posttoday

"Free WIFI" สิทธิพื้นฐานที่ยังยากจะเข้าถึง?

01 สิงหาคม 2558

อะไรคืออุปสรรคการเข้าถึงไวไฟฟรีของประชาชนคนไทยกันแน่?

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

แม้อินเทอร์เน็ตจะมีความสำคัญกับชีวิตผู้คนในปัจจุบัน แต่การให้บริการ "อินเทอร์เน็ตฟรี" จากภาครัฐก็ยังคงเป็นคำถามว่า แท้จริงแล้วการให้บริการดังกล่าวเป็น "สิทธิ" พื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ หรือเป็นแค่ "ของแถม" ที่มีบ้าง ไม่มีบ้างตามแต่ผู้มีอำนาจจะตัดสินใจทำหรือไม่

เมื่อคำตอบยังไม่ชัด "การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีของคนไทย” จึงมีปัญหาให้เห็นสารพัดตั้งแต่ขั้นตอนการใช้งานยุ่งยาก เต็มไปด้วยข้อจำกัด ตลอดจนความไร้เสถียรภาพของสัญญาณ ที่สำคัญยังครอบคลุมพื้นที่เพียงแค่น้อยนิด

ความมั่นคง=อุปสรรคการเข้าถึง?

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง หรือเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า พรบ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำกัดการเข้าถึงไวไฟของประชาชน และดูเหมือนว่ามีเพียงแค่ภาครัฐฝ่ายเดียวที่พร้อมรับความเสี่ยงทางกฎหมายฉบับนั้นได้

"เมื่อพูดถึงการให้บริการไวไฟฟรี เรามักจะโฟกัสไปยังเฉพาะภาครัฐเท่านั้น เช่น โครงการของ กทม.ของไอซีที หรือแม้แต่ของ กสทช. ทั้งที่ยังมีอีกหลายบ้าน หลายร้านค้า หรือร้านอาหารที่เต็มใจให้บริการลูกค้าอยู่ แต่เมื่อมีพรบ.คอมเข้ามาควบคุม ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและใหญ่ รวมถึงเพื่อนบ้านในชุมชนที่ปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตกลับถูกตีความว่าเป็นผู้ให้บริการด้วย จำเป็นต้องมีภาระในทางเศรษฐกิจด้วยการ Log File เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ตรงนี้บางคนเลยรู้สึกว่าเป็นภาระวุ่นวายที่ต้องรับผิดชอบการแชร์สัญญาณให้คนอื่นใช้  จึงตัดสินใจปิดสัญญาณและใช้คนเดียวพอ จบ"

อาทิตย์ บอกต่อว่า สัญญาณที่เราแชร์ไป หากเกิดมีการนำไปใช้ก่อเหตุอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ก็จะกลายเป็นว่าผู้ให้บริการต้องรับผิดไปด้วยตามมาตรา 15 ของ พรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งพูดถึงความรับผิดของสื่อตัวกลาง หมายถึง ใครก็ตามที่ทำผิดตามมาตรา 14 ผู้ให้บริการต้องรับผิดไปด้วย มีโทษเท่ากันคือจำคุกสูงสุด 5 ปี  ความเสี่ยงตรงนี้เลยทำให้คนเลือกที่จะปิดการแชร์สัญญาณเสียแต่แรก"

ความมั่นคงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเหนือความสะดวกสบาย เห็นได้จากขั้นตอนลงทะเบียนอันยุ่งยากซับซ้อนเวลาที่ประชาชนต้องการใช้อินเตอร์เน็ตฟรี

ยกตัวอย่างการใช้งานอินเทอร์เน็ตฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ บ้านเราต้องนำพาสสปอร์ตไปขอรหัสที่เคาท์เตอร์ ผิดกับสนามบินนาริตะที่ญี่ปุ่น ไม่ต้องมีกระบวนการแบบนั้น แค่กรอกอีเมลล์ลงบนเครื่อง คุณก็สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทันที หรืออย่างที่สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ แค่เปิดเครื่องก็ใช้ได้เลย โดยไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก ตรงนี้คือความแตกต่างในวิธีคิดของแต่ละประเทศ ซึ่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตระหว่างเดินทางของนักท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อการจองที่พัก การนัดหมายเดินทาง หรือสถานการณ์ติดต่อฉุกเฉินข้ามประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรใส่ใจ"

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งคำถามว่า หากรัฐบาลไทยให้เหตุผลว่าการแสดงตัวตนด้วยการลงทะเบียนมีไว้เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ แล้วมีสถิติที่บ่งบอกชัดเจนหรือไม่ว่าการลงทะเบียนนั้นสามารถลดอาชญากรรมได้ ขณะเดียวกันเมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้นแล้ว รัฐสามารถใช้ข้อมูลจากการลงทะเบียนไปจับกุมผู้ร้ายในระดับ 90 %เลยหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ผลที่ตั้งเป้าไว้ก็ควรยกเลิก เพื่อการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นของประชาชน

ขณะเดียวกัน หากลดภาระความรับผิดชอบ ภาระทางด้านเศรษฐกิจ ภาระความวุ่นวายทางด้านธุรการ และภาระความเสี่ยงทางกฎหมายลงไปได้  รัฐอาจจะเสียงบประมาณน้อยลงในการให้บริการไวไฟฟรีด้วยซ้ำ เพราะมีประชาชนอีกมากมายที่พร้อมให้บริการฟรีอยู่แล้ว

"Free WIFI" สิทธิพื้นฐานที่ยังยากจะเข้าถึง?

