posttoday

สงครามกลางเมือง งานหนักสุดในชีวิต "อดุลย์ แสงสิงแก้ว"

24 มิถุนายน 2558

"ปัญหาม็อบที่ชุมนุมยาวนาน 6-7 เดือนถือว่ากดดันและหนักใจมาก เพราะประชาชน สองฝ่ายเผชิญหน้ากัน และตำรวจทำอะไรไม่ได้เลย ต้องยืนบนหลักการ มีขั้นตอนการปฏิบัติ และสังคมไม่อนุญาตให้ตำรวจโมโห ชาวบ้านทุบก็ต้องยืนให้ทุบ ระเบิดมาเตะระเบิดกลับ สิ่งเหล่านี้ตำรวจต้องอดทน

โดย...พิเชษฐ์ ชูรักษ์/ วิทยา ปะระมะ

บนเส้นทางชีวิตของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวได้ว่าเป็นสุดยอดนายตำรวจที่มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาร้ายแรงของประเทศในหลายต่อหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ เคยอาสาไปต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงจัด

นายตำรวจหนุ่มปฏิบัติงานจนได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน ก่อนจะเติบโตในสายงานตามลำดับ จนก้าวขึ้นตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 จากนั้นได้รับคำสั่งด่วนไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อไปคลี่คลายสถานการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนั้นกำลังทวีความรุนแรงถึงขีดสุด

พล.ต.อ.อดุลย์ ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อยู่ 3 ปี โดยเน้นสร้างอำนาจรัฐให้เข้มแข็ง ทำงานมวลชนและยึดกฎหมายเป็นหลัก จนสถานการณ์คลี่คลายลงไปมาก ทำให้ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า “วีรบุรุษด้ามขวานทอง” จากนั้นเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ปรึกษา สบ.10 รอง ผบ.ตร.ตามลำดับ ก่อนจะขึ้นนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร.ในปี 2555

ในช่วงเวลาของการเป็น ผบ.ตร. ของ พล.ต.อ.อดุลย์ ต้องเผชิญความท้าทายอีกครั้ง จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อมวลมหาประชาชนรวมตัวขึ้นในนาม กปปส.ปลายปี 2556 ชุมนุมต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะนั้นถูกแรงกดดันจากรอบทิศ เพราะมีการลอบยิงลอบวางระเบิดใส่มวลชนนับร้อยครั้ง

รวมทั้งมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์ยืดเยื้อและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น กองทัพจึงตัดสินใจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ด้วยบทบาทและสถานการณ์ไฟต์บังคับ พล.ต.อ.อดุลย์ ถูกดึงไปร่วมแถลงในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรากฏตัวผ่านหน้าจอโทรทัศน์ในฐานะสมาชิก คสช.ร่วมกับผู้นำเหล่าทัพคนอื่นๆ

จากนั้นอีก 2 วันเขาก็ถูกคำสั่ง คสช.ให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน

ม็อบปี 2557 "หนักสุดในชีวิต"

“เจอเรื่องม็อบ ภาคใต้เล็กไปเลย เรื่องม็อบโอกาสติดคุกสูงมาก (หัวเราะ) ถูกตรวจสอบเยอะมาก แต่ทางภาคใต้ตายก็ตายไป ติดคุกไม่มี” พล.ต.อ.อดุลย์ เล่าอดีต

พล.ต.อ.อดุลย์ ขยายความว่า เมื่อเปรียบเทียบแรงกดดันระหว่างการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาม็อบ เรื่องภาคใต้ถือว่าหนักมาก แต่เป็นการหนักในสถานการณ์ ไม่มีการแบ่งฝ่ายของประชาชน เป็นเรื่องของรัฐกับการดูแลความสงบเรียบร้อย

“ถือว่าหนักกายไม่หนักใจ แต่กับปัญหาม็อบที่ชุมนุมยาวนาน 6-7 เดือนถือว่ากดดันและหนักใจมาก เพราะประชาชน สองฝ่ายเผชิญหน้ากัน และตำรวจทำอะไรไม่ได้เลย ต้องยืนบนหลักการ มีขั้นตอนการปฏิบัติ และสังคมไม่อนุญาตให้ตำรวจโมโห ชาวบ้านทุบก็ต้องยืนให้ทุบ ระเบิดมาเตะระเบิดกลับ สิ่งเหล่านี้ตำรวจต้องอดทน

