posttoday

"มหาเถรสมาคมต้องมาไกล่เกลี่ย" ทางออกปมขัดแย้งที่วัดกัลยาณ์

22 กันยายน 2558

มุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาต่อปมความขัดแย้งระหว่างวัดกัลยาณมิตรกับชาวบ้าน

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

ยืดเยื้อมานานกว่า 12 ปี แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งระหว่างวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารกับชาวบ้านยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ

ไล่ตั้งแต่กรณีทุบทำลายโบราณสถาน ซึ่งมีคดีฟ้องร้องที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึง 16 คดี กรณีทายาทสกุลกัลยาณมิตร-ประวิตรออกมาโจมตีเรื่องการนำที่ดินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ จนถึงการไล่รื้อชุมชนวัดกัลยาณ์ ทั้งหมดตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ สังคมให้ความสนใจอย่างล้นหลาม

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ตั้งแต่เกิดเรื่องจนถึงบัดนี้ มหาเถรสมาคมและสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควรเข้ามาดำเนินการเพื่อยุติปัญหาหายไปไหน?

วันนี้ ลองมาฟังมุมมองนักวิชาการด้านพุทธศาสนาเกี่ยวกับปมขัดแย้งระหว่างวัดกัลยาณ์ว่า อะไรคือทางออกของความขัดแย้งในครั้งนี้

ท่าทีเมินเฉยของคณะสงฆ์?

ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า พื้นที่ของวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเขตวัดโดยตรง อีกส่วนหนึ่งเป็นธรณีสงฆ์ หรือภาษาพระเรียกว่า "กัลปนา" หมายถึงที่ดินที่เจ้าของถวายเฉพาะผลประโยชน์ที่เกิดจากที่ดินนั้นให้แก่วัด ในที่นี้คือ ชุมชนวัดกัลยาณ์ที่ชาวบ้านเช่าอาศัยอยู่

ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) ระบุให้เจ้าอาวาสเป็นผู้มีอำนาจในการจัดการพื้นที่ของวัดโดยชอบด้วยกฎหมาย ชาวบ้านจึงเข้าไปมีส่วนร่วมได้ยาก พอวัดต้องการพื้นที่คืน ปัญหาวุ่นๆจึงตามมา

"ถ้าตีความพ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็เหมือนยึดวัดไปเป็นของราชการ เจ้าอาวาสก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยตำแหน่ง ท่านจะแต่งตั้งใครขึ้นมาเป็นตัวแทนในการจัดสรรพื้นที่ต่างๆภายในวัดก็ได้ ชุมชนที่เคยมีบทบาทร่วมกับวัดก็ไม่มีสิทธิ์มีเสียง อีกทั้งตามพ.ร.บ.สงฆ์ไม่ได้บอกว่ากระบวนการของการจัดสรรพื้นที่ต่างๆของวัดควรจะเป็นแบบไหน ชุมชนมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน มองแง่หนึ่งมันก็ถือเป็นอำนาจเผด็จการพอสมควร เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับอำนาจของเจ้าอาวาสแต่เพียงผู้เดียว

เท่าที่ได้รับข้อมูล เจ้าอาวาสตั้งใจจะบูรณะวัดให้มีทัศนวิสัยสวยงามสมเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ซึ่งขั้นตอนเจ้าอาวาสต้องรายงานให้เบื้องบนรับทราบเป็นลำดับอยู่แล้ว ตั้งแต่เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดขึ้นไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่ามหาเถรสมาคมรับรู้แน่ๆ แต่ที่เพิกเฉยเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสดำเนินการ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของวัดไป คณะสงฆ์แค่รับรายงาน ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยว ส่วนเรื่องการไล่รื้อที่ชาวบ้าน ทางวัดอาจคิดแค่ว่าจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านก็น่าจะจบ โดยลืมนึกถึงผลกระทบอื่นๆว่าชาวบ้านจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง จะไปอยู่ที่ไหน พอเกิดปัญหาขึ้น พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ก็จะรับฟังแต่รายงานของวัด เป็นการรายงานฝ่ายเดียวจากทางเจ้าอาวาส ซึ่งไม่ได้รายงานเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านสักเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าอยากให้มหาเถรสมาคมลงมารับฟัง ชาวบ้านนั่นแหละก็ต้องไปเรียกร้องเอง แต่ก็อาจเจอกับระบบอุปถัมป์ในหมู่คณะสงฆ์อีก"

