posttoday

"ป่วย-เครียด-เป็นหนี้"...ชีวิตติดลบของคนขับรถเมล์

22 พฤศจิกายน 2558

ส่องคุณภาพชีวิตโชเฟอร์-กระเป๋ารถเมล์ กับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานวันละ 12 ชั่วโมงบนท้องถนน

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

"ชิดในหน่อยค่า ชิดในหน่อย"

น้ำเสียงกราดเกรี้ยว ใบหน้าเหนื่อยหน่ายของพนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถประจำทาง หรือกระเป๋ารถเมล์ ที่เดินแหวกผู้คนที่แออัดยัดเยียดในห้องสี่เหลี่ยมราวกับปลากระป๋อง เช่นเดียวกับคนขับรถที่ต้องนั่งหลังพวงมาลัยพารถฝ่าการจราจรติดขัดบนท้องถนนตั้งแต่เช้าจรดมืดค่ำ

พวกเขาทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง ต้องเผชิญกับอุปสรรคระหว่างการทำงาน ทั้งอากาศร้อน มลพิษ รถติด ยันผู้โดยสารเหวี่ยง จนเกิดความเครียดสะสมนำไปสู่ปัญหาอื่นๆอีกมากมาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หนี้สิน ครอบครัวแตกร้าว

ใครบ้างจะรู้ว่า คุณภาพชีวิตของอาชีพโชเฟอร์-กระเป๋ารถเมล์พ.ศ.นี้กำลังเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัส

"ป่วย-เครียด-เป็นหนี้"...ชีวิตติดลบของคนขับรถเมล์

ส่องคุณภาพชีวิตของพนักงานขสมก.

ผลการวิจัยสำรวจสถานะสุขภาพของพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. ได้ทำการสัมภาษณ์พนักงานขสมก.ในตำแหน่งต่างๆทั้งชายและหญิงจำนวน 1,243 ราย ระบุว่า พนักงานขสมก.เกินกว่าครึ่้งต้องเผชิญปัญหาสุขภาพและปัญหาคุณภาพชีวิตหลายด้าน

โดยเฉพาะพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ส่วนใหญ่ต้องทำงานล่วงเวลาวันละ 2 ชั่วโมงขึ้นไป ด้วยสภาพการทำงานที่ตรากตรำคร่ำเคร่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โรคที่พบมากที่สุดคือ ความดันโลหิตสูง 24.55% เบาหวาน 18.25% ไขมันในเลือดสูง 13.7% จากการสำรวจยังพบว่าพนักงานกว่า 22% ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากนี้ยังพบปัญหาสะสมตามมามากมาย ทั้งกินอาหาร-นอนไม่เป็นเวลา เหนื่อยล้าจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และอาการบาดเจ็บทางร่างกายจากการต้องนั่งหรือยืนอยู่บนรถเมล์นาน รวมถึงการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระเป็นประจำ เพราะสภาพการจราจรที่ติดขัดและเส้นทางเดินรถที่มีระยะทางไกล ประกอบกับท่ารถบางแห่งยังมีห้องน้ำไม่เพียงพอ ขณะที่ 85 % ของพนักงาน ขสมก.ยังต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินด้วย

อรพินธุ์ แทนทอง พนักงานสายตรวจพิเศษ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) หนึ่งในคณะวิจัย เผยว่า ได้สรุปข้อเสนอ 6 ข้อในการปรับปรุงระบบสวัสดิการของพนักงาน เพื่อยื่นให้ทางขสมก.ทบทวนพิจารณา ประกอบด้วยดังนี้

1.จัดสวัสดิการจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล เพื่อลดภาระที่พนักงานต้องหาเงินมาสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลในยามที่เจ็บป่วย

2.ปรับปรุงระบบการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อให้พนักงานได้รับบริการอย่างทั่วถึง เพราะปัจจุบันการตรวจสุขภาพประจำปีที่ขสมก.จัดให้ยังมีระยะเวลาจำกัด ทำให้พนักงานที่ต้องเข้ากะทำงานในเวลาที่มีการตรวจสุขภาพต้องเสียโอกาส