“ผมเจอเรื่องหนักๆ มาเยอะมาก จากสงครามอีสาน ลงใต้แล้วเข้ากรุงเทพฯ แต่สงครามที่หนักที่สุดอยู่ในเมือง” อดีต ผบ.ตร. ยอมรับ

จากปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้วิธีการทำงานก็ต่างกันออกไป พล.ต.อ.อดุลย์ อธิบายว่า ในการดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เมื่อเข้าไปดูแลใหม่ๆ ถือว่าสถานการณ์รุนแรงมาก ตำรวจถูกยิง โรงพักถูกเผา แม้กระทั่งผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังเคยหยอกว่า“ถ้าน้องทำงานไม่ดี ต่อไปจะเข้าพื้นที่อาจต้องไปทำวีซ่าที่สงขลาก่อนก็ได้”

ซึ่งแนวทางการทำงานในขณะนั้น เจ้าตัวยึดหลักทำกลไกของรัฐให้เข้มแข็ง และการปฏิบัติงานของตำรวจต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ต้องมืออาชีพ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน “รัฐต้องเข้มแข็งก่อน เพราะในสถานการณ์ภาคใต้ ถ้าเราไม่เข้มแข็งเขาไม่เชื่อเรานะ ถ้าตำรวจถูกยิงอยู่เรื่อย โรงพักถูกเผาอยู่เรื่อย ประชาชนก็จะไม่เชื่อถือ ตำรวจต้องเข้มแข็งคุ้มครองประชาชนได้ ไปทุกพื้นที่ได้ทุกเวลา ในการสืบสวนสอบสวนคดีที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดต้องจับได้ เก็บหลักฐาน สืบสวน ดำเนินคดี ยึดหลักกฎหมาย โปร่งใสไม่มีนอกใน ไม่มีละเมิดสิทธิ ไม่มีตบตี”พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องเน้นงานมวลชนทำให้สังคมรักตำรวจ ปรับทัศนคติของตำรวจให้เข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับท่าที ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ ให้นโยบายผู้ใต้บังคับบัญชาว่าต้องบวกหนึ่งทุกวัน หรือหมายความว่าชาวบ้านต้องรักตำรวจมากขึ้นทุกวันนั่นเอง

ขณะที่ปัญหาจากการชุมนุมนั้น ตำรวจต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบทิศ พล.ต.อ. อดุลย์ จึงเน้นการใช้ระบบที่เข้มแข็งในการดูแลสถานการณ์ไม่ให้เกิดความวุ่นวายเกินไป โดยมอบนโยบายให้ยึดหลักกฎหมาย ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง มีความชอบธรรมในการดำเนินการและสังคมยอมรับได้ ให้ต้องยึดถือกฎการใช้กำลังตามลำดับขั้นตอนที่สำคัญ และต้องฝึกตำรวจให้อดทนอดกลั้น

“เป็นสถานการณ์ที่หนักมากที่ผมรับผิดชอบมา ผมบอกได้ว่าตำรวจทุกคนทำดีที่สุด เต็มความสามารถ ภายใต้หน้าที่รับผิดชอบ บาดเจ็บ เสียชีวิต ทุกคนไม่เคยบ่น ทำเพื่อสังคมและประชาชน โดยยึดหลักกฎหมาย”อดีต ผบ.ตร. กล่าว

สงครามกลางเมือง งานหนักสุดในชีวิต "อดุลย์ แสงสิงแก้ว"

งาน พม.เหมือนได้ทำบุญทุกวัน

หลังจากถูกกระแสลมทางการเมืองพัดมาให้มานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ พล.ต.อ. อดุลย์ ก็นำประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้บริหารองค์กรตำรวจมาปรับใช้ติดตามแก้ปัญหาสังคม โดยจัดระบบห้องปฏิบัติการ (วอร์รูม) เฝ้าติดตามสถานการณ์สังคมทุกวัน ใช้เวลาประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงและอธิบดีกรมต่างๆ ตั้งแต่ 08.00-08.30 น. เพื่อตัดสินใจให้นโยบายต่อปัญหาที่ต้องการการแก้ไขเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ตลอดจนติดตามกระแสสังคมว่าเป็นอย่างไร ต้องการให้แก้ไขอะไร โดยจะใช้เวลาในวอร์รูมประมาณ 1 ชั่วโมงทุกวัน ปัญหาที่แก้ไขผ่านวอร์รูมส่วนใหญ่จะเป็น case by case

