posttoday

ประชามติต่ออายุเสี่ยงยุ่ง ติงนายกฯอย่าฟังคนยุ

11 มิถุนายน 2558

การเสนอคำถาม ว่า รัฐบาลควรอยู่ต่อหรือไม่ จะทำให้ สปช.จะถูกครหาว่ารู้เห็นเป็นใจให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ

โดย...เจษฎา จี้สละ

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นทันทีหลังคณะรัฐมนตรีเตรียมส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเปิดช่องให้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีหลายประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งคำถามในการประชามติฝ่ายละ 1 คำถาม ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบจะใช้คำถามนั้นประชามติพร้อมกับการประชามติว่าจะรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นแล้ว ยังกำหนดให้ยุบ สปช.ทันที หลังจากที่ สปช.ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจัดตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ เข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปแทน ประเด็นร้อนเหล่านี้ล้วนสะท้อนนัยทางการเมืองที่น่าจับตา 

เจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีที่เปิดให้ สปช.และ สนช.ส่งคำถามในการประชามติ ถ้าพูดตามตรงยอมรับว่าเป็นการเปิดช่องให้ สปช.และ สนช.ตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อหรือไม่ได้เช่นกัน เพราะคณะรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องเป็นคำถามลักษณะใด ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยกับการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวเพราะจะสร้างปัญหาในระยะยาว อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีการถามว่ารัฐบาลควรอยู่ต่อ 2 ปีหรือไม่ แต่ตามกระบวนในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่กำหนดให้ยุบ สปช. หลังจากให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เจษฎ์ เห็นว่า การยุบ สปช.เป็นเรื่องเหมาะสม เพราะ สปช.ทำหน้าที่ในการยื่นข้อคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญและวางแนวทางในการปฏิรูปเสร็จสมบูรณ์แล้ว นอกจากนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้คณะ กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้จัดทำกฎหมายลูกเกี่ยวข้องทั้งหมด จากเดิมที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะ กมธ.ยกร่างฯ ยกร่างกฎหมายร่วมกับ สปช. ฉะนั้นการยุบ สปช. แล้วจัดตั้งสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันวาระปฏิรูปเพียงอย่างเดียวจึงเป็นวิธีการที่ถูกต้อง

ดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยถ้า สปช.จะเสนอคำถาม ว่า รัฐบาลควรจะอยู่ต่อหรือไม่ เพราะ สปช.จะถูกครหาว่ารู้เห็นเป็นใจให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ ส่วนรัฐบาลจะได้ผลเสียมากกว่าผลดี เพราะถ้าผลออกมาว่าประชาชนไม่เห็นชอบ รัฐบาลจะหมดความชอบธรรมทันที

“เราบอกนายกฯ ว่าพิจารณาให้รอบคอบ อย่าไปฟังแต่คำสรรเสริญเยินยอ เพราะผลดีมันแค่เสมอตัว แต่ผลเสียเยอะกว่า” ดิเรก กล่าว

นอกจากนั้นแล้ว ดิเรก เห็นว่า การยุบ สปช.ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เพราะการปฏิรูปไม่สามารถสำเร็จในระยะสั้น จึงสมควรที่จะมีสภา
ขับเคลื่อนฯ เข้ามาปฏิรูปในระยะยาวตามประเด็นที่ สปช.ได้สังเคราะห์ไว้อย่างชัดเจน

อีกด้านหนึ่ง วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ สปช.และ สนช.เสนอคำถาม ไม่เกี่ยวกับการตั้งคำถามในการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นคำถามเกี่ยวกับประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ยังมีการถกเถียงในวงกว้าง เช่น ที่มา สส. สว. และนายกรัฐมนตรี ฯลฯ เพื่อให้คำถามครอบคลุมประเด็นในการประชามติมากที่สุด

สำหรับการยุบ สปช. วัลลภ กล่าวว่า รัฐบาลเห็นจุดอ่อนของ สปช. เช่น การมีมติขัดกับนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ ฉะนั้นรัฐบาลจึงจัดต้องสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อทำหน้าที่ในการปฏิรูปเพียงอย่างเดียว ไม่ทำหน้าที่ทับซ้อนกับส่วนอื่น

ทั้งนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กระบวนการตั้งคำถามในการประชามติ ควรมีองค์กรกลางในการประมวลคำถามจากประชาชน เพราะจะทำให้การประชามติได้รับการยอมรับและยึดโยงกับประชาชนยิ่งขึ้น ส่วนจะมีการตั้งคำถามว่ารัฐบาลสมควรอยู่หรือไม่นั้นสามารถกระทำได้ หากรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการวิจารณ์ทั้งข้อดีและข้อเสียของผลที่จะตามจากการประชามติ แต่ไม่ควรประชามติภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างแน่นอน

“ผมไม่ขัดข้องถ้าทำถูกต้องเป็นธรรม แล้วถ้าคนไทยส่วนใหญ่เห็นว่า คสช.จะต้องอยู่ต่อ ผมก็ต้องยอมรับสิครับว่าคนไทยส่วนใหญ่เอา ปัญหามีเพียงว่าถ้าคุณเชื่อประชาชนขนาดนั้นทำไมไม่เลือกตั้งให้หมดเรื่องหมดราว”นิธิ ระบุ

อย่างไรก็ตาม นิธิ กล่าวว่า การที่รัฐบาลยุบ สปช. เพราะข้อเสนอในการปฏิรูปของ สปช.ที่ผ่านมาขาดความชัดเจน รวมถึงข้อเสนอหลายประเด็นขัดกับความต้องการหรือนโยบายของรัฐบาล จึงส่งผลให้รัฐบาลเลือกยุบ สปช. แล้วจัดตั้งสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อทำหน้าที่ในการปฏิรูปแทน โดยจัดตั้งองค์กรใหม่ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล พิจารณาจากการกำหนดให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ มาจากการแต่งตั้งของนายกฯ โดยไม่ต้องนำความทูลเกล้าฯ ถวายเพราะง่ายต่อการแต่งตั้งและถอดถอนสมาชิกของสภาดังกล่าว