posttoday

ปรับพรบ.ชุมนุม คุมเข้มตีกรอบม็อบ

28 เมษายน 2558

ทั้งหมดนี้คงต้องรอดูว่าเสียงในที่ประชุมใหญ่ สนช.​จะปรับแก้ในขั้นตอนสุดท้ายอย่างไร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดต่อไปวันที่ 1 พ.ค.นี้ มีวาระที่น่าสนใจคือ ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ​ ที่มี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ถูกจับตาจากหลายฝ่ายเพราะสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นการกำหนดกรอบ กติกา การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ

ทั้งนี้ ​ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.หลายส่วน อาทิ มาตรา 16 กำหนดให้ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ (3) ไม่พกอาวุธ ในชั้นกรรมาธิการได้เพิ่มรายละเอียดอาวุธให้ครอบคลุมไปถึง “ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธ หรือสิ่งที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธ”

อีกประเด็นสำคัญอยู่ที่อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานนั้น ตามมาตรา 26 เดิมกำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์​หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของบุคคลดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา กรรมาธิการได้เขียนกรอบอำนาจให้ชัดเจน โดยระบุว่า “และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา​”

ในขณะที่มาตรา 19 ​ที่เขียนกำหนดให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ จากเดิมกำหนดให้ “อำนวยความสะดวก” แก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม ​ได้เพิ่มการ “รักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวก หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม” ​

อีกประเด็นคือ หากศาลมีคำสั่งโดยออกคำบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งจากเดิมกำหนดให้คำสั่งศาลเป็นที่สิ้นสุด แต่กรรมาธิการแก้ไขเป็น ให้สามารถอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์และให้คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ​

อีกทั้งในมาตรา 25 กรณีผู้ชุมนุมกระทำการใดที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้น​ กรณีผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาล ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.เดิมกำหนดแค่ “ศาล” แต่กรรมาธิการได้แก้ไข เจาะจงเป็น “ศาลแพ่ง​หรือศาลจังหวัด ที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ”​

อีกส่วนที่สำคัญคือบทกำหนดโทษจากเดิมที่มาตรา 32 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม สาธารณะตามมาตรา 19 หรือ 23 กรรมาธิการเขียนให้ชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า “ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วน “ถ้าผู้น้ันเป็นผู้อยู่ภายในสถานที่ชุมนุมต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท”

นอกจากประเด็นที่กรรมาธิการปรับแก้ไขแล้ว ยังมีประเด็นที่สมาชิก สนช.​ขอแปรญัตติอีกหลายส่วน อาทิ  มาตรา 10 ศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ขอแปรญัตติจากเดิมให้ขออนุญาตชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม 24 ชม. เป็น “หรือแจ้งภายหลังเมื่อเริ่มชุมนุมนั้นมีความสำคัญจำเป็นเพื่อคุ้มครองความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ทั้งหมดนี้คงต้องรอดูว่าเสียงในที่ประชุมใหญ่ สนช.​จะปรับแก้ในขั้นตอนสุดท้ายอย่างไร