3.จัดร้านค้าสวัสดิการที่ขายอาหารที่มีคุณภาพดีและราคาถูก รวมทั้งจัดน้ำดื่มสะอาดให้เพียงพอในทุกจุดที่มีพนักงาน และจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม รวมถึงการจัดให้มีห้องน้ำตามอู่รถเมล์อย่างเพียงพอ

4.จัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายแก่พนักงาน

5.จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการหนี้สินแก่พนักงาน

6.สร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้พนักงานนอกเวลาทำงานหรือในวันหยุด

"ป่วย-เครียด-เป็นหนี้"...ชีวิตติดลบของคนขับรถเมล์

"ป่วย-เครียด-เป็นหนี้"ความในใจจากโชเฟอร์-กระเป๋ารถเมล์

แม้ระเบียบของทางขสมก. จะกำหนดช่วงเวลาการทำงานไว้ 8 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งยังมีระบบการทำงานเป็นกะเพื่อให้พนักงานได้มีการหมุนเวียนการทำงาน ทว่าในความเป็นจริง พนักงานจำนวนไม่น้อยยังต้องทำงานล่วงเวลา โดยเฉพาะพนักงานเดินรถที่ต้องมีการทำงานบนรถเมล์หรือบนท้องถนนเฉลี่ย 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ระยะทางเดินรถเฉลี่ยในแต่ละเที่ยว 30 กม. สูงสุดถึง 94 กม. ยังไม่นับสภาพการจราจรติดขัด มลพิษบนท้องถนน การต้องรับมือกับผู้โดยสารร้อยพ่อพันแม่ ทั้งหมดนี้ทำให้อาชีพโชเฟอร์-กระเป๋ารถเมล์ กลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง

ยงยศ บุญคง โชเฟอร์รถเมล์รุ่นใหญ่วัย 52  เขาต้องนั่งอยู่หลังพวงมาลัยสัปดาห์ละ 6 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง แลกกับค่าตอบแทน 35,000 บาทต่อเดือน 

“เริ่มทำงานเมื่อปี 2532 วันนี้่ก็ 26 ปี แล้ว แรกๆได้เงินเดือนแค่สองพันกว่าบาท รวมค่าโอที ค่าเปอร์เซนต์จากตั๋วโดยสารรับรวมๆแล้วตกประมาณสี่ห้าพันบาทต่อเดือน ก็ทำมาเรื่อยๆ จนอยู่ตัว ทุกวันนี้วิ่งรถวันละ 3 รอบ หรือเท่ากับ 6 เที่ยว บางสายอาจจะวิ่งน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสภาพจราจรซึ่งเลวร้ายมากขึ้นทุกปี สมัยก่อนรอบหนึ่งใช้เวลาชั่วโมงเดียว เดี๋ยวนี้ 3-4 ชั่วโมงก็มี ทำให้คนเข้าใหม่ ลาออก เพราะทนไม่ไหว รถมันติดมากครับ

"ป่วย-เครียด-เป็นหนี้"...ชีวิตติดลบของคนขับรถเมล์ ยงยศ บุญคง

สอดคล้องกับความเห็นของ สังเวย คุ่ยต่วน พนักงานขับรถเมล์อีกรายที่บอกอย่างเซ็งๆว่า รถติดและความไร้ระเบียบของรถโดยสารคันอื่น ทำให้อาการเครียดกำเริบ

"ความเครียดหลักคือ รถมีจำนวนมากขึ้นทุกปี ทั้งรถส่วนตัว รถโดยสาร โดยเฉพาะรถตู้และรถแท็กซี่ พวกนี้ชอบจอดแช่ จอดขวางช่องเดินรถของรถเมล์ ทำให้พวกเราจอดรับผู้โดยสารบางป้ายไม่ได้ ต้องจอดเลยป้าย ไม่ก็จอดไกล เสี่ยงโดนผู้โดยสารโทรร้องเรียนอีก เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่ทำให้คนทำงานอารมณ์เสีย

