posttoday

คลังจะคืนความสุข ทางเศรษฐกิจให้ประชาชน

07 ตุลาคม 2558

"ผมไม่ยึดติดกับตำแหน่งหรือวาระต่างๆ เมื่อได้รับมอบหมายงานให้ทำก็ทำให้ดีที่สุด เราไม่ได้วิ่งเข้ามาเพื่อมามีอำนาจ แต่เราถูกขอให้เข้ามาช่วยชาติ"

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

ในที่สุดอดีตนายแบงก์มากความสามารถอย่าง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” ก็ตอบรับคำเชิญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาร่วมรัฐบาลประยุทธ์ 3 ในตำแหน่ง รมว.คลัง ผู้ที่จะต้องรับงานหนักที่สุด ในการประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสารพัดข่าวร้ายที่รุมเร้า

คำถามที่อภิศักดิ์ถูกถามมากที่สุดคือ คิดอย่างไร และคิดนานไหม จึงตัดสินใจรับตำแหน่งนี้

อภิศักดิ์ ยิ้มตอบว่า ตลอดชีวิตการทำงานไม่เคยคิดว่าจะเข้าสู่แวดวงการเมือง พอตัดสินใจรับตำแหน่ง รมว.คลัง ก็กลายเป็นการเมืองโดยปริยาย ทั้งที่ไม่ได้ชอบการเมือง

“ผมคิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรให้ประชาชนมีความสุข ตอนทำงานธนาคารก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น มีความสุข เข้ามาทำงานเดือนกว่าๆ มีเรื่องต้องทำเยอะมาก เรื่องเร่งด่วนก็มากไม่อยากทิ้งไว้นาน เพราะจะทำให้การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจยากมากขึ้น” อภิศักดิ์ กล่าว

หลังจากเข้ามารับตำแหน่งก็พบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ลำบากมาก โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าที่มีรายได้น้อย ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรของโลกตกต่ำ ภัยแล้งต้องรีบช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ก่อนด้วยการจ่ายเงินกองทุนหมู่บ้าน การทำโครงการขนาดเล็กระดับตำบลละ 5 ล้านบาท และการเร่งลงทุนในโครงการขนาดเล็กไม่ถึง 1 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้งานให้เกิดเงินหมุนเวียนขึ้นในระบบ

หลังจากนั้นก็ต้องกลับมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเติบโตต่อไปได้ ในส่วนของภาครัฐก็ทำเต็มที่แล้ว การลงทุนขนาดใหญ่ต้องใช้เวลา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่จำเป็นเพราะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ

“ประเทศไทยต้องพึ่งการลงทุนภาคเอกชน เพราะรัฐลงทุนอย่างเดียวไม่ไหว มูลค่าลงทุนของรัฐน้อยกว่าของเอกชนมาก แต่ที่ผ่านมาภาคเอกชนไม่ลงทุนมา 10 ปีแล้ว เพราะเรามีปัญหาการเมือง ทำให้ไม่มีใครไปดูเศรษฐกิจในภาพรวม เอกชนก็ไม่เปลี่ยนแปลงเครื่องจักรและเทคโนโลยี ทำให้ขีดความสามารถแข่งขันของประเทศตกต่ำลง” รมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ รมว.คลัง เห็นว่าประเทศไทยต้องการแรงผลักดันจากเครื่องยนต์ใหม่ (New Growth Engine) ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและต้องค้นหา ตอนนี้ยังไม่มีอะไรประกาศออกมาให้เห็นภาพชัดเจน เพราะได้มอบเป็นนโยบายไปแล้วให้หาข้อมูล ซึ่งเรื่องโดนใจนักลงทุนต่างชาติและไทย การค้นหาคำตอบต้องให้ไปดูแนวโน้มของโลกว่าไปทางไหน ต้องสอบถามบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกว่าต้องการอะไรหากจะมาลงทุนในประเทศไทย

