posttoday

เงินปริศนาคนไทย "จำใจจ่าย"

25 ตุลาคม 2558

แต่ละปีคนไทยมีค่าใช้จ่ายปริศนาหรือค่าใช้จ่ายที่ใช้ไป โดยไม่สามารถระบุได้ว่าใช้ไปกับสิ่งใด สูงถึง 6 หมื่นบาท

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

เป็นที่ตกตะลึงเมื่อ YouGov บริษัทสำรวจและวิจัยทางอินเทอร์เน็ตระดับสากลในนาม “วีซ่า” เผยผลสำรวจล่าสุดเกี่ยวกับ “ค่าใช้จ่ายปริศนา” โดยระบุว่า แต่ละปีคนไทยมีค่าใช้จ่ายปริศนาหรือที่วีซ่าให้นิยามว่า “เป็นค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ใช้ไป โดยไม่สามารถระบุได้ว่าใช้ไปกับสิ่งใด และไม่รวมเงินที่ถูกขโมยหรือวางไว้ผิดที่” สูงถึง 6 หมื่นบาท/ปี หรือ 1,143 บาท/สัปดาห์ หรือคิดเป็น 72% ของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,588 บาท/สัปดาห์ สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลสำรวจระบุผู้บริโภคคนไทย 49% เชื่อว่าค่าใช้จ่ายปริศนาน่าจะมาจากค่าอาหารสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าขนมขบเคี้ยวอีก 45% เชื่อว่ามาจากการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และ 36% เชื่อว่าค่าใช้จ่ายปริศนาส่วนมากหมดไปกับค่าอาหารกลางวัน

ในท้ายที่สุดวีซ่าสรุปผลว่าค่าใช้จ่ายปริศนาของผู้บริโภคคนไทยมาจากการละเลยในการจัดการทางการเงิน เห็นได้จากการที่ผู้บริโภคไม่สามารถระบุได้ว่าได้ใช้จ่ายไปกับสินค้าหรือบริการใดบ้างในชีวิตประจำวัน แต่ในทางกลับกันก็มีค่าใช้จ่ายปริศนาที่ผู้บริโภคคนไทย “ต้องจ่าย” โดยเข้าใจว่าเหตุใดต้องควักกระเป๋าจ่าย

เริ่มตั้งแต่ค่าบริการของธนาคารพาณิชย์ เพราะเพียงแค่เปลี่ยนลายเซ็นหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก ผู้บริโภคจะมีค่าใช้จ่ายทันที 100 บาท โดยธนาคารให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนลายเซ็น ธนาคารต้องเปลี่ยนสมุดบัญชีเงินฝากเป็นเล่มใหม่ จึงต้องคิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากลูกค้า เช่นเดียวกับการทำสมุดบัญชีเงินฝากหาย ที่ต้องออกสมุดเล่มใหม่ให้แทนและมีค่าใช้จ่าย 100 บาทเช่นกัน

หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ผู้บริโภคก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นกัน คือ หากผู้ใช้บัตรเครดิตต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อและนามสกุลบนหน้าบัตร ก็จะต้องออกบัตรใหม่ ซึ่งธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม 200 บาท ยกเว้นว่าจะรอเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลหน้าบัตรเมื่อบัตรหมดอายุแล้ว อย่างนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย

ธนาคารพาณิชย์ยังมีการคิดค่ารักษาบัญชีหรือที่เรียกว่าค่าดูแลบัญชีจากผู้บริโภค โดยในกรณีที่มีเงินฝากในบัญชีเหลือไม่ถึง 2,000 บาท และบัญชีไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลา 1 ปี ธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตรา 50 บาท/เดือน โดยหักเงินจากบัญชีโดยอัตโนมัติ แต่หากไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดทั้งสองข้อ ธนาคารก็จะไม่คิดค่าใช้จ่ายในการดูแลบัญชี

