posttoday

ยุคตกต่ำของ "หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น"

24 สิงหาคม 2558

จริงหรือไม่?เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือการ์ตูนกันน้อยลง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล และ ศศิธร จำปาเทศ

ทุกวันนี้คุณยังซื้อหนังสือการ์ตูนอ่านอยู่หรือเปล่า?

เป็นคำถามทิ่มแทงใจคนที่เติบโตมากับหนังสือการ์ตูน โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่นซึ่งเข้ามามีอิทธิพลกับนักอ่านในเมืองไทยมานานหลายทศวรรษ

ยังจำได้ไหม อารมณ์ตื่นเต้นดีใจเวลาการ์ตูนเล่มโปรดวางแผงหมาดๆ หยิบเล่มนั้นเลือกเล่มนี้นานนับชั่วโมงในร้านหนังสืออย่างไม่รู้เบื่อ นิ้วเปื้อนหมึกยามกรีดกระดาษข้ามไปยังหน้าถัดไป กลิ่นหอมเฉพาะของพ็อคเกตบุ๊กยังติดจมูก ความสุขยามหันไปสบตากับหนังสือการ์ตูนที่สะสมไว้ในห้องนอน ไม่รู้จะเลือกอ่านเล่มไหนดี 

ภาพเหล่านี้กำลังจะเลือนหาย เพราะการมาถึงของยุคออนไลน์ นักอ่านจำนวนมากเลิกอ่านถาวร หันหน้าหาสิ่งบันเทิงรูปแบบใหม่ๆอันน่าตื่นตา คอการ์ตูนบางส่วนเลิกซื้อหนังสือ เปลี่ยนไปอ่านบนอินเตอร์เน็ต เพราะสะดวกและฟรี ยังเหลือแฟนพันธุ์แท้ที่จงรักภักดีไล่ซื้อไล่เก็บอยู่น้อยเต็มทน

คำถามคือ ถึงยุคตกต่ำของหนังสือการ์ตูนแล้วจริงหรือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์วันนี้เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม?

ยุคตกต่ำของ "หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น"

ลูกค้าหาย ยอดขายหด

ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบปีก่อน ช่วงนั้นถือเป็นยุคเฟื่องฟูของหนังสือการ์ตูนเลยก็ได้ วัดได้จากบรรยากาศร้านขายหนังสือการ์ตูนตั้งแต่บนห้างใหญ่ยันห้องแถวริมฟุตบาทเนืองแน่นด้วยนักอ่าน คึกคักและมีชีวิตชีวายิ่ง แตกต่างจากวันนี้ที่เงียบเหงาอ้างว้างเหลือเกิน

แจ่มจันทร์ พนักงานขายหนังสือที่ศูนย์หนังสือ บุ๊ค เซ็นเตอร์ ชั้น 3 เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ร้านการ์ตูนที่อยู่ยงคงกระพันมานานกว่า 20 ปี นั่งหงอยเหงาอยู่หน้าเคาน์เตอร์ ลูกค้าสองสามรายเดินเข้ามาหยิบๆคลำๆหนังสือแป๊บๆก็ออกไป ซื้อบ้างไม่ซื้อบ้าง

เธอบอกว่า ตั้งแต่โลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน คนก็อ่านหนังสือกันน้อยลง

"วัยรุ่นสมัยนี้อ่านหนังสือน้อยลงทุกวัน เพราะสิ่งบันเทิงใหม่ๆมันเข้ามา สมาร์ทโฟนเอย เกมเอย ไหนจะหนัง อนิเมชั่น การ์ตูนเรื่องไหนไม่ดังหรือไม่ดีจริง คนไม่ค่อยซื้อเก็บสะสมกันแล้ว เพราะราคาหนังสือที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากปรับขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ไหนจะค่าลิขสิทธิ์ ค่าโฆษณา รวมถึงรูปแบบของกระดาษที่ใช้เกรดสูงขึ้น ทั้งหมดทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นไปด้วย ครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความนิยมอ่านหนังสือการ์ตูนน้อยลง ผู้ปกครองทุกยุคทุกสมัยไม่ขอบให้ลูกอ่านการ์ตูน เพราะคิดว่ามันไร้สาระ เน้นให้ลูกเน้นเรียนหนังสือมากกว่า เราจึงเห็นเด็กสมัยนี้แข่งขันกันเรียน ตรงนี้เป็นความคิดที่ผิด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือการ์ตูนก็เรียนดีกันทุกคนนะ หนังสือการ์ตูนดีๆก็มีเยอะเลือกให้ลูกอ่านสิ ควบคุมง่ายกว่าให้ลูกเล่นอินเทอร์เน็ตอีก"

