posttoday

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

12 ตุลาคม 2558

15 ข้อเสนอปฏิรูปตำรวจจราจรจากภาคประชาชน โดยชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด  

หลังจากเข้ายื่น 3.5 หมื่นรายชื่อของประชาชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกด่านลอยทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.

วันนี้ อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เตรียมยื่นเสนอใหม่สดๆร้อนๆ 15 ข้อ เพื่อหวังจะ"ยกเครื่อง"ปฏิรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เพื่อประโยชน์ของประชาชน อีกทั้งยังต้องการจะเรียกความเชื่อมั่นในตัวตำรวจจะกลับคืนมาด้วย

ต่อไปนี้คือ 15 ข้อข้อเสนอปฏิรูปตำรวจจราจร โดยชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

1.ยกเลิกเปอร์เซนต์นำจับใบสั่งจราจรเปลี่ยนเป็นค่าครองชีพให้กับตำรวจจราจร

ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม อธิบายว่า ที่ผ่านมาสังคมมองการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในทางลบ ทั้งยังเห็นว่าการจับกุมบนท้องถนนส่วนใหญ่เป็นไปในทางมิชอบ โดยมีส่วนแบ่งเปอร์เซนต์จากใบสั่งเป็นแรงจูงใจ

"เปอร์เซนต์นำจับเป็นเรื่องที่ตำรวจมักอ้างว่าเป็นการประพฤติชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเงินจูงใจในการปฎิบัติหน้าที่  โดยได้สัดส่วนในอัตรา 60:40 ตำรวจได้ 60 % ส่วนกทม.ได้ 40 % และเนื่องจากปัจจุบันมีน้อยคนที่จะจ่ายค่าปรับ ทำให้ตำรวจต้องวัดดวงด้วยการออกใบสั่งเพิ่มมากขึ้น โดยไม่สนใจว่าข้อหาจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก้ำกึ่งเอาหมดเพื่อเร่งทำรายได้ เราจึงต้องการให้ยกเลิกเปอร์เซนต์นำจับ และเปลี่ยนเป็นค่าครองชีพแทน เพื่อที่ตำรวจจะได้ไม่ต้องมาเคร่งเครียดกับยอดใบสั่งหรือรางวัลนำจับ”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

2.ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคเอกชน รณรงค์เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน

การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เป็นเรื่องสำคัญที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณา

“เนื่องจากสสส.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล จึงเห็นว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติน่าจะขอรับการสนับสนุนป้ายข้อความ แผ่นผับรณรงค์กวดขันวินัยจราจร เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์สวมหมวกกันน็อก รวมทั้งขอรับการสนับสนุนหมวกกันน็อคนำมาแจกให้กับเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะขับขี่มอเตอร์ไซด์เอง หรือซ้อนท้ายผู้ปกครองและวินมอเตอร์ไซค์มาโรงเรียน นอกจากนี้ สตช.ควรประสานขอความร่วมมือจากสถานศึกษาต่างๆ เพื่อรณรงค์ว่าหากผู้ใดไม่ใส่หมวก จะถูกห้ามขับขี่รถเข้าโรงเรียน เพื่อเป็นการป้องกันและช่วยลดอุบัติเหตุ ซึ่งโมเดลนี้มีสถานศึกษาบางแห่งทำสำเร็จมาแล้ว

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

3.จัดตั้งด่านสีขาวที่มีป้ายมาตรฐานบอกการตั้งด่าน

จัดตั้งด่านสีขาวที่มีป้ายมาตรฐานบอกการตั้งด่านความมั่งคงและกวดขันวินัยจราจรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มุ่งเน้นอาชญากรรมเป็นหลัก มีนายตำรวจสัญญาบัตรควบคุมการตั้งด่านและมีตำรวจประจำการตั้งด่าน 6 คน

“เราต้องทำให้ด่านตรวจเป็นด่านสีขาว หมายถึง ด่านที่สามารถตรวจสอบได้โปร่งใส ไม่มีเรื่องทุจริตหรือยัดข้อหา จะตั้งกี่แห่งก็ได้ แต่ขอให้เป็นด่านมั่งคงที่แสดงออกอย่างชัดเจน”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

4.ให้มีจุดตรวจสีขาวที่มีป้ายบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นจุดตรวจ

ในพื้นที่เดียวกันกับข้อ 3. ขอเรียกร้องเพิ่มว่าให้มีจุดตรวจสีขาวที่มีป้ายบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นจุดตรวจและกวดขันวินัยจราจร มีตำรวจระดับนายดาบเป็นผู้ควบคุมการตั้งจุดตรวจ และมีตำรวจประจำจุดตรวจรวมทั้งหมด 3 คน มุ่งเน้นอาชญากรรมเป็นหลัก

“แทนจะแอบซุ่มก็ขอให้ตั้งด่านเป็นกิจจลักษณะ มีป้ายแสดงออกว่าควบคุมโดยท้องที่สน.ใด พร้อมกับบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง มีคู่มือกฎหมายที่สามารถบอกหรือตอบคำถามประชาชนได้”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