ไม่เพียงเท่านั้น คนไทยยังมีการจ่ายเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เงินหายไปจากกระเป๋าอย่างปริศนา และเป็นเงินที่ไม่สมควรต้องควักจ่าย หรือที่เรียกว่า “เงินค่านักเลง”

เงินค่านักเลงที่หลายคนอาจประสบมา อาทิ “ค่าที่จอดรถ” บ่อยครั้งที่มีการจัดงานแสดง งานรับปริญญา หรืองานกาชาดประจำปี ผู้คนล้นหลามเพื่อเที่ยวชมงาน แทบจะทุกพื้นที่ของเมืองไทยจะต้องมีกลุ่มคนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่สาธารณะแห่งต่างๆ เรียกเก็บค่าจอดรถ ทั้งๆ ที่บริเวณจุดที่จอดก็เป็นจุดที่หลายคนเคยจอดตามปกติ แต่เมื่อมีงานต่างๆ ก็จำต้องยอมจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าสะดวก หลายพื้นที่เรียกเก็บสูงถึงคันละ 100 บาท

กรณีบัตรจอดรถที่ห้างออกให้กับผู้ใช้บริการจอดรถเพื่อการรักษาความปลอดภัยและป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพโจรกรรมรถเกิด “หาย” ขึ้นมา ผู้บริโภคก็จะต้องจ่ายค่าบัตรหายตั้งแต่ 200-500 บาท/บัตร โดยแต่ละห้างมีกำหนดค่าเสียหายไม่เท่ากันตามต้นทุนการจัดทำบัตร เช่น บัตรอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีต้นทุนสูงกว่าบัตรพลาสติกธรรมดา

เพียงแต่ว่ารายจ่ายปริศนาที่ผู้บริโภคคาใจ คือ การเรียกเก็บค่าเสียหายเหล่านี้ของแต่ละห้างไม่มีมาตรฐานชัดเจน หรือเรียกได้ว่าเก็บกันตามความพอใจ และไม่มีเหตุผลใดมาแสดงแก่ลูกค้าที่เผลอทำบัตรจอดรถหายด้วย

ต่อมาเป็น “ค่าเช็ดกระจก” บริเวณแยกไฟแดงมักจะเห็นบ่อยครั้งทั้งเด็ก หญิง ชาย เดินมาเช็ดกระจกหน้ารถยนต์ โดยทุกครั้งไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าของรถก่อน เพื่อแลกกับเงินที่คนขับจำต้องจ่ายให้ราคาเริ่มตั้งแต่ 5 บาท ไปจนถึง 20 บาท หากไม่ยินยอมจ่ายไปก็สุ่มเสี่ยงว่าคนเช็ดกระจกอาจจะทำรถยนต์เสียหายเอาได้ง่ายๆ

ขณะที่ค่ารักษามิเตอร์น้ำก็เป็นค่าใช้จ่ายปริศนาที่ผู้บริโภคคนไทยต้องจ่าย เช่น ขณะนี้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) จัดเก็บค่ารักษามิเตอร์จากผู้บริโภค 30 บาท/เดือน โดยใช้คำว่าค่าบริการทั่วไป ในขณะที่การประปานครหลวง (กปน.) ยกเลิกการเก็บค่ารักษามิเตอร์แล้ว จากที่เคยเก็บอยู่ 45 บาท/เดือน

เช่นเดียวกับค่าบริการไฟฟ้า ที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายในอัตราเกือบ 40 บาท/เดือน รวมถึงค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเก็บจากผู้ขอมิเตอร์ไฟฟ้าตามขนาดแอมป์ เช่น มิเตอร์ขนาด 5 แอมป์ เรียกเก็บ 700 บาท ขนาด 15 แอมป์ 4,600 บาท เป็นต้น

ส่งผลให้ในปัจจุบันมีเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้ากองอยู่ในบัญชีเงินฝากของการไฟฟ้าทั้งสองแห่งประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีใครรู้ว่าดอกผลจากเงินประกันก้อนโตก้อนนี้ไปอยู่ที่ไหน

