posttoday

"ลดเวลาเรียนให้ได้ผล" ต้องเปลี่ยนค่านิยมการศึกษาไทยใหม่

04 กันยายน 2558

ความเห็นจากผู้คนในแวดวงการศึกษาที่มองว่า "การลดเวลาเรียน" ต้องปรับหลักสูตรและตั้งเป้าหมายการศึกษาใหม่ควบคู่กันไปด้วย

โดย...ศศิธร จำปาเทศ

หลังจากกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายเรื่องลดเวลาเรียน โดยให้เหตุผลว่าเด็กไทยมีชั่วโมงเรียนในห้องเรียนมากเกินไป จึงควรปรับลดจำนวนรายวิชาบังคับลง และเพิ่มจำนวนวิชาเลือกเสรี เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนตรงตามความสนใจของตัวเองได้มากขึ้น

แม้วันนี้จะยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการปรับหลักสูตรไปในทิศทางใด แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะได้กระแสตอบรับจากผู้คนในแวดงการศึกษาอย่างมากมาย จะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ไปดูกัน...

ต้องตั้งเป้าหมายการศึกษาใหม่

ชัชวาล ทองดีเลิศ เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก ให้ความเห็นภาพรวมการจัดการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ว่า เป้าหมายการศึกษาบ้านเรามีปัญหา ยุคแรกเราผลิตคนเพื่อป้อนระบบราชการ หลาย ๆ คนพูดว่าผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งไม่ถูก ต้องตั้งเป้าใหม่ เรื่องการพัฒนาความเป็นมนุษย์ การพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างสังคมให้เข้มแข็ง นอกจากนี้ปรับหลักกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้พัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สร้างหลักสูตรใหม่ที่เข้มแข็ง กระบวนการเรียนการสอนที่ทำให้เกิดการรู้จริงรู้แจ้ง รู้เท่ารู้ทัน รู้รอบรู้แก้ เอามาใช้กับชีวิตได้จริง ๆ และเกิดความสำนึกความเป็นพลเมือง

"การจัดการศึกษาไม่ควรที่จะรวมอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว ควรกระจายอำนาจให้กับการศึกษาท้องถิ่นทุกภาคส่วนในสังคม นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราต้องขับเคลื่อนสภาการศึกษาในระดับจังหวัด ที่ผ่านมาบ้านเมืองเราแยกส่วนสถานศึกษาสังกัดหลายหน่วยงาน จัดการศึกษาแบบกระจัดกระจายมากตามไปด้วย ไม่มีใครรู้ว่าเด็กอยู่ตรงไหน"เลขาธิการสมาคมสภาการศึกษากล่าว

เขายังให้ความเห็นอีกว่า สิ่งสำคัญไม่ควรปรับลดวิชาที่มีเนื้อหาในเรื่องวัฒนธรรม เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรากเหง้า เด็กๆต้องเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง เพราะหากไม่เรียนจะเกิดปัญหาเด็กชนเผ่า เด็กต่างจังหวัดจะรู้สึกด้อย และพูดภาษาหรือใส่ชุดท้องถิ่นน้อยลง ขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของไทยด้วย คือให้ความภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนของเด็ก และภาคภูมิใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะเรื่องศิลปะวัฒนธรรมหรือรากเหง้าตัวเองอย่างเดียว

ชัชวาล เผยว่า การศึกษาในเมืองไทยมีปัญหาทั้งระบบ ก่อนหน้านี้ยังใช้หลักสูตรท้องถิ่น โดยแบ่งเป็นส่วนกลาง 70% และท้องถิ่น 30% เพื่อที่จะให้แต่ละโรงเรียนคิดค้นหลักสูตรให้เหมาะสมกับท้องถิ่นตัวเอง แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกเพราะหลักสูตรท้องถิ่นไม่ได้นำไปออกข้อสอบ ONET ทำให้ครูไม่สอนเนื้อหาที่ออกแบบตามท้องถิ่น เปลี่ยนมาเป็นการติวข้อสอบหรือสอนให้ตรงกับส่วนกลาง เพื่อให้นักเรียนมีคะแนน ONET สูงขึ้น

หากมีคะแนนต่ำสำนักงานเขตการศึกษาจะทักท้วงไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียน ดังนั้นการเรียนในห้องแบบท่องจำ ไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง เรียนมาสอบเพื่อให้เลื่อนชั้นเรียนเท่านั้น ทำให้สิ่งที่เรียนมาไม่ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตจริง

"ลดเวลาเรียนอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ในที่สุดจะเกิดปัญหาตามมา คิดเป็นจุด ๆ มันไม่พอ ต้องมองภาพที่เป็นองค์รวมทั้งระบบถ้าจะเปลี่ยนแปลงเวลาเรียนต้องมีกระบวนการที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของเด็กได้ มีกระบวนการให้เด็กค้นพบตัวเองในสิ่งที่รักที่ชอบและถนัด  ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างครูนักเรียนผู้ปกครองเฝ้าดูศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งนั้นมากขึ้น