อภิศักดิ์ มองว่า เครื่องยนต์ใหม่ที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องประกาศออกมาแล้วเอกชนต้องรับรองว่า เจ๋งมากเลย เห็นแล้วต้องอยากลงทุนถึงต้องให้ไปดูเทรนของโลกว่าเขาจะไปทางไหนกัน

คนที่จะเข้ามาลงทุนไม่จำเป็นเสมอไปว่า นักลงทุนต้องการกำไรมาก ค่าแรงถูกๆ เสียภาษีน้อย ต่อไปผู้ประกอบการก็ต้องคิดใหม่ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำ เป็นการวางพื้นฐานเพื่ออนาคต แต่ในระยะสั้นเรื่องที่ต้องทำคือรัฐจะต้องลงทุนเต็มที่ในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) เพราะเอกชนไม่ลงทุนรัฐก็จะต้องเป็นคนผลักดันในเรื่องนี้ สิ่งที่เอกชนไม่ทำเราก็ต้องทำ

คลังจะคืนความสุข ทางเศรษฐกิจให้ประชาชน

สำหรับการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจแบบปกติ (New Normal) เป็นเรื่องที่พูดกันเพื่อจะปลอบใจกันเองให้ยอมรับว่า เศรษฐกิจของไทยต่อจากนี้จะโตได้ปีละ 3-4% เท่านั้น

อภิศักดิ์ ระบุว่า ถ้าพูดกันแต่เรื่อง New Normal แต่ไม่ทำอะไรเลย เศรษฐกิจจะแย่ลงไปมากกว่านี้อีก แต่หากไทยมีเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใหม่ให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะทำให้เศรษฐกิจของไทยสามารถขยายตัวต่อไปได้ 10-20 ปีข้างหน้า

“สิ่งที่รัฐบาลทำคือการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นการทำชั่วคราวเท่านั้น เพราะภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ปกติ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ทำให้เศรษฐกิจไทยยั่งยืนและให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถที่จะเกาะไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นได้ ซึ่งจะต้องสอดแทรกวิธีคิดในเรื่องการอยู่อย่างพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยพออยู่พอกินในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้” รมว.คลัง กล่าว

อภิศักดิ์ กล่าวถึงการลงทุนว่านักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย นอกจากต้องการผลตอบแทนสูงก็ยังมีปัจจัยอื่นที่พิจารณา เรื่องความมั่นคงของประเทศ ความเป็นอยู่ ความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ ซึ่งได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึง
เลิกกิจการต้องให้ความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวถ่วงทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้เรียกหน่วยงานต่างๆ ประชุม เพื่อบูรณาการการทำงานในเรื่องนี้ เพื่อให้นักลงทุนคิดถึงการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

หลังจากที่รัฐบาลกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนได้แล้ว ก็คาดว่าจะมาเชื่อมต่อกับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งการดำเนินการ 2-3 สิ่งนี้จะทำให้ความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนเพิ่มขึ้น

อภิศักดิ์ เห็นว่าระหว่างทางที่กำลังดำเนินนโยบายก็ต้องเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นภาคที่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้จะไม่มีการสร้างความต้องการเทียมขึ้นมา แต่จะกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายที่รวดเร็วมากขึ้น

ที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา เศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าที่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อบ้านจากธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 60% ในบางธนาคาร แต่ลูกค้าในส่วนนี้ก็ยังมีความสามารถที่จะขอสินเชื่อได้ จึงได้หารือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้หามาตรการในการปล่อยสินเชื่อลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้ช่วยทุกรายที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากธนาคารพาณิชย์ แต่แน่นอนว่าลูกค้ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงเป็นหนี้เสียมากกว่าลูกค้าดี ก็ได้ให้แนวทาง ธอส.ให้ไปเจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ส่งลูกค้าดีมาใช้สินเชื่อของ ธอส.ด้วย