อีกทั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มีผู้บริโภครายใดไปยกเลิกมิเตอร์ไฟฟ้าและขอเงินประกันคืน เพราะหากเจ้าของเดิมขายบ้านให้รายอื่น มิเตอร์ก็จะโอนไปเป็นของเจ้าของบ้านใหม่ ซึ่งผู้ใช้มิเตอร์รายใหม่จะเสียเพียงค่าธรรมเนียมเปลี่ยนชื่อเจ้าของมิเตอร์

วีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวว่า สาเหตุที่การไฟฟ้าทั้งสองแห่งต้องเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน 38.22 บาท ซึ่งรวมอยู่ในบิลค่าไฟฟ้า เนื่องจากมีต้นทุนดำเนินการ เช่น ส่งเจ้าหน้าที่ไปอ่านหน่วยเครื่องวัดไฟฟ้า การจัดทำใบแจ้งหนี้ งานเก็บเงิน และงานบริการลูกค้า โดยที่ผ่านมาเรกูเลเตอร์ได้เรียกการไฟฟ้าทั้งสองแห่งมาชี้แจง และพบว่าอัตราที่เก็บตอนนี้ยังไม่สะท้อนต้นทุนจริง และการไฟฟ้าต้องรับภาระเดือนละหลายร้อยล้านบาท

ส่วนการไปจ่ายค่าไฟฟ้าผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเสียค่าธรรมเนียม 15 บาท/1 บิล นั้น ถือเป็นการจ่ายผ่านช่องทางพิเศษ ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงต้องรับภาระเอง แต่หากไม่ต้องการเสียค่าบริการตรงนี้ ก็ควรใช้วิธีชำระค่าไฟฟ้าผ่านการหักบัญชีธนาคารและบัตรเครดิต ซึ่งทั้ง กฟน.และ กฟภ.จะรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ใช้ไฟฟ้า

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ความเห็นว่า ค่าใช้จ่ายการใช้บริการโทรศัพท์ที่คนไทยไม่สมควรต้องจ่าย มีหลายประเด็นให้ต้องถกเถียงกัน เช่น ค่าธรรมเนียมรักษาเลขหมายโทรศัพท์บ้าน (Fixed line) 100 บาท/เดือน เพราะส่วนใหญ่จะมีไว้เพียงแค่รับสาย

หรือกรณีการเปิดเลขหมายเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ให้บริการก็ยังเก็บค่ารักษาเลขหมาย 100 บาท/เดือนด้วย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคต้องการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่ได้ต้องการใช้โทรศัพท์บ้านเพื่อโทรออกหรือรับสาย

นพ.ประวิทย์ ระบุว่า การใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินก็เช่นกัน คือ เมื่อมีการเติมเงิน 1 ครั้ง จะใช้งานได้ 30 วัน แต่หากวันหมดแต่ยังมีเงินเหลืออยู่ เงินก็จะเข้ากระเป๋าผู้ให้บริการ ทั้งๆ ที่หากจะทำให้เกิดความยุติธรรม ผู้ให้บริการควรส่งเอสเอ็มเอสไปแจ้งเตือนผู้บริโภคว่าวันกำลังจะหมดหรือให้ไปติดต่อรับเงินที่เหลือที่ศูนย์บริการ

“ในส่วนของการโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ บางค่ายเก็บครั้งละ 3 บาท กี่นาทีก็ได้ แต่บางค่ายคิดค่าบริการเป็นรายนาที ซึ่งโทรไปแล้วก็ต้องมาฟังโฆษณาหลายนาที ก็โดนเก็บเงินเป็นรายนาที ทั้งๆ ที่ไม่ควรต้องจ่าย” นพ.ประวิทย์ บอก

นอกจากนี้ ประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ การปรับอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการรถแท็กซี่ (เซอร์ชาร์จ) ที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง จากอัตรา 50 บาท/คัน เป็น 75 บาท/คัน สำหรับรถแท็กซี่ธรรมดา และรถแท็กซี่ขนาดใหญ่หรือรถแท็กซี่แวนเป็น 95 บาท/คัน ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมก็ตาม

