posttoday

ตำรวจเกณฑ์ ก้าวหน้าหรือถดถอย?

24 กรกฎาคม 2558

กรณีตำรวจเกณฑ์อาจนำไปสู่เรื่องการหาผลประโยชน์ทุจริตอีกมากมายตำรวจมีทั้งอาวุธและกฎหมายอยู่ในมือ

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ถ้าเป็นไปตามแผนในปีหน้าจะมี “ตำรวจเกณฑ์”เคียงคู่ “ทหารเกณฑ์” หลังจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผลักดันแนวคิดนี้มาหลายปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังพล จนรัฐบาลในยุค คสช. มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ หรือตำรวจกองประจำการ ขั้นตอนต่อไปส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการสำนักกำลังพล ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบายว่า ตำรวจเกณฑ์ หรือตำรวจกองประจำการ มีหน้าที่สนับสนุนภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร

ทั้งนี้ งานที่จะมอบให้ตำรวจเกณฑ์ทำ จะไม่เน้นเชิงคุณภาพมากนัก เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีความเก่งกาจอะไรมาก แต่มีจุดเด่นคืออายุน้อย มีร่างกายที่แข็งแรง ต้องมีการฝึกกองร้อยควบคุมฝูงชนด้วยแน่นอน การทำงานให้ออกสายตรวจร่วมกับตำรวจจริง ไม่ใช่ให้ออกตรวจเพียงลำพัง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่มีทักษะเรื่องกฎหมายมากนัก และเน้นงานยืนเฝ้าสถานที่หรือจุดรักษาความปลอดภัย

วิธีการปฏิบัติของตำรวจเกณฑ์จะเหมือนกับทหารกองประจำการ คือ ประจำการ 2 ปี โดยไม่มียศเป็นพลตำรวจ หลังจากปลดประจำการแล้วก็จะมีสถานะเหมือนทหารกองหนุน บางส่วนยังสามารถคัดเลือกเข้ารับราชการตำรวจได้

ผู้บัญชาการสำนักกำลังพล อธิบายว่า หากมีตำรวจเกณฑ์เข้ามาช่วยเสริมตรงจุดนี้งานตำรวจก็จะลดลง เช่น การเฝ้าหรือรักษาความเรียบร้อยภายใน สตช. ที่ปัจจุบันใช้กำลังพลตำรวจสันติบาล ก็จะถูกเปลี่ยนให้ตำรวจเกณฑ์เข้ามาช่วยเสริมงานหรือเฝ้าแทน

สำหรับโครงการ “ตำรวจเกณฑ์” จะเริ่มต้นรับเกณฑ์เมื่อใดนั้น พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า ยังคงเหลือเวลาอีกหลายเดือน คงต้องรอประกาศราชกิจจานุเบกษาและรอผลอีก 90 วัน ซึ่งหวังว่าน่าจะทันช่วงเดือน เม.ย. ตรงกับการเกณฑ์ของทหารพอดี แต่สิ่งที่กังวลอาจจะไม่ทันในปีหน้านี้ เพราะอาจติดขัดปัญหาเรื่องงบประมาณ

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ ระบุว่า เรื่องกำลังพลขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้เท่าไร แต่ สตช.อยากได้ที่จำนวน 1 หมื่นนาย แต่ต้องหารือกับกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง หากได้ 1 หมื่นนาย ก็จะต้องเฉลี่ยแบ่งออกไปให้กับหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 11 แห่ง เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยเป็นการแบ่งเฉลี่ยตำรวจเกณฑ์ไปหน่วยละ 1,000 คน ยึดตามภูมิลำเนาเกิดของแต่ละคน

ทั้งนี้ ย้อนไปปี 2553 โครงการ “ตำรวจเกณฑ์” เป็นหนึ่งในนโยบายของ ตร.ที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นตามกรอบการ “ปฏิรูปตำรวจ”  ที่เสนอโดยตำรวจเอง ผลการศึกษาครั้งนั้น ระบุว่า  หากพิจารณาจากฐานข้อมูลกำลังพลที่ 5,400 นาย/1 ผลัด/ปีแล้ว จะใช้งบประมาณกว่า 531 ล้านบาท แต่หากเกณฑ์ 2 ผลัด/ปี จะใช้งบประมาณถึง 1,066 ล้านบาท

ทว่า เสียงที่ไม่เห็นด้วยมาจาก สังศิต พิริยะรังสรรค์สมาชิก สปช. ที่เห็นว่าตำรวจเป็นงานบริการและมีหน้าที่รักษากฎหมาย ถ้าไปเกณฑ์มาจะมีปัญหามาก

“การทำเช่นนี้ไม่เหมือนการเกณฑ์ทหารที่เกณฑ์มาเพื่อสู้รบปกป้องประเทศ มันต้องอยู่ในระเบียบวินัย กรณีตำรวจเกณฑ์อาจนำไปสู่เรื่องการหาผลประโยชน์ ทุจริตอีกมากมาย ตำรวจมีทั้งอาวุธและกฎหมายอยู่ในมือ ฉะนั้นคนที่จะมาเป็นต้องมีวุฒิภาวะ ไม่ใช่จะให้ใครก็ได้เข้ามาสวมเครื่องแบบของตำรวจ”

สังศิต กล่าวว่า ที่อ้างว่าจะใช้กำลังตำรวจเกณฑ์มาป้องกันการชุมนุม เนื่องจากกำลังตำรวจที่มีอยู่ปัจจุบันไม่เพียงพอ อาจเกิดปัญหาอย่างมากและอันตราย เพราะถ้าตำรวจเกณฑ์ไม่มีความรู้เรื่องปัญหาทางสังคม ถูกยั่วยุขึ้นมาแล้วไปทำร้ายผู้มาชุมนุมปัญหาอาจลุกลามบานปลาย

สังศิต ยังระบุว่า การมีตำรวจเกณฑ์อาจมีปัญหาเรื่องการนำกำลังพลไปรับใช้ส่วนตัว  หรือแม้แต่เรื่องการทุจริตหักหัวคิวจากเบี้ยเลี้ยงของตำรวจเกณฑ์ด้วย ซึ่งถือเป็นปัญหาที่น่าห่วงมาก เพราะตำรวจเกณฑ์มาเกณฑ์ไม่นาน หากจะมาอ้างเรื่องการดูแลความมั่นคงมันควรเป็นหน้าที่ของทหารมากกว่า ตำรวจเป็นงานบริการประชาชน ในการจับผู้ร้าย ป้องกันเหตุ คนละอย่างกับทหาร

“การมีตำรวจเกณฑ์ครั้งนี้เชื่อว่าสังคมในอนาคตจะมีปัญหาแน่ และเป็นการสร้างภาระรายจ่ายเพิ่มให้กับรัฐบาลอีกด้วย และเชื่อว่าประชาชนไม่ได้ปลอดภัยขึ้นจากการมีตำรวจเกณฑ์เพิ่มขึ้น” สังศิต สรุป