posttoday

นโยบาย นพ.โสภณ เมฆธน ยุติขัดแย้งเดินหน้าสู่เป้าหมาย

17 พฤศจิกายน 2558

"ถ้าคิดว่าต้องมีอำนาจมากที่สุดในกระทรวงมันก็แย่ ที่ต้องคิดมากกว่าคือ ถ้ามีอำนาจแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร"

โดย...สุภชาติ เล็บนาค/พิเชษฐ์ ชูรักษ์

ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขรั้งอันดับหน่วยงานราชการที่ติดหล่มความขัดแย้งมากสุดในลำดับต้นๆ

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ นพ.โสภณ เมฆธน จึงถูกคาดหวังสูงจากองคาพยพภายในกระทรวงว่าเขาจะฝ่าความขัดแย้งเดินหน้านโยบายหลายๆ ด้าน รวมถึงการปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็นรูปธรรม

ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง นพ.โสภณ ประกาศทิศทางชัดว่า ความขัดแย้งที่เคยเป็นมาจะต้องยุติลงทุกกรณี และช่วงเทอม 2 ของเขาจะเป็นเวลาแห่งการเดินหน้า “ทำงาน” เพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างเดียว

“โพสต์ทูเดย์” เข้าสัมภาษณ์พิเศษคุณหมอโสภณ เพื่อฟังวิสัยทัศน์ในฐานะปลัดกระทรวงป้ายแดง และถามถึงนโยบายในการปฏิรูประบบสุขภาพให้ถึงฝั่งฝัน พร้อมๆ กับแนวทางสลัดความขัดแย้งให้เป็นเพียงอดีต

“ผมคิดว่าเป็นงานที่ท้าทาย เพราะว่าในกระทรวงมีคนเก่ง และมีหลากหลายความคิดเห็น แล้วก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่เราก็ต้องชวนทุกคนมองไปข้างหน้าว่าประชาชนจะได้รับอะไร และกระทรวงสาธารณสุขควรจะมีบทบาทอย่างไร” นพ.โสภณ เริ่มฉายภาพ

เขาบอกอีกว่า กระทรวงหมอในยุคนี้จะไม่พูดถึงความขัดแย้ง และต้องพาทุกคนข้ามความขัดแย้งไปสู่เป้าหมายข้างหน้า มีภาพฝันด้วยกัน และมีแนวทางที่เดินด้วยกัน

“ผมคิดว่าขณะนี้ความขัดแย้งเริ่มดีขึ้น แล้วผมก็เห็นทุกคนช่วยกันเต็มที่ เสียงสะท้อนหลายอย่างก็กลับมา เช่น เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายก็ไม่ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ เมื่อเป็นเช่นนั้นผมก็ชวนทุกคนร่วมกันทำงานต่อไป” ปลัด สธ.ระบุ

เขายืนยันว่า ไม่มีสัญญาอะไรเป็นพิเศษกับรัฐบาล หรือกับ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. แต่ในฐานะข้าราชการประจำก็ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการสร้างความปรองดองเพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชน

“ถ้าคิดว่าต้องมีอำนาจมากที่สุดในกระทรวงมันก็แย่ ที่ต้องคิดมากกว่าคือ ถ้ามีอำนาจแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร มากกว่ามองว่าจะสร้างอำนาจให้กลุ่มตัวเองอย่างไร ผมก็มองอย่างเดียวว่ามีงานอะไรบ้าง แล้วใครเหมาะ จะเป็นเด็กใครผมไม่สนใจ เพราะถ้าคุณขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพวกใคร เราก็เปลี่ยนเขาได้ และอยู่ไปนานๆ เขาก็เป็นพวกเราได้

“แต่ถ้าเราไปตีตราว่าคนนี้เป็นพวกนั้นก็แย่เลย กลายเป็นว่าเราจำกัดคนในการทำงาน ถ้าเกิดเขาเป็นอีกพวกหนึ่งที่เราไม่ชอบ ก็เสียโอกาส เสียองค์กร เสียโอกาสผมด้วย มันเสียหมด สุดท้ายก็ต้องช่วยกันทำงาน แต่ถ้าคุณยังแบ่งพวก มันก็เสียโอกาสของคุณเอง” นพ.โสภณ ระบุ

