posttoday

"โฆสิต"เตือนรัฐบาลไทยถึงเวลารื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ

07 สิงหาคม 2558

บิ๊กธนาคารกรุงเทพ เตือนรัฐบาลระวังติดกับดักความคิด ปฏิรูปเศรษฐกิจไม่ได้

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าหลุมดำ ไม่ว่าจะออกแรงผลักดันอย่างไรก็เข็นไม่ขึ้น จนเริ่มเหมือนจะหาทางออกไม่เจอ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ อดีตรองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์จุลานนท์ ที่เข้าบริหารประเทศในช่วงที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์พิเศษกับโพสต์ทูเดย์ ว่า ประเทศไทยมาทางที่จะต้องปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจแล้ว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใช้มานานกว่า 20 ปี ที่อาศัยการลงทุนของต่างชาติ(เอฟดีไอ) เริ่มใช้ไม่ได้อีกต่อไป ขณะนี้เรามีคู่แข่งเกิดขึ้นรอบบ้าน การลงทุนของต่างชาติในคลื่นลูกที่ 4 จะไปยังเวียดนามหรืออินโดนีเซีย จะไม่กลับมาที่ไทย เพราะประเทศเหล่านั้นมีแรงงานราคาถูกและให้สิทธิประโยชน์มากมายกว่า

นอกจากนี้ การค้าของโลกเริ่มปรับเปลี่ยนทิศทาง เริ่มเห็นเค้าลางว่ามีทิศทางว่าโครงสร้างการผลิตของแต่ละประเทศเริ่มผลิตของที่ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศตัวเองมากขึ้น ไม่เน้นการนำเข้า ฉะนั้นตลาดจะเริ่มหายไป ประเทศที่เน้นส่งออกจะลำบากขึ้น ซึ่งไทยเองก็พึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนที่สูงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ขณะนี้มาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงมาแล้ว ก็ยังส่งไม่ออก เราส่งออกมากเราก็นำเข้ามาก เพราะเราเป็นแค่โรงงานประกอบสินค้า วันหนึ่งที่เจ้าของโรงงานเขาย้ายฐานไปอยู่ที่อื่นเราก็ไม่เหลืออะไร

ดังนั้น เราจะต้องลดการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบ หันมาใช้ของในประเทศที่ผลิตได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างต่างๆ ปลาทูน่า และยังมีอีกหลายสินค้า ควรจะส่งเสริมให้ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออกหรือใช้เองในประเทศให้มากขึ้น แบบไทยทำไทยใช้

“ความคิดนี้ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วย ผมคนเดียวที่นำเสนออย่างนี้มาตลอด แต่ในที่สุดแล้วมันก็หนีไม่พ้นแนวทางนี้ ใครพูดเรื่องโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ มักจะถูกมองว่าเพ้อเจ้อ เพราะสิ่งที่พูดจะไม่เห็นผลระยะสั้น ต้องอดทนรอให้เห็นผลในระยะยาว การปรับโครงสร้างจะเกิดขึ้นไม่ได้หากความคิดไม่ชัดเจนไม่เห็นด้วย หรือไม่เชื่อถือในการพัฒนา” โฆสิต กล่าว

โฆสิต กล่าวว่า หากการส่งออกไม่ดีรัฐบาลก็จะหันมาเน้นการบริโภคในประเทศทดแทน เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ ทำโครงการประชานิยม แต่ขณะนี้ก็ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะคนไทยบริโภคจนหนี้ครัวเรือนสูง ประเภทการซื้อเปลี่ยนไป จากที่ซื้อของบ่อยๆ ใช้ของสิ้นเปลืองก็หันมาซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ ซื้อสินค้าน้อยชิ้นลง มีอายุการใช้งานนานขึ้น ผู้ผลิตก็ต้องหันมาผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภค

กับดักเศรษฐกิจที่เราเผชิญในขณะนี้เป็นเรื่องปัญหาโครงสร้างที่ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนอนาคตประเทศจะลำบาก การจะเปลี่ยนได้ต้องเริ่มที่ผู้นำต้องมองเห็นว่าหากเรายังทำอยู่อย่างนี้ คิดแต่เรื่องเดิมๆ แก้ปัญหาแบบเดิมๆ เราก็จะติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางต่อไป ทางออกคือผู้ดำเนินนโยบายต้องไม่ติดกับดักความคิด

“เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังและยาวไปจนถึงปีหน้าก็จะอยู่อย่างนี้ต่อไป หากเรายังทำอยู่แบบนี้ เศรษฐกิจโต 1-3% ก็ถือว่าดีแล้ว อย่าหวังจะโต 5-6% มันเป็นไปไม่ได้ในโครงสร้างปัจจุบัน” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าว

ปัญหาที่จะรุนแรงในอนาคตอีกเรื่องหนึ่งที่โฆสิตเป็นห่วง คือ การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากไทยผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของสาขาที่ขาดแคลน โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ ขาดนักวิจัย นางพยาบาลก็ขาด ส่วนอาชีวะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอาชีวะสมัยใหม่ที่จะต้องมีทักษะพิเศษ ไม่ใช่อาชีวะทั่วไป

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องปฏิรูปเป็นสิ่งแรก คือ การปฏิรูปการศึกษา เริ่มจากสิ่งที่อ่อนที่สุดในภูมิภาคคือการศึกษาเรามีคุณภาพต่ำสุดในอาเซียน เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะซีเรียสและรีบแก้ไขเพื่อให้คุณภาพคนเรามีทักษะสูงขึ้น สามารถรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ ในภาคครัวเรือนก็ควรจะต้องเปลี่ยนจากแนวคิดบริโภคนิยมให้มาก มาเป็นการออมให้มาก เพราะเงินออมของประเทศนำมาลงทุนทำโครงการพัฒนาประเทศได้ในต้นทุนที่ถูกกว่าการกู้ และจะทำให้จำนวนหนี้ครัวเรือนไม่สูงจนกลายเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ

สำหรับการกระจายรายได้เพื่อให้ช่องว่างของคนรวยและคนจนลดลงนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำให้การปฏิรูปการเกษตรให้เป็นเกษตรเข้มแข็ง ปัจจุบันรายได้เกษตรกรขึ้นอยู่กับราคาเยอะมาก ราคาผลผลิตไม่ดี เกษตรกรก็มีรายได้ลดลง เกษตรกรก้าวหน้าซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารกรุงเทพทำมา 20 กว่าปี เกษตรเข้มแข็งจะต้องไม่มีรายได้มาจากผลผลิตการเกษตรด้านเดียว รายได้อีกด้านหนึ่งมาจากการจัดการ ถ้าหากดูแลทุกขั้นตอนการผลิตการจัดการและหาตลาดได้ ก็จะมีรายได้ที่มากขึ้น ช่วยลดช่องว่างคนจนกับคนรวยลงได้

อย่างไรก็ดี โฆสิต กล่าวว่า รัฐบาลนี้มีความตั้งใจที่จะทำงานมาก ไม่มีการกู้เงินมาใช้จ่ายอย่างไร้ประสิทธิภาพ ก็ต้องให้กำลังใจ และก็ไม่ได้บริหารงานให้ประเทศตกอยู่ในอันตราย แต่หากเริ่มที่จะปรับแนวคิดหลุดออกจากเรื่องเดิมก็จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้