เมื่อลูกค้าหาย ยอดขายก็หด พนักงานขายรายนี้ยอมรับว่า สมัยก่อนการ์ตูนหนึ่งเรื่องทำยอดขายถึง 1,000 เล่มภายในสัปดาห์เดียว สมัยนี้แค่ 300 เล่มบางทีใช้เวลาขายเป็นเดือน ทางร้านจึงแบกภาระจากการสั่งหนังสือการ์ตูนครั้งละจำนวนมากจนประสบภาวะขาดทุน หักค่าใช้ร้าน ค่าพนักงาน บางเดือนแทบไม่เหลือกำไร

ถามว่า พฤติกรรมของนักอ่านพ.ศ.นี้เป็นอย่างไร เธอตอบอย่างรวดเร็วราวกับคิดไว้แล้วในหัว

"กลุ่มลูกค้าประจำส่วนใหญ่ยังเป็นวัยมัธยม มหาวิทยาลัย รวมทั้งคนทำงานอายุ 30-40 ปี เด็กๆประถมต้นก็จะชอบซื้อการ์ตูนเด็ก เช่น โดเรมอน ชินจัง พวกนี้ขายได้ตลอดอยู่แล้ว คนที่มีกำลังซื้อจริงๆจะนิยมซื้อยกชุดครบทุกเล่ม หรือติดตามซื้อเพื่อสะสม ส่วนนักอ่านจำนวนไม่น้อยหันไปโหลดอ่านฟรี เพราะเดี๋ยวนี้มีนักแปลปล่อยงานให้อ่านในอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะโทษคนแปลฝ่ายเดียวไม่ได้  ต้องโทษค่ายด้วย การ์ตูนบางเรื่องบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สั่งพิมพ์ เพราะต้นทุนสูง ผลิตออกมาก็ขาดทุน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงผู้บริโภคมากกว่าที่ต้องคนเลือก"

ยุคตกต่ำของ "หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น"

อ่านออนไลน์V.S.อ่านหนังสือเล่ม

เป็นข้อถกเถียงกันเสมอระหว่างคอการ์ตูนที่ชอบอ่านจากหนังสือเล่มและคอร์การ์ตูนที่ชอบอ่านบนออนไลน์ ฝ่ายแรกมองว่าเสน่ห์ของหนังสือการ์ตูนอยู่ตรงกลิ่นหอมเฉพาะของหมึก กระดาษ ขยับเปิดทีละหน้าจนจบเล่ม ดูจะมีความสุขกว่านั่งจ้องบนจอคอมพิวเตอร์ ขณะที่ฝ่ายหลังมองว่าโหลดมาอ่านสะดวกสุดๆ รวดเร็ว ครบทุกเล่ม แถมฟรี ! ไม่ต้องเก็บไว้ในชั้นให้รกบ้าน --- นานาจิตตัง

พิทวัส เฟืองผึ้ง นักศึกษาหนุ่มวัย 21 ปี นักอ่านผู้ชอบสะสมหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่อง เล่าว่า สมัยเด็กๆมีร้านเช่าหนังสือการ์ตูนเปิดข้างบ้าน ไม่มีเงินซื้อเก็บก็อาศัยยืมอ่านแล้วคืน พอโตขึ้นมีสตางค์จึงซื้อเก็บสะสมการ์ตูนเรื่องโปรดให้ครบทุกเล่ม