อย่างไรก็ตาม คุณหมอยังยืนยันไม่ได้ ว่าหลังจากนี้จะไม่มีการตบเท้า-งัดข้อ เหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่ที่รับปากได้ก็คือ จะให้ความยุติธรรมกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย และไม่มีการเอาใจคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวแน่นอน

“ตอนผมเป็นรองปลัดฯ รองอธิบดี ผู้บังคับบัญชาท่านบอกเลยว่า ท่านไม่สร้างทายาท ผมก็สงสัยว่าทำไมผมไม่มีโอกาสเป็นทายาทเหรอ วันนี้ผมรู้สึกแล้วว่าการสร้างทายาททำให้เกิดความแตกแยก เพราะมันปิดโอกาสให้คนอื่นได้โต แต่ถ้าสร้างกลุ่มคนเป็นผู้บริหารในอนาคต นั่นอีกเรื่องผมจะสร้างอย่างนั้นมากกว่า” ปลัด สธ. ระบุ

ปลัดโสภณ มั่นใจว่า เขาสามารถทำงานได้กับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแพทย์ชนบท หรือกลุ่มประชาคมสาธารณสุข ซึ่งเคยขัดแย้งกันมาก่อนหน้านี้

ความท้าทายอีกอย่างในแง่นโยบายก็คือ จะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการเงินในระบบสุขภาพนั้นเพียงพอ เพราะที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนถึงการบริหารจัดการที่อาจทำให้โรงพยาบาลขาดทุนอยู่พอสมควร นอกจากนี้ก็มีข้อเสนอแนะว่า หากจะให้รักษาฟรีอาจทำให้ระบบไปต่อไม่ได้ และสุดท้ายต้องเริ่มที่ระบบร่วมจ่าย

“เงินพอหรือไม่ เป็นอีกจุดเสี่ยงอันหนึ่งที่ท้าทาย แน่นอนเงินมันจำกัดอยู่แล้ว มีลูกโป่งอยู่ลูกเดียว สุดท้ายผมก็คิดว่ามันขึ้นกับลำดับความสำคัญ เช่น นโยบายเราบอกว่า โรงพยาบาลขาดทุน เงินไม่พอ มันก็ต้องถามว่าแล้วโรงพยาบาลที่กำไรมีไหม ทีนี้โรงพยาบาลที่กำไรก็ต้องแชร์กำไรมาให้โรงพยาบาลที่ขาดทุน

“หรือบอกว่า โรงพยาบาลที่ดูแลคน 2 หมื่นคนอยู่ไม่ได้ โรงพยาบาลที่ดูแลคนเป็นแสนอยู่ได้ก็ต้องมาช่วย เพราะทุกโรงพยาบาลอยู่ภายใต้บริษัทเดียวคือ บริษัทกระทรวงสาธารณสุข มันไม่ใช่โรงพยาบาลนี้เป็นของคุณ อันนี้เป็นของผม ผมต้องเอากำไร คุณเอากำไร แล้วต้องแย่งเงินกัน ไม่ใช่

ต้องดูทั้งระบบและคุณต้องเข้าใจว่ามันเป็นเงินงบประมาณ ที่เขาให้มาดูแลประชาชน ไม่ใช่เงินของคนใดคนหนึ่ง ถ้าคิดอย่างนี้ ผมก็ว่าน่าจะพอแก้ปัญหาได้” ปลัดสาธารณสุข ย้ำ

อย่างไรก็ตาม ตามแผนของปลัด สธ.ยังต้องดูมอนิเตอร์ทั้งระบบ ตั้งแต่แผนกำลังคน ระบบบัญชี หรือค่าใช้จ่ายต่อยูนิต เพื่อหาว่าเงินในระบบขณะนี้พอหรือไม่ หากไม่พอก็อาจจำเป็นต้องไปบอกรัฐว่าเงินไม่พอ