5.ทุกสี่แยกต้องมีตำรวจดูแลประชาชน

จากความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่พบว่า ต้องให้ทุกสี่แยกบนท้องถนนมีตำรวจคอยประจำการณ์

“ทุกสี่แยกต้องมีตำรวจจราจรประจำป้อมเพื่อบริการประชาชนและกวดขันวินัยจราจรสำหรับเหตุซึ่งหน้า แต่ปัจจุบันสังเกตุเห็นว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำป้อม หากเกิดเหตุซึ่งหน้าต่างๆ เช่น ฝ่าไฟแดง ขับรถย้อนศร จะขาดคนดูแลในพื้นที่ ที่สำคัญหากเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายจะไม่มีคนช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

6.สายตรวจสีขาว ตรวจวินัยจราจรที่เป็นเหตุซึ่งหน้า

การขับรถย้อนศร ฝ่าไฟแดง หรือแม้แต่จอดรถในที่ห้ามจอดจะลดน้อยลง หากสตช.เพิ่มกำลังสายตรวจสีขาวคอยลงพื้นที่ตรวจตรา

หน้าที่ของสายตรวจสีขาวคือ ขับรถตรวจวินัยจราจรที่เป็นเหตุซึ่งหน้า เช่น ขับรถย้อนศร จอดรถในที่ห้ามจอด ฝ่าไฟแดงหรือให้บริการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน เมื่อพบเห็นอุบัติเหตุ และมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์รณรงค์กฎหมายจราจร เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องกันอย่างมาก ตำรวจจึงมีความสำคัญ เพราะถ้าเขาตรวจเจอก็สามารถจัดการได้ทันที หรือพบอุบัติเหตุต่างๆสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที  นอกจากนั้นยังสามารถบริการในด้านประชาสัมพันธ์ทางกฎหมายให้กับประชาชนได้อีกด้วย”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

7.ติดตั้งกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรแทนการใช้ดุลพินิจของตำรวจจราจรและส่งใบสั่งทางไปรษณณีย์พร้อมภาพหลักฐาน

ที่ผ่านมามักมีการโต้เถียงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนอยู่เป็นประจำว่าใครผิด ใครถูก กล้องวงจรปิดน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

“เรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของสตช.ที่มุ่งหวังว่าเมื่อเกิดการกระทำผิดขึ้น ไม่ต้องใช้ดุลยพินิจ แต่ต้องชี้แจงด้วยหลักฐาน ไม่ต้องมาเถียงกันให้เสียเวลา กล้องวงจรปิดจะกลายเป็นทางออกในข้อพิพาทต่างๆได้ดีที่สุด

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

8.ข้อหาดัดแปลงสภาพรถ หากมีใบอนุญาตที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ต้องยกเลิกข้อหานี้

การจับกุมในข้อหาดัดแปลงสภาพรถ มีให้พบเห็นเป็นประจำ แต่ใครจะรู้ว่าหลายครั้งมักเกิดขึ้นกับรถปิ๊กอัพขนส่ง

“ไม่มีประชาชนคนใดตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับกลุ่มรถซิ่งหรือรถแต่งที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นก็คือ การที่เจ้าหน้าที่เลือกจัดการดำเนินคดีกับรถปิคอัพที่เสียภาษีให้กับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว นี่คือเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

9.ข้อหาแซงขวาควรมีกำหนดกรอบให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เป็นข้อขัดแย้งในข้อกฎหมาย พรบ.จราจรทางบอก 2522

ความไม่ชัดเจนและความย้อนแย้งในข้อกฎหมาย ทำให้การแซงขวากลายเป็นปัญหาของผู้ใช้รถใช้ถนนเสมอ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์

“ปัจจุบันนี้มีประชาชนเรียกร้องและมีประสบการณ์ตรงกับข้อหานี้เยอะมาก ตัวอย่างเช่น การขับรถตามรถเมล์มา แล้วแซงออกขวา ก็มักจะโดนด่านซุ่มของเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการทันที”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

10.ป้ายห้ามมอเตอร์ไซด์ขึ้นสะพานต้องติดให้เห็นชัดเจน หากฝ่าฝืนให้ลงโทษปรับสูงสุดโดยไม่มีข้อยกเว้น

ป้ายห้ามมอเตอร์ไซด์ขึ้นสะพานต้องติดให้เห็นชัดเจน หากฝ่าฝืนให้ลงโทษปรับสูงสุดโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์และผู้ขับรถ 4 ล้อขึ้นไป

“ผู้ใช้มอเตอร์ไซด์ก็อยากขึ้นสะพาน โดยบอกว่าที่ผ่านมา ไม่มีป้ายบอกอย่างชัดเจนว่า ห้ามหรือไม่ห้ามขึ้นสะพาน ฉะนั้นจากนี้ไปเจ้าหน้าที่ควรติดตั้งป้ายแสดงให้ชัดเจน ว่าสะพานไหนขึ้นได้ สะพานไหนขึ้นไม่ได้

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

11.ข้อหาไม่ใส่หมวกกันน็อค หากมีการรณรงค์แล้วยังมีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องลงโทษตามกฎหมายจราจรอย่างเด็ดขาด