"ผมว่าคนอ่านหนังสือการ์ตูนน้อยลง เพราะมีออนไลน์ให้อ่าน มันง่าย ไม่ต้องเสียเงินซื้อ โหลดแบบเดียวก็ได้อ่านแล้ว ประกอบกับเดี๋ยวนี้หนังสือมีราคาแพงมากกว่าแต่ก่อน ใช้กระดาษดีขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เด็กๆบางคนไม่มีกำลังซื้อก็หันไปอ่านบนออนไลน์ พฤติกรรมจึงเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังไงผมว่าอรรถรสในการอ่านสู้หนังสือเล่มๆไม่ได้อยู่ดี"

นักอ่านรายนี้ บอกว่า บางเรื่องการ์ตูนดังมากแต่ค่ายไม่ซื้อลิขสิทธิ์ จึงมีคนแปลให้อ่านฟรีตามออนไลน์ บางเรื่องทำเป็นอนิเมชั่น คนก็ชื่นชอบหันไปดูภาพเคลื่อนไหว ทำให้คนอ่านหนังสือลดลง

"ถึงอ่านทางออนไลน์แล้วก็ยังอยากที่จะซื้อเก็บสะสมไว้อยู่ดีครับ เพราะเป็นวัตถุจับต้องได้กว่าไฟล์ในคอมพิวเตอร์"

สโรชา สุวงศ์วาร คอการ์ตูนญี่ปุ่นอีกรายที่ยอมรับว่า หนังสือการ์ตูนมีอิทธิพล สร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิตเธอมากมาย

"เริ่มอ่านตั้งแต่ประถม เห็นเพื่อนอ่านเลยอยากอ่านตาม จากนั้นจึงเริ่มหาซื้อมาเก็บสะสม เรื่องที่ชอบเป็นพิเศษคงจะเป็นเรื่อง วันพีซ แรงบันดาลจากการอ่าน นอกจากทำให้เราสนใจวาดรูป บางเรื่องยังให้แง่คิดชีวิตด้วย บางเรื่องก็ให้ความรู้ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้เราสนิทกับเพื่อนที่ทำงานซึ่งเป็นคนญี่ปุ่น เพราะความสนใจตรงกันทำให้คุยกันถูกคอ เห็นด้วยกับที่เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือน้อยลง เหมือนเราโตขึ้นเลยเอาตังค์ไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าอ่านแล้วชอบจริงๆ ยังไงก็ซื้อเก็บ ข้อดีของอ่านออนไลน์คือ มือไม่เลอะหมึก แต่ชอบอ่านจากหนังสือมากกว่า มันต่อเนื่องได้อารมณ์กว่า"

เธอบ่นให้ฟังว่า สาเหตุที่ทำให้นักอ่านจำนวนไม่น้อยเบื่อการซื้อหนังสือการ์ตูนคือ บางเรื่องออกช้ามาก คนอ่านรอไม่ไหว เลยหันไปอ่านออนไลน์กันหมด

"ถ้าค่ายการ์ตูนปิดกิจการลงก็ใจหายเหมือนกันค่ะ"

ยุคตกต่ำของ "หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น"

หนังสือการ์ตูนไม่มีวันตาย

ถามความเห็นไปยังฝั่งค่ายการ์ตูนชื่อดังกันบ้าง ในฐานะผู้ซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย

วิชัย ลิ้มศิริโพธิ์ทอง บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ สยามอินเตอร์คอมิกส์ มองว่า การ์ตูนญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อนักอ่านไทยอย่างลึกซึ้ง เพราะแนวเรื่องหลากหลายกว่า ลึกกว่า มีพลังกว่า และสนุกกว่าการ์ตูนจีน หรือการ์ตูนฝั่งอเมริกา การ์ตูนญี่ปุ่นไม่ต่างจากงานวรรณกรรมแขนงหนึ่ง

"ผมเองเป็นเด็กต่างจังหวัด สมัยอยู่สุรินทร์ยังจำได้ว่ามีความสุขมากเวลาอ่านหนังสือการ์ตูนเรื่องที่ชอบรวดเดียวต่อเนื่องจนลืมกินข้าวกินปลา ถึงขั้นนั่งรถไฟเข้าเมืองไปซื้อยกชุดมาอ่าน ธรรมชาติของคนอ่านสมัยก่อนเป็นแบบนี้ทั้งนั้น"

