posttoday

สงครามไซเบอร์ ปะทุ ต้าน 'ซิงเกิ้ล เกตเวย์'

24 ตุลาคม 2558

นโยบาย ซิงเกิ้ลเกตเวย์ หรือการรวมช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางเดียว ยังเป็นปมประเด็นตามหลอกหลอนรัฐบาลไม่เลิกรา

นโยบาย ซิงเกิ้ลเกตเวย์ หรือการรวมช่องทางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางเดียว ยังเป็นปมประเด็นตามหลอกหลอนรัฐบาลไม่เลิกรา

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าได้เป็นแค่แนวคิดที่จะต้องศึกษาผลดีผลเสีย และยังไม่มีการนำมาปฏิบัติแต่อย่างใด

ครั้งนี้ผู้ที่ออกแรงต่อต้านไม่ใช่แค่การนัดกันของชาวเน็ต ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียชวนกันมากดปุ่ม F5 บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ถล่มเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ

ผู้ที่ประกาศทำสงครามไซเบอร์กับรัฐบาลคือกลุ่ม “แอนโนนิมัส” หรือขบวนการแฮ็กเกอร์นิรนามชื่อดัง ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 บนเว็บบอร์ดโฟร์จัง (4chan) มีวัตถุประสงค์เพื่อผดุงความยุติธรรมและต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งประกาศตัวสนับสนุนเว็บไซต์จอมแฉอย่างวิกิลีกส์ ขบวนการอาหรับสปริง ที่นำไปสู่การปฏิวัติในประเทศตะวันออกกลาง และขบวนการยึดครองวอลสตรีท ที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจ ต่อต้านทุนนิยมและความโลภของภาคธุรกิจ

สมาชิกกลุ่มแอนโนนิมัสมีการปกปิดตัวตน แต่จากรายงานของเอฟบีไอเปิดเผยว่า สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพลเมืองสหรัฐและอังกฤษ อีกทั้งพบความเชื่อมโยงกับกลุ่ม LulzSec และ AntiSec ที่ปฏิบัติการสงครามไซเบอร์ด้วยเช่นกัน

ก่อนจะเข้าโจมตีเป้าหมาย “แอนโนนิมัส” จะออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการให้รู้ตัวก่อน ก่อนเข้าโจมตีประเทศไทย “แอนโนนิมัส” ได้แถลงการณ์ผ่านทวิตเตอร์และเว็บไซต์ว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายซิงเกิ้ลเกตเวย์ เพราะเห็นว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

หลังออกแถลงการณ์ทำสงครามไซเบอร์กับรัฐบาลไทย ก็มีการนำเอาข้อมูลลูกค้าของบริษัท กสท โทรคมนาคม (แคท) ออกมาเผยแพร่ ซึ่ง พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม ยืนยันว่า กสท ได้ตรวจสอบแล้วยังไม่มีการกระทำดังที่กล่าวอ้าง ส่วนกรณีที่แฮ็กเกอร์พยายามจะเข้าถึงระบบดีลเลอร์ หรือผู้ที่ขายซิมมือถือมาย (My) นั้น พบว่ามีการพยายามแฮ็กบัญชีของดีลเลอร์ประมาณ 80 ราย แต่ไม่สำเร็จ

สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และหน่วยงานความมั่นคงได้รับทราบและติดตามสถานการณ์มาตลอด ขอให้เข้าใจว่าการชักชวนกลุ่มคนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศ กำลังเลยขั้นการแสดงความเห็นคัดค้านเรื่อง
ซิงเกิ้ลเกตเวย์ ไปแล้ว  แต่ดูเหมือนว่ากำลังใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการสร้างความเสียหายให้กับระบบอินเทอร์เน็ตของประเทศ ซึ่งผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว แต่กระเทือนระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ และสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนด้วย

สุวพันธุ์ กล่าวอีกว่า นอกจากไม่ควรกระทำแล้ว หน้าที่ของคนไทยต้องช่วยกันปกป้องการบุกรุกทางไซเบอร์จากคนอื่นมาทำลายบ้านของตัวเอง เมื่อรัฐบาลยืนยันแล้วว่าไม่ได้ดำเนินการเรื่องซิงเกิ้ล เกตเวย์ เรื่องนี้ก็ควรจบได้แล้ว และควรร่วมมือกันปกป้องความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ โดยภาครัฐเน้นมาตรการป้องกันให้มีหลักประกันว่าระบบงานความมั่นคง การป้องกันประเทศ สาธารณูปโภค การเงิน การคลัง ข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ จะไม่ถูกทำลายหรือถูกล่วงละเมิด เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมาก

อุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที กล่าวว่า การกระทำของกลุ่มแฮ็กเกอร์จะไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพ ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีมีหน้าที่ในการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแฮ็กเกอร์ไหนก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ติดตามกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่จะคุกคามเว็บไซต์ต่างๆ โดยได้ประสานกับทุกหน่วยงานระมัดระวังดูแลฐานข้อมูลต่างๆ ให้ดี ยืนยันว่าสามารถดูแลข้อมูลของประชาชนได้ เพราะมีระบบที่ทันสมัย แต่ขอให้ประชาชนพิจารณาข้อมูลที่สื่อสารผ่านเว็บไซต์ต่างๆ อย่างระมัดระวัง

ด้าน ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง ราคูเท็น ตลาดดอทคอม และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ระบุว่า  ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มแฮ็กเกอร์นิรนาม จากที่ผ่านมาเป้าหมายจะอยู่ในอเมริกาและจีน โดยมีวัตถุประสงค์การโจมตีชัดเจน หากสามารถโจมตีได้จริงก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแคท ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะมีผลถึงภาพลักษณ์ที่ไม่สามารถป้องกันการโจมตีได้

“กลุ่มแฮ็กเกอร์นิรนามเป็นการรวมตัวของคนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีคนไทยรวมอยู่หรือไม่ และการโจมตีมีความชัดเจนว่าทำเพราะไม่เห็นด้วยกับซิงเกิ้ลเกตเวย์ จึงน่าเป็นห่วงเพราะทำงานเป็นทีม หากคนหนึ่งเข้ามาโจมตีไม่สำเร็จก็อาจจะมีคนอื่นในกลุ่มผลัดกันโจมตีอีก” ภาวุธ กล่าว

ขณะที่ผลในเชิงธุรกิจนั้นคงไม่กระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมกับกลุ่มธุรกิจที่ไปฝากศูนย์ข้อมูลไว้ที่แคทได้ หากเป็นไปได้ก็อยากให้ภาครัฐหยุดพูดถึงเรื่องการเดินหน้าซิงเกิ้ลเกตเวย์ เชื่อว่าหากหยุดเดินหน้าชัดเจน ปัญหาการประกาศโจมตีแคทก็น่าจะจบลง

สำหรับธุรกิจสถาบันการเงินเองก็เฝ้าระวังจะโดนหางเลขจากสงครามไซเบอร์นี้ด้วยเช่นกัน โดย ขวัญเนตร รัตนพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางข้อมูลของลูกค้า โดยเฉพาะการป้องกันการจารกรรมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งภายนอกและภายในองค์กร โดยมีหน่วยงานกลาง คือ สายงานระบบที่ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายในการดูแลความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคาร รวมทั้งทำงานร่วมกับบริษัทภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบเชิงลึกว่ามีผู้ไม่หวังดีพยายามก่อกวนระบบหรือไม่

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถูกกลุ่มแฮ็กเกอร์นิรนามเจาะฐานข้อมูลจะปฏิเสธว่า ข้อมูลที่ “แอนโนนิมัส” จะออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่ายังไม่มีการถูกเจาะข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทางผู้ปกป้องระบบก็ติดตามรอยแฮ็กเกอร์กลุ่มนี้อย่างเต็มที่

พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผบก.ปอท. ได้ตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นติดตามกลุ่มแฮ็กเกอร์นิรนามที่มุ่งโจมตีเว็บไซต์ของรัฐบาลแล้ว แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดการดำเนินการของตำรวจ

“คงไม่สามารถบอกได้ถึงขนาดว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มแฮ็กเกอร์ดังกล่าว แต่ตำรวจกำลังทำงานเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้อยู่” พ.ต.อ.สมพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ปฏิบัติการโจมตีจะยังไม่เกิดผลกระทบรุนแรง แต่กล่าวได้ว่าสงครามไซเบอร์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้ก่อตัวขึ้นแล้ว ดีกรีของความรุนแรงจะมากหรือน้อยแค่ไหน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างไร ต้องติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลว่าจะปิดฉากซิงเกิ้ลเกตเวย์ เพื่อลดความไม่พอใจของกลุ่มนิรนามเหล่านี้ได้จริงหรือไม่