posttoday

เปิด 5 ภารกิจร้อน ยกเครื่องประกันสังคม

24 พฤศจิกายน 2558

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รื้อคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ยกชุด

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รื้อคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ยกชุด ส่งผลให้การจัดการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ เป็นอันต้องหยุดชะงัก

โกวิท สัจจวิเศษ รักษาราชการแทนเลขาธิการ สปส. ฉายภาพว่า การใช้มาตรา 44 ครั้งนี้เป็นคุณ เป็นผลดีกับระบบประกันสังคมในแง่ที่จะทำให้สำนักงานเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปอย่างจริงจัง

โกวิท บอกอีกว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้กำชับให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการทำงานของบอร์ด สปส.

แน่นอนว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการแก้ไขและประกาศใช้ในปี 2558 จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิรูป นั่นเพราะมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า บอร์ด สปส.ต้องมาจากการเลือกตั้ง และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในบอร์ด สปส.จะต้องมีการแจกแจงบัญชีทรัพย์สิน รวมทั้งต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ

เลือกตั้งทางอ้อมสกัดทุนใหญ่

สำหรับบทบัญญัติเรื่องการ “เลือกตั้ง” บอร์ด สปส.ตามที่กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่กำหนดนั้น ระบุไว้เพียงกว้างๆ คือให้จัดการเลือกตั้ง ส่วนจะใช้รูปแบบใดให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นอำนาจเต็มของ รมว.แรงงาน ที่จะตัดสินใจเลือก

“ขณะนี้คณะอนุกรรมการที่ศึกษารูปแบบการเลือกตั้งได้จัดทำระเบียบเสร็จแล้ว และบอร์ด สปส.รับทราบแล้ว แต่ยังไม่ถึงมือ รมว.แรงงาน” โกวิท ระบุ

รูปแบบการจัดการเลือกตั้งตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ คือการ “เลือกตั้งโดยตรง” โดยให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าบุคคลใดต้องการสมัครลงรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายลูกจ้างหรือนายจ้าง ก็ให้เอาชื่อของผู้สมัครทั้งหมดมาเรียงเบอร์ เช่น ทั่วประเทศมีผู้สมัคร 2,000 ราย ก็ให้ทำบัตรเลือกตั้งเบอร์ 1-2,000 จากนั้นก็ให้ผู้ประกันตนแต่ละพื้นที่ไปลงคะแนน ก่อนจะส่งผลมานับที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้วให้ กทม.เป็นผู้ประกาศผล

โกวิท อธิบายว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับจัดเลือกตั้งทางตรงว่าจะต้องใช้เงินถึง 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการตั้งหน่วยเลือกตั้ง 135 หน่วยทั่วประเทศ
ค่าเช่าสถานที่ ค่าพิมพ์บัตร รวมทั้งค่าจ้างคณะกรรมการประจำหน่วย

“ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เพราะนอกจากต้องใช้งบมากแล้วยังจะเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ เช่น หากบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องการส่งคนเข้ามาสมัครเป็นบอร์ด สปส.ก็เพียงแค่ให้ลูกจ้างทั่วประเทศช่วยกันเลือก เอาแค่ 1 แสนคะแนน ก็เข้ามาได้แล้ว” โกวิท แสดงความคิดเห็น

สำหรับ “โกวิท” แล้ว เขามั่นใจว่า “การเลือกตั้งทางอ้อม” เกิดผลดีมากกว่า โดยหลักการคือให้แต่ละจังหวัดจัดเลือกตั้งทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง เมื่อได้ตัวแทนของจังหวัดตามสัดส่วนที่กำหนดแล้ว เช่น ฝ่ายละ 2 คน ก็ให้ตัวแทนของแต่ละจังหวัดมาประชุมกัน เพื่อเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งบอร์ดของฝ่ายตัวเอง ซึ่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2558 กำหนดสัดส่วนตัวแทนบอร์ด สปส.เพิ่มจากฝ่ายละ 5 คน เป็น 7 คน

“ตรงนี้ยังเป็นเพียงแค่แนวคิด เพราะที่สุดแล้วเป็นอำนาจเต็มของ รมว.แรงงาน ที่จะเลือก อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ” รักษาราชการแทนเลขาธิการ สปส. ระบุ

ตั้งหน่วยงานลงทุนมืออาชีพ

นอกจากภารกิจเรื่องจัดการเลือกตั้งบอร์ด สปส.แล้ว “โกวิท” ซึ่งเหลืออายุราชการเพียง 1 ปีเศษ ยังเดินหน้าปฏิรูปเต็มรูปแบบ โดยเขายอมรับตรงไปตรงมาว่า หากไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 คงไม่สามารถดำเนินการได้