สถาพร เสมอมา โชเฟอร์อีกราย เล่าถึงวิธีจัดการความเครียดระหว่างการทำงานให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า

"ง่ายๆเลยคือเงียบ ไม่สนใจ ไม่ฟัง ใครจะด่า ใครจะบ่น รถจะติด ไม่สนใจ อยู่กับตัวเอง ชะเง้อมองนอกหน้าต่าง หรือฟังเพลง เดี๋ยวมันก็ถึง ขอฝากไปยังผู้โดยสารว่า การโบกในระยะกระชั้นชิด รถเมล์ไม่สามารถหยุดรับได้ อย่าโกรธหรือโมโห เพราะหยุดแล้ว อาจเกิดอันตรายกับคนที่อยู่บนรถ รวมถึงผู้โดยสารที่รอรถนาน พอได้ขึ้นรถแล้วเหวี่ยงใส่กระเป๋าหรือบ่นคนขับว่าทำไมมาช้าจัง รอเป็นชั่วโมงแล้ว  อยากถามกลับไปว่า คุณรอแค่ชั่วโมงเดียว แต่ผมต้องนั่งหลังพวงมาลัยมากี่ชั่วโมงก่อนจะเจอคุณ” 

นอกจากรถติด พฤติกรรมของผู้โดยสารบางคนก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าได้อย่างน่าทึ่ง

กัญญาวีย์ เกิดแจ่ม พนักงานเก็บค่าโดยสารประสบการณ์สูง เล่าว่า ทุกครั้งก่อนปฎิบัติหน้าที่จะตั้งสติ ทำใจให้สงบ เพื่อเตรียมรับศึกหนักจากปัญหาจราจร มลพิษ ฝุ่นควัน และผู้โดยสาร

สมัยนี้อากาศแย่ เจอผู้โดยสารเอาแต่ใจตัวเองก็มาก อารมณ์เสียใส่เรา ไปไม่ทันคันหน้า ขึ้นมาด่าคันหลัง มีหลายรูปแบบ ที่พบบ่อยคือพวกไม่เตรียมพร้อมระหว่างการขึ้นลงรถ ชอบยืนดู พอรถออก กระโดดขึ้น พลัดตกมา คนขับรับผิดชอบอีก เราบอกตลอด จะลงป้ายไหนให้เตรียมตัว แล้วกดกริ่งนะคะ แต่เอาเข้าจริง คนขับจอด ดันไม่ลง หรือประเภทขึ้นมาแล้วอารมณ์เสีย พอพูดเสียงดังหน่อย บอกไหน ฉันขอดูชื่อเธอหน่อยซิ เกิดปัญหากับผู้โดยสาร เราจะเดินหนี นับ 1-100 ในใจ ให้สงบ โดนด่ามาเยอะ ต้องอดทนค่ะ”

เธอบอกว่าพนักงานทุกคนพยายามพูดดีกับผู้โดยสาร แต่บางทีอาจจะเสียงดังไปบ้าง ยกตัวอย่างเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเคยบอกให้ผู้โดยสารเดินชิดใน ผู้โดยสารไม่พอใจโทรร้องเรียนว่าถูกผลัก ขณะที่เพื่อนร่วมงานอีกรายเอ่ยปากเตือนผู้โดยสารว่าขึ้นลงรถห้ามใช้โทรศัพท์ บางคนไม่พอใจ ก็โทรไปแจ้งข้อหาพูดจาไม่สุภาพ ทั้งที่ตักเตือนเพราะหวังดี ความซวยตกมาอยู่ที่พนักงานล้วนๆ