แต่ก็มีคำถามว่าผู้บริโภคต้องจ่ายหรือไม่ เพราะการให้บริการแท็กซี่สนามบินเป็นหน้าที่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่ใช้สนามบินอยู่แล้ว เพราะปัจจุบัน ทอท.เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสนามบินจากผู้โดยสารอยู่แล้วในอัตรา 700 บาท/คน และไม่มีสนามบินใดในโลกนี้ที่มีการเรียกเก็บค่าเซอร์ชาร์จจากผู้โดยสาร เว้นแต่ประเทศไทยเท่านั้น 

เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายปริศนาที่คาใจคนไทย แต่ยังไม่มีใครดูแล

บังคับจ่าย คดีพุ่ง

การซื้อสินค้าหรือจ่ายค่าบริการต่างๆ ที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบโดยอาศัยช่องว่างข้อกฎหมายเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบการซื้อสินค้าแล้วได้รับสินค้าไม่ตรงความต้องการหรือไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ หรือบางกรณีเป็นการจ่ายเงินเพราะถูกบังคับ

เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อ ผู้บริโภค เปิดเผยว่า ปัญหาค่าใช้จ่ายปริศนาโดยไม่จำเป็นถูกร้องเรียนมายังมูลนิธิจำนวนมาก และผ่านเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลมากเช่นกัน เช่น การซื้อรถยนต์ใหม่เป็นคดีฟ้องร้องเป็นอันดับแรก โดยผู้บริโภคซื้อรถมาแล้วมีอาการ 3 วันดี 4 วันซ่อม

“กรณีนี้ศาลพิพากษาให้บริษัทเอกชนคืนเงินดาวน์แก่ผู้บริโภคแล้วจำนวน 6 คดี แต่การร้องเรียนเรื่องแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นทุกวัน” เฉลิมพงษ์ ระบุ

ถัดมาคือการทำประกันชีวิตกรณีทำประกันสูงวัยโดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่เมื่อผู้บริโภคเรียกร้องสิทธิ กลับถูกบริษัทประกันปฏิเสธไม่จ่ายเงิน อ้างว่าผู้ทำประกันมีอาการเจ็บป่วยอยู่ก่อนแล้ว เข้าข่ายปิดบังความจริง จึงว่าผิดเงื่อนไขเป็นเหตุให้ทางบริษัทประกันบอกเลิกสัญญาและถือว่าสัญญาประกันเป็นโมฆะทันที

“บางรายส่งเงินประกันไปกว่า 20 ปี ไม่เคยเรียกร้องสิทธิใดๆ ให้ผิดเงื่อนไข หวังรอรับการคืนเงินผลประโยชน์ 30% แต่สุดท้ายปรากฏว่าทางประกันจ่ายเพียง 3% เท่านั้น โดยอ้างการโฆษณาเป็นเพียงข้อกำหนดในใบปลิว แตกต่างจากข้อตกลงในสัญญาที่เขียนระบุรายละเอียดเป็นคนละเรื่อง” เฉลิมพงษ์ กล่าว

เฉลิมพงษ์ ระบุว่า แม้แต่ชาวต่างชาติก็ถูกเอาเปรียบ เช่น ชาวต่างชาติรายหนึ่งมีภรรยาคนไทยและมาอาศัยอยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ต้องการนำเงินเกษียณไปทำบัตรเครดิต แต่ธนาคารจูงใจขายบัตรที่สามารถใช้จ่ายในต่างประเทศได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ เมื่อชาวต่างชาติรายนี้เห็นว่าทำไปก็ไม่เสียหายอะไร แต่อยู่มาวันหนึ่งธนาคารส่งบิลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก โดยอ้างว่าผู้ถือบัตรได้ใช้บริการในต่างประเทศ ทั้งที่ชาวต่างชาติรายนี้ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศแม้แต่ครั้งเดียว เรื่องนี้ศาลพิพากษาให้ธนาคารคืนเงินพร้อมจ่ายเงินค่าเสียหายให้อีกเท่าตัว