สำหรับปัญหาการปล่อยซอฟต์โลนของธนาคารพาณิชย์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทางคลังได้ออกแบบโดยไม่สร้างเงื่อนไขให้ปล่อยกู้ไม่ได้ แต่ไม่ให้ขอไปใช้หนี้เดิมที่ดอกเบี้ยแพงกว่าเท่านั้น ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อให้ได้ทั้งกับลูกค้าเก่าและใหม่ เพื่อไปขยายกิจการหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าดีก็ไม่ควรไปอิจฉาผู้ประกอบการที่ด้อยกว่า เพราะมาตรการนี้เป็นการแก้ความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียม ผู้ประกอบการที่ดีกว่าก็ควรรับผิดชอบช่วยเหลือสังคมมากขึ้น

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า มีแนวคิดจะคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศไทยให้ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น เหมือนกับที่ทางประเทศญี่ปุ่นทำเรื่องนี้ได้ดีมาก เวลาบริษัทแม่เดินทางไปลงทุนที่ไหนก็จะพาบริษัทลูกและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตตามไปลงทุนด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะบริษัทใหญ่ๆ ที่แข็งแรงมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ใช้แรงงานน้อยลง แต่เอสเอ็มอีคือจุดเดียวในอนาคตที่จะเป็นที่จ้างแรงงานของประเทศ

อย่างไรก็ดี มาตรการพยุงเศรษฐกิจที่ทำมาทั้งหมดในขณะนี้ อภิศักดิ์ถือว่าเพียงพอต่อสถานการณ์

“it ok for now” อภิศักดิ์ กล่าว

รมว.คลัง อธิบายว่า แม้จะมีการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การเติมเม็ดเงินไม่ควรทำมากไปกว่านี้ เพราะจะเป็นภาระการคลังได้ นอกจากนี้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขยับเพิ่มขึ้นได้ เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจะเป็นหัวจักรสำคัญ แต่ก็จะมีปัญหาสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยทำให้เงินไหลกลับสหรัฐ ในส่วนของไทยไม่มีปัญหาเพราะเงินทุนสำรองสูงและหนี้อยู่ระดับต่ำ

นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศจีนยังขยายตัวได้ระดับ 7% เศรษฐกิจยุโรปดีขึ้น เศรษฐกิจโลกไม่น่าจะมีอะไรแย่มากไปกว่านี้ เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ไม่น่าจะตกต่ำมากไปกว่านี้อีกแล้ว ทั้งราคาน้ำมันและพืชผลทางการเกษตร

“ปัญหาอยู่ที่ว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวอยู่อย่างนี้นานแค่ไหน หากอยู่นานประเทศไทยก็ต้องใช้เงินในการดูแลเศรษฐกิจมากขึ้น แต่หากไม่นานปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวเดินหน้าต่อไปได้ มาตรการในการดูแลเศรษฐกิจที่ผ่านมาก็ถือว่าเพียงพอ และเศรษฐกิจไทยปีหน้าก็เชื่อมั่นว่าจะดีกว่าปีนี้” รมว.คลัง กล่าว

คลังจะคืนความสุข ทางเศรษฐกิจให้ประชาชน

ความหวัง หลังรับใช้ชาติ

“อภิศักดิ์ ” นับเป็นศิษย์เก่าอีกคนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคภูมิใจ

อภิศักดิ์ถือเป็นวิศวกรการเงินอีกคนที่ประสบความสำเร็จมากในการขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารของสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ และเป็นพนักงานขององค์กรกึ่งเอกชนและกึ่งราชการมาโดยตลอด

อภิศักดิ์ได้ฉายาในวงการเงินว่า “มือฟื้นฟูกิจการ” เพราะทุกครั้งที่ย้ายงานจะเป็นเพราะได้รับมอบหมายจากผู้กำหนดนโยบายให้ไปแก้ไขกิจการที่มีปัญหา

เขาเริ่มงานในฝ่ายต่างประเทศของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) และไอเอฟซีที ไฟแนนซ์ จนเป็นตัวเก็งผู้จัดการไอเอฟซีที แต่เขาก็โดนกระทรวงการคลังดึงไปเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ถูกทางการสั่งปิด จำเป็นต้องให้ บสก.ขึ้นติดตามหนี้ของบีบีซี

