posttoday

"ถ้าพระไม่ตื่นก็สอนคนไม่ได้" พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

02 ธันวาคม 2558

เปิดอกคุยกับภิกษุหนุ่มฝีปากกล้าแห่งโลกโซเชียล "พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร

บางคนมองว่าเป็นพระหัวก้าวหน้า บ้างก็ว่าอยากดัง ชอบสร้างกระแส อีกจำนวนไม่น้อยถึงขนาดตั้งฉายาว่าเป็นสายล่อฟ้าแห่งวงการสงฆ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ภิกษุหนุ่มแห่งวัดสร้อยทอง ถูกจับตามองแทบไม่กะพริบ ในฐานะพระเซเลบแห่งโลกโซเชียล

ความโดดเด่นของพระหนุ่มรูปนี้อยู่ตรงการกล้าตั้งคำถาม กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าวิพากษ์วิจารณ์ปรากฎการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ตั้งแต่การเมืองยุครัฐประหาร พุทธศาสนาในภาวะวิกฤต ความเชื่อไร้สาระงมงาย สังคมลักลั่นย้อนแย้ง ยันข่าวฉาวของดาราดัง

ผลที่ตามมาคือ ทั้งดอกไม้ ทั้งก้อนอิฐปลิวว่อนอยู่บนหน้าวอลล์เพจเฟซบุ๊ก พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ชนิดแทบจะนาทีต่อนาที

"สังคมจะอับเฉาและมืดมิดทางปัญญา ถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผย"

นี่คือความเชื่อของภิกษุหนุ่มผู้หาญกล้าทวนกระแสสังคม โดยมิพรั่นพรึงต่อแรงเสียดทานที่ถาโถมเข้ามา

หลวงพี่เข้ามาบวชได้อย่างไร

อาตมาเป็นคนอ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี วัยเด็กก็ไม่ต่างจากเด็กบ้านนอกทั่วไปที่มีต้นทุนชีวิตน้อย ฐานะยากจน พ่อแม่เลี้ยงมาแบบสอนให้เราอดทน รู้จักช่วยเหลือตัวเอง เรียนได้แค่ป.6 พ่อแม่คุยกันว่าถ้าจะให้เรียนต่อก็อาจไปได้ไม่ถึงชั้นมหาวิทยาลัย เลยแนะนำให้บวชเรียน ทางเดินอาจจะกว้างและไกลกว่าที่เป็นอยู่ อายุ 12 เลยตัดสินใจบวช

หลังบวชถูกส่งให้ไปอยู่วัดเล็กๆในจ.สุโขทัย ห้อมล้อมด้วยทุ่งนา มันดีกับตัวเรา เพราะทำให้อดทน ขยันเรียน มีความแข็งแกร่งในตัว จากนั้นพอเป็นสามเณรก็ย้ายเข้ากรุงเทพ เพราะเมื่อเราเรียนถึงชั้นเปรียญที่สูงขึ้น การเรียนในต่างจังหวัดไม่มีครูสอน เลยต้องเข้ามาเรียนส่วนกลาง ก็จำพรรษาที่วัดสร้อยทอง จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก เรียนจบเปรียญ 9 ประโยค ตอนนั้นคิดอยากเรียนทางโลกต่อ เพราะการศึกษามันเข้าถึงได้ง่ายกว่าในต่างจังหวัด ประกอบกับอายุครบเกณฑ์พอดีก็เลยบวชเป็นพระภิกษุเลย ตอนอุปสมบทก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุนาคหลวงบวชที่วัดพระแก้ว

ชีวิตประจำวันก็เหมือนพระทั่วไป บิณฑบาต ลงโบสถ์ สอนหนังสือ สอนนักธรรมบาลี ควบคู่กับเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เลือกเรียนสายนี้เพราะอาตมาสนใจเรื่องการบ้านการเมือง นิติศาสตร์น่าจะเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำธรรมะไปประยุกต์ใช้ได้

นอกจากนี้ยังมีกิจนิมนต์ทั่วๆไป ทำบุญบ้าน สวดศพ บรรยายให้ความรู้ตามสถานศึกษา สอนศีลธรรมจริยธรรมให้นักเรียน