อีกกรณีมีการฟ้องร้องธนาคารแห่งหนึ่งบังคับผู้บริโภคที่ประสงค์ทำบัตรกดเงินสดหรือบัตรเอทีเอ็มพ่วงทำประกัน ทั้งที่ผู้รับบริการ ไม่ประสงค์จะทำประกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีประชาชนถูกบังคับทำประกันลักษณะนี้แล้วกว่า 1 ล้านคน โดยมีการพ่วงขายประกันในราคา 700-800 บาท/คน/ปี ทั้งที่ขอบข่ายวงเงินประกันไม่คุ้มค่าเป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อนอย่างไม่มีเหตุผล

เฉลิมพงษ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ขูดรีดเงินปริศนาที่ชัดเจนอีกรูปแบบคือ การแจกซิมฟรี โดยพนักงานหนุ่มสาวชายหญิงยืนเป็นกลุ่มอาศัยจังหวะที่คนเดินผ่านไปมา ยื่นซิมให้พร้อมกับพูดว่า “ซิมฟรี” เมื่อประชาชนรับซิมไปแล้ว พนักงานจะเชิญไปที่บูธพร้อมทั้งขอบัตรประชาชนและกล่อมให้เซ็นชื่อรับรอง

“หากถูกปฏิเสธ พนักงานจะหว่านล้อมหรือฉวยโอกาสดึงบัตรประชาชนไปถ่ายเอกสาร โดยอ้างว่าแค่ใช้เป็นหลักฐานการรับซิมแล้ว ใครหลงกลนี้เท่ากับว่ายอมรับทุกเงื่อนไข รวมทั้งเปิดใช้บริการรายเดือนอัตโนมัติ ถูกมัดมือชกเลือกโปรโมชั่นให้เรียบร้อย

หลังจากนั้นบริษัทจะส่งบิลไปตามที่อยู่บัตรประชาชน แม้ไม่เปิดใช้ซิม แต่จะมีใบแจ้งหนี้มาเป็นรายเดือน ใช้หรือไม่ใช้ก็ต้องเสียเงิน การขูดรีดเงินโดยไม่มีสาเหตุเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียกเก็บเงินปริศนาที่ไม่ว่าใครหน้าไหนก็พบเจอถึงตัวได้ทุกเมื่อ” หัวหน้าทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

ด้าน จิรชัย มูลทองโร่ย รองสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า ปัญหาเงินหายจากการใช้บริการสินค้าหรือบริการอื่นๆ การหักบัญชี หรือบิลใบเสร็จต่างๆ มี 2 ลักษณะ คือ 1.ผู้ใช้บริการสำรวจพบความผิดปกติเอง ซึ่งปัจจุบันไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานกลางเข้าไปติดตามตรวจสอบความถูกต้องของผู้ให้บริการ เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าโทรศัพท์มือถือ บริการต่างๆ ของธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่เป็นระบบการหักบัญชี

2.ผู้ใช้บริการประสบปัญหาและตกเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชน จึงเข้าร้องเรียน แต่ในทางสถิติของ สคบ. พบว่าประชาชนร้องทุกข์ปัญหาเหล่านี้น้อยมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการเสียเวลา เสียเงินทองกับกระบวนการสอบสวน ซึ่งกว่าจะดำเนินการเอาผิดผู้ให้บริการได้ต้องเสียเวลานานและไม่คุ้มค่า

จิรชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายปกติหรือแม้แต่กฎหมาย สคบ. หากพบว่าประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคิดค่าบริการโดยที่ผู้ให้บริการไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปจากการจัดเก็บค่าบริการเหล่านั้นได้ ย่อมต้องยกประโยชน์ให้กับผู้ใช้บริการและต้องถูกเอาผิดทางกฎหมายด้วย จึงขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ แม้จะมีการร้องเรียนมาเพียง 1 ราย ก็เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบความผิดปกติและจะสามารถขยายผลไปยังกรณีอื่นๆ ได้