posttoday

"หนังอาบัติ" ในมุมมอง "พระ" สะท้อนปัญหาหรือสร้างเสื่อมเสีย

13 ตุลาคม 2558

ความคิดความเห็นที่แตกต่างจากปากของพระสงฆ์ กรณีภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" ถูกสั่งแบน

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ชั่วโมงนี้หนีไม่พ้น กรณี "คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์" สั่งแบนภาพยนตร์เรื่อง "อาบัติ" โดยให้เหตุผลหลักดังนี้  1.ปรากฏภาพสามเณรเสพของมึนเมา 2.มีภาพสามเณรใช้ความรุนแรง  3.มีความสัมพันธ์และใช้คำพูดเชิงชู้สาวที่ไม่เหมาะสม  และ 4.มีการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธรูป

คำถามที่เกิดขึ้นดังสนั่นสังคมก็คือ การตีแผ่บางมุมที่เกิดขึ้นของวงการศาสนาไม่สามารถทำได้เช่นนั้นหรือ? รวมทั้งการนำเสนอภาพของวงการศาสนาในลักษณะนี้เป็นการสร้างความเสื่อมเสียจริงหรือ?

ต่อไปนี้คือความคิดความเห็นจากปากของ พระภิกษุสงฆ์....

"หนังอาบัติ" ในมุมมอง "พระ" สะท้อนปัญหาหรือสร้างเสื่อมเสีย พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ

ควรปล่อยให้คนดูได้ใช้วิจารณญาณเอง

พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ แห่งวัดสร้อยทอง กล่าวว่า หนังไม่ได้มีอิทธิพลในการชี้นำความคิดของคนมากขนาดนั้น คนเสพหนังสมัยนี้ มีวิจารณญาณเพียงพอที่จะตัดสินหรือเข้าใจได้ว่า หนังกำลังจะสื่ออะไร และควรที่จะมีท่าทีอย่างไรต่อพุทธศาสนาในโลกแห่งความเป็นจริง

"ถึงหนังเลือกนำเสนอด้านมืดของศาสนา แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด มันเป็นเพียงการสะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างที่มีอยู่จริง เราจะปฏิเสธการมีอยู่จริงของด้านมืดในศาสนาที่หนังนำมาถ่ายทอดได้อย่างไร หนังไม่ได้เป็นสิ่งทำลายศรัทธาของคน แต่ภาพลักษณ์หรือพฤติกรรมที่เสียหายของพระสงฆ์ในโลกที่เป็นจริงซึ่งปรากฎตามสื่อต่างหาก ที่เป็นตัวทำลายศรัทธาของชาวพุทธ

พระมหาไพรวัลย์ มองว่า การไปตัดสินแทนคนอื่น ว่าหนังเรื่องไหนมีคุณค่าไม่มีคุณค่า หนังเรื่องไหน ใครควรดูหรือไม่ควรดู คือทัศนะที่คับแคบ เพราะนั่นหมายถึงว่าคุณไม่เคารพในวิจารณญาณของคนอื่น

"หากหนังเรื่องนี้ได้ฉาย คนที่ไปดู ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความเห็นที่แตกต่าง อาจจะเข้าใจความเป็นจริงของพุทธศาสนาในบริบทของสังคมไทยมากขึ้นหรือหันกลับมาให้ความสนใจดูแลหรือแม้แต่สอดส่องศาสนามากขึ้นก็เป็นได้ การพยายามปิดกั้นการรับรู้ หรือเชิงบังคับให้ต้องนำเสนอความจริงด้านเดียว ดูจะไม่เป็นผลดีต่อศาสนาเท่าไหร่"

พระหนุ่มแห่งวัดสร้องทอง กล่าวอีกว่า พุทธศาสนาสอนให้คนมองโลกตามความเป็นจริง เป็นสัจจะนิยม ไม่ได้สอนให้คนมองโลกในแง่ดีหรือแง่ร้าย

"พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คนมองปัญหา ยอมรับปัญหาแล้วจะเจอทางแก้ไขได้ หมายถึงต้องเผชิญหน้ากับความจริง ไม่ใช่พยายามปิดกั้น หรือปกปิด พุทธเจ้าท่านเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ โดยสมัยพุทธกาลเวลามีเรื่องเสียหายเกิดกับพระภิกษุในศาสนา พระองค์ท่านจะเรียกมาสอบถาม ถ้าเป็นความจริง ท่านจะตำหนิเดี๋ยวนั้น แล้วบัญญัติพระวินัย กำหนดบทลงโทษ ที่เรียกว่า อาบัติ คือในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระวินัย พูดถึงเรื่องเสียๆ หายๆ ของพระทั้งนั้นเลย"

พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า การปิดกั้นการรับรู้ ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์หรือการถูกพูดถึง ไม่มีในพุทธศาสนาดั้งเดิม เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ชัดว่า ถ้ามีใครมากล่าวหาตัวท่านหรือพระธรรม พระสงฆ์ ให้สอบสวนดูก่อนว่า ที่เขาพูดถึงนั้น เป็นความจริงหรือความเท็จ ถ้าเป็นความเท็จก็ให้ชี้แจงกับเขา แต่ท่านไม่ได้ห้ามสาวกของท่าน แสดงอาการเดือดดาลใจ หรือโกรธชังตอบ

"หนังอาบัติ" ในมุมมอง "พระ" สะท้อนปัญหาหรือสร้างเสื่อมเสีย พระมหาอภิชาติ ปุณณจันโท

ประจานพระ-ไม่จรรโลงศาสนา

หนึ่งในพระสงฆ์ที่ออกมาต่อต้านหนังเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อน คือ พระมหาอภิชาติ ปุณณจันโท แห่งวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า อาตมาขอยกพระไตรปิฎกขึ้นมาอ้าง โดยไม่ใช้ความรู้สึกหรืออคติส่วนตัวต่อประเด็นดังกล่าว

โดยหนังเรื่องนี้มีปัญหาหลัก 4 ประเด็นได้แก่ 

1.ชื่อหนัง

อาบัติเป็นเรื่องของพระภิกษุในศาสนาพุทธ แต่นักแสดงในหนังเป็นสามเณร ซึ่งไม่มีอาบัติ พระพุทธเจ้าไม่ใช้คำว่าอาบัติกับสามเณร เรื่องนี้นับเป็นเรื่องบิดเบือนเรื่องแรก

"คุณไม่ได้ศึกษามาอย่างดีพอ ไม่รู้จริงเรื่องพระวินัย เพียงแต่ตีวงกว้างของคำว่า อาบัติ"

2.ความรู้จริงของผู้กำกับ

ชาวพุทธหลายคนสงสัยมากว่า ผู้กำกับนับถือศาสนาใด หากนับถือศาสนาพุทธก็อาจเข้าใจได้ว่า ท่านอาจจะศึกษาหาความรู้ไม่เพียงพอ แต่หากนับถือศาสนาอื่น อาจนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนักในอนาคตได้ หากชาวพุทธรู้ว่า ผู้กำกับนับถือศาสนาอื่นและมองกันไปว่าต้องการทำให้พุทธศาสนาเสื่อม

3.ความผิดเพี้ยนของหนังที่เกี่ยวข้องกับพระ

ภาพยนตร์และละครที่มีตัวละครเป็นพระ  สมัยก่อนนำพระมาแสดงเพื่อมุ่งหวังให้เกิดคติธรรมคำสอน แต่ช่วงหลังออกแนวเลอะเทอะและมักนำพระมาแสดงเป็นตัวละครตลก อย่างเช่น เรื่องหลวงพี่เท่ง จีวรบิน หลวงพี่กับผีขนุน เหล่านี้ซึ่งมันผิดเพี๊ยน และไม่ได้รับการควบคุมจากรัฐ นับเป็นหนังที่กระทบกระเทือนกับจิตใจของผู้ศรัทธาศาสนาพุทธ และกลุ่มพระภิกษุสามเณร ส่วนผู้กำกับ ไม่ได้มองเรื่องนี้ ต้องการเพียงแค่เงินที่เป็นจุดหมายสูงสุดของการทำธุรกิจเท่านั้น