ชื่อของเราเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่เมื่อไหร่

น่าจะประมาณปี 57 ช่วงนั้นอาตมาเริ่มแสดงความเห็นทางการเมือง ศาสนา ความเชื่อ สิ่งงมงายต่างๆ หรือประเด็นทางสังคมสดๆใหม่ๆที่คนกำลังพูดถึงกันในขณะนั้น

อาตมาเป็นคนนิสัยชอบวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งคำถามต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่แล้ว เลยใช้เฟซบุ๊กนี่แหละในการเขียนแสดงความคิดเห็น จนกระทั่งเริ่มมีคนติดตาม มีสื่อมาขอสัมภาษณ์

การแสดงความเห็นทางโลกเป็นหน้าที่ของพระด้วยหรือ

นอกจากปฏิบัติตนให้ถูกต้องดีงาม หน้าที่ของพระคือการสอน พระต้องสอนคนไม่ใช่หรือ พระฉันข้าวโยม กินข้าวโยม ถ้าพระไม่ให้ธรรมะ แล้วพระจะให้อะไร พระพุทธเจ้าท่านยังบอกเลยว่าการให้ธรรมะประเสริฐกว่าการให้ทุกอย่าง ประเสริฐยิ่งกว่าสร้างโบสถ์สร้างวิหารเสียอีก พระต้องให้ปัญญาคน ให้ความรู้คน ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ หรือพุทธทาสภิกขุ ท่านมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ก็เพราะท่านสอนคน ให้ปัญญาคน  ในวันที่ผู้คนไร้เหตุผล ท่านบอกว่าแบบนี้ไม่ใช่ชาวพุทธไม่ได้ ท่านเลยลงมือสอน

"ถ้าพระไม่ตื่นก็สอนคนไม่ได้" พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

ทำไมเลือกใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการสื่อสาร

ต้องถามว่าทุกวันนี้คนเข้าวัดหรือเปิดเฟซบุ๊กมากกว่ากัน (หัวเราะ) ปัจจุบันคนอยู่กับเฟซบุ๊กมากกว่าเข้าวัดเสียอีก นานๆทีถึงจะเข้าวัด ต้องมีงานสำคัญจริงๆแต่ก็จะเข้ามาแค่ประกอบพิธีกรรมแล้วก็ไป เช่น เวียนเทียน สวดมนต์ ไหว้พระ ตักบาตร คนที่ตั้งใจมาฟังเทศน์ฟังธรรมจริงๆมันไม่มีแล้ว มีแต่คนรุ่นปู่รุ่นย่า และพวกนี้เขาฟังกันมาเยอะแล้ว บางทีพระขึ้นเทศน์ ญาติโยมก็ไม่ได้อะไร เพราะพระพูดแต่เรื่องเก่าซ้ำๆซากๆ

ถ้าสอนผ่านเฟซบุ๊ก ไม่ใช่เฉพาะคนแก่คนเฒ่า คนหนุ่มสาว แต่ทุกชนชั้นในสังคมจะมีโอกาสได้ฟังกันอย่างทั่วถึง ที่สำคัญเฟซบุ๊กดีกว่าขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ตรงที่เปิดโอกาสให้คนโต้แย้งได้ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับที่เราพูด เขาด่าเราก็ยังได้ แต่ถ้าเราขึ้นเทศน์บนธรรมาสน์ ถามว่าจะโยมจะกล้าโต้ตอบ กล้าทักท้วงสิ่งที่พระพูดได้ไหม ไม่มีหรอก ผิดกับโพสต์อะไรลงเฟซบุ๊ก ถ้าโยมไม่เห็นด้วยก็มีโอกาสที่จะถกเถียงได้

อาตมาคิดว่าเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือช่วยในการแสดงธรรมได้ แม้แต่พระแก่ๆ ถึงท่านจะไม่สะดวกกับการใช้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย แต่ท่านไม่จำเป็นต้องใช้เอง ลูกศิษย์ลูกหาของท่านนั่นแหละที่เอาคำสอนของท่านมาเผยแผ่แทน เฟซบุ๊กไม่ได้มีประโยชน์แค่กับพระที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์กับพระอย่างท่านพุทธทาส หลวงพ่อปัญญา  หลวงตามหาบัว รวมถึงหลวงปู่ท่านอื่นๆซึ่งจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่สงสัยเหรอว่าทำไมคำสอนของท่านเหล่านี้ยังอยู่ในเฟซบุ๊ก ทั้งที่เสียชีวิตไปนานแล้ว ก็มีคนเอาคำสอนท่านนี่แหละมาแชร์ต่อกันไม่รู้จบในโลกโซเชียล ตรงนี้เห็นชัดว่าเฟซบุ๊กมีประโยชน์มากในการเผยแพร่ธรรมะ