คุณหมอโสภณ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้ก็คือนำนโยบายรัฐบาลและนโยบายรัฐมนตรีไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมป้องกันโรคของ 5 กลุ่มวัย ตั้งแต่เด็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงอายุไม่ให้เจ็บป่วย การพัฒนาระบบบริการให้ประชาชนเข้าถึงระบบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ลดการเจ็บป่วย ลดความแออัด

ขณะเดียวกัน ยังต้องพัฒนาระบบบริหารจัดการ สนับสนุนกำลังคน การเงิน การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ไม่มีทุจริต รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนระบบสุขภาพ นอกจากนี้ต้องสร้างระบบป้องกันโรค ระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญที่สุดก็คือระบบดูแลคุ้มครองผู้บริโภค

นอกจากบริหารราชการแผ่นดินให้ได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายแล้ว รัฐบาลชุดนี้ยังมอบหมายเรื่องการปฏิรูปให้ดำเนินการด้วย ซึ่งมีกรอบใหญ่ๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ระบบบริการ 2.ส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคอุบัติใหม่ และ 3.ระบบการดูแลการเงินการคลัง

นพ.โสภณ ระบุว่า นโยบายสำคัญในการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ก็คือการเดินหน้าพัฒนาระบบ “เขตสุขภาพ” 12 เขต กระจายให้ผู้ตรวจราชการดูแลว่าจะจัดบริการอย่างไร มากกว่าจะให้ข้างบนดูพื้นที่เพียงอย่างเดียว

“เรียกว่ากระจายอำนาจลงไป เพราะแต่ละเขตเรื่องการป่วย-ตายต่างกัน ทรัพยากร จำนวนคนก็ต่างกัน ทีนี้ส่วนกลางเติมทรัพยากรลงไปก็ต้องเน้นให้เกิดความเท่าเทียม เช่น คนเป็นโรคหัวใจ คนเขตนครสวรรค์อาจจะตายมากกว่า กทม.หรือเขตอื่นๆ เพราะแถวนั้นไม่มีจุดผ่าหัวใจได้ ก็ต้องปรับแก้ให้เขตนครสวรรค์มีสถานที่ มีตึก มีคน แล้วแต่ละเขตก็ต้องหาเพิ่มเติมว่าจุดไหนยังไม่เท่าเทียม พอขาดอะไร เราก็ไปเติมส่วนที่ขาด

“ผมยังเชื่อในแนวทางนี้ ตั้งแต่เป็นรองปลัดฯ แล้วรับผิดชอบการทำเขตสุขภาพ มันเห็นชัดเลยว่าแบ่ง 12 เขต เพราะถ้าแบ่ง 77 จังหวัด มันเล็กเกินไป แต่ถ้าในเขตจะมีโรงพยาบาลระดับต่างๆ มีโรงพยาบาลศูนย์รับการดูแล หรือเป็นศูนย์ส่งต่อ หรือเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลเด็กแรกคลอด หรือผ่าหัวใจ เพราะถ้าให้มีพวกนี้อยู่ในโรงพยาบาลเล็กๆ มากเกินไปก็ดูแลไม่ไหว แต่ถ้ามีจุดรับส่งต่อได้ก็โอเค”

คุณหมอโสภณ กล่าวว่า แนวทางนี้คือการมองโรงพยาบาลทุกแห่งว่าอยู่ภายใต้บริษัทเดียวกัน คือบริษัทกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นจะไม่มีการบริหารแบบแยกส่วน หรือโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งโตอยู่โรงพยาบาลเดียว

“ทรัพยากรต้องแบ่งกัน ผมคงไม่เติมทรัพยากร โดยที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ เช่น ถามว่าถ้าลดการป่วยการตายก็ต้องดูว่าถ้ามีประชาชนอยู่ ณ จุดนี้อาจจะกลางทุ่งนา แล้วเจ็บป่วยขึ้นมาต้องไปรับยาละลายลิ่มเลือด สามารถแวะจุดไหนได้บ้าง ถ้าไม่มีที่แวะก็ต้องหาที่ที่เหมาะสม แล้วเติมคน เติมทรัพยากรลงไป”