ตั้งโจทย์ให้ชัด มีอินเทอร์เน็ตฟรีเพื่ออะไร

คำถามน่าสนใจอีกข้อของผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตคือ เมืองไทยจะมีอินเทอร์เน็ตฟรีเพื่อวัตถุประสงค์อะไร?

แต่ละเมือง แต่ละประเทศมีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตที่แตกต่างกันออกไป บางเมืองพัฒนาตัวเองเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว อินเตอร์เน็ตก็เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้นักเดินทาง ค้นหาแผนที่หรือสืบค้นสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารสำคัญๆได้อย่างสะดวก อย่างสิงคโปร์มองตัวเองเป็นศูนย์กลางของการติดต่อในแวดวงธุรกิจ การจัดการประชุม บทบาทของอินเตอร์เน็ตจึงสำคัญต่อการทำงานหลายประการ ซึ่งเขาการันตีเลยว่าทุกๆคนที่อยู่บนเกาะแห่งนี้ต้องสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในระดับความเร็วที่เหมาะสมต่อการใช้งานขั้นพื้นฐานที่ประเทศเขาตั้งใจกำหนดไว้ รัฐบาลสิงคโปร์ร่วมมือกับเอกชน โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนเครือข่ายใหม่ อาศัยเอกชนที่มีโครงข่ายอยู่แล้ว แต่เป็นความเร็วในระดับต่ำลงมากว่าการเสียค่าบริการ

สรุปง่ายๆคือ เราต้องรู้จุดประสงค์ของประเทศตัวเองก่อน และใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อตอบสนองจุดประสงค์ดังกล่าว อนาคตหากรัฐบาลมองว่า การเชื่อมต่อกับภาครัฐจำเป็นต้องพึ่งพาออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องหาทางให้คนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในสปีดความเร็วที่เพียงพอต่อการเข้าถึงได้เว็บไซด์ภาครัฐให้ได้"

อินเทอร์เน็ตฟรี...สิทธิหรือของแถม

ปัจจุบัน “การให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ต” รัฐไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของ “สิทธิ” แต่มองว่าเป็นความพิเศษเพิ่มเติมจากสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับ

“มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามองว่ามันเป็นสิทธิ จะมีการรับประกันเลยว่า ถ้าเราจะต่อเน็ต มันต้องติดนะ ถ้าเข้าไม่ถึงเน็ต หน่วยงานที่รับผิดชอบจำเป็นต้องทำให้เราเข้าถึงให้ได้ ไม่เช่นนั้นแสดงว่าบกพร่อง แต่สถานการณ์วันนี้คือ เราเห็นสัญญาณแต่ว่าเชื่อมต่อไม่ได้หรือล็อกอินลงทะเบียนไม่สำเร็จ หรือแม้กระทั่งอาจจะใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าได้”

ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต บอกว่า ประเทศอย่างไอร์แลนด์ และบางประเทศในยุโรป เริ่มมองอินเทอร์เน็ตว่าเป็นเรื่องของสิทธิที่ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงได้ เพราะบริการของรัฐจำนวนมากที่เป็นบริการสาธารณะพื้นฐานต่างๆเปิดให้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนทางไกล การลงทะเบียนต่างๆ การเสียภาษี การเช็คชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือแม้แต่ประกันสังคัม ทั้งหมดถูกขยายไปสู่ออนไลน์ ซึ่งรัฐมองว่าการจัดการสิ่งต่างๆ ผ่านช่องทางนี้ สามารถลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาให้กับประชาชนได้มาก

“เรื่องอินเทอร์เน็ตฟรีเขากำหนดไว้คล้ายๆ กับว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญเลยว่าทุกคนจะต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ อย่างน้อยความเร็วเท่าใดก็ว่าไป และภายในกี่ปีต้องขยับเป็นเท่าใด"

"Free WIFI" สิทธิพื้นฐานที่ยังยากจะเข้าถึง?

ไวไฟฟรี ...อนาคตเป็นไปได้

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค มองว่า นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันคำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลัก ดังนั้นการลงทะเบียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ  

ประเทศที่ไม่ได้เน้นความมั่นคงก็อาจจะไม่ต้องลงทะเบียน เพราะเอาเข้าจริง หากมีการกระทำความผิด เราสามารถสืบหาได้จากเลขรหัสอุปกรณ์ และช่องทางอื่นๆ แต่เมืองไทยเนื่องจากมีปัญหาเรื่องความมั่นคงเลยจำเป็นต้องมีการลงทะเบียน เพราะทำให้กระบวนการสืบสวนนั้นสั้นลง เราต้องถามว่าแต่ละประเทศยึดเรื่องอะไรเป็นหลัก และให้น้ำหนักเรื่องอะไรมากกว่ากัน”

เขามองว่า ไวไฟฟรีจะเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นที่ฐานที่เชื่อว่ารัฐบาลต้องพัฒนาและให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคตอย่างแน่นอน

“ไวไฟฟรีจะประสบความสำเร็จและมีเสถียรภาพ ต้องได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น เหมือนอย่างโมเดลในต่างประเทศที่มีการพัฒนากันในท้องถิ่นทุกปี หากลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาลจากส่วนกลางอย่างเช่นทุกวันนี้ การดำเนินงานจะเป็นไปค่อนข้างลำบาก มีข้อกำจัดและอุปสรรคมากมายจนไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น แต่ถ้าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันทำเอง เราจะเห็นภาพของการแข่งขัน เขาอยากจะดูแลชาวบ้านของเขา ไวไฟอาจจะเป็นหนึ่งในนโยบายรักษาฐานเสียงอะไรก็แล้วแต่ เขาก็จะหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ หลายประเทศทำแบบนี้”