โดยเฉพาะกับพระเซเลบรึเปล่า

พระที่มีชื่อเสียง สังคมให้การยอมรับ ทุกคนใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางเผยแผ่คำสอนของตัวเองทั้งนั้น เช่น พระมหาสมปอง อาจารย์ว.วชิรเมธี หลวงพ่อไพศาล วิศาโล

การเป็นพระเซเลบมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ คนให้ความสำคัญกับเรา สนใจที่จะรับฟังการให้ความรู้ ความคิดเห็น อย่างเช่นเวลาเราแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งไป แล้วสังคมติดตาม พอมันมีเรื่องใหม่เกิดขึ้น คนก็จะถามเราแล้วว่า เอ้า มุมมองพระมหาไพรวัลย์ว่ายังไง ถ้าเราไม่แสดงความเห็นก็ไม่ได้แล้ว เพราะคนอยากฟังความคิดเห็นเรา เท่ากับเปิดโอกาสให้เราได้แสดงความคิดเห็น แต่ข้อเสียคือ โลกโซเชียลมันไปเร็ว คนเข้าถึงเร็ว ฉะนั้นถ้าเราสื่อสารอะไรผิดพลาดไปนิดเดียว ไม่ว่าจะพิมพ์ผิด ใช้ถ้อยคำกำกวม คิดไม่ถี่ถ้วน คนจะด่าทันที คนจะเอาไปแชร์ขยายความผิดๆต่อ ทำให้เรื่องเล็กบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่

โดนด่าบ่อยแค่ไหน

เรื่องโดนด่านี่เยอะมาก (เสียงสูง) ไม่ใช่ว่าพระมหาไพรวัลย์แสดงความเห็นอะไรลงไปแล้วคนจะเห็นด้วยหมด ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเยอะกว่าเห็นด้วย บางเรื่องที่มันละเอียดอ่อนจริงๆ คนยังไม่พร้อมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี การเมือง ศาสนา ถ้าเห็นชื่อพระมหาไพรวัลย์พูดนี่โดนแน่นอน (หัวเราะ)

ยกตัวอย่างเรื่องภาพของพระรูปหนึ่งที่ก้มกราบเท้าโยมแม่ อาตมาก็แสดงความเห็นไปว่า เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่าการแสดงอาการหมอบกราบเช่นนี้ คือเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของความเป็นผู้กตัญญูรู้คุณของบุพการี โดยเฉพาะพระ เวลาสอนเรื่องกตัญญูรู้คุณ จะอ้างแต่ให้เด็กต้องกลับไปกราบเท้าพ่อแม่ มันซึ้งอยู่นะภาพการหมอบกราบ แต่แหม มันซึ้งไม่ถึง 10 นาทีหรอก เด็กมันก็กลับไปร้ายเหมือนเดิม ไปติดเกมเหมือนเดิม ติดยาเหมือนเดิม เพราะการกราบเท่ามันไม่ใช่เนื้อหาสาระไง

ประเด็นพระกราบโยมแม่ ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็สรรเสริญการเลี้ยงดูพ่อแม่ว่าเป็นกิจที่แม้แต่พระภิกษุก็ควรทำ แต่การทำหน้าที่ของลูกพระก็ต้องมีขอบเขต คือ ช่วยเหลือท่านเท่าที่จะทำได้ และต้องไม่เป็นการเสียอาจาระ หรือภาพลักษณ์ส่วนรวมของสงฆ์ด้วย เพราะพระเมื่อบวชแล้ว ถือเป็นคนในหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ลูกหลานของชาวบ้านเหมือนแต่ก่อนที่นึกจะประพฤติตนเช่นไรก็ได้ จะกราบไหว้บูชาใคร หรือสิ่งใดก็ได้ เรื่องการดูแลพ่อแม่ มีพุทธานุญาตไว้ชัดเจนเลยว่า หากท่านป่วย ไม่มีคนดูแล พระจะนำมาดูแลถึงในวัดก็ยังได้ สารสำคัญอยู่ตรงนี้ไม่ใช่การหมอบกราบ

