posttoday

"กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" มหาเศรษฐีผู้ไม่ลืมรากเหง้า

04 สิงหาคม 2558

จากเด็กเลี้ยงหมูสู่เจ้าสัวแสนล้าน เส้นทางชีวิตของ "กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์"

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...ภัทรชัย ปรีชาพานิช

ยามบ่ายฟ้าฉ่ำฝน อากาศสดชื่น ณ สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

​กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ ในวัย 86 ปรากฏตัวในชุดเสื้อเชิ้ตสีฟ้าอ่อน กางเกงสแล็กส์สีดำ แม้ต้องพยุงกายด้วยไม้เท้าและมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่ทำให้ชายชราคนนี้ยังดูกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวา คือรอยยิ้มยามที่ได้เล่าถึงการต่อสู้ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จ

นี่คือเรื่องราวของมหาเศรษฐีคนสำคัญของไทย ประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผล (ซุ่นฮั่วเส็ง) กลุ่มสวนกิตติ และกลุ่มบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร ผู้ผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ลเอ มูลค่านับแสนล้าน ประสบการณ์อันล้ำค่าที่ไม่ต่างจากตำราเรียนเล่มโต

ชีวิตต้องสู้ของลูกชาวจีนโพ้นทะเล

กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ หรือ ด.ช.กิมเทียะ แซ่เตีย เกิด 2 ก.พ. 2473 ที่หมู่บ้านท่ากระดาน ต.โคกเพลาะ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นลูกคนสุดท้องจากทั้งหมด 9 คน ของนายเท่งซ้ง และนางมุ่ย ชีวิตวัยเด็กไม่ต่างจากลูกชาวจีนอพยพทั่วไปคือ ยากจน เรียนน้อย ต้องทำงานช่วยครอบครัวตั้งแต่ยังเล็ก

เสื่อผืนหมอนใบเป็นแค่คำเปรียบเปรย ความเป็นจริงคือ ชาวจีนที่อพยพมาเมืองไทยมากันตัวเปล่าทั้งนั้น บ้านผมจนมาก ทำอาชีพเลี้ยงหมูและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เรียนแค่ ป.1 ก็ต้องลาออก เพราะทางบ้านไม่มีเงินส่ง ผมไม่เคยเสียใจที่ไม่ได้เรียนต่อ คิดแค่ว่ามีโอกาสเรียนก็จะตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ แต่ถ้าไม่มีโอกาส ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินไป

ด.ช.กิมเทียะทำงานสารพัด เก็บไข่เป็ดไข่ไก่ หาปลาไปขาย เก็บของเก่า เร่ขายขนม กระทั่งต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็รับจ้างพายเรือรับคนหนีจากกรุงเทพฯ ไปส่งแถวชนบทแถบคลองสำโรง ต่อมาก็ลงขันกับเพื่อนรับซื้อเสื้อผ้าเก่าจากทหารต่างชาติมาตัดปรับเย็บขนาดเพื่อขายให้คนไทย

การทำธุรกิจ ผมไม่เคยมีครู เพราะไม่เคยเป็นลูกจ้างใคร มันต้องใช้ประสบการณ์ ทำไปเรียนรู้ไป ทุกอย่างในชีวิตต้องเริ่มเรียนรู้จากความไม่รู้ อะไรที่เราไม่รู้และอยากรู้ก็ต้องศึกษาด้วยตัวเอง ดูว่าอะไรที่ตัวเองชำนาญ อะไรที่ตัวเองมั่นใจ โอกาสมันมีอยู่ทุกๆวินาที ขึ้นอยู่กับเราจะรู้จักค้นคว้าหรือเปล่า รู้จักเอามาใช้หรือเปล่า ธุรกิจไปได้สวยจนสามารถเก็บเงินไปปลดหนี้ให้เตี่ยได้ เป็นเรื่องที่ผมจำได้ไม่มีวันลืม เพราะแม่สอนเสมอว่าเครดิตสำคัญมากในชีวิต เป็นหนี้ใครต้องรีบชดใช้ จะละเลยไม่ได้เป็นอันขาด”

หลังสงครามจบ กิตติในวัย 16 ปี แต่งงานกับคู่ชีวิต สุรางค์ ดำเนินชาญวนิชย์ เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการเปิดโรงสีข้าวเล็กๆของตัวเอง แต่เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นเมื่อไฟไหม้โรงเก็บข้าวจนวอดวายแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

