posttoday

แรงรักแลกด้วยชีวิต ไฮไลท์ข่าวสังคมไทย?

09 กรกฎาคม 2558

นักวิชาการสื่อมองคนไทยไม่ชอบเรื่องย่อยยาก แต่ชอบเสพสื่อบันเทิงมากกว่าเรื่องจรรโลงสติปัญญา

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ทั้งประเทศต้องหยุดชะงัก เพื่อรอฟังคำชี้แจงเรื่องราวการเลิกราที่เกิดขึ้นระหว่าง โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ กับ แตงโมง ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ คู่รักดาราชื่อดังของเมืองไทย

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นไฮไลท์ในสังคมโซเซียลให้เมาท์สนั่นเมืองมาตลอดนับตั้งแต่ข่าวการเข้าโรงพยาบาลของดาราสาวเพราะกินยานอนหลับเกินขนาด

ทว่า บ่อยครั้งที่มีข่าวเรื่องราวร้าวฉานของความรักไม่สมหวัง หรือแม้กระทั่งดาราท้องก่อนแต่ง กลายเป็นเรื่องราวไฮไลท์ที่สังคมไทยมักจับตาให้ความสนใจเป็นพิเศษ เกิดเป็นคำถามว่าทำไมสังคมไทยถึงชอบข่าวดาราเตียงหักหย่าร้างเป็นเรื่องเด่น

ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ แสดงทัศนะถึงปรากฏการที่เกิดขึ้นว่า สังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องราวในบ้านมากกว่าเรื่องนอกบ้าน ฉะนั้นเรื่องของโตโน่ และแตงโม เป็นเรื่องสามีภรรยา คู่รักเลิกราที่ถูกจริตกับสังคมไทยเข้าพอดี ยิ่งเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นคนดัง และมีเงื่อนงำ รวมถึงการตอบโต้ไปมา ทำให้ครบองค์ประกอบความใคร่รู้ของคนไทย แต่ไม่มีใครถามว่า โตโน่ มีผลงานเพลงอะไร หรือแตงโม มีงานละครเรื่องล่าสุดคืออะไร

ขณะที่ข่าวผลงานดำเนินงานของรัฐบาล เช่น ภัยแล้งอย่างหนัก  โครงการซื้อเรือดำน้ำ การประท้วงของกลุ่มนักศึกษา และข่าวเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนตกต่ำ ไม่มีใครให้ความสนใจเท่าที่ควรจะเป็น  

ด้านหนึ่งของความสนใจเกิดจากสื่อมวลชนจัดอันดับความสำคัญของข่าวผิดไปไกล ซึ่งควรมีบทบาทในการบอกสังคมว่าเรื่องอะไรสำคัญที่สุด ประโยชน์ที่สังคมควรได้รู้แล้วต้องรู้คือข่าวอะไร อย่าลดทอนความสำคัญของข่าวที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ  ส่วนเรื่องข่าวดาราเอาแค่พอรู้หอมปากหอมคอก็พอแล้ว

สิ่งที่สื่อมวลชนไม่ควรทำคือ การที่สื่อโทรทัศน์บางช่องส่งทีมนักข่าวไปดักรอหน้าบ้านเพื่อแอบถ่ายว่าใครเอาดอกไม้มาให้คุณแตงโม การทำแบบนี้ผิดกฎหมาย ผิดจริยธรรม เป็นการทำข่าวที่ผิดโดยสิ้นเชิงไม่มีคุณค่าข่าว ทำให้สภาพสังคมยิ่งแย่ลงไปอีก เลิกเสียทีเถอะ ยิ่งไปกว่านั้นพวกนักสืบโซเซียลก็กระโดดร่วมวง ขุดคุ้ยข้อมูลจากเฟสบุ๊ก หรืออินตราแกรม สุดท้ายกลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย

“ข่าวที่มีสาระจะมียอดอ่านหลักพัน แต่เมื่อเป็นเรื่องดาราหย่าร้างยอดเปิดอ่านหลักแสน สะท้อนว่าคนไทยไม่ชอบเรื่องย่อยยาก แต่ชอบเสพสื่อบันเทิงมากกว่าเรื่องจรรโลงสติปัญญา คุณภาพของการเสพข่าวต่ำมาก ด้านหนึ่งวงการข่าวสารมีปัญหาด้วย เพราะถือเป็นยุคข่าวที่ทำให้โง่ลง Dumbing down สื่อเสนอข่าวเน้นดราม่า หันไปสนใจแต่เรื่องราวในมุ้งมากกว่า ซึ่งไม่ควรจะเป็น”ธาม กล่าว

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เหตุการณ์หยุดความเคลื่อนไหวของประเทศ เกิดจากช่องทางโซเซียลมีเดียที่สังคมไทยชอบติดตามเหมือนได้ดูโชว์เรียลลิตีชีวิตจริงของดารา สามารถนำมาเม้าท์ต่อกันได้ ทำให้รู้สึกมีส่วนร่วมกับเรื่องที่เกิดขึ้น เหมือนกับกรณี เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งเช่นกัน

สำหรับการที่เรื่องราวมีสาระ เช่น ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า กรุงเทพฯจะไม่มีน้ำจืดดื่มยอดเปิดอ่านข่าวแบบนี้อยู่ในหลักพันครั้ง เป็นเพราะคนไทยยังไม่รู้สึกว่าภัยใกล้ตัว ต้องรอให้กำลังจะประสบแล้วถึงจะหันกลับมามอง แต่เมื่อเป็นเรื่องดารายอดเปิดอ่านทะลุหลักแสนครั้ง สังเกตได้จากเสิร์ทคำในกูเกิล “แตงโม-โตโน่” มีการค้นหาในไม่กี่วินาทีจำนวน 1.5 ล้านครั้ง ขณะที่คำว่า “ภัยแล้ง” มีเพียง 2.2 แสนครั้ง สะท้อนความสนใจเป็นพิเศษกับเรื่องราวของชาวบ้าน

ดร.มานะ กล่าวอีกว่า ด้านดีของการเสพข่าวบันเทิงคือการรีแล็กซ์ เพื่อระบายความเครียด แต่ถ้าเสพแต่ข่าวแบบนี้อย่างเดียวจะทำให้ไม่มีมุมมองในด้านอื่นๆด้วย ทว่าสุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงข่าวที่ผ่านไปไม่ได้มีความสำคัญอะไร เป็นเพราะในแต่ละวันคนเมืองมีเรื่องเครียดหลายอย่างแล้ว เวลากลับถึงบ้านก็มักจะเปิดดูละคร เอ็นเตอร์เทนพักผ่อนจิตใจถือเป็นเรื่องปกติ