ปรากฎว่าโดนถล่มเละ โดนด่าหนักมากในโลกโซเชียล ข้อความถูกแชร์เอาไปโยงทางการเมืองอีก ผลกระทบในชีวิตจริงก็ถือว่าหนัก ถึงขั้นเขียนจดหมายด่าส่งมาถึงวัด มีหนังสือจากสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติให้เจ้าอาวาสว่ากล่าวตักเตือน พอถูกตักเตือนเราก็รับฟัง อาจจะเปลี่ยนวิธีการให้มันดูซอฟต์ลง แต่วิธีคิดไม่เปลี่ยน ต้องมานั่งคิดว่าต่อไปนี้เราจะสื่อออกไปยังไงให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด ไม่ถูกว่ากล่าวตักเตือน โดยยังคงความเห็นตัวเองไว้ด้วย

ถึงกับซึมไหม

ไม่ถึงกับซึม แต่ก็คิดมากนิดหน่อย อาตมาว่ามันไม่โอเคเท่าไหร่ เราแสดงความเห็นออกไปโดยที่ไม่ได้สนับสนุนความรุนแรงด้วยซ้ำ เออ ถ้าเราสนับสนุนความรุนแรง ถ้าเราเขียนข้อความลักษณะ Hate Speech ปลุกปั่น ยุยง สร้างความแตกแยกก็ว่าไปอย่าง สมควรถูกลงโทษตักเตือน แต่นี่เราแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ยกตัวอย่างเมื่อครั้งไปจุดเทียนเรียก ร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา เราก็แสดงออกอย่างสันติ มหาวิทยาลัยสงฆ์เองก็มีการสอนเรื่องสันติ แต่พอเราไปแสดงออก กลับกลายเป็นว่าถูกห้ามไม่ให้ทำ แล้วแบบนี้จะสอนเรื่องสันติภาพกันไปทำไม มันย้อนแย้งมาก

สังคมไทยบางเรื่องยังใจกว้างไม่พอ ยังติดว่านี่คือความเชื่อของฉัน นี่คือความศักดิ์สิทธิ์ของฉัน เป็นสิ่งที่ฉันให้ความเคารพนับถือ คุณจะมาแตะต้องไม่ได้ ถ้าเราไปวิพากษ์วิจารณ์ก็เสี่ยงที่จะโดนด่า แล้วโดนด่าเละเทะเหมือนที่ชาวบ้านเขาด่ากันเลย เราก็ต้องทน ยอมรับ คิดเสียว่าคนด่าก็จริง แต่คนที่ได้มุมมองใหม่ ได้ปัญญาจากสิ่งที่เราแสดงความคิดเห็นมันก็มี ฉะนั้นถ้าเราเชื่อว่าความคิดเห็นที่เราแสดงออกไปมันถูกต้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องซีเรียส

มีคนบอกว่าหลวงพี่เป็นสายล่อฟ้า ออกมาทีไรมีเรื่องตลอด

ถ้าถามว่าออกมาพูดทีไรทำไมมีแต่เรื่อง ก็ต้องย้อนถามกลับไปว่า ทั้งๆที่อาตมาโพสต์แสดงความคิดเห็นตามปกติ ซึ่งในสังคมที่มีอารยะ สังคมที่เจริญแล้วมองว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ไม่ได้ไปปลุกปั่น ยุยง สร้างความแตกแยก แต่ทำไมคนถึงรับไม่ได้

การแสดงความคิดเห็น หรือการตั้งคำถาม ตลอดจนการกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม มันย่อมจะมีทั้งความคิดเห็นที่ถูกต้องและความคิดเห็นที่ผิดพลาด โดยเฉพาะความคิดเห็นที่ผิดพลาดถือเป็นเรื่องธรรมดาของการวิพากษ์วิจารณ์ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การกล้าที่จะแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี การกล้าที่จะพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง เมื่อไม่มีผู้กล้า สังคมมันจึงเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความอับเฉา และมิดมืดทางปัญญา เพราะไม่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผย

อาตมามีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะโดนด่า ไม่ได้หมายความว่าพระพูดอะไรแล้วเสียงของพระจะต้องดังกว่าเสียงคนอื่น

"ถ้าพระไม่ตื่นก็สอนคนไม่ได้" พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

โดนพระด้วยกันหมั่นไส้บ้างไหม

เยอะ (หัวเราะ) เห็นได้ชัดๆจากเพจเฟซบุ๊กชื่อ ปกป้องสังฆมณฑล มีพระหนุ่มเณรน้อยติดตามกันเยอะมาก เวลาอาตมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับแวดวงสงฆ์กระแสหลัก ข้อความเราก็จะถูกแชร์ไปด่ากันถล่มทลาย พระเณรด้วยกันหาก็หาว่าอาตมาเนรคุณ

บางคนกล่าวหาว่าอาตมาเป็นพระเสื้อแดง เอาเถอะ คุณจะว่าอาตมาเป็นพระเสื้อแดง หรือพระเสื้อเหลืองก็ได้ แต่ขอถามหน่อยว่า ไอ้ที่นิยามว่าพระรูปนั้นเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง นิยามคำว่าเสื้อแดงกับเสื้อเหลืองของคุณคืออะไร คุณมาบอกว่าอาตมาเป็นพระเสื้อแดงเพราะอะไร นิยามความหมายมาให้หน่อย ถ้าบอกว่าเพราะสนับสนุนแนวความคิดเรื่องการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค โอเค อาตมายอมรับว่าเป็นพระเสื้อแดง แต่ถ้านิยามว่าเป็นเสื้อแดงเพราะเป็นขี้ข้าคนนั้น เข้าข้างคนนี้ อันนี้ไม่ยอมรับ เพราะมันไม่ใช่อุดมการณ์ของอาตมา

สรุปแล้วเป็นพระยุคโซเชียล ดีหรือไม่ดี

เหนื่อย (ถอนหายใจยาว) เวลาต้องปะทะกับสังคมกระแสหลัก เปรียบเทียบคุณเป็นปลาสักตัวนึง ปลาตัวอื่นเขาว่ายสบายๆตามกระแสน้ำกันหมด คุณดันทะลึ่งไปว่ายทวนกระแสน้ำ คุณเหนื่อยแน่นอน แต่ความเหนื่อยของคุณแลกมาด้วยอะไรหลายอย่างที่มันดีกว่า มันมีผลลัพธ์ที่ทำให้เรายอมเสี่ยง ยอมแลกที่จะทำสิ่งนี้ 

ย้อนดูตัวเอง อาตมาเห็นประโยชน์ที่เลือกที่จะทำอย่างนี้ เลือกที่จะแสดงความคิดเห็น เลือกที่จะโต้แย้งสิ่งที่อาตมาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง แลกกับการสอนคนให้ตื่นรู้ ตาสว่าง กล้าคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าลบล้างกับความเชื่อเดิมๆ เฟซบุ๊กมีทั้งคุณและโทษ อยู่ที่เราจะเลือกใช้มันยังไงให้โอเคมากที่สุด แต่ต้องระวังด้วย ต้องคอยเตือนตัวเอง เตือนเพื่อนพระเพื่อนเณรว่าอย่าประมาท เพราะถ้าหลุดไปแล้วมันเสียหายยิ่งกว่าคนทั่วไปพลาดเสียอีก

อาตมาเชื่อว่าสมัยก่อนที่หลวงพ่อพุทธทาส หลวงพ่อปัญญากำลังเผยแผ่ธรรมะอย่างเต็มที่ อาจมีคนไม่เห็นด้วยกับท่านเยอะ แต่มันไม่มีช่องทางในการที่จะโจมตีท่าน ยุคนั้นไม่มีเฟซบุ๊กเหมือนยุคนี้ ลองหลวงพ่อปัญญามาอยู่ในยุคนี้แล้วด่าเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องงมงาย ด่าเรื่องประเพณีพิธีกรรมไร้สาระ เชื่อว่าท่านก็จะถูกเอาไปโจมตีในเฟซบุ๊กอย่างหนัก ไม่ใช่ว่าเป็นหลวงพ่อพุทธทาส หลวงพ่อปัญญาแล้วจะไม่โดนโจมตี ถ้าท่านอยู่ในยุคนี้ท่านก็จะโดนโจมตีเหมือนกันแหละ