​“เหตุการณ์ไฟไหม้โรงสีถือว่าหนักที่สุดในชีวิต ผมเป็นหนี้กว่า 2 แสนบาท แต่แทนที่จะขอประนอมหนี้ ผมตัดสินใจสู้ เดินหน้าทำโรงสีต่อเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ตอนนั้นได้เถ้าแก่วิชัย รุ่งเรืองพาณิชย์ ผู้กว้างขวางในวงการค้าข้าวให้ยืมเงิน และให้ข้าวมาสีเพื่อเป็นทุนต่อ สุดท้ายก็ใช้หนี้ได้ครบทุกสตางค์ กอบกู้กิจการเอาไว้ได้ ​หลายคนถามว่าผมผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ยังไง กลยุทธ์คือ ทุกครั้งที่เกิดเรื่อง ต้องรีบตั้งสติให้มั่น และตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ถ้าตัดสินใจแล้วก็จบ ทิ้งไปเลย อย่าปล่อยให้รกสมองอีก คนที่มัวแต่เสียดายคือคนไม่ประสบความสำเร็จ เพราะโอกาสมีเข้ามาใหม่เรื่อยๆ ผมไม่กลัวเจ๊ง เงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายหาใหม่ได้ ผมเชื่อว่าเงินทองอยู่ที่สมอง สมองเราดีเงินมันก็อยู่กับเรา สมองไม่ดีเงินมันก็ไป

"กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" มหาเศรษฐีผู้ไม่ลืมรากเหง้า

เจ้าพ่อค้าข้าวเบอร์หนึ่ง

ปี พ.ศ. 2500 กิตติก่อตั้งบริษัทค้าข้าว ซุ่นฮั่วเส็ง ขณะอายุได้ 27 ปี และเป็นโรงสีที่ใหญ่ที่สุดในแถบลุ่มน้ำบางปะกง

​เขาเล่าว่า เดิมทีชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวได้เพียงปีละ 1ครั้ง ตั้งแต่เดือน ธ.ค.-เม.ย. หลังจากนั้นโรงสีจะประสบปัญหาขาดแคลนข้าวเปลือกจนต้องหยุดงาน เหมือนโรงงานน้ำตาลที่หมดฤดูกาลก็ต้องหยุด เขาจึงค้นหาวิธีที่จะทำให้โรงสีอยู่รอดได้โดยไม่ต้องหยุดงาน

​“ผมเริ่มขยายพื้นที่จัดซื้อข้าวเปลือกเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยรับซื้อจากแถบลุ่มน้ำบางปะกงทั้งหมด เมื่อวัตถุดิบเพียงพอจึงขยายตลาดอย่างเต็มที่ พอทางหลวงสายมิตรภาพสร้างเสร็จ ผมเริ่มรับซื้อข้าวเปลือกจากทั่วทั้งภาคอีสาน จนทำให้โรงงานสามารถทำงานได้ตลอดทั้งปี ​ผมไม่เคยกดราคา ไม่ว่าหน้าโรงสีจะมีข้าวเท่าไหร่ ก็ยังคงซื้อตามราคาที่กำหนดเดิม แถมยังจ่ายเงินตรงเวลาด้วย ผมเชื่อว่าการค้าที่ประสบความสำเร็จคือ ผมได้เงินมา ผู้อื่นก็ได้เงินเช่นกัน และกิจการประสบความสำเร็จคือ ผมมีการพัฒนา ทำให้คนจำนวนที่มากกว่าได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนานั้น หากคนเราอยากทำแต่การค้าที่ได้รับผลกำไรเพียงฝ่ายเดียว ผู้ขายวัตถุดิบให้แก่เราย่อมต้องจากไปอย่างผิดหวัง และจากไปอย่างไม่มีวันกลับมา

​เราต้องก้าวไปก่อน 1 ก้าวเสมอ --- เป็นประโยคที่พ่อค้าข้าวรายนี้มักหยิบขึ้นมาพูดทุกครั้งเวลาจะขยับขยายทำสิ่งใหม่ๆ เหมือนกับตอนที่เขาพลิกบทบาทก้าวกระโดดจากเจ้าของโรงสีไปเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลกในเวลาต่อมา

​“ก่อนหน้านั้นนานนับร้อยปี ประเทศไทยมีฐานะเป็น ‘ผู้ผลิตข้าว’ มิใช่ ‘ผู้ค้าข้าว’ การส่งข้าวไปขายยังต่างประเทศ เป้าหมายหลักคือทวีปแอฟริกา สมัยนั้นต้องขายผ่านโบรกเกอร์คนกลางในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส ซึ่งกดราคามาก ผมใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวทำให้ตลาดข้าวทั่วโลกรู้จักข้าวไทย ด้วยการเช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวจากยุโรปบินตรงไปขายข้าวถึงแอฟริกา นอกจากจะประหยัดเวลา สะดวกในการเดินทางแล้ว ยังสร้างความเชื่อถือกับคู่ค้าด้วย

​ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ คำสั่งซื้อข้าวนับแสนตัน พร้อมผลักดันให้ “ซุ่นฮั่วเส็ง” หรือ “กลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล” ก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทยในปี 2534 และประสบความสำเร็จสูงสุดจากการเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก

​“ต่อมาปี 2534 เกิดวิกฤตการณ์ราคาข้าวตกต่ำ ผมลงทุนสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่เพื่อรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร แต่ปริมาณข้าวมีจำนวนมากจนล้นออกมานอกคลัง ขณะเดียวกันตลาดโลกจับตามองและพร้อมจะกดราคารับซื้อข้าวไทย ผมตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือ การให้เรือเดินสมุทร 6 ลำ บรรทุกข้าวสารเต็มลำมูลค่านับแสนตัน ออกจากท่าเรือมุ่งหน้าสู่มหาสมุทรทั้งที่มีใบสั่งสินค้าเพียงลำเดียว ด้วยกลยุทธ์นี้ผมเชื่อมั่นว่าจะสามารถเรียกความสนใจจากนานาชาติได้ ตอนนั้นผู้ค้าทั่วโลกได้ข่าวว่ามีเรือขนข้าวไทยปริมาณมหาศาลออกจากท่าเรือ ก็เลยลือกันราคาข้าวไทยจะสูงขึ้น จึงรีบแย่งกันซื้อข้าวจากผม ปรากฏว่าแค่ 3 เดือน ข้าวทั้ง 6 ลำเรือจึงถูกขายหมดอย่างรวดเร็ว ขณะที่พ่อค้าข้าวไทยรายอื่นๆ ก็พลอยได้ระบายข้าวไทยออกมาด้วย

วีรกรรมอันโดดเด่นครั้งนั้นยังคงเป็นที่จดจำตราบจนทุกวันนี้

"กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" มหาเศรษฐีผู้ไม่ลืมรากเหง้า

จากต้นยูคาลิปตัสสู่ธุรกิจกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ

เพราะความที่เกิด เติบโต และฝังรากในชนบท ชีวิตของกิตติจึงแยกจากชาวไร่ชาวนาไม่ได้ หลังประสบความสำเร็จสูงสุดจากธุรกิจค้าข้าว เขาได้บุกเบิกอีกครั้งกับธุรกิจกระดาษครบวงจร โดยพัฒนาสายพันธุ์ไม้ยูคาลิปตัสจนกลายเป็นสวนป่าต้นกระดาษคุณภาพระดับสากล

30 ปีมานี้ ผมทุ่มเทให้กับกิจการปลูกยูคาลิปตัส หรือสวนป่าต้นกระดาษอย่างครบวงจร ก่อตั้งบริษัทวิจัยพัฒนาและคิดค้นต้นยูคาลิปตัสที่โตเร็ว เพื่อให้เป็นต้นไม้ที่ใช้ผลิตกระดาษโดยเฉพาะ หวังลึกๆ ว่าจะให้กลายมาเป็นพืชหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในอนาคต ที่ผ่านมา ไทยยังต้องนำเข้ากระดาษมาใช้ แต่หลังจากโรงงานกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ เริ่มผลิตมาจนถึงทุกวันนี้ สามารถเติมเต็มความต้องการใช้กระดาษภายในประเทศมากกว่า 100% แล้วยังส่งออกไปมากกว่า 138 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันเกษตรกรนำต้นกระดาษไปปลูกตามหัวไร่ คันนา หลังครัว ขอบรั้ว ริมทาง ในวัด ในโรงเรียน ริมหนองบึง ใช้พื้นที่รกร้างต่างๆ ไร้ประโยชน์ให้กลับมามีประโยชน์ มีคุณค่า สร้างวัตถุดิบป้อนโรงงานเยื่อกระดาษและผลิตกระดาษพิมพ์เขียนในสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค คนกว่าล้านคนเข้ามามีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากตรงนี้

"กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" มหาเศรษฐีผู้ไม่ลืมรากเหง้า

ฮ่องเต้บนหลังม้า

​“เป็นฮ่องเต้ต้องอยู่บนหลังม้า อย่าเป็นฮ่องเต้ในวัง”

คำคมนี้ติดตรึงอยู่ในใจของมหาเศรษฐีนักต่อสู้ชีวิตวัย 86 คนนี้มาตลอด กิตติ แปลความหมายให้ฟังว่า ผู้นำที่ดีต้องทำงานหนักตลอดเวลา จึงจะแข็งแกร่ง สร้างความยอมรับนับถือจากทั่วสารทิศ

​“ผมศึกษาประวัติศาสตร์จีนมา ไม่มีหรอกที่ฮ่องเต้อยู่วังใหญ่หรูหรา มีนางสนมนับร้อย แต่ฮ่องเต้ต้องอยู่บนหลังม้า อยู่ในศึกสงคราม ต้องรบพุ่งตลอดเวลา อยู่บนบัลลังก์ใช่ว่าจะสบาย เพราะมีคนแซะบัลลังก์ตลอดทั้งภายในและภายนอก”