4.ขัดแย้งกับหลักการของศาสนพุทธอย่างชัดเจน

การให้เหตุผลของการทำหนังเรื่องนี้ของผู้กำกับที่บอกว่า เพียงต้องการตีแผ่ความจริงของสังคม จรรโลงศาสนาและให้พระเณรที่ไม่ดีเหล่านี้หมดสิ้นไปนั้นขัดแย้งกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามภิกษุหรือสาวก ห้ามนำอาบัติของพระที่ตัดสินแล้ว ออกไปโพนทะนา ประจาน รื้อฟื้นขึ้นมาให้เกิดความอับอาย

พระมหาอภิชาติ ยกตัวอย่างพุทธวจนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาแสดงว่า "ดูก่อนโมฆะบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอรู้อยู่ จึงได้รื้อฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรมอีกเล่า การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว อนึ่งภิกษุใดรู้อยู่ ฟื้นอธิกรณ์ที่ทำเสร็จแล้วตามธรรม เพื่อทำอีก ต้องเป็นปาจิตตีย์หรือการกระทำให้ศรัทธาตกไป ซึ่งเป็นอาบัติของพระ"

พระมหาอภิชาติ ให้ความเห็นว่า อาบัติเกิดขึ้นในพระวินัย แก้ไขโดยพระวินัย และจบลงในพระวินัยเท่านั้น ประชาชน ฆราวาสไม่มีสิทธิปรับอาบัติ ไม่ใช่เรื่องของโยม “อย่าเสือก” เป็นเรื่องของพระ

“ยุคปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าโยมเอาอาบัติของพระมาประจาน ซึ่งโยมบอกว่า หนังเรื่องอาบัติ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อตีแผ่ความจริงที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา  แต่อยากถามว่า โยมไปฟื้นอาบัติของพระขึ้นมาทำเป็นหนัง เพื่อจรรโลงศาสนาตรงไหน เมื่อมันขัดแย้งกันอยู่กับพระวินัยของพระพุทธเจ้า”

"หนังอาบัติ" ในมุมมอง "พระ" สะท้อนปัญหาหรือสร้างเสื่อมเสีย พระพยอม กัลยาโณ

หนังแสดงถึงความเป็น "ผัว" ไม่ใช่ "พระ"

พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี มองว่า ภาพยนตร์เรื่องอาบัติ  มีเนื้อหาเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมมากเกินไปเสียหน่อย โดยนักแสดงมีลักษณะการกระทำเป็นสัตว์ตัวผู้ หรือผัว ไม่ใช่ลักษณะของพระหรือสามเณร

"เอาเรื่องของพระของเณรไปทำ มันเหมือนไม่ให้ความเคารพ หนังคุณตีแผ่ด้านมืดได้ในฉากหนึ่ง แต่อีกฉากต้องสะท้อนเรื่องราวดีๆ บ้างสิ เณรระยำองค์หนึ่ง ตีคู่กับเณรดีอีกองค์ อันนี้เล่นทั้งเรื่องมันไม่ไหว ไม่มีการเปรียบเทียบ เมื่อคุณทำให้คนหมดศรัทธาได้สักคน คุณต้องมีพระเณรที่คอยสร้างศรัทธาได้ด้วย  คอยเตือน คอยแย้งการกระทำที่เป็นอาบัติ ที่จริงหนังพวกนี้สร้างกันมาเยอะแล้ว อย่างเรื่ององคุลิมาล  แต่เรื่องนี้เราดูแล้วไม่ไหว เกินไป มันไม่ใช่พระ ไม่ใช่เณร แต่มันเป็นเรื่อง ผัว ต้องเรียกตัวละครว่า ผัว ไอ้ตัวผู้ เจอตัวเมียไม่ได้เลย หนังแบบนี้เป็นหนังชวน ชวนให้เณรเป็นผัว เจอตัวเมียไม่ได้ จะปี้ซะหมด" 

พระนักเทศน์ ย้ำว่า พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถแตะต้องได้เหมือนภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา เพียงแต่ควรนำเสนอในมุมมองที่เหมาะสม โดยมองว่าวิจารณญาณของผู้ชมภาพยนตร์ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคำนึง

บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร และมาตรฐานในการเซนเซอร์ภาพยนตร์ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ นับเป็นเรื่องที่น่าติดตาม..