คิดอย่างไรกับเรื่องไสยศาสตร์งมงายพ.ศ.นี้

เรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ผีสางนางไม้ เจ้ากรรมนายเวร ยังมีอิทธิพลต่อความเชื่อของคน และคนก็พร้อมจะเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจ

ลองสังเกตเวลาหมอดูออกมาพูดเรื่องพวกนี้จะได้รับความนับถืออย่างหัวปักหัวปำ จนกลายเป็นคนวิเศษไปเลย แล้วมีคนติดตามกดไลค์ กดแชร์กันสนั่นหวั่นไหว ทั้งที่บางเรื่องไร้สาระมาก ทำไมยังสาธุกันอยู่ได้ บางทีภาพอะไรก็ไม่รู้ชวนให้กดไลค์กดแชร์จะร่ำรวย จะโชคดีตลอดไป ให้พิมพ์คำว่าสาธุ คนก็เอากันใหญ่ สงสัยเหมือนกันว่าทำไมยังมีคนอย่างอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ มาคอยไขข้อข้องใจทุกเรื่องทุกราว บางทีเห็นยังเหนื่อยแทนเลย (หัวเราะ) บางทีเรื่องไม่เป็นเรื่องก็เอามาพูด เอามาแชร์กันไม่ลืมหูลืมตา อาจารย์แกก็ต้องมาคอยอธิบายว่าอันนี้มั่ว อันนี้ไม่จริง  

อาตมาว่าเราต้องช่วยให้คนเข้าถึงวิทยาศาสตร์มากที่สุด สังคมไทยมันถึงจะไปรอด

กรณีโพสต์สเตตัสเหน็บแนมคนเห็นผีที่เกาะกระแสการป่วยของดาราดัง ทำไมถึงทำแบบนั้น

มันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับคนที่กำลังนอนป่วย ไม่ยุติธรรมกับญาติพี่น้องของเขาที่ต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้

ทุกครั้งที่เกิดอะไรขึ้นทำนองนี้ก็จะต้องมีคนเอาเรื่องความเจ็บป่วย ความทุกข์เดือดร้อนของคนไปโหนกระแส ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เคสนี้เขาไม่ได้อิงแค่ความเชื่อตัวเอง แต่เอาหลักศาสนาพุทธไปแอบอ้างด้วย พูดเรื่องเจ้ากรรมนายเวรอะไรต่อมิอะไร อาตมาคิดว่าคนจะเจ็บจะป่วยมันไม่ใช่เรื่องของเจ้ากรรมนายเวร มันเป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ คุณดูแลตัวเองดีหรือเปล่า ที่มาของการเกิดโรคมาจากยุงลาย  ไม่ใช่มาบอกว่าถูกวิญญาณไล่บีบคอ

"ถ้าพระไม่ตื่นก็สอนคนไม่ได้" พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ

ในฐานะพระ จะขจัดความเชื่อไร้สาระงมงายเหล่านี้ยังไง

อันดับแรกพระต้องตื่นก่อน ถ้าพระไม่ตื่นมันสอนคนไม่ได้ สังคมที่มันแย่ทุกวันนี้มาจากพระด้วย เพราะพระไม่ยอมตื่น พระบางรูปก่อนบวชเคยเชื่อยังไง หลังบวชก็ยังเชื่ออย่างงั้น พุทธะแปลว่าตื่นรู้ คนเป็นพระพอเข้ามาอยู่ในพุทธศาสนาแล้วต้องเปลี่ยนวิธีคิด เป็นพระนี่ต้องใช้ปัญญามากนะ ไม่ว่าการสอนคนอื่น หรือสอนตัวเอง ต้องมีเหตุมีผล ไม่งั้นพระพุทธเจ้าไม่สอนเรื่องอริยสัจ 4