พนักงานขับรถโดยสารและเก็บค่าโดยสารต้องมีความอดทนสูง กินข้าวก็ไม่เป็นเวลา ปวดฉี่ปวดท้องก็ต้องอั้น ที่สำคัญยังเสี่ยงอันตราย เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ตัวเราอยู่มา 20 กว่าปี ล้มบนรถบ่อย เจอแรงๆ ไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก รถเมล์ถูกชนด้านท้าย ตัวเราลื่นล้มจนเอ็นขาฉีก กับอีกครั้งหนึ่งตกรถ เข้าโรงพยาบาล หมอบอกกระดูกทับเส้น พักไปหลายเดือน เหล่านี้ต้องรับความเสี่ยงให้ได้ เพราะเราทำงานบนท้องถนน

"ป่วย-เครียด-เป็นหนี้"...ชีวิตติดลบของคนขับรถเมล์ กัญญาวีย์ เกิดแจ่ม

สำหรับเรื่องปัญหาหนี้สิน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของอาชีพพนักงานขสมก. ส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้จากสถาบันการเงินในระบบ เช่น ธนาคาร สหกรณ์ ออมทรัพย์ และกองทุนต่างๆ สาเหตุที่ทำให้พนักงานขสมก.เป็นหนี้เยอะ เนื่องจาก ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ พนักงานส่วนใหญ่สามารถทำธุรกรรมสินเชื่อกับสถาบันการเงินที่เป็นทางการได้หลากหลายช่องทาง และมีเเหล่งเงินกู้ในระบบที่สามารถหักชำระได้โดยตรงจากบัญชีธนาคารที่รับเงินเดือน ได้เเก่ 1.สหกรณ์ออมทรัพย์ ขสมก.  2.สหกรณ์ออมทรัพย์ พนักงานฯ  3.สหกรณ์ออมทรัพย์ ร่มเกล้า  4.สหกรณ์ออมทรัพย์ พนักงานเดินรถโดยสาร ขสมก. จำกัด 5.สหกรณ์ออมทรัพย์ออมทรัพย์ผู้ปฎิบัติ  6.สหกรณ์พนักงานรถเมล์ 7.ธนาคารอาคารสงเคราะห์  8.คุณภาพชีวิต (ธนาคารออมสิน)

จิราภรณ์ คงสุขโข อายุ 42 ปี เจ้าของตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารดีเด่นของ ขสมก.ถึง 2 สมัย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังแบกรับปัญหาหนี้สินอันหนักอึ้ง

“เป็นหนี้หลายแสน ทั้งสหกรณ์ ธนาคารออมสิน บัตรเครดิต เจ้าหนี้นอกระบบ เอาไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ดูแลลูก ๆและครอบครัว เลิกกับสามีแล้ว เลยรับภาระคนเดียว เงินเดือนสามหมื่นกว่า หักลบแล้วเป็นศูนย์ ทุกวันนี้พกมาแค่ช้อน ข้าวหากินเอากับเพื่อน ขนาดเหรียญในกระบอกเอาไว้ทอนผู้โดยสารยังต้องยืมเขามาก่อน วิ่งรถเสร็จค่อยเอามาคืน ทำแบบนี้มาหลายเดือนแล้ว นึกทีไรปวดหัวทุกที สมัยทำงานได้เงินเดือนละหกพัน สามารถผ่อนรถให้พ่อได้ ตอนนี้เงินเดือนสามหมื่นกว่าบาท ติดลบเฉยเลย กำลังหาทางออกอยู่ ตอนนี้กู้ยืมทุกช่องทาง ทั้งในและนอกระบบ ว่างๆ ก็เก็บขวดขาย รับจ้างรีดผ้านิดๆหน่อยๆ จริงๆรู้นะว่าควรบริหารจัดการเงินอย่างไร แต่ตอนนี้มันเป็นหนี้ไปแล้ว ยากที่จะหาทางออก ทำงานเหนื่อยแล้วก็หาย แต่หนี้สินไม่หาย”