สิ่งที่ทำได้หากปรับลดเวลาเรียน คือ เช้าเรียนทฤษฎี บ่ายเรียนในสิ่งที่เด็กอยากเรียน ที่ผ่านมาเด็กขาดโอกาสในเรื่องทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้รากเหง้าเรื่องของตัวเอง ถ้าลดวิชาสังคมประวัติศาสตร์อาจจะยิ่งทำให้หนักเข้าไปอีก"

ชัชวาล กล่าวว่า  การจัดเวลาเรียนขึ้นกับรูปแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ ถ้ากระบวนการเรียนรู้ดีเวลาเรียนที่คิดว่ามากเกินไป อาจไม่ได้ทำให้เป็นปัญหาก็ได้ เช่น เรียนทฤษฎีช่วงเช้า ช่วงบ่ายปฏิบัติ หรือให้นักเรียนกลับมาทำงานที่บ้านและนำมาแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน แต่ปัจจุบันที่เห็นว่าเรียนหนักนั้นเกิดจาก กระบวนการยัดเยียดความรู้ จากครูไปสู่เด็ก ท่องจำเพื่อเอาไปสอบ เรียนหนักจนเด็กเป็นทุกข์

“ระบบการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องต่อความเป็นจริงตามศักยภาพธรรมชาติของเด็ก ทั้งที่ทุกภาคส่วนสามารถจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กได้ตามมาตรา 6 พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  ที่ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข”

ปรับหลักสูตร ก่อนปรับเวลา

รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ ให้ความเห็นว่า หากใช้ระบบการสอบวัดผลเช่นเดิม ทุกการดำเนินงานก็ต้องปฎิบัติไปตามหลักสูตร ซึ่งนำมาสู้ปัญหาเดิมๆ และไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

รศ.ประภาภัทร มองว่า เวลาเรียนเท่าเดิม แต่สามารถบริหารที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมกับโรงเรียนด้วย สิ่งสำคัญคือสถานศึกษาต้องบริหารจัดการรับประกันว่าจะเกิดคุณภาพ

“ถ้าครูจัดการสอนให้ดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความอยากรู้อยากเรียนของเด็กได้ เด็กก็จะใช้เวลาเรียนรู้เองต่อยอดเอง”

ขณะที่การปรับลดนั้นทำได้ เพราะทางกระทรวงก็เริ่มทำเรื่องผ่อนคลายหลักสูตรแต่ยังไม่ประกาศใช้ แต่หากมาบอกว่าให้เรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระภายในบ่ายสองโมงแบบนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะรูปแบบการสอนปกติยังไม่สามารถทำได้เลย

“ต้องปรับที่หลักสูตร ผ่อนคลายหลักสูตร หมายความว่าตัดตัวชี้วัดของบางหลักสูตรออก ไม่ต้องสอบหมดทุกวิชา เพราะวิชาที่เป็นการปฏิบัติ เราต้องใช้การประเมินแทน เช่น ทักษะในการทำงานเป็นทีม ครูต้องเก่งขึ้น ต้องเข้าใจเรื่องการประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน บางวิชาสามารถทำกิจกรรมบูรณาการได้ในช่วงบ่าย บางวิชานำสาระในวิชาหลักเข้าไปร่วมกันก็ได้ เช่น วิชาเกษตรจะมีวิชาวิทยาศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้องได้”

รศ.ประภาภัทร  บอกว่า หากลดเวลาเรียนจริง ผู้ปฏิบัติต้องมีความเข้าใจจุดประสงค์ของนโยบายนี้ ซึ่งต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ หากไม่พิจารณาตรงนี้ก็จะถูกแปลไปในความหมายด้านเทคนิคแทน

"เลิกเรียนบ่ายสองโมงก็ให้กลับบ้าน คำถามคือถ้าบางคนกลับไม่ได้จะมีกระบวนการจัดการอย่างไร ต้องอยู่ที่โรงเรียนต่อแล้วว่าจะทำกิจกรรมอะไร เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดกับผู้เรียนและต้องแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ได้ เพื่อให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ บางโรงเรียนหลายแห่งก็ทำอยู่แล้ว ที่มีการจัดการเรียนวิชาหลักในช่วงเช้า และวิชาอื่นจัดให้บูรณาการกับกิจกรรมในช่วงบ่าย บางโรงเรียนผู้อำนวยการสนใจเรื่องกีฬาก็รณรงค์ให้นักเรียนเล่นกีฬา เพราะฉะนั้นเวลาเรียนสามารถบริหารได้ แต่ต้องมาดูเจตนาของนโยบาย หากมีเจตนาให้นักเรียนเสริมทักษะชีวิตการทำงานและทักษะอื่น ๆ ก็เป็นเจตนาดี ยิ่งหากเด็กกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงานได้ ยิ่งเป็นเรื่องสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว" 