"มหาเถรสมาคมต้องมาไกล่เกลี่ย" ทางออกปมขัดแย้งที่วัดกัลยาณ์

วัดไม่ควรมีปัญหากับชาวบ้าน

สมผล ตระกูลรุ่ง นักกฎหมายอิสระ มองว่า ตามหลักพุทธศาสนา วัดและชุมชนรอบวัดมีความผูกพันใกล้ชิด ต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดังนั้นวัดควรเป็นที่พึ่งพาอาศัยมากกว่าจะทะเลาะเบาะแว้งกับชาวบ้าน

"วัดไม่ควรมีปัญหากับชาวบ้าน ถ้าเกิดปัญหา วัดต้องพิจารณาตัวเองก่อนเลย ในพระธรรมวินัยท่านบอกว่าให้ปรับตัวเอง ไม่ใช่ให้ปรับภายนอก พระต้องดูตัวเองก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ความขัดแย้งที่วัดกัลยาณ์ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก การทุบทำลายโบราณสถานก็มีความผิด ส่วนกรณีที่วัดไล่รื้อที่ดินที่ชาวบ้านเช่าอาศัยอยู่จะบอกว่าวัดผิดก็ไม่ได้ เพราะเขามีอำนาจที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย แต่ตามหลักธรรมวินัยแล้ว ถ้าเจตนารมณ์คือให้ชาวบ้านเช่าที่ดินเพื่อนำเงินมาบำรุงวัด แต่กลับเอาไปทำอย่างอื่น ตรงนี้ผมว่ามีปัญหา ยกตัวอย่างวัดป่าแห่งหนึ่ง มีญาติโยมบริจาคเงินให้พระสร้างกุฎิ ปรากฎว่าสุดท้ายไม่ได้สร้าง พระท่านเลยส่งเงินกลับคืนเพราะไม่สามารถใช้เงินผิดประเภท หรือใช้เงินไม่ตรงเจตนาของผู้ให้ได้ มันผิดธรรมวินัย พระที่เคร่งครัดจะไม่ทำเลย แต่หากอ้างว่าจำเป็นต้องนำไปใช้จริงๆ เจ้าอาวาสต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ได้ว่าสิ่งที่ท่านสร้างมันเป็นประโยชน์ให้วัดอย่างไร ถ้าเหตุผลฟังไม่ขึ้นมันก็จะเป็นการเบียดเบียนชาวบ้าน"

ถามว่า ปัญหาบานปลายเรื้อรังมานานเป็นสิบปี ทำไมถึงไม่มีการดำเนินการใดๆจากทางมหาเถรสมาคมเลย

"ผมไม่แปลกใจต่อท่าทีนิ่งเฉยของมหาเถรสมาคม เพราะที่ผ่านมามหาเถรสมาคมไม่เคยดำเนินการอะไรที่เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการพุทธศาสนาอยู่แล้ว ยกตัวอย่างกรณียันตระ วัดธรรมกาย หรือพระนิกร ก็ไม่ได้เป็นฝีมือของมหาเถรสมาคม ยันตระหนีออกไปต่างประเทศเพราะทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ดูหมิ่นพระสังฆราช แต่เรื่องที่อธิกรณ์ก็ค้างอยู่อย่างนั้นไม่ได้คืบหน้าไปไหน ถามว่ากรณีพระชั้นผู้ใหญ่ทำผิดจะดำเนินการอย่างไร พูดตรงๆคือ ถ้าไม่ไปขวาง ไม่ไปทำอะไรหนักหนาสาหัสจริงๆก็คงไม่มีทางถูกเล่นงานหรอก ยิ่งถ้าพระบางรูปในมหาเถรสมาคมเห็นแก่ประโยชน์ก็ยิ่งไปกันใหญ่ กรณีเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรถูกฟ้องร้องคดีอาญาข้อหาทุบทำลายโบราณสถาน ถ้าคดียังไม่ถึงที่สุด ความเป็นพระก็ยังไม่สิ้นสุด แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผิดจริงก็ต้องสึก และติดคุก หากพิจารณาจากธรรมวินัย มีกระบวนการทางอธิกรณ์เป็นคดีสงฆ์ ก็หวังได้ยากเหลือเกินว่าจะถูกลงโทษ"

