posttoday

เบื้องหลังครม.เลิกพรก.ฉุกเฉิน5จังหวัด

06 กรกฎาคม 2553

การก่อตัวของคนเสื้อ แดงเมื่อเดือนเม.ย.ปี 52 และยุติลงได้ ก็ทิ้งช่วงเป็นปีถึงมารวมตัวเคลื่อนไหว แต่สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ เมื่อเหตุการณ์ยุติลงแล้ว ก็จะมารวมตัวกันใหม่และจะเร็วกว่าเดิม

การก่อตัวของคนเสื้อ แดงเมื่อเดือนเม.ย.ปี 52 และยุติลงได้ ก็ทิ้งช่วงเป็นปีถึงมารวมตัวเคลื่อนไหว แต่สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ เมื่อเหตุการณ์ยุติลงแล้ว ก็จะมารวมตัวกันใหม่และจะเร็วกว่าเดิม

โดย ทีมข่าวการเมือง

แม้ผลการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน( ศอฉ.) จะมีมติให้คงประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 3 เดือนใน 24 จังหวัด แต่เมื่อมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ ปรากฎว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แหกมติศอฉ. เล็กน้อย ด้วยการขอให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินใน 5 จังหวัด

เบื้องหลังการหารือในที่ประชุม ครม. เป็นไปความตึงเครียดและนานกว่าหนึ่งชั่วโมง โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในฐานะผอ.ศอฉ. เปิดฉาก หยิบเอกสารริมแดงของศอฉ. รายงานซึ่งศอฉ.ได้อธิบายสถานการณ์ทั่วไป บทวิเคราะห์  เหตุผลและความจำเป็นในการคงพรก.ฉุกเฉิน  

อย่างไรก็ตามเอกสารศอฉ. มีการแนบข้อเสนอหน่วยงานความมั่นคงหน่วยงานหนึ่ง เห็นควรยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ใน 4 จังหวัด แต่เมื่อศอฉ.ประชุมแล้วมีมติให้คงพรก.ฉุกเฉินต่อไปทั้ง 24 จังหวัด

นาย สุเทพ กล่าวต่อที่ประชุมว่า  มีหลักฐานค่อนข้าง ชัดเจนมีกลุ่มคนที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลต่อไป มวลชนกลุ่มนี้รู้สึกว่าพ่ายแพ้หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐเข้ากระชับพื้นที่การ ชุมนุม พร้อมออกมาก่อการได้ทุกเมื่อ กรณีดังกล่าวสร้างความกังวลต่อฝ่ายรัฐบาลมาก

“ปฏิกิริยาของกลุ่มคนดังกล่าว รู้สึกถึงความพ่ายแพ้  เกลียดชัง ไม่ยอมแพ้รัฐบาล พร้อมก่อการ ขณะเดียวกันมีสถานการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆโดยตลอด นี่คือเหตุผลต้องคงพรก.ฉุกเฉิน 24 จังหวัด ต่อไปอีก 3 เดือน ” นายสุเทพ กล่าว

เบื้องหลังครม.เลิกพรก.ฉุกเฉิน5จังหวัด ภาพประกอบข่าว

นายสุเทพ รายงานต่อไปว่า  มวลชนเหล่านี้พร้อมลุกฮือ โดยสื่อเป็นปัจจัยสำคัญ "อีก 1-2 สัปดาห์ คนเสื้อแดงเตรียมเปิดทีวีดาวเทียม เอเชียอัพเดต  เราก็จะเห็นคนหน้าเดิมปรากฎบนจอ โทรทัศน์อีก"

ทั้งนี้ รายงานศอฉ.ระบุว่า ศอฉ.เข้าใจแรงกดดันรัฐบาลเป็นอย่างดี แต่ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยให้คงประกาศพรก.ฉุกเฉิน

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า  หากจำกันได้ การก่อตัวของคนเสื้อ แดงเมื่อเดือนเม.ย.ปี 52 และยุติลงได้ ก็ทิ้งช่วงเป็นปีถึงมารวมตัวเคลื่อนไหว แต่สำหรับสถานการณ์ขณะนี้ เมื่อเหตุการณ์ยุติลงแล้ว ก็จะมารวมตัวกันใหม่และจะเร็วกว่าเดิมไม่ใช่ปีชนปีเหมือนคราวก่อนแน่นอน

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองฟังทุกความเห็น แม้แต่ทีมแพทย์ก็รับฟังว่าควรหรือไม่ควรยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน จึงอยากฟังความเห็นครม.ด้วย