ถามว่าปัจจุบันถึงยุคซบเซาของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นจริงหรือไม่

"ผมว่าไม่ ล่าสุดผมออกแคมเปญที่เฟซบุ๊ก Siam Inter Comics ว่า นายยังซื้อการ์ตูนอ่านอยู่หรือเปล่า? ก็ได้รับการตอบรับมาอย่างมหาศาล รู้สึกดีใจมาก หลายคนยังถ่ายชั้นวางหนังสือมาโชว์เลยว่าผมยังซื้อหนังสือมาใส่อยู่เยอะ ไม่ต้องกลัว ปัญหามันอยู่ตรงช่วงที่ผ่านมา คนที่อ่านหนังสือจริงๆเขาไม่ได้ออกมาพูด หรือส่งเสียงดังเท่าคนที่อยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค มันก็เลยเหมือนกับว่ากระแสหนังสือการ์ตูนตกต่ำในโซเชียลเลยดังกว่า คนอ่านบนอินเทอร์เน็ต ผมเชื่อว่ามีไม่กี่เปอร์เซนต์ นักอ่านตัวจริงเขาซื้อเก็บแน่นอน เพราะถ้าคุณเป็นคนอ่านหนังสือจริง ๆ คุณจะรู้สึกว่าการอ่านหนังสือไม่ใช่การจ้องที่หน้าจอ ต้องเป็นการที่นิ้วสัมผัสกับกระดาษ เวลาต้องเปลี่ยนหน้าทีต้องเหมือนกับขยับกระดาษ"

ผู้บริหารค่ายการ์ตูนดัง บอกอีกว่า ตราบใดคนยังอ่านหนังสือ หนังสือไม่มีวันตายอย่างแน่นอน

"ที่ผ่านมา เราได้ปรับกลยุทธ์มาทำการ์ตูนลงในอีบุ๊ค 3-4 เรื่อง ได้รับการตอบรับพอสมควร แต่ที่ญี่ปุ่น ผมเคยไปดูงานช่วงที่เขาทำอีบุ๊คอยู่ราวปี 2007 ถึงวันนี้เกือบ 10 ปีแล้ว อีบุ๊คก็ยังไม่โตเท่าไหร่ คือธรรมชาติของคนมันต้องอ่านจากกระดาษ อ่านจากจอคอม ผมว่าเสียสายตา ผมเคยถามค่ายที่ญี่ปุ่นว่า ทุกวันนี้พรินท์กับดิจิทัลมีผลไหม คำตอบคือไม่เลย ดิจิทัลคือส่วนประกอบเฉยๆ ตราบใดที่คนยังอ่านหนังสือผมว่าไม่มีทางที่จะหมดไป เพราะธรรมชาติของคนอ่านไม่ใช่การนั่งจ้องที่จอ"

ยุคตกต่ำของ "หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น"

ฟังเสียงคนอ่านให้มากขึ้น 

ในวันที่พฤติกรรมการอ่านบนออนไลน์กำลังได้รับความนิยม อาชีพนักแปลอิสระ และเว็บให้ดาวน์โหลดถือเป็นตัวละครใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมคนรักการอ่านการ์ตูน

แอดมินเว็บดาวโหลดการ์ตูนชื่อดังแห่งหนึ่ง เล่าว่า ตัดสินใจแปลการ์ตูน และเปิดให้คนเข้ามาดาวน์โหลดไปอ่านฟรีๆก็เพราะแค่อยากฝึกภาษา เขาเชื่อว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนอ่านหนีจากหนังสือเล่มมาอ่านบนออนไลน์คือ ปัญหาวุ่นๆเกี่ยวกับการจดลิขสิทธิ์ของค่ายการ์ตูนดังๆทั้งหลาย