ถ้าพระจะสอนให้คนเลิกงมงาย พระต้องสนับสนุนการคิดของคน สอนให้คนคิดเอง ไม่ใช่ไปคิดแทนคนอื่นเสร็จสรรพ เที่ยวไปชี้ว่าอันนี้เลว อันนี้ดี อันนี้ผิด อันนี้ถูก คนก็เลยไม่กล้าตั้งคำถามว่าทำไมฉันถึงผิด เช่น สมมติพระเห็นผู้หญิงขายตัว พระบอกว่าทำแบบนี้เลว แต่พระไม่ได้สนใจว่าทำไมผู้หญิงคนนี้ถึงต้องขายตัว ไม่สนใจว่าชีวิตของผู้หญิงคนนี้มีที่มาที่ไปยังไง มีความทุกข์ยังไงถึงต้องเลือกวิธีการแบบนี้ กลับไปชี้นิ้วตัดสิน มันก็เลยไม่เป็นการช่วยให้คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามเสียที

อาตมาชอบคนที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ กล้าตั้งคำถามสังคม กล้าท้าทายกระแสหลัก ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ แล้วเราจะให้สติปัญญากับคนยังไง อย่าลืมว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะการทวนกระแสไม่ใช่ตามกระแส ถ้าพระพุทธเจ้าไม่เลือกทวนกระแสก็คงไม่มีพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าได้เพราะเกิดจากการไม่ยอมจำนนต่ออิทธิพลของเทพเจ้า และตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย สุดท้ายเลยมาตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

มีคนมองว่ายุคนี้ถือเป็นวิกฤตของคณะสงฆ์ จะปฏิรูปอย่างไร

คณะสงฆ์เคยดีงามแบบหมดจดเลยหรือ ไม่มี ภาพคณะสงฆ์ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องมันไม่มีหรอก ก็มีปัญหามาทุกยุคทุกสมัยแหละ สมัยพุทธกาลมีปัญหาพิสดารายิ่งกว่านี้อีก ทั้งเรื่องสมสู่เพศสัมพันธ์ ลักขโมยข้าวของ ตีรันฟันแทง ทุกอย่าง ไม่งั้นคงไม่มีบัญญัติพระวินัยขึ้น

เราต้องเห็นว่ามีปัญหา ต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วก็ช่วยกันในการที่จะเข้าไปแก้ไข ชาวบ้านเองก็อย่าโจมตีแต่พระอย่างเดียว จะให้พระแบกรับทุกอย่างก็ไม่สมควร พุทธบริษัทมีอยู่ 4 ฝ่ายก็ต้องมาช่วยกันประคับประคอง ที่สำคัญต้องมีท่าทีที่เป็นมิตรต่อกันมากกว่านี้ เดี๋ยวนี้พระกับโยมเป็นมิตรกันไหม เวลาทำอะไรเสียหายนิดหน่อยก็จ้องเอามาประจานแล้ว แทนที่จะเอื้อเฟื้อกัน คุยกันว่าจะปกป้องพุทธศาสนาอย่างไร มันเลยเกิดคำถามว่าตกลงเราเป็นคนพุทธเหมือนกันรึเปล่า

ถามว่าต้องปฏิรูปสงฆ์ไหม โอเค ยอมรับว่ามันมีปัญหาเรื้อรังระดับโครงสร้าง แต่เอาเข้าจริงเวลาไปแตะเรื่องนี้นิดเดียวก็ไม่ได้แล้ว เพราะจะเกิดการลุกฮือขึ้นมาของกลุ่มพระเณรที่ไม่อยากให้มีการปฏิรูป ปัญหาอีกอย่างคือ คณะสงฆ์ไม่มีความเชื่อมั่นต่อคนที่จะมาทำหน้าที่ปฏิรูปตรงนี้ด้วย มันเลยไม่เกิดกระบวนการที่จะนำไปสู่การปฏิรูปได้ เพราะการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการจับมือกัน ร่วมใจกันทั้งสองฝ่าย ต้องเข้าหากันด้วยท่าทีที่เป็นมิตรก่อน ไม่ใช่เข้าหากันด้วยท่าทีที่เป็นศัตรู

ฝั่งนักการเมืองก็เอาพระไปโจมตีอยู่ในสภา พระเองก็ควรฟังเสียงของคนที่คอยเตือนด้วยว่ามันมีปัญหาอยู่ อย่าทำเป็นมองไม่เห็น เอาแต่ได้อย่างเดียว ทั้งที่สังคมตัวเองก็ไม่โอเค ตรวจสอบก็ไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ มันเลยไปไม่ถึงจุดที่ทำให้เกิดการปฏิรูปเสียที.

"ถ้าพระไม่ตื่นก็สอนคนไม่ได้" พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