ขณะเดียวกัน คุณหมอเห็นว่าจะไม่มองว่าใครเริ่มต้น ใครรับต่อ แต่ในระบบจะต้องมองว่า ทุกส่วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะเป้าหมายคือประชาชนเหมือนกัน เพราะฉะนั้นระบบบริการในส่วนภูมิภาคให้เป็นรูปแบบเครือข่าย “พี่น้องต้องช่วยกัน” ซึ่งต้องมีการพัฒนาต่อไป

“ยกตัวอย่าง ที่นอนในโรงพยาบาลจังหวัดแน่นไปหมด ก็ต้องประเมินแล้วว่า มีโรคอะไรที่สามารถส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอได้บ้าง หรือถ้าป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตยังกลับบ้านไม่ได้ก็ต้องมาแวะที่โรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งอัตราการครองเตียงน้อยกว่า หากเขาต้องทำกายภาพบำบัดก็ต้องเพิ่มนักกายภาพ

“หรือหากมีผู้สูงอายุก็ต้องเพิ่มนักโภชนาการ แต่ถ้าเรามองถึงสังคมผู้สูงอายุ ทีนี้ก็ต้องร่วมกับชุมชนแล้ว ก็อาจต้องมีศูนย์อเนกประสงค์ในชุมชน เพื่อแบ่งเบาภาระจากทางบ้าน นี่คือรูปแบบของเครือข่ายบริการที่เรามอง”

“สมมติถ้ากินข้าว เสิร์ฟสามถาด กับเสิร์ฟตรงกลางด้วยกัน เสิร์ฟแบบคนไทย กินด้วยกันนี่ล่ะประหยัดกว่า แต่ถ้าบุฟเฟ่ต์ก็สิ้นเปลือง เพราะทุกคนต้องการเอาไปก่อน หรือถ้าเลี้ยงคนเยอะมาก แต่ทุกคนอยู่ในถาดของตัวเองก็จะสิ้นเปลืองมาก นี่คือรูปแบบของเรา แชร์ด้วยกันระหว่างพี่น้อง เพราะที่มีอยู่เราพัฒนาทั้งหมดไม่ไหว” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำทิศทางการบริหาร

"...ถ้าผมไม่ไว้ใจคุณหรือคุณไม่ไว้ใจผม ก็พัง"

ด้วยต้องทำงานประสานกับองค์กรภายนอก ยังมีความไม่ลงรอยระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกี่ยวกับการจัดการงบประมาณ “บัตรทอง” ปีละกว่า 1.2 แสนล้าน ที่อยู่กับ สปสช.และต้องจ่ายให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อ “ซื้อบริการ”

ในมุมมองของ นพ.โสภณ เห็นว่าทั้งกระทรวงและ สปสช. หากมีเป้าหมายเดียวกันคือ ประชาชนมีสุขภาพดี-ไม่เจ็บป่วย ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน และทั้งสององค์กรมีเป้าหมาย-ตัวชี้วัดเดียวกันก็สามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา

“ทั้งสองหน่วยงานก็ต้องมาตกลงกันว่าจะเอาอะไรบ้าง ไม่ใช่เราเอาอย่างหนึ่ง แต่เขาจะเอาอีกอย่างหนึ่ง หรือถ้าผมอยากให้เด็กไทยฉลาด ผมต้องมีคลินิกสุขภาพเด็กดี มีมาตรฐาน เขาจะซื้อไหม ถ้าเขาซื้อก็โอเค ก็ทำงานด้วยกัน แต่ที่สำคัญคือ ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่มีข้อมูล ไม่ใช่ตามใจผมคนเดียว หรือตามใจคนซื้อคนเดียว ถ้าผมไม่ไว้ใจคุณหรือคุณไม่ไว้ใจผม ก็พัง”

