posttoday

"ปิยสวัสดิ์" เปิดเกมรุก ปฏิรูปพลังงาน

14 พฤษภาคม 2558

"การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด ทั้งการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ และการเปิดสัมปทานรอบใหม่"

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์

ครบรอบ 1 ปีแล้วหลังการจัดตั้งกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ที่มี ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน เป็นหนึ่งในกลุ่มแกนนำหลัก ท่ามกลางกระแสการรณรงค์ของนักวิชาการอิสระและเอ็นจีโอด้านพลังงานที่เสนอการปฏิรูปพลังงานของประเทศแบบ “ชาตินิยม-สังคมนิยม”

วันนี้กลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ ยังยึดหลักแนวคิด “เดินหน้าสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน ไม่หวั่นกลุ่มต้าน” และในช่วงที่ผ่านมาสมาชิกของกลุ่มได้ร่วมกันให้ข้อเท็จจริงด้านพลังงาน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนผ่านสื่อมวลชนในหลากหลายเวที และหลายองค์กร รวมทั้งเข้าร่วมเสวนาในเวทีระดับชาติหลายครั้ง

“ตั้งแต่เปิดตัวและทำงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2557 ซึ่งตอนนั้นสมาชิกทุกคนไม่ได้มาในฐานะผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน แต่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความโปร่งใสและทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด จากวันเริ่มต้นที่มีสมาชิก 100 คน แต่วันนี้เรามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาเป็น 258 คน”

ปิยสวัสดิ์ แถลงในงาน “1 ปีกับการขับเคลื่อนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน และทิศทางการขับเคลื่อน” เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา

ปิยสวัสดิ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาข้อเสนอของกลุ่มถูกนำไปสานต่อสู่การปฏิบัติ บางเรื่องมีการปฏิบัติเป็นรูปธรรมแล้ว แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ทางกลุ่มจะต้องช่วยกันชี้แจงผลักดันต่อไป ที่สำคัญที่สุด คือ การพัฒนาปิโตรเลียมภายในประเทศ โดยเฉพาะการเปิดสัมทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่หากไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า ประเทศไทยจะสูญเสียการผลิตก๊าซธรรมชาติ 2.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และต้องนำเข้ามาทดแทน ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากสัมปทาน ประเทศมีค่าใช้จ่ายนำเข้าก๊าซ และค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น คิดเป็นมูลค่า 7.15 แสนล้านบาท

“การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด ทั้งการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ และการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ที่ต้องเร่งหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 7 ปี โดยรัฐบาลต้องวางกลไกที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้การผลิตก๊าซหยุดชะงักลง แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะหมกหมุ่นในการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมจนต้องชะลอการเปิดสัมปทานออกไป”ปิยสวัสดิ์ กล่าว

ปิยสวัสดิ์ ย้ำว่า การทำงานของกลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ ยังยึด 3 แนวทาง คือ 1.สร้างธรรมาภิบาล 2.ขจัดอุปสรรคและลดความซ้ำซ้อน และ 3.ราคาพลังงานที่เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มได้จัดทำข้อเสนอส่งไปยังรัฐบาลหลายเรื่อง ซึ่งมีทั้งที่ทำไปแล้วและยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม อย่างเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนคือ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ถือเป็นผลงานของรัฐบาลที่สำคัญที่สามารถทำให้ราคาน้ำมัน และก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงโดยลดการชดเชยราคา และปรับโครงสร้างอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยกเว้นราคาเอ็นจีวีที่ยังต้องมีการปรับราคากันอีกครั้ง เนื่องจากยังมีราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากนักการเมืองกลับเข้ามาบริหารพลังงาน ก็เกรงว่าการดำเนินงานจะกลับเป็นแบบเดิม กลุ่มจึงเสนอให้รัฐบาลเขียนกฎหมายให้ชัดเจนว่าเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะใช้อย่างไรได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซง รวมทั้งต้องการให้ ปตท. หรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เพราะจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น แม้ว่าขณะนี้ ปตท.ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันอื่นๆ แล้ว

นอกจากนี้ ทางกลุ่มจะเปิดตัวแนวร่วมเพิ่มเติมจากทุกภาคส่วน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมให้ความรู้และข้อเท็จจริงด้านพลังงานในเรื่องต่างๆ ที่เป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย ตลอดจนติดตามผลกระทบจากกระแส “ทวงคืนพลังงาน” อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจที่เวเนซุเอลาที่มาจากการใช้นโยบายพลังงานแบบสังคมนิยม-ชาตินิยม อินโดนีเซียที่มีปัญหาอุปทานและอุปสงค์ ซึ่งนำไปสู่การลดเลิกประชานิยมราคาน้ำมันและการปฏิรูประบบพัฒนาปิโตรเลียม

“การเปิดหน้า Facebook นอกเหนือจากเว็บไซต์ www.energyreform.in.th จะเป็นการเผยแพร่ข้อเท็จจริงในเรื่องพลังงาน ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การให้ข้อมูลของภาครัฐ ไม่มีความโปร่งใสนั้น ยืนยันว่ากระทรวงพลังงานมีข้อมูลด้านพลังงานมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งเรื่องของปริมาณขุดเจาะสำรวจ แปลงสัมปทาน สัญญาสัมปทาน แต่ในระยะยาวก็อยากเสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานสารสนเทศข้อมูลด้านพลังงานมากกว่า”

ด้าน บรรยง พงษ์พานิช สมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ ระบุว่า รัฐบาลจะต้องเลือกว่าจะเดินแนวทางปฏิรูปพลังงานไปสู่กลไกตลาดเพื่อความอยู่รอดในอนาคตหรือจะเดินตามแนวทางชาตินิยม สังคมนิยม ประชานิยม โดยเฉพาะแนวทางหลังที่มีข้อพิสูจน์แล้วว่านำความเสียหายมาสู่ประเทศโดยมีตัวอย่างให้เห็น คือ เวเนซุเอลา