ขณะที่ ยงยศ  โชเฟอร์วัยดึก บอกว่า ปัญหาหนี้สินที่พนักงานหลายคนประสบกันอย่างถ้วนหน้า มาจากทั้งหนี้ที่ตัวเองสร้างขึ้นและเพื่อนร่วมงานทิ้งไว้ให้

“หนี้มีทั้งของเราและของเพื่อน มันกู้แล้วเราค้ำ พอได้เงินแล้วมันหนี พวกนี้มีเยอะ โดนกันหลายคน พนักงานมีช่องให้กู้เยอะทั้งสหกรณ์ โครงการโน่นนี่นั่นเยอะไปหมด บางคนกู้แล้วไม่รับผิดชอบ เพื่อนฝูงเลยซวย รับสภาพหนี้แทนเพื่อน  บางคนเข้ามาไม่กี่ปี กู้เสร็จหนีไปเลย ทุกวันนี้ได้เงินเดือนละสามหมื่นกว่าบาท แต่รับจริงห้าพัน โดนตัดหมด ของตัวเองไม่เท่าไหร่ แต่ของเพื่อนนี่แหละ”

ทางออกสู่ชีวิตที่ดี 

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า ความเครียดจากการทำงานและปัญหาหนี้สินของพนักงาน นำไปสู่ความกังวลถัดมาคือ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เนื่องจากหลายคนพอเครียดก็หันหน้าเข้าหาขวดเหล้า สูบบุหรี่ กระดกชา กาแฟ ยาชูกำลัง

ที่ผ่านมามูลนิธีหญิงชายก้าวไกล พยายามลงไปอุดรูรั่วที่ทำให้เกิดปัญหา ด้วยการแนะนำให้พวกพนักงานลด ละ เลิก อบายมุขต่างๆ เท่าที่เก็บข้อมูลพบว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่หมดไปกับสิ่งเหล่านี้หลายพันบาท เรารณรงค์ตามเขตนำร่องบางพื้นที่ของขสมก. จนมีพนักงานหลายคนเริ่มลด ละ เลิกอบายมุขกันได้แล้ว ถือเป็นคนต้นแบบในการรณรงค์ให้คนอื่นทำตาม และเชื่อว่าความสำเร็จจะถูกขยายต่อไป  ในอนาคต มูลนิธิและผู้บริหารขสมก.ยังเตรียมนำกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาแนะนำ เพื่อเสริมรายได้ ลดรายจ่าย อันนำไปสู่สุขภาพและสภาวะชีวิตดีขึ้นอีกด้วย”

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นดังกล่าวทำให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจถึงความยากลำบากในหน้าที่การงานของพนักงานขสมก. นำไปสู่การคลี่คลายปัญหาให้ทุเลาลงบ้านไม่มากก็น้อย

“หลังจากมีการวิจัยและสะท้อนปัญหาของพนักงานขสมก.ออกมา สถานการณ์ต่างๆ ก็เริ่มดีขึ้น เมื่อก่อนเราพบว่า ท่ารถต่างๆ ขาดแคลนห้องน้ำ เดี๋ยวนี้แก้ปัญหานี้เกือบหมดแล้ว  เป็นเรื่องน่ายินดี การนำผลวิจัยมานั่งแลกเปลี่ยนพูดกันกับผู้บริหารและสหภาพ ทำให้เกิดความเข้าใจและการพัฒนาที่ตรงจุด ทุกฝ่ายจะปรับตัว ปรับทัศนคติ แทนที่จะเรียกร้องอย่างเดียว จนเกิดความสำเร็จในการหาทางออกร่วมกันในที่สุด”

ทั้งหมดนี้คือคุณภาพชีวิตของอาชีพคนขับและกระเป๋ารถเมล์ รวมถึงพนักงานฝ่ายอื่นๆของขสมก. ที่ต้องเผชิญทั้งความเครียด โรคภัยไข้เจ็บ และปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว อันสมควรที่จะต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขโดยเร็วที่สุด.

"ป่วย-เครียด-เป็นหนี้"...ชีวิตติดลบของคนขับรถเมล์