ปลัดโสภณ ย้ำอีกว่า ขณะนี้มีคณะกรรมการในระดับชาติที่ รมว.สธ.แต่งตั้งข้างละ 7 คน และในระดับเขตข้างละ 4 คน เพื่อทำหน้าที่บริหารการเงิน บริหารระบบบริการ ระบบข้อมูล และดูร่วมกันว่าจะพัฒนาการบริการอย่างไร ซึ่งทาง สธ.ก็ต้องทำการบ้าน เสนอตัวเลือกให้ สปสช.เข้าใจข้อมูลที่มีให้ตรงกันเหมือนกับการทำเวิร์กช็อป

ถามว่าทั้งสององค์กรต้องเริ่มต้นกันใหม่หรือไม่ นพ.โสภณ ยืนยันว่า ไม่ได้นับหนึ่งใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายเรื่องที่พัฒนามาด้วยกัน เพราะฉะนั้นอาจไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่บางเรื่องอาจจะเริ่มจาก 20 เพื่อมองไปข้างหน้าด้วยกัน

“หลังจากนี้ก็ต่อสายคุยกันได้ ท่านประทีป (นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.) ก็โทรหาผม ผมก็โทรหาได้ตลอดเวลาคือ ถ้ามาตรการโอเคระดับนี้นะ ไม่ออฟไซด์กัน ไม่ใช่ สปสช.เอาคนของเราไปบอกทุกเรื่อง แล้วไว้ใจกัน ผมก็คิดว่าทำงานด้วยกันได้”

“แต่ถ้าเขามีเงิน แล้วเอาเงินไปใช้โดยไม่รู้เรื่องหรือไม่ไว้ใจเรา ว่าคนของเราไม่เก่ง เรียกคนของเราไปอบรม สุดท้ายก็ออฟไซด์กัน ก็ทำงานกันลำบาก ผมคิดว่าคงไปในแนวทางนี้” นพ.โสภณ ระบุ

ขณะที่องค์กรอิสระในกำกับ สธ. (ตระกูล ส.) ซึ่งถูกเพ่งเล็งนั้น คุณหมอโสภณ บอกว่า ทุกองค์กรก็มีภารกิจของตัวเอง และมีงานที่ต้องประสานกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องมาร่วมกันทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“ถ้า สสส.เขาเซตระบบให้ดีได้แล้ว หลังจากนี้เราก็ยอมรับว่าต้องอาศัยเงินจากเขามาทำงานส่งเสริมสุขภาพ ก็ต้องคุยกันว่านโยบายของ สสส.เงินควรมุ่งเป้าอะไร แล้วในเชิงนโยบายเราจะสามารถสนับสนุน หรือเขาสามารถสนับสนุนอะไรเราได้บ้าง เช่น เรื่องอุบัติเหตุก็ต้องให้เขาช่วย” ปลัดโสภณ กล่าว

นโยบาย นพ.โสภณ เมฆธน  ยุติขัดแย้งเดินหน้าสู่เป้าหมาย

ยึดรักบี้โมเดล บูรณาการบน-ล่าง ลดความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพ

ข้อถกเถียงของวงการสาธารณสุข เรื่อง 3 กองทุนสุขภาพ ระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ เป็นอีกเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในการหาทาง “ลดความเหลื่อมล้ำ” ของแต่ละสิทธิ แต่จนแล้วจนรอดก็มีแต่ข้อเสนอ ยังไม่มีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ให้ความเห็นว่า การมี 3 กองทุนสุขภาพ เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เพราะจะทำให้สามารถเปรียบเทียบได้ว่า แต่ละกองทุนมีสิทธิแตกต่างกันอย่างไร แต่ที่ต้องคุยกันและหาทางออกให้ได้ คือ จะทำอย่างไร ให้ “เบสิก” หรือพื้นฐานของทั้ง 3 กองทุน ต้องเท่าเทียมกันหมด