หลังจากนั้นก็ได้รับมอบหมายให้เข้าไปพัฒนาฟื้นฟูธนาคารนครหลวงไทย ภายหลังจากทางการควบรวมกิจการกับธนาคารศรีนคร ซึ่งอภิศักดิ์ได้วางระบบงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการและพนักงานยังไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน จนธนาคารประสบความสำเร็จสามารถนำหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยกลับเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อีกครั้ง

ระหว่างที่ธนาคารนครหลวงไทยกำลังไปได้ดีก็เกิดปัญหาที่ธนาคารกรุงไทย และครั้งนี้เกิดวิกฤตนายแบงก์ เพราะในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งมีนายแบงก์โดนคดีปล่อยกู้ไม่โปร่งใส ทำให้บริษัทเสียหายไปเยอะ ทำให้บุคลากรระดับมันสมองโดนขึ้นบัญชีดำ หาคนที่เหมาะสมเข้ามาฟื้นฟูธนาคารกรุงไทยยาก แต่เนื่องจากเกรงใจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น รมว.คลัง ขอให้มาช่วยฟื้นฟูองค์กร อภิศักดิ์จึงตัดสินใจสละตำแหน่งที่นครหลวงไทยมาทำงานที่ธนาคารกรุงไทย

อภิศักดิ์นับเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยที่ทำสถิติอยู่ครบ 2 วาระ นาน 8 ปี โดยไม่มีมลทินติดตัว หลังจากนั้นก็เข้าไปร่วมเป็นกรรมการของธนาคารไทยพาณิชย์

วันนี้ อภิศักดิ์ก็ตัดสินใจยอมรับตำแหน่ง รมว.คลัง ตามที่สมคิดได้ชักชวนอีกครั้ง และเข้ามาแบบเดิมคือในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยจากปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศรุมเร้า การส่งออกติดลบ งบลงทุนรัฐบาลค้างท่อมหาศาล การบริโภคหดตัว

อภิศักดิ์ให้ความเห็นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมที่ว่า เขาอาจจะมีความรู้ดีด้านการเงิน แต่ในด้านการคลังนั้นไม่แน่ใจ อภิศักดิ์ให้ความเห็นเพียงว่าขอให้ดูที่ผลงาน ขณะนี้ขอเวลาทำงานก่อน

“ผมไม่ยึดติดกับตำแหน่งหรือวาระต่างๆ เมื่อได้รับมอบหมายงานให้ทำก็ทำให้ดีที่สุด เราไม่ได้วิ่งเข้ามาเพื่อมามีอำนาจ แต่เราถูกขอให้เข้ามาช่วยชาติ เมื่อเราออกไปแล้วมองย้อนหลังกลับมาองค์กรยังไปต่อได้ดี ประเทศชาติดีขึ้น ก็พอใจแล้ว” อภิศักดิ์ กล่าว

สิ่งที่เขาอยากจะเห็นเมื่อลุกจากเก้าอี้ รมว.คลังไปแล้วมีอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องการพัฒนาระบบการชำระเงินของชาติ ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต และการทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยมีบัญชีเดียวเพื่อเสียภาษี ซึ่งจะทำให้ระบบธุรกิจไทยพัฒนาสู่แนวทางที่เป็นสากล

อภิศักดิ์มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรจะมองข้าม

“คุณจะพัฒนาประเทศอย่างไร หากเราไม่ยอมเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง ประเทศไทยมีเงินออมไม่เพียงพอต่อการลงทุน ทุกคนไม่ยอมทำให้ถูกต้อง เพราะกลัวจะถูกเรียกภาษีย้อนหลัง ซึ่งเราก็แก้ไขปัญหาให้แลกกับการเข้าระบบที่ถูกต้อง” อภิศักดิ์ กล่าว

ความหวังของอภิศักดิ์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าเขาจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร อนาคตเศรษฐกิจของชาติอยู่ในมือของเขาแล้ว