ส่วนแผนงานยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ แม่วัยใส การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ ก็ดำเนินไปตามแผนงานและประเมินผลทุก 3 เดือน เน้นการขับเคลื่อนเชิงบูรณาการ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ที่อยู่อาศัย เป็นกระบวนการทางสังคมที่ต้องมองทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมด และด้วยสถานะของรัฐบาลในปัจจุบันที่มีความมั่นคง ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านสังคมคล่องตัวและมีพลังในการแก้ปัญหามากขึ้น

“ผมมาอยู่ที่นี่เหมือนได้ทำบุญทุกวันนะ บางคนบอกหน้าตาตอนนี้ดีกว่าตอนเป็น ผบ.ตร.นะ (หัวเราะ) เป็น ผบ.ตร.โดนบีบ แต่มาอยู่นี่ผมมีความสุขกับการทำงาน ได้ช่วยเหลือคนที่กำลังมีความทุกข์ งานเครียดน้อยกว่าตำรวจเยอะ” พล.ต.อ. อดุลย์ กล่าวปนเสียงหัวเราะ

(ถ้า) ตำรวจสังกัดท้องถิ่น = ทำร้ายประชาชน

การปฏิรูปองค์กรตำรวจเป็นประเด็นที่ถูกเรียกร้องร้อนแรงในช่วงการชุมนุม กปปส.ปี 2556-2557 และมีการเสนอโมเดลต่างๆ ออกมามากมาย ภายหลัง คสช.ยึดอำนาจกระแสสังคมก็ยังทวงถามในเรื่องนี้

ในฐานะอดีตผู้นำสูงสุดขององค์กร พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว มองว่า หลักการปฏิรูปตำรวจ ต้องทำให้การบริหารงานตำรวจปลอดจากการเมืองให้ได้ ต้องทำให้ตำรวจเข้มแข็งและขอให้ประชาชนอย่ามององค์กรในแง่ลบ

อดีต ผบ.ตร. ขยายความว่า อยากให้มองว่าตำรวจจะต้องเผชิญกับปัญหาอาชญากรรมที่หนักขึ้น ทั้งอาชญากรรมปกติ อาชญากรรมที่เป็นกระบวนการเครือข่าย อาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงอาชญากรรมไซเบอร์ต่างๆ ดังนั้นต้องทำให้ตำรวจมีประสิทธิภาพที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นหลักการคือต้องทำให้ตำรวจเข้มแข็ง สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเอาตำรวจไปขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีคำถามกลับว่าท้องถิ่นพร้อมหรือไม่ นอกจากนี้งานตำรวจต้องบูรณาการทั้งฝ่ายสืบสวน ฝ่ายปราบปราม พื้นที่ประเทศก็เล็กนิดเดียว ไม่ได้เหมือนอเมริกา ประกอบกับสังคมไทยยังขาดความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงเรื่องงบประมาณด้วย ฉะนั้นถ้ากระจายตำรวจไปสังกัดอยู่ท้องถิ่นแล้วตำรวจอ่อนเปลี้ยเสียขา นั่นคือการทำร้ายประชาชน ประชาชนพึ่งตำรวจไม่ได้ในอนาคต

“ถ้าเราบอกว่าทำให้ตำรวจเล็กลง แล้วไร้ประสิทธิภาพเนี่ย ประชาชนเดือดร้อน ท่านจะพึ่งไม่ได้เลย สังคมก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ”พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

พล.ต.อ.อดุลย์ ย้ำว่า สังคมต้องการรัฐที่เข้มแข็ง ถ้าตำรวจถูกทำให้อ่อนแอก็ทำงานตอบสนองนโยบายรัฐไม่ได้ ฉะนั้นต้องทำให้ระบบมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็ต้องมีกลไกในการถ่วงดุลตรวจสอบและกำหนดบทลงโทษด้วยเช่นกัน