“พอเท่าเทียม ก็จะเห็นว่า หากกลุ่มนี้จ่ายเงิน ก็ต้องได้อะไรออนท็อป มากกว่าเบสิกที่เป็นขั้นพื้นฐาน คือพื้นฐาน เราอาจจะเปรียบเหมือนปัจจัย 4 ที่ทุกคนต้องมี แต่พอไปถึงการจ่ายเงินเพิ่ม ก็เหมือนกับการนั่งเครื่องบิน Business Class อาจจะจ่ายมากกว่า แต่ก็ถึงจุดหมายเหมือนกัน ไม่ได้ถึงก่อน แล้วเครื่องก็เครื่องลำเดียวกัน ถึงก็ถึงพร้อมกัน แต่เขาจ่ายแพงกว่า อาจจะได้ความสะดวกสบายมากกว่าเท่านั้น” นพ.โสภณ ระบุ

สำหรับแนวคิดการ “ร่วมจ่าย” ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น นพ.โสภณ บอกว่า ทางออกก็ต้องดูที่ยอดเงินว่าพอหรือไม่ และหากไม่พอ จะเอาแหล่งเงินที่ไหนมาช่วยให้ได้บริการที่ดี มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับกันได้

“บางคนอาจจะร่วมจ่ายไม่ไหว เพราะฉะนั้นหลักการสำคัญคือเบสิกต้องได้เท่ากัน ส่วนเบสิกควรจะอยู่ตรงไหนก็ควรจะพิจารณาว่าหลักวิชาว่าอย่างไร ความคิดเห็นว่าอย่างไร แล้วเงินพอไหม 3 ข้อนี้ต้องไปด้วยกันทั้งหมด ซึ่งก็ต้องพูดด้วยหลักฐาน ผมคิดว่าในหัวข้อการปฏิรูประบบการเงินการคลัง ที่จะอยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) น่าจะคุยกันเรื่องนี้ด้วย” นพ.โสภณ เสนอแนะ

อีกภารกิจสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้มอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการต้องทำ ก็คือ เป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปด้านต่างๆ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้รับกรอบให้ปฏิรูประบบบริการ ระบบการเงินการคลัง และระบบส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ

นพ.โสภณ บอกว่า ขณะนี้มีกรอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมถึง สปท. คร่าวๆ อยู่แล้ว และ สธ.ก็คงเดินไปตามนั้น มากกว่าที่จะเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติ ก็อาจต้องเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่ายังขาดเหลืออะไรบ้าง

หนึ่งในแผนของ สปท.ก็คือการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพระดับชาติ (National Health Authority) โดยบูรณา
การการตัดสินใจนโยบายสาธารณสุขทั้งหมด ให้อยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ โดยอาจให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้ รมว.สาธารณสุข เป็นกรรมการ และให้ปลัด สธ.เป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการและเลขาธิการ

“ผมคิดว่าเรื่องนี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะช่วยฟังความเห็น ความต้องการ จากทุกภาคส่วน แล้วก็ดูความเห็นอื่นๆ ทั้งภาคประชาชน หรือกลุ่มอื่นๆ นอกภาคสาธารณสุข ขณะที่บอร์ดสุขภาพระดับชาติ จะกำหนดในเชิงนโยบายทั้งหมด

“ผมยังเชื่อเรื่องรักบี้โมเดล มันแหลมหัวแหลมท้าย ต้องบูรณาการข้างบนกับบูรณาการชุมชน แต่ตรงกลางมีความเชี่ยวชาญของเขา แต่ยังไงตรงกลางก็ต้องป่องออก และก็ต้องแหลมหัวแหลมท้าย ถ้าข้างบนไม่เป็นเอกภาพ กับชุมชนไม่บูรณาการ มันก็เละ”

เขายืนยันว่า บอร์ดสุขภาพระดับชาติ จะไม่ใช่การรวบอำนาจ แต่ถือเป็นการตัดสินใจแบบบูรณาการมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ทิศทางด้านสุขภาพของประเทศเดินไปในทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี สำหรับความฝันของ นพ.โสภณ ในฐานะปลัดกระทรวง คือ การสร้างความรู้ด้านสุขภาพให้คนไทยได้เรียนรู้ที่จะป้องกันดูแลตัวเองในเบื้องต้น และส่งต่อไปยังชุมชนรอบข้าง