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า หากยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ก็อาจเป็นความสงบเพียงชั่วคราว เห็นด้วยให้คงพรก.ฉุกเฉิน  เพราะผู้ชุมนุมรู้สึกว่า สูญเสีย ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเช็คข้อมูลแต่ละพื้นที่มี ใครร่วมชุมนุมบ้าง จากนั้นทางราชการจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ แก้ไขเยียวยา  ขณะที่นายกรณ์ จติกวณิช รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตว่าถ้ายืดเวลาออกไปอีก 3 เดือน รัฐบาลนจะถูกมองว่าซื้อเวลาหรือไม่

ถึงตอนนี้  นายสุเทพ กล่าวแทรกว่า  เหตุผลการคง พรก.ฉุกเฉินมีข้อดีหลายประการ  คือสามารถบูรณาการ เจ้าหน้าที่ทำงานร่วมกัน และ พรก.ฉุกเฉิน ได้สร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ ในยามปฏิบัติงานไม่ถูกฟ้องร้อง    อย่างไรก็ตามนับแต่วันพรุ่งนี้( 7 ก.ค.) เป็นต้นไป จะเริ่มมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.เป็นวิทยากรออกไปปฏิบัติการมวลชนเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในพื้นที่

ขณะที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่าตนเองก็เห็นด้วยให้ขยายประกาศพรก.ฉุกเฉิน แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการคือทำความเข้าใจประชาชน เอาคนที่ต่างสีมาอยู่ร่วมกันเหมือนเช่น  เลยโมเดล ที่ตนเองจะลงพื้นที่สัปดาห์หน้า

ด้านนายอิสระ สมชัย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวเห็นด้วยในการคงพรก. ฉุกเฉิน พร้อมเสนอว่า ระหว่างนี้รัฐบาลควรชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปถึงการตัดท่อน้ำ เลี้ยงกลุ่มคนต่างๆให้ชัดเจน

"การทำความเข้าในพื้นที่สำคัญมาก  กรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยได้เยอะ เพราะคนเหล่านี้สามารถทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ได้มาก ความรุนแรงจะลดลง อย่างตอนนี้ที่จ.อุบลบราชธานี  ผม ทราบว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท่านยินดีจะให้ขึ้นแผ่นป้ายยืนคู่กับท่านนายกฯ แล้วก็ไม่ถูกทำลาย"นายอิสระ กล่าว

เมื่อครม.อภิปรายไปได้สักระยะ  นายกฯ กล่าวขึ้นมาว่า ตนเองเห็นด้วยกับการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ในเมืองหลักโดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรงเคยเกิดเหตุเผาศาลากลาง แต่ตนเองอยากให้ข้อคิดครม.ว่า  หน้าที่หลักของครม.คือฟื้นฟูเยียวยาให้กับพี่น้เองประชาชน   การฟื้นฟูดังกล่าวต้องร่วมมือกับบุคลากรท้องถิ่นมากขึ้น 

“ผมไม่อยากให้ตัวเราเสพติดกับ พรก.ฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ 3 จังหวัด ภาคใต้  ประกาศมา 4-5 ปี  ไม่รู้แล้วว่าจะหาทางออกอย่างไร  เหมือน คิดอะไรไม่ออกก็ประกาศพรก. ขณะเดียวกัน การประกาศพรก.ก็ทำให้กลุ่มต่อต้านใช้เป็นเงื่อนไขนำมากล่าวอ้างเคลื่อนไหว ได้  ผมขอเป็นเสียงส่วนน้อยในที่ประชุมแห่งนี้บ้าง  แต่อยากชี้แจงให้ครม.รับทราบ จากข้อมูลของผม มีหลายจังหวัดสถานการณ์ค่อนข้างคืนสู่ความสงบ  ผม เสนอว่า ควรยกเลิกไปก่อนในบางจังหวัด แต่ถ้ามีเหตุร้าย ก็สามารถประกาศใหม่ได้อีก และจะเป็นความชอบธรรมในการประกาศด้วย” นายกฯกล่าว

ในที่สุด ครม.เห็นชอบตามนายกฯ ให้ยกเลิก พรก. ฉุกเฉินโดยเปรียบเหมือนโครงการนำร่อง ใน  5  จังหวัด ประกอบด้วย จ.ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ น่าน นครสวรรค์ และนครปฐม  

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะจากนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ระบุว่า ก่อนหน้านี้การประกาศพรก.ฉุกเฉินแต่ละจังหวัดจะไม่ตรงกัน เช่นประกาศเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ,13 ส.ค., 16 ส.ค. และ 19 ส.ค. และถ้าจะประกาศยกเลิกจะมีผลกระทบถึงคำสั่ง ประกาศย่อยต่างๆด้วย  ทั้งนี้คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ชี้แจงว่า ในส่วนของ  5 จังหวัดก็สามารถประกาศยกเลิกได้เลย  ส่วน ประกาศพรก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 7 ก.ค. ,13 ส.ค. และ 16 ส.ค. ให้ขยายต่อไปถึงวันที่ 19 ส.ค.และประกาศขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือน นับจากวันที่ 19 ส.ค.