"สำนักพิมพ์เองจดลิขสิทธิ์มาเยอะก็จริง แต่กลับไม่มีรูปเล่มออกเลย บางเรื่องหายไปเป็นปีๆ กว่าจะออกมาคนก็ลืมไปหมดแล้ว บางสำนักพิมพ์เลือกจดลิขสิทธิ์แต่การ์ตูนเก่าๆ กระแสความนิยมน้อย แถมยังออกช้าเป็นปีๆไม่แปลกที่จะสู้เว็บให้โหลดฟรีไม่ได้ เพราะคนซื้อไม่มั่นใจว่าต้องรอนานเท่าไหร่กว่าจะได้อ่านเล่มต่อไป หรือจะได้อ่านจบหรือไม่ หนักเข้ากลายเป็นว่าแค่เห็นชื่อสำนักพิมพ์แล้วก็ไม่อยากซื้อแล้ว"

แอดมินเว็บดาวน์โหลดหนังสือการ์ตูน ยังบอกอีกว่า อยากให้มองแง่บวกของเว็บให้ดาวน์โหลดการ์ตูนด้วย ทางสำนักพิมพ์เองก็ไม่ได้เสียประโยชน์ไปซะทีเดียว เพราะในทางกลับกัน ทางสำนักพิมพ์ก็สามารถตรวจสอบกระแสของแต่ละเรื่องที่มี และนำมาจดลิขสิทธิ์ได้ ถ้ามองจุดนี้ทั้งสำนักพิมพ์และตัวเว็บการ์ตูนก็อยู่ร่วมกันได้

“อยากให้ทางสำนักพิมพ์ฟังเสียงของผู้อ่านให้มากขึ้นว่า สิ่งที่ผู้อ่านเขาอยากได้คืออะไร อย่างเพจของสำนักพิมพ์ที่กำลังเป็นข่าวว่าจะหยุดพิมพ์นั้นก็มีผู้อ่านมากมายไปคอมเม้นท์ว่าเป็นเพราะอะไร นอกจากนี้อยากให้เปลี่ยนมุมมองว่าการ์ตูนไม่จำเป็นต้องตีพิมพ์เพียงอย่างเดียว จะเปิดเว็บออนไลน์แล้วเก็บเงินค่าสมาชิกรายเดือนเหมือนระบบจานดาวเทียมแบบนั้นก็ได้”

เขาเชื่อมั่นว่า ไม่ว่ายังไงหนังสือการ์ตูนก็ไม่มีวันสูญพันธุ์

"ร้อยทั้งร้อยไม่มีทางหมดแน่นอนครับ ยังไงคนส่วนใหญ่ก็ชอบหนังสือการ์ตูนที่เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ผมคนหนึ่งที่คอยตามซื้อตามเก็บอยู่ตลอด แต่ที่คนเลือกอ่านออนไลน์เพราะมองว่าความสะดวก ยุคนี้เป็นยุคสมาร์ทโฟน คนส่วนใหญ่ก็อ่านผ่านจุดนั้นกันเยอะ

"ตอนนี้ในไทยยังไม่มีสำนักพิมพ์ไหนทำแอพพลิเคชั่นอ่านออนไลน์ ทุกสำนักพิมพ์ต่างคิดแค่ว่าหนังสือต้องตีพิมพ์เท่านั้น แต่พอลองดูของต่างประเทศ เช่นอเมริกา เขามีแอป viz media จ่ายเงินออนไลน์ปุ๊บ อ่านออนไลน์ได้ปั๊บ ผมมองว่าอนาคตของผู้อ่าน ถ้ามีทางเลือกให้เขา และทำออกมาดี เขาก็พร้อมที่จะจ่ายเงิน

"สิ่งที่กระดาษยังเหนี่ยวรั้งผู้อ่านได้คือ  ความเป็นรูปธรรม ออนไลน์มันไม่ยั่งยืนไปตลอด มีโอกาสโดนลบและหายได้ และแน่นอนว่าคำแปลต่างๆของสำนักพิมพ์ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เพราะความหมายจะมาจากภาษาญี่ปุ่นโดยตรง ต่างจากออนไลน์ที่หยิบมาจากอังกฤษอีกที และคนแปลก็ไม่ได้เป็นมืออาชีพ ถ้าแปลดี กระดาษดี รูปลักษณ์สวยงาม ยังไงก็เหนี่ยวรั้งได้แน่นอน"

ทั้งหมดนี้คือ สถานการณ์ล่าสุดของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับมรสุมนานัปการ

ยุคตกต่ำของ "หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น"