คุณหมอโสภณ บอกว่า ระบบการสร้างความรู้ในชุมชน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 37 ปีที่แล้ว อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) น่าจะเป็นจุดสำคัญในการเริ่มต้นให้คนมีความรู้เรื่องสุขภาพ

“จุดเริ่มต้นของ อสม.ก็คิดว่าสัก 10 ครัวเรือนต้องมีสักคนที่รู้ แล้วเป็นศูนย์รวมในการปรึกษาหารือเรื่องสุขภาพได้ ทีนี้เราก็ต่อยอดจน อสม.เป็นคนเอกซเรย์ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุข อยู่ที่จะแตกกิ่งก้านอย่างไร

ผมกำลังคิดว่าจะต้องมีอาสาสมัครประจำครอบครัว เข้าไปในครัวเรือน เพื่อเพิ่มการรู้เท่าทันในด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ ก็ให้เอาลูกสาวเขามาอบรมว่าควรจะดูแลอย่างไร หรือหากที่บ้านมีคนป่วยไตวายเรื้อรัง จะล้างไตช่องท้องอย่างไร”

ภาพฝันที่ว่าของ นพ.โสภณ ก็คือ หากปัจจุบันมี อสม. 1 ล้านคน และแตกหน่อจาก อสม.เป็นอาสาสมัครครอบครัวก็จะมีคนรู้วิธีในการดูแลสุขภาพมากถึง 4 ล้านคนทั่วประเทศ

“ตอนนี้การสร้างเน็ตเวิร์กเป็นเรื่องสำคัญ สำคัญกว่า Information ซึ่งถ้าเราสามารถพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา ผมเชื่อว่าในชนบทเราจะดูแลได้ แต่ถ้าเป็นเขตเมืองอาจจะใช้เทคโนโลยีช่วย ก็ต้องคิด เดินหน้าต่อ เช่น หมอประจำครอบครัว จะใช้ไลน์ เฟซบุ๊กยังไง เพราะเรื่องความลับด้านสุขภาพยังมีอยู่

“เพราะคนอื่นจะรู้ว่าเราเป็นโรคอะไร แต่ผมเชื่อว่าก็ต้องไปทางเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ในเขตเมืองเคยมีตัวอย่างสามีเป็นอัมพาตก็ให้ภรรยาช่วยดูแลผ่านทางเฟซไทม์ได้” ปลัด สธ.กล่าว

ปลัดโสภณ ยังบอกอีกว่า สธ.ในยุคของเขา จะเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคมากขึ้น จากเดิมที่กระทรวงอาจจะเน้นในเชิงรักษาอย่างเดียว แต่ทิศทางการป้องกันโรคใน 5 กลุ่มวัย จะต้องชัดและจะต้องออกแรง เช่น คนวัยทำงาน ทำอย่างไรจะป้องกันโรคติดต่อเรื้อรังได้ หรือผู้สูงอายุจะทำอย่างไรให้มีสุขภาพแข็งแรง ดูแลตัวเองได้ โดยมีชุมชนเป็นตัวสนับสนุน

สำหรับแนวคิดการควบคุมโรงพยาบาลเอกชนที่ตกค้างมาจาก รมว.สธ.คนก่อนนั้น นพ.โสภณ บอกว่า ไม่ได้เลิกทำ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ.คนปัจจุบันยังให้ติดตามแนวทางที่ผ่านมา ก่อนจะไปประกาศอะไรเพิ่มเติม และให้ยึดหลักการสำคัญว่า ประชาชนต้องรู้ว่าถ้ารักษาโรคต่างๆ จะมีอัตราค่าบริการเท่าไร เพื่อเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ ไม่ใช่ประชาชนไม่มีข้อมูล แล้วโดนชาร์จในราคาแพง