นักกฎหมายรายนี้ระบุว่า ทางออกของปมขัดแย้งวัดกัลยาณ์ พระผู้ปกครองต้องลงมาจัดการโดยเร็วที่สุด เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของพุทธศาสนากลับคืนมา

"สุดท้ายแล้วถ้าปล่อยให้ชาวบ้านกับวัดซูเอี๋ยกัน ตกลงให้ที่ดินของวัดไปเป็นของชาวบ้าน นั่นก็ไม่ใช่ทางออก มันไม่ควรจะจบอย่างนั้น ผมว่าเราต้องยึดธรรมวินัยเป็นหลัก เมื่อเป็นทรัพย์สินของสงฆ์จะเอาไปให้ใครก็ไม่ได้ ทางแก้คือพระผู้ใหญ่ต้องเข้าไปดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และแก้ปัญหาให้ตรงจุด"

"มหาเถรสมาคมต้องมาไกล่เกลี่ย" ทางออกปมขัดแย้งที่วัดกัลยาณ์

มหาเถรสมาคมต้องเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย

สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มองว่า ทางออกของความขัดแย้งระหว่างวัดกัลยาณมิตรกับชุมชนวัดกัลยาณ์ มหาเถรสมาคมควรเป็นคนกลางเข้าไปไกล่เกลี่ย โดยทางวัดต้องอนุโลมผ่อนปรนให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ใช่ไล่รื้อ หรือสั่งให้ย้ายอย่างกะทันหัน

"ยกตัวอย่างวัดชื่อดังแห่งหนึ่งในจ.นครปฐมกับชาวบ้านฟ้องร้องเรื่องที่ดินกันมากกว่า 200 คดี วัดจะไล่ชุมชนออกจากพื้นที่ ชาวบ้านก็โวยว่าย้ายกะทันหัน 2-3 เดือนจะทำได้ยังไง ทั้งที่เจตนารมณ์ของเจ้าอาวาสรูปก่อนคือให้ชาวบ้านให้อยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน ศาลพยายามไกล่เกลี่ยก็ไม่สำเร็จ จนเวลาผ่านไปถึงจุดอิ่มตัว ทางวัดและชาวบ้านก็มีการประนีประนอมกัน โดยตกลงให้ชาวบ้านเลื่อนย้ายออกเป็นปี 2559 สุดท้ายแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย วัดถอนฟ้อง ชาวบ้านก็ถอนฟ้อง

กรณีความขัดแย้งที่วัดกัลยาณมิตร อยากให้ทางมหาเถรสมาคม หรือสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติเข้ามาดูแลไกล่เกลี่ยให้ทางวัดอนุโลมผ่อนปรนให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวล่วงหน้าสักระยะหนึ่ง ยึดหลักเมตตาธรรม เห็นใจชาวบ้านเขาไม่มีที่ไปก็ลำบากเหมือนกัน หาทางระงับข้อพิพาทให้ได้ สิ่งใดเป็นปัญหา เกิดเพราะใคร และจะแก้ไขอย่างไรต่อไป เรื่องนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์มาก สังคมกำลังจับตามอง ที่สำคัญอย่าเลือกปฏิบัติ หากคณะสงฆ์ตั้งใจจะเอาจริง ปัญหานี้จะยุติลงอย่างแน่นอน"

ทั้งหมดนี้คือ มุมมองของนักวิชาการด้านพุทธศาสนาที่ตั้งใจส่งสัญญาณไปยังสองหน่วยงานสำคัญ นั่นคือ มหาเถรสมาคม และสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติให้ลงมาดำเนินการเพื่อยุติปัญหาเรื้อรังมานานให้จบลงเสียที

"มหาเถรสมาคมต้องมาไกล่เกลี่ย" ทางออกปมขัดแย้งที่วัดกัลยาณ์