รากฐานสำคัญของชีวิตของเขามาจากคำอบรมสั่งสอนของแม่

​“ผมใกล้ชิดแม่มากที่สุด สนิทกันตั้งแต่เด็กจนแม่เสียชีวิตตอนอายุ 88 สมัยเด็กๆ จะชอบนอนหนุนตักให้แม่เล่านิทานประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาขงจื๊อ เม่งจื๊อให้ฟัง ผมชอบสุภาษิตจีน เพราะกระชับได้ใจความ สามารถอธิบายความหมายให้เข้าใจง่ายๆ ทำให้เราฉุกคิด เตือนใจ คำสอนของแม่มีประโยชน์กับชีวิตผมมาก”

​หลักปฏิบัติที่ยึดถือในทุกเรื่องของชีวิตคือ “ธง 5 ใจ” ประกอบด้วย สนใจ ตั้งใจ วิจัยจนเข้าใจ มั่นใจ และตัดสินใจ

ธงที่หนึ่งคือ ต้องสนใจใฝ่รู้ในสิ่งที่ทำ ธงที่สอง ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด เน้นการลงมือทำเป็นหลัก ธงที่สามคือ ต้องศึกษาวิจัยจนเข้าใจ  ธงที่สี่ ต้องมั่นใจ สิ่งที่เราทำต้องผ่านการศึกษามาอย่างรอบด้าน และลงมือทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดความมั่นใจ จึงนำมาใช้ได้จริงได้ สำหรับธงที่ห้าคือ ต้องตัดสินใจแม่นยำ หากตัดสินใจผิดจังหวะ ความเสียหายจะเกิดขึ้น

สุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดที่คนประสบความสำเร็จต้องมีคือ ทายาทสืบสานธุรกิจต่อไป

​“ถ้าตัวเองสำเร็จแต่ไม่มีทายาทสานต่อก็จบ ผมให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดแนวคิด ตั้งแต่ที่ผมออกไปค้นคว้าสายพันธุ์ต้นกระดาษ โยธิน (ดำเนินชาญวนิชย์ ลูกชายคนโต กก.ผจก.ใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991)) ติดตามผมตลอดเวลา ผมสอนไม่เก่ง ถนัดแต่ลงมือทำให้ดู ฉะนั้นอยากเรียนรู้จากผมก็ต้องตามดูเอาเอง”

"กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" มหาเศรษฐีผู้ไม่ลืมรากเหง้า

พิพิธภัณฑ์คนสู้ชีวิต​

ความสุขในบั้นปลายชีวิตของเจ้าสัวกิตติคือ การพักผ่อนอย่างสงบภายในบ้านที่ห้อมล้อมด้วยแมกไม้และบึงใหญ่ ว่างก็ออกไปเยี่ยมอาณาจักรสวนป่า และให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ลูกๆ

“อยู่ที่นี่มีความสุขที่สุด อากาศดีมาก ผมยังทำงานตลอดเวลา ประชุม อ่านข่าวสารทั่วโลก ต้องทบทวนเรื่องสังคมว่าไปถึงไหนแล้ว ผมพยายามจะไม่ให้สมองฝ่อเลยใช้มันตลอดเวลา แต่ไม่มีอะไรต้องเครียด เพราะเวลาผมเหลือไม่เยอะแล้ว” เจ้าสัววัย 86 หัวเราะเบาๆ

สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตอยู่ตรงการได้ก่อตั้ง “บ้านคุณกิตติ ดำเนินชาญวนิชย์” ณ สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 หวังให้เป็นศูนย์การเรียนรู้บทเรียนชีวิตของเจ้าสัวยุคเก่าที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากครอบครัวยากจน ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการจนประสบความสำเร็จในที่สุด นอกจากนี้ ยังถือโอกาสถ่ายทอดแนวคิดและปรัชญาการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับคนรุ่นหลังด้วย

“ผมทำขึ้นมาเพื่อให้หลานๆ ทั้งหมด 28 คน ได้ศึกษาประวัติของปู่ ย้อนไปตั้งแต่สมัยอดีตกว่าจะมาถึงวันนี้ แต่ในอนาคตจะเปิดให้สาธารณชนได้เข้ามาเดินชมชอบ เขาได้อะไรกลับไปแม้ไม่มาก ผมก็มีความสุขแล้วครับ”

แววตาส่องประกาย ชายชรายิ้มกว้างอย่างคนพึงพอใจในชีวิต นี่คือความสำเร็จที่น่ายกย่องของกิตติ ดำเนินชาญวนิชย์ มหาเศรษฐีผู้ไม่เคยลืมรากเหง้าของตัวเอง.

"กิตติ ดำเนินชาญวนิชย์" มหาเศรษฐีผู้ไม่ลืมรากเหง้า