“ตอนนี้เว็บไซต์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ก็จะบอกว่า ผ่าอันนี้ราคาเท่านี้ แล้วมีรายละเอียด ห้องพิเศษ เจาะอะไรเท่าไร ก็ต้องเอาไว้ให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ ส่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน ฟรีทุกสิทธิ ก็ยังทำกันอยู่ แต่ยังติดอยู่เรื่องราคา ว่าจะจ่ายเท่าไร พอครบ 72 ชม.แล้วจะอย่างไรต่อ นอกจากนี้เรื่องอาการเจ็บป่วยว่าแบบไหนฉุกเฉินสีแดงก็เป็นเรื่องที่ยังต้องหารือกันต่อไป”นพ.โสภณ กล่าว

นโยบาย นพ.โสภณ เมฆธน  ยุติขัดแย้งเดินหน้าสู่เป้าหมาย

ต้องเดินต่อหมอประจำครอบครัว

ปัญหาผู้ป่วยมุ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่ เป็นอีกโจทย์ที่มีความท้าทายว่าจะแก้ไขได้อย่างไร เพื่อลดความแออัด นพ.โสภณ ระบุว่า ความท้าทายก็คือทำอย่างไรให้คนมั่นใจระบบการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และที่โรงพยาบาลอำเภอ เพื่อให้เป็นหน่วยเริ่มต้น ก่อนจะเข้าไปรับการรักษาในโรงพยาบาลใหญ่

“ส่วนใหญ่ความมั่นใจมันเริ่มจากว่าเราสนิทกับหมอคนไหน แล้วเขารักษาได้ไหม แต่ตอนนี้มันยังไม่มีระบบว่าทำอย่างไรให้หมอสนิทกับคนไข้ คนทั่วไปก็เลยคิดว่าต้องไปหาคนที่ดีที่สุด แต่ถ้ามีระบบแบบคนนี้เป็นญาติแล้ว เราไว้ใจ ไปกับคนนี้แล้วโอเค ปรึกษาได้ว่าโรคไหนต้องรักษากับหมอแบบไหน ผมคิดว่าระบบแบบนี้เป็นสิ่งที่ดี”

นพ.โสภณ ขยายความว่า ระบบ “หมอประจำครอบครัว” ที่เป็นนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีต รมว.สธ. เป็นเรื่องที่ดี และ ศ.นพ.ปิยะสกล ก็เห็นด้วยว่าน่าจะเดินหน้าต่อ

“นี่เป็นภาพที่เราอยากให้เกิดว่าคนไทยสามารถที่จะมีหมอ แล้วสามารถปรึกษาได้ ตั้งแต่ รพ.สต. โรงพยาบาลอำเภอ แล้วถ้าเกินศักยภาพก็ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลจังหวัดได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้เขามั่นใจมากขึ้น”

ถามว่าพร้อมหรือไม่กับการจัดการระบบสาธารณสุขตามลำดับขั้น ปลัด สธ. บอกว่า ขณะนี้ความพร้อมถือว่าดีในระดับหนึ่ง และสามารถเดินหน้าได้ แม้อาจจะยังไม่ 100% แต่ก็ต้องเริ่มทดลอง เพื่อลองผิดลองถูก

“ถ้าเรามองว่าทุกอย่างต้องพร้อม 100% มันก็ไม่สามารถไปต่อได้ เหมือนชีวิตคนเรา ถามว่าพร้อมไหมที่จะแต่งงาน โอ้โห ต้องรอมีเงิน บ้าน รถ แล้วค่อยแต่งงานเหรอ มันก็ไม่ใช่ เพียงแต่เรามีเป้าหมายร่วมกันนะ แล้วใช้ทรัพยากรที่มีแบบพอเพียงแล้ว ผมว่าเราเดินได้

"ระบบสาธารณสุขเรา ผมว่ามีโครงสร้างค่อนข้างดี แล้วเรามีระบบงานสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง ซึ่งหลายประเทศอิจฉา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราถึงจุดที่น่าจะต้องเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ได้แล้ว” นพ.โสภณ ระบุ