แม้จะมีการรณรงค์ให้สวมหมวกกันน็อคมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับยังมีการละเมิดกฎหมายให้พบเห็นบ่อยครั้ง ทำให้ภาคมีเสียงเรียกร้องว่าควรบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ไร้วินัยเสียที เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

12.ข้อหาอื่นๆให้จัดทำเป็นคู่มือสําหรับประชาชนประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามพรบ.การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558

“เพื่อความกระจ่าง ทุกการกระทำของเจ้าหน้าที่ต้องมีกฎหมายรองรับ และพร้อมเปิดสมุดหรือคู่มือโชว์ให้ประชาชนดูเลยว่า ประชาชนผิดกฎหมายข้อใด เมื่อยามจับกุม”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

13. สำหรับจราจรกลาง ให้มีการตั้งด่านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้แสดงป้ายการตั้งด่านอย่างชัดเจน และมีตำรวจสัญญาบัตรควบคุมการตั้งด่าน โดยเฉพาะการตรวจควันดำ ต้องจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนเช่นเดียวกันกับข้อ 12 เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบก่อนที่จะมีการตรวจควันดำ ส่วนเรื่องการตรวจเสียงดัง ต้องมีเครื่องมือที่ได้การรับรองตามมาตรฐานและจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนเช่นเดียวกัน และมุ่งเน้นอาชญากรรมเป็นหลัก

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

14.ตำรวจทางหลวง ต้องตั้งด่านเช่นเดียวกัน โดยให้แสดงป้ายการตั้งด่านอย่างชัดเจน และมีตำรวจสัญญาบัตรควบคุมการตั้งด่าน และมุ่งเน้นอาชญากรรมเป็นหลัก

“เนื่องจากมีรายงานว่า รถตำรวจทางหลวงทุกคันที่ออกมาปฎิบัติหน้าที่ต้องประมูลก่อนถึงจะได้ออกปฎิบัติงานในแต่ละวัน จึงเกิดข้อเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยให้มีการตั้งด่านอย่างชัดเจน”

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน

15.อาสาจราจรควรมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยตำรวจจราจร ด้วยการโบกรถหรือระบายรถ ห้ามออกใบสั่ง หรือยึดกุญแจรถ

“เป็นปัญหามากเพราะอาสาจราจรมักมีท่าทีกร่างเหมือนเป็นจราจรเสียเอง ถือใบสั่ง พกปืน ซึ่งภาคประชาชนเห็นว่าควรทำหน้าที่แค่บริการประชาชน โบกรถหรือระบายรถเท่านั้น ไม่มีการยึดกุญแจรถใคร หรือทำหน้าที่เหมือนกับตำรวจจราจร” 

อัจฉริยะ สรุปว่า หากตำรวจจริงใจที่จะแก้ไขกฎหมาย ชมรมช่วยเหลือเหยื่อฯมีรายชื่อประชาชนกว่า 5 หมื่นรายชื่อที่พร้อมจะสนับสนุนในการแก้ไขกฎหมาย

"ทั้งหมด 15 ข้อที่เสนอไป หากเลือกได้เพียงข้อเดียว ก็ขอเลือกข้อ 1 หวังข้อแรกก่อน ถ้าข้อหนึ่งได้ ทุกอย่างจะดีขึ้นเยอะ ถ้าปฎิบัติหน้าที่โดยชอบไม่จำเป็นต้องมีรางวัลนำจับ ตำรวจต้องคิดจะทำเพื่อประชาชนไม่ใช่หวังเพียงเงินรางวัล ถ้าเปลี่ยนเป็นค่าครองชีพหรือเบี้ยเลี้ยงผมคิดว่าการรีดไถประชาชนจะไม่มี เพราะทุกวันนี้คนมีกล้อง ตำรวจไม่กล้าเสี่ยงกับการถูกไล่ออกจากข้าราชการหรอก ความตั้งใจต่อไปของชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมคือ การจัดตั้งศาลจราจร โดยมั่นใจว่าศาลจราจร จะทำผู้คนไม่กล้ากระทำความผิด หากมีศาลจราจรขึ้นมาบังคับใช้กฎหมาย จะทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก และทำให้คนเกรงกลัวที่จะกระทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้การตัดสินชี้ผิดถูกจะไม่ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของตำรวจอีกต่อไป แต่จะถูกโยนไปที่ศาล ซึ่งมีความเป็นธรรมและได้รับความน่าเชื่อถือศรัทธาจากประชาชนมากกว่าตำรวจ ทั้งหมดนี้อยากเห็นประชาชนกับตำรวจอยู่ร่วมกันบนความรักความเข้าใจ อยากเห็นภาพลักษณ์ตำรวจยุคใหม่ที่ทำงานรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ทำงานแล้วรีดไถประชาชน วันนี้ประชาชนเกลียดตำรวจมากเกินไปแล้ว"

ในยุคที่ตำรวจอยู่ห่างไกลจากความศรัทธาของประชาชน ข้อเสนอทั้ง 15 ข้อนี้ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง.

"15ข้อปฏิรูปจราจร"...ระงับศึกตำรวจ-ประชาชนบนท้องถนน อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์