สงครามกลางเมือง งานหนักสุดในชีวิต "อดุลย์ แสงสิงแก้ว"

ยึด "ปทุมธานีโมเดล" แก้ขอทาน ดันผู้สูงอายุเข้มแข็งมากขึ้น

บทบาทของ “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ในฐานะ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์แล้ว ยังมีเรื่องการจัดระเบียบขอทาน และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่นเพื่อนำประสบการณ์มาวางแผนรองรับผู้สูงอายุและผู้พิการในอนาคตมาใช้

สำหรับงานขับเคลื่อนต่อต้านการค้ามนุษย์ บิ๊กอู๋ มองว่า รัฐบาลไทยทำได้ดีมากในช่วงที่ผ่านมา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหา และมานั่งเป็นประธานในการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ทำให้มีพลังสามารถบูรณาการได้ทั้งหมด

ขณะที่ตัว พล.ต.อ.อดุลย์ เองก็นั่งเป็นประธานอนุกรรมการด้านสตรีและเด็ก ซึ่งได้มีการเข้มงวดเกี่ยวกับสถานที่และสื่อลามกต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความล่อแหลม ไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีกระบวนการคัดแยกเหยื่อผู้เสียหาย เพิ่มล่าม พนักงานสอบสวนหญิง เป็นต้น เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรฮีนจา รัฐบาลก็ไม่นิ่งนอนใจและแสดงความตั้งใจที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา ผู้เกี่ยวข้องกับการค้าชาวโรฮีนจาก็ถูกจับกุมทลายเครือข่ายเป็นจำนวนมาก

สำหรับการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ตกค้างอยู่ในอินโดนีเซีย ก็ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ให้การช่วยเหลือกลับมาได้ 68 คน จากการคัดแยกพบว่าเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน 4 คน ส่วนที่เหลือเกิดจากการไม่พอใจนายจ้าง หรือไต้ก๋งไม่ให้ขึ้นเรือ จึงตกค้างอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งก็ได้ส่งดำเนินการฟื้นฟูและส่งตำรวจดำเนินคดีแล้ว

งานด้านการจัดระเบียบขอทานนั้น ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ 3 ครั้ง มีขอทานเข้าสู่กระบวนการจัดระเบียบ 1,186 คน มีการคัดแยกประเภท หากเป็นขอทานชาวต่างชาติก็จะส่งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองผลักดันกลับประเทศ โดยยังไม่พบว่ามีกรณีที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ส่วนขอทานคนไทยได้นำไปฟื้นฟูสุขภาพ ดูแลเรื่องจิตใจและเรื่องอาชีพ โดยมีสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ใน จ.ปทุมธานี เป็นโมเดลต้นแบบในการดำเนินการ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ค้นพบจากการจัดระเบียบขอทานที่ผ่านมา พบว่าสาเหตุที่ทำให้คนมาเป็นขอทานมี 3 สาเหตุ คือ 1.มาจากเรื่องความยากจน 2.มาจากความมักง่าย ใช้ร่างกายที่ไม่สมประกอบให้เกิดความสงสาร ข้อสำคัญคือ คนไทยเป็นขี้เห็นใจ มีเมตตา ก็จะช่วยเหลือคนยากจน ทำให้ขอทานบางคนเลือกมาประกอบอาชีพนี้ โดยเฉพาะบริเวณห้างสรรพสินค้า หน้าธนาคารจะพบเห็นได้มาก ขอทานบางคนมีเงินหลายหมื่น ซึ่งก็ต้องแก้ไขโดยการให้ทานที่ถูกต้อง และ 3.ขอทานที่เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นและมีปัญหาทางจิต ซึ่งต้องปรับและฟื้นฟูให้กลับไปประกอบอาชีพ

