้องเป็นสัญชาติไทย เจ้าตัวได้เดินเรื่องขอสัญชาติไทยครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2553 ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายจนประสบความสำเร็จในที่สุดเมื่อปี 2556 นี่เอง

“ผมรวบรวมหลักฐานยื่นเรื่องครั้งแรกเมื่อปี 2553 ผ่านไปเกือบหนึ่งปีกลับไม่มีความคืบหน้า เลยตัดสินใจตรงดิ่งไปอำเภอ ถามไถ่ว่ายังต้องการเอกสารอะไรอีกครับ คำตอบคือ ทางอำเภอบอกว่ายังไม่เคยได้รับเอกสารอะไรจากผมเลย ผมต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ เตรียมเอกสารอีกครั้ง ไล่ตั้งแต่บัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน วุฒิการศึกษา หนังสือรับรองการเกิด พยานร่วมยืนยัน คนรู้เห็นการเกิด ผู้ที่ทำคลอด ผู้ที่น่าเชื่อถือและผู้ใหญ่บ้าน ส่งไปอำเภออีกครั้ง จนสำเร็จในที่สุดเมื่อปี 2556”

ภาคินัยบอกว่า ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ทำให้เขาเคยท้อแท้จนเกือบจะล้มเลิกการต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง แต่พอคิดถึงอนาคต คิดถึงชีวิตที่ดีกว่า ในที่สุดก็กัดฟันสู้จนได้สัญชาติไทย

“คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ ภาคินัย อินทะโสม

รัฐไทยต้องให้ความคุ้มครอง

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า หลักการทั่วโลกกำหนดให้คนหนึ่งคนต้องมีชาติอย่างน้อยหนึ่งชาติเข้ามาดูแลคุ้มครอง เพื่อไม่ให้มีบุคคลตกสำรวจทางทะเบียน

ยกอย่างกรณีลาวอพยพในไทย ปัจจุบันมีคนลาวอพยพตกหล่นการสำรวจนับหมื่นคน ตามหลักการต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐไทย แม้จะยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องมีเอกสารแสดงตัว ถ้าไม่มี รัฐต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการขึ้นทะเบียนบุคคลดังกล่าว เพื่อยืนยันแสดงการมีอยู่ของบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียนคนไร้สัญชาติ ทะเบียนแรงต่างชาติ หรืออะไรก็ตามจำเป็นต้องมีเลขประจำตัวชัดเจน

หลักใหญ่คือรัฐไม่เข้าใจว่าทุกคนต้องมีชาติหนึ่งชาติดูแล และเป็นหน้าที่ของรัฐให้การแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติให้ทุกคน ปัจจุบันรัฐไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ ไม่มีนโยบายข้อไหนของรัฐที่พูดว่าจะแก้ไขปัญหาคนไร้สัญชาติให้มีสัญชาติที่ถูกต้อง มีแต่กระบวนการผ่อนปรน ให้สิทธิบ้าง ให้การสำรวจบ้างหรือให้อยู่โดยไม่จับกุมบ้าง ทั้งที่ควรพัฒนาไปถึงขั้นให้บัตรและให้สัญชาติอย่างถูกต้อง

“คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ สุรพงษ์ กองจันทึก ให้ทัศนะว่ารัฐไทยต้องมีหน้าที่ให้ความดูแลบุคคลไร้สัญชาติ

"อุปสรรคที่สำคัญอีกอย่างคือ ภาครัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่าสิทธิมนุษยชน หน่วยงานภาครัฐยังเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงอยู่ ซึ่งเป็นความเชื่อในยุคก่อนที่มีการทุจริตสวมสิทธิ์บัตรค่อนข้างมาก แต่เดี๋ยวนี้กลุ่มทุจริตได้หมดไปแล้ว ถึงเวลาที่รัฐเองต้องจัดการอย่างจริงจังว่าจะจำแนก พัฒนาสิทธิ และให้ความเป็นอยู่กับพวกเขาอย่างไร แนวทางในการแก้ปัญหาควรเริ่มต้นจากจัดทำทะเบียนประวัติให้กับเขา บันทึกชื่อ วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร รัฐจะได้มีข้อมูลที่ถูกต้อง โดยพื้นฐานการทำงานกับชาวบ้านต้องมีความต่อเนื่อง และตรงไปตรงมา เขาอยู่ในประเทศไทย เขาจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของบ้านเมืองเรา ควรจะให้สิทธิเขาที่จะมีชีวิตที่เติบโตเป็นคนที่สมบูรณ์ เดินทาง เรียนหนังสือ รักษาพยาบาล ขับขี่ ทำงานได้ ลูกหลานที่เกิดบ้านเมืองเราควรมีสิทธิเหมือนกับเรา

อย่าลืมว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของชาติที่ขาดไม่ได้เลยคือคน คนเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย ถ้าเราไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนไทย เรากำลังทำลายทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศชาติ ควรคิดวิธีพัฒนาเขาให้เกิดประโยชน์ที่สุด และมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมือง"

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การติดตามตรวจสอบข้อมูลที่ผ่านมาของกลุ่มลาวอพยพในขณะนี้ มีตัวกลางดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาสิทธิสถานะบุคคลเพื่อเพื่อสุขภาวะชุมชนลุ่มน้ำโขง –สาละวิน ที่ทำงานอย่างเต็มที่ จากนี้ไปกสม.จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเสนอเชิงนโยบายด้านสิทธิและสัญชาติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนลาวอพยพได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ในส่วนกฎหมายที่มีการคุ้มครองคนดังกล่าวอยู่แล้ว กสม.จะขับเคลื่อนต่อไป แต่ถ้าประเด็นใดกฎหมายไม่ครอบคลุม ก็รับปากว่าจะขับเคลื่อนประเด็นต่อไปเพื่อให้มีกฎหมายที่เป็นธรรมและครอบคลุมคนทุกเชื้อชาติ

"การแก้ไขปัญหาของภาครัฐต่อกรณีนี้ ยังไม่เป็นระบบ และไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่ภาคตะวันออกของอีสานโดยเฉพาะริมแม่น้ำโขงตั้งแต่จังหวัดเลยมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร”

เรื่องราวทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องเอาจริงจังกับการแก้ไขปัญหาผู้ไร้สัญชาติอย่างเป็นระบบเสียที.