ผอ.โรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวอีกว่า แท้จริงแล้ว ปัจจุบันนักเรียนไม่ได้เรียนหนัก เพียงแต่ใช้เวลาไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในแง่ของการบริหารจัดการ ที่ทางนักวิชาการด้านการศึกษารู้อยู่แล้ว ทว่าปล่อยปละละเลย

“ถ้าจะทำให้ครบวงจร ต้องดูทุกปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ที่จะทำให้ทุกเรื่องบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เน้นเรื่องบริหารจัดการ เพราะเทคนิคมีมากมายหลายอย่างวางแผนให้ดี ต้องมั่นใจว่าครูและผู้อำนวยการต้องเข้า แล้วร่วมมือวางแผนทั้งโรงเรียน ทำความเข้าใจในบริบทของโรงเรียนและผู้ปกครอง”

"ลดเวลาเรียนให้ได้ผล" ต้องเปลี่ยนค่านิยมการศึกษาไทยใหม่

อย่าให้เด็กเป็นหนูทดลอง

คริสโตเฟอร์ ไรท์ ติวเตอร์ชื่อดังและพิธีกรรายการสอนภาษาอังกฤษ อิงลิช เดลิเวอรี่ ให้ความเห็นว่า ค่านิยมเกี่ยวกับการศึกษาของคนไทยยังมองแคบ ๆ ว่า การประสบความสำเร็จคือ ทำงานในอาชีพที่เป็นสายวิทย์ ต้องเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐ เพื่อเป็นเกียรติเชิดหน้าชูตาของครอบครัว หากยังไม่เปลี่ยนแปลงค่านิยมเหล่านี้ นโยบายลดเวลาเรียนก็คงช่วยอะไรไม่ได้มาก

คริสโตเฟอร์  ระบุว่า การลดเวลาเรียนเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะด้วยจำนวนเด็กนักเรียนเฉลี่ยประมาณ 50 คนต่อ 1 ห้อง ถึงจะลดเวลาเรียนกันน้อยลง วิชาก็ไม่สามารถเข้าถึงนักเรียนทุกคนได้

“ลดเวลาเรียนแล้ว ต้องถามว่าจะเอาจริงกับเวลาว่างขนาดไหน ยังดูไม่ค่อยชัดเจน สุดท้ายเราก็เรียนกันอย่างไม่แข็งแรง กลับไปติวสอบกันเหมือนเดิม ถ้าไม่เอากิจกรรมที่สร้างสรรค์จริงมาช่วยให้เด็กค้นหาตัวเอง เป็นประสบการณ์ชีวิตจริงก็คงเป็นเรื่องเสียเวลาและไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ”

การศึกษาไทยให้เด็กเลือกเรียนตามสายการศึกษาเร็วเกินไปทั้ง ๆ เช่น จบ ม.3 ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนสาย วิทย์หรือสายศิลป์ ผิดกับในต่างประเทศหรือโรงเรียนนานาชาติจะให้เด็กเรียนในหลาย ๆ วิชาก่อนที่จะเลือก แล้วเด็กจะรู้จริง ๆ ว่าตัวเองถนัด อยากเรียนหรือชอบด้านไหน

ต้องถามว่าวัตถุประสงค์คือ อยากให้เด็กไทยค้นหาตัวเองหรือแค่อยากให้เรียนน้อยลงเพราะเด็กเครียด ก็ลดวิชาที่ไม่สำคัญออก แล้วไปทำกิจกรรมที่คลายเครียด เพราะสุดท้ายสังคมไทยก็ป้อนเด็กไปบนสายพานการศึกษา สายพานสังคม ทุกคนก็ต้องไปสอบ GAT PAT เข้ามหาวิทยาลัยรัฐฯ ต่าง ๆ และคณะที่เจ๋ง ๆ คือ แพทย์ วิศวะ ต้องติวสอบให้ผ่านและถึงจะลดเวลาเรียนอย่างไรเด็กไทย ติวข้างนอกอยู่ดี 

"แต่ถ้ามองในแง่ดี ผมรณรงค์ตลอดเวลาว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักยภาพไม่เหมือนกัน มีทักษะและศักยภาพแตกต่างกันมาก ดังนั้นถ้าพ่อแม่ ครูคนไทยสังคมไทย ยอมรับได้ว่า พ่อแม่ สถาบันการศึกษาที่ดี จะช่วยให้เด็กไทยค้นหาพลังศักยภาพต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกัน และพยายามผลักดันให้เด็กทำได้เต็มที่ที่สุด แน่นอนที่เด็กไทยจะเก่งขึ้นและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องเรียนกันเยอะ

“อยากรู้ว่าเปลี่ยนอย่างถาวร หรือเปลี่ยนแค่ชั่วคราว เพราะการศึกษาไทยทุกปี ทุกเทอมยังต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ คงไม่พ้นคำว่า เด็กไทยกลายเป็นหนูทดลองของระบบการศึกษา การลดแค่เวลาเรียนอย่างเดียวคงเป็นเหตุผลไร้สาระพอสมควร”ครูคริสกล่าว