“เราพบว่าคนขอทานบางคนไม่มั่นใจในตัวเอง ทำให้ประกอบอาชีพไม่ได้ ก็เลยได้หารือทางปลัดกระทรวงและอธิบดี เห็นว่าน่าจะจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อค้ำยันให้เขา และตั้งกองทุนโดยเอาเงินส่วนนี้มาซื้อผลผลิตของคนขอทาน แล้วนำไปจัดจำหน่าย รายได้เหล่านั้นก็จะกลับมาเข้ากองทุน และเรายังพบอีกว่าคนที่มาเป็นขอทานเพราะความยากจน สามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าขอทานที่เกิดจากสาเหตุอื่น”พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปจะพัฒนากองทุนให้กลายเป็นมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือขอทานอย่างถูกวิธี สอนให้รู้จักการประกอบอาชีพ รวมทั้งส่งเสริมให้ทำการเกษตรเพื่อให้คนเหล่านี้นำผลผลิตมาใช้เลี้ยงครอบครัวและลดภาระงบประมาณของราชการได้ ซึ่งหากโมเดลต้นแบบได้ผลดี ก็อาจขยายผลทั่วประเทศต่อไป

นอกจากกระบวนการคัดแยก ฟื้นฟู ฝึกอบรมอาชีพแก่ขอทานแล้ว พม.ยังปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน ให้เข้มข้นมากขึ้น ผู้ที่เป็นขอทานจะมีโทษจำคุก 1 เดือน และปรับไม่เกิน 1,000 บาท ยิ่งถ้ามีการบังคับขอทานก็เพิ่มโทษเป็นจำคุก 3 เดือน ปรับ 3 หมื่นบาท ซึ่งเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้ พม.มีเครื่องมือในการดำเนินการมากขึ้น และหากประชาชนพบเห็นการบังคับขอทานสามารถแจ้งมาได้ที่สายด่วน 1310 ได้เลย จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ

“มีกฎหมายในการจัดการแล้ว แต่เราต้องรณรงค์ให้คนที่ให้ทานเข้าใจว่านั่นเป็นการส่งเสริมขบวนการเหล่านี้ และคนที่ทำก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ ต้องมีอาชีพ ต้องมีงานที่ทำแล้วได้เงินตอบแทน”รมว.พม. กล่าว

ขณะที่งานด้านการส่งเสริมผู้พิการและผู้สูงอายุนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นประเทศที่เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุก่อนไทย พบว่าญี่ปุ่นมีเกณฑ์ทำงานจนเกษียณที่อายุ 65 ปี รวมทั้งมีการนำข้าราชการหลังเกษียณเข้ามาทำงาน

เช่น ผู้ที่เกษียณอายุมาจากนักการทูต ก็ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับประเทศต่างๆ และยังมีศูนย์ที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีมาตรฐาน นโยบายของรัฐเน้นลดอุปสรรคการเดินทางของผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น มีเส้นทางของผู้พิการให้เดินในถนนและตามที่พักอาศัย รวมถึงห้องน้ำ รถไฟ และรถประจำทาง เป็นต้น

พล.ต.อ.อดุลย์ ระบุว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเมืองไทย เพราะปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 8.9 ล้านคน และนักประชากรศาสตร์วิเคราะห์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีประมาณ 10 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป เป็นสิ่งที่ต้องวางยุทธศาสตร์และมองทั้งระบบ ทั้งเรื่องการทำงาน การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ รวมถึงบทบาทภาคเอกชนว่าจะเข้ามาช่วยอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนงานในขณะนี้จะเน้นให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคง มีศักดิ์ศรี มีความมั่นใจ โดย พม.พยายามขับเคลื่อนกับทางท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ มีเป้าหมายทั้งหมด 878 แห่ง ซึ่งก็เป็นไปด้วยดี อีกทั้งมีการผลักดันให้มีชมรมผู้สูงอายุกว่า 7.2 หมื่นชมรม ตลอดจนผลักดันให้มีอาสาสมัครผู้สูงอายุกว่า 8 หมื่นคน สิ่งต่างๆ เหล่านี้มุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ขณะเดียวกัน พม.ก็พยายามผลักดันเรื่อง “อารยสถาปัตย์” หรือการออกแบบให้ผู้สูงอายุและผู้พิการสามารถเดินทางได้อย่างเสรี โดยในปีนี้จะทำที่เกาะเกร็ดก่อนเป็นแห่งแรก ทั้งเรื่องเส้นทางเดินทางด้วยเรือและการโดยสารรถ ก่อนจะขยายเพิ่มอีก 10 จังหวัดในอนาคต