posttoday

เปิดคำพิพากษาจำคุกแกนนำนปช.4ปีบุกบ้านป๋าเปรม

16 กันยายน 2558

เปิดคำพิพากษาศาลอาญาสั่งจำคุก 4 แกนนำ นปช. คนละ 4 ปี 4 เดือน กรณีบุกบ้านพล.อ.เปรม ปี 50

เปิดคำพิพากษาศาลอาญาสั่งจำคุก 4 แกนนำ นปช. คนละ 4 ปี 4 เดือน กรณีบุกบ้านพล.อ.เปรม ปี 50

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ห้องพิจารณาคดี 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่  อ.3531/2552   ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง  1.นายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล2.นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน 3.นายวันชัย นาพุทธา 4.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.  5.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 35 ปี 6.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท   7.และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช .เป็นจำเลยที่1-7 ในความผิดฐาน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปดังกล่าวมีมีดดาบ มีดดายหญ้า มีดปลายแหลม มีดพก หลายเล่มเป็นอาวุธ ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำการให้เกิด  ความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีจำเลยกับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง  เป็นหัวหน้าและมีหน้าที่สั่งการ  ใช้ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญและ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธงตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ตอ. ทวีศักดิ์  นามจันทร์เจียม  เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรค 2 ,215 , 216 ประกอบมาตรา33 , 83 และ 91

กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำ และแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง

โดยวันนี้จำเลยที่ 1-3 และ 5-7 เดินทางมาศาล ขณะที่นายวีระกานต์ จำเลยที่ 4 ได้มอบให้ผู้แทนนำใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจยื่นต่อศาล เพื่อขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไปก่อน เนื่องจากมีอาการป่วยเลือดออกในลำไส้ ศาลสอบถามโจทก์แล้วไม่คัดค้าน พิจารณาแล้วอนุญาตให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาเฉพาะของจำเลยที่ 4 ออกไปเป็นวันที่ 30 ก.ย. เวลา 9.00 น. และให้อ่านคำพิพากษาของจำเลยที่เหลือในวันนี้ 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่การชุมนุมเบิกความว่า ในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.แต่ละครั้งจะมีการแจ้งสถานที่ในการเคลื่อนขบวนล่วงหน้าทุกครั้ง แต่ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 20-22 ก.ค.2550 จำเลยที่ 4-7 ได้ปราศรัยชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันวันที่ 22 ก.ค.เพื่อเคลื่อนขบวนการชุมนุมโดยปกปิดสถานที่ และเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่สนามหลวงจำเลยที่ 4-7 ได้ปราศรัยไปในทิศทางเดียวกันให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินจากสนามหลวงไปบ้านสี่เสาเทเวศร์

ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการชุมนุมมีเพียงแก๊สน้ำตา กระบอกและโล่ เมื่อกลุ่มนปช.เดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเจรจาไม่ให้เคลื่อนขบวนเข้าไปที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่หวงห้าม แต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 5 ได้มีการพูดชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าแนวกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไป และให้เอารั้วเหล็กออก

แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้เลิกแล้ว แต่จำเลยที่ 5 ยังชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าด่านสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไป โดยมีการแย่งรั้วเหล็กกั้น และผลักดันเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ถอยออก แม้จะไม่ใช่การทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อมีการยื้อแย่งรั้วเหล็กก็ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

ที่จำเลยที่ 4-7 ต่อสู้คดีอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมให้ผู้ชุมนุมรื้อรั้วกันเอง โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ขัดขวางนั้น แต่จากภาพเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจและแกนนำนปช.ได้มีการเจรจากัน เพื่อขอไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปในบริเวณพื้นที่หวงห้ามดังกล่าว การที่จำเลยที่ 4-7 นำพยานบุคคลมาสืบมีน้ำหนักน้อย ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 4-7 ร่วมกันเป็นแกนนำชักชวนให้ทำหรือไม่กระทำการใดๆ มีพฤติการณ์เป็นหัวหน้าสั่งการ ฯ , ก่อให้เกิดความวุ่นวายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ส่วนจำเลยที่ 1-3 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้ง 3 ได้ร่วมชุมนุมมาตั้งแต่ต้น แม้จำเลยที่ 3 จะยอมรับว่าได้รับการว่าจ้างให้ขับรถปราศรัย ซึ่งก็ทำไปตามหน้าที่ โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบหักล้าง จึงมีเหตุอันควรสงสัยพอสมควรว่าจำเลยที่ 1-3 มีส่วนกับการชุมนุมหรือไม่ จึงยกผลประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย 1-3

ส่วนกรณีเหตุการณ์ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกนั้น เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า การที่กลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวางใช้อิฐตัวหนอนขว้างปาเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้จับกุมจำเลยที่ 4-7 โดยจำเลยที่ 4-7ยังพูดชักชวนให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าพวกจำเลยจะนำสืบว่าไม่ได้พูดปลุกระดม แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้ามาโดยกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ใช้วัสดุที่อยู่ใกล้ตัวมาป้องกันตัว เห็นว่าการจับกุมเป็นหน้าที่ของตำรวจสามารถจับกุมได้เมื่อเห็นการกระทำผิดซึ่งหน้า 

และตามพยานหลักฐานที่เป็นภาพบันทึกเหตุการณ์ปรากฏว่า จำเลยที่ 4-7 พูดปราศรัยขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแกนนำนปช.โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เก้าอี้พลาสติกและก้อนอิฐตัวหนอนขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่การป้องกันตัวตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

ส่วนที่พวกจำเลยปราศรัยไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายเจ้าหน้าที่นั้น หากพิจารณาพฤติการณ์ตั้งแต่ต้นเปรียบเทียบกันแล้ว เห็นว่าคำพูดในส่วนนี้พูดปนกับเร้าให้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้มีเจตนาห้ามปรามอย่างจริงจัง  แม้จำเลย 4-7 ไม่ไดลงมือเอง แต่ได้ปราศรัยข้อความชักชวนย่อมถือว่าจำเลยที่ 4-7 มีความผิดฐานยุยงให้ผู้อื่นต่อสู้ขัดขวาง ส่วนจำเลยที่ 1 มีเจ้าพนักงานที่กำลังปฏิบัติการจับกุมเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ใช้อิฐขวางใส่เจ้าหน้าที่และใช้ไม้เสาธงปัดแกว่งไปมา ระหว่างที่ดึงตัวลงจากรถจำเลยที่ 1 ใช้เข่ากระแทกใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจจนมือขวาหัก ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ขณะที่จำเลยที่ 2-3 โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานในฐานนี้

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 138 วรรคสอง จำคุก 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 4-7 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ โดยกระทำความผิดเป็นหัวหน้าลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี ฐานเมื่อเจ้าหนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิก แต่ไม่เลิก มาตรา 216 จำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี และฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน  ในทางพิจารณาเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลงโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี  8 เดือน และให้จำคุกเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3 ริบของกลาง 41 รายการ

ต่อมาเวลา 12.30 น. ทนายความและญาติของจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวนคนละ 500,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 คน

จากนั้นเวลา 16.20น.ศาลอาญาได้อนุญาตให้ประกัน นายณัฐวุฒิ, นพ.เหวง, นายวิภูแถลง และ นายนพรุจ โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