สิ่งที่ “โกวิท” หมายมั่นปั้นมือว่าจะทำให้สำเร็จภายในรัฐบาล คสช.มีด้วยกัน 5 เรื่องใหญ่ๆ เริ่มตั้งแต่ “การจัดระบบไอที” ใหม่ทั้งหมด นั่นเพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านบาท ต่อมาก็คือ “การตั้งหน่วยงานอิสระด้านการลงทุน” เพราะปัจจุบันกองทุนสปส.มีเงินลงทุนถึง 1.7 ล้านล้านบาท และรายได้หลักของ สปส.ก็มาจากผลตอบแทนจากการลงทุน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือทุกวันนี้ สปส.ไม่มีบุคลากรมืออาชีพมาดำเนินการ

“ทุกวันนี้บุคลากรที่จะเข้ามาทำงานกับ สปส.ต้องเป็นไปตามระเบียบ คือต้องเป็นข้าราชการ ซึ่งแน่นอนว่าเงินเดือนน้อย คนที่มีความสามารถส่วนใหญ่ก็หลุดออกไปจากองค์กรตลอด ดังนั้นท่านรัฐมนตรีจึงต้องการให้เกิดการปฏิรูปในส่วนนี้ คือหาช่องทางแยกส่วนการลงทุนออกมา จัดตั้งเป็นหน่วยงานเฉพาะที่มีความอิสระ โดย สปส.จะเป็นเพียงผู้กำกับเท่านั้น”

...จากนี้คงจะมีการร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อให้สามารถหาบุคคลที่เป็นมืออาชีพเข้ามาทำงาน สามารถให้เงินเดือนที่สูงกว่าระบบราชการ ซึ่งจะทำให้การลงทุนเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โกวิท ให้รายละเอียด

สำหรับภารกิจที่ 3 คือ “การลดความเหลื่อมล้ำบริการทางการแพทย์” โดยเฉพาะกองทุนเงินทดแทนที่ปัจจุบันจำกัดเพดานการรักษา คำถามคือหากคนเจ็บป่วยเกินกว่าเพดานที่กำหนดจะให้ไปรักษาอย่างไร ส่วนเรื่องที่ 4 คือ “การจัดระบบสิทธิประโยชน์แรงงานข้ามชาติ” เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายสิทธิประโยชน์ที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น สิทธิการว่างงาน หรือแม้บำนาญชราภาพ

ลำดับสุดท้ายคือ “การปฏิรูปสำนักงาน สปส.” ที่บุคลากรในองค์กรจะต้องมีความโปร่งใส โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปยึดโยงกับบอร์ดรายใดรายหนึ่ง หลังจากนี้ต้องไม่เกิดขึ้น

มุ่งอสังหาฯ-ตลาด ตปท.

ด้วยมีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ส่งผลมุมกลับให้กองทุน สปส.ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เม็ดเงินมากเกินกว่าที่ธนาคารพาณิชย์จะรับไหว นั่นทำให้ในอนาคตอันใกล้ สปส.จำเป็นต้องลงทุนในตลาดต่างประเทศมากขึ้น

“ผมมองว่าการลงทุนของเราเป็นปัญหาจริงๆ เพราะนอกจากจะขาดมืออาชีพแล้ว เรายังมีเงินมากถึง 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินที่มหาศาลเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาด้านการลงทุนในอนาคต คำถามคือธนาคารพาณิชย์แห่งใดจะกล้ารับฝากเงินจำนวนมากขนาดนี้ จะจ่ายดอกเบี้ยอย่างไร และเขาจะเอาเงินมากมายไปปล่อยให้ใครกู้ ดังนั้นในอนาคตอาจต้องมีการขยับไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น”

ว่าที่เลขาธิการ สปส. คาดการณ์ว่า ภายในปี 2559 กองทุน สปส.จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 3% จากเงินลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพึงพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับภาระที่กองทุนแบกรับ

“ถ้าดูเฉพาะตัวเงินอาจจะเห็นว่ามันมาก คือ 5-6 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าดูเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วผมค่อนข้างไม่พอใจ ผมได้ถามหน่วยลงทุนว่าปัญหาคืออะไร ก็พบว่าเป็นเพราะดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารลดลงมาก นอกจากนั้นเงินของ สปส.ยังไปลงทุนในหุ้น ซึ่งขณะนี้หุ้นตกและต่างประเทศถอนเงินออกไปมาก”

“...เห็นได้ชัดว่าตลาดทุนในประเทศค่อนข้างแคบ ผมจึงบอกว่าในอนาคตต้องไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และขณะนี้ผมยังให้ศึกษาดูว่า เมื่อ พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ เปิดช่องให้สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ ก็จำเป็นต้องแก้ระเบียบให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะทำให้ สปส.สามารถเข้าไปซื้ออาคารพาณิชย์มาให้เช่า หรือแม้แต่การซื้อที่ดินเพื่อเอามาทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